‘Unsung Hero’ โฆษณาซึ้งเรียกยอดวิว 3.1 ล้านในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ กับคำถาม “ความดี” ฉีดเข้าเส้นคุณพอหรือยัง?

  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  

httpv://youtu.be/uaWA2GbcnJU

แม้จะดูเกรอในระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าโฆษณา ‘drama’ ฟูมฟายสไตล์บริษัทประกันได้ผลดีในสังคมไทยเสมอ

ล่าสุด บริษัท ไทยประกันชีวิต ออก TVC ตัวใหม่ ‘Unsung Hero’ พร้อมบรรยายประกอบ “ไทยประกันชีวิตเชื่อว่า ในโลกของความจริง ความดีและคนมีน้ำใจ คนที่ให้โดยไม่มีข้อแม้ในสังคมไทยยังมีอยู่ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่แบรนด์จะปลุกจิตสำนึกให้สังคมไทย กลับมาเชื่อในความดี และเริ่มต้นทำสิ่งดีๆ ต่อกันอีกครั้งหนึ่ง” เมื่อเผยแพร่ในวันที่ 3 เมษายน ก็สร้างยอดวิวถล่มถลายถึงตอนนี้กว่า 3.1 ล้านวิวแล้ว (สำรวจวันที่ 9 เมษายน) จนมีสื่อต่างชาติหลายสำนักหยิบยกไปเล่นเป็นประเด็นข่าว

เนื้อหาโฆษณาเกี่ยวกับชายคนหนึ่งผู้มีจิตใจสุดเอื้อเฟื้อ เขายกกระถางต้นไม้มารับน้ำ เขาให้น่องไก่หมาเต็มๆ ทั้งน่อง เขาบริจาคเงินเกือบหมดกระเป๋าให้เด็กขอทานที่ไม่มีตังค์เรียน ความมีจิตใจดีงามของเขานำมาสู่บทสรุปว่าการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนมันช่างงดงามดื่มด่ำ และผลิตสร้างความรู้สึกดีกลับมาหล่อเลี้ยงชีวิตอันแห้งแล้งเปล่าเปลี่ยวจากระบบทุนนิยมสามานย์ที่เร่งเร้าให้คนเราเห็นแก่ตัวได้อย่างน่าอัศจรรย์ โลกจะสวยงามได้ก็ต่อเมื่อคุณได้กระทำความดีแบบปิดทองหลังพระและแอบไปดีใจเงียบๆ อยู่ในห้องนอนคนเดียว

cats

ในแง่ของการตลาด ผมว่าโฆษณานี้ก็ประสบความสำเร็จดี (ก็มียอดวิว 3.1 ล้านวิวในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ดีนะ) แน่นอนว่าต้องไปสำรวจเพิ่มเติมว่าผู้บริโภคจำแบรนด์ได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อบริษัทประกันทุกบริษัทพ่อก็เล่นโฆษณาดราม่าทำนองเดียวกันทั้งหมดทั้งสิ้น แต่ในแง่สังคมขอพูดตรงๆ ว่าผมไม่ชอบเพราะนอกจากจะไม่มีอะไรใหม่แล้ว ยังเป็นการผลิตซ้ำความเชื่อเรื่อง “ความดีคือการให้” ซึ่งการให้ในความหมายนี้คือการให้จริงๆ แบบยื่นเงิน ยื่นไก่ ยื่นน้ำให้ ไม่ได้ตามไปดูต่อว่าการให้นี้มันก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้รับอย่างจริงจังหรือไม่ หรือเป็นเพียงการเสกสร้าง “ความฟินทางศีลธรรม”  ฉีดเข้าเส้นเลือดใหญ่ของตัวเองอย่างไม่ลืมหูลืมตา

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น กระถางดอกไม้ที่คุณผู้ชายนำไปวางให้น้ำไหลลง โฆษณาก็ไม่ได้บอกว่าเขาคิดดีแล้วหรือยังว่าอีต้นไม้เนี้ยมันต้องการน้ำเยอะแค่ไหน เวลาเช้าหรือเวลาเย็น และน้ำที่ไหลลงมามันสะอาดพอจะใส่กระถางต้นไม้ให้มันดื่มกินทุกวันหรือไม่ แน่ใจนะว่าน้ำนี้ไม่ใช่น้ำโสโครกเหลือใช้ที่รังแต่จะทำให้รากของมันเน่าเปื่อยและใบโกร๋นเหี้ยนในเวลาต่อมา หนังโฆษณาละเลยประเด็นนี้แต่พาเราตัดไปยังบทสรุปง่ายๆ ว่า Plant is happy, Plant is happy ดอกไม้มีความสุข ฉันก็มีความสุข โดยไม่ได้ถามว่าตัวละครมีความรับผิดชอบต่อ “ความดี” ที่ทำมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับคนที่อยากผลิตโฆษณาดราม่าทำนองนี้ คือการมองให้ลึกลงไปอีกว่า “ความดี” ที่ตัวเองต้องการสื่อสาร หน้าตามันควรเป็นอย่างไรกันแน่ ความดีคือการสักแต่ว่าให้หรือความดีคือการทำให้แน่ใจว่าผู้รับของเราจะมีโอกาสที่ดีขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น และรอดพ้นจากปัจจัยต่างๆ ที่กดดันให้เขาต้องตกมาอยู่ในสภาพเช่นนี้

เพราะการให้คงไม่ใช่การโยนปลาให้แก่ยาจกผู้หิวโหย แต่คือการฝึกให้เขารู้จักใช้เบ็ดตกปลาและเป็นพี่เลี้ยงเฝ้าระวังอย่าให้เขาเหวี้ยงเบ็ดมาเกี่ยวคอตัวเองเล่น สุดท้ายผู้ได้รับเหล่านี้จะลุกขึ้นยืนได้ด้วยลำแข้ง เชิดหน้าชูตาตัวเองอย่างสมศักดิ์ศรี และไม่ได้จบแค่แทะปลาแล้วก็โยนก้างทิ้งไป 


  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง