เมื่อเสียงเพลงทำให้ความทรงจำฟุ้งกระจาย คุณพ่อจึงไม่ต้องพูดอะไรให้มากความ

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

tosando_piano

หมวกอีกใบหนึ่งทำให้ผมต้องก้าวล่วงเข้าไปในอาณาเขตของดนตรีคลาสลิกและสำเนียกได้ว่าการบรรยาย “เสียง” ให้แผ่ตัวมาเป็น “ภาพ” พอให้ผู้คนจับยึดมันได้นั้น เป็นเรื่องยากพอๆ กับการว่ายน้ำในทะเลโดยไม่ให้หน้าจมไปโดนความเค็ม (เมื่อยคอชะมัด)

ธรรมชาติของเสียงเพลงจะทะลุทะลวงเข้าไปตีสนิทกับจิตใจและสมองของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก (สังเกตว่าคุณสามารถปิดอวัยวะรับรู้หลายอย่างได้ด้วยตัวมันเอง เช่น ตา ก็ปิดตา จมูก ก็กลั้นหายใจ ปาก ก็ปิดปาก แต่หูเป็นอวัยวะเดียวที่ไม่สามารถปิดเปิดการรับรู้ได้โดยธรรมชาติ) แต่เมื่อต้องเอามันมาสื่อสารเป็น massage หลักในงานโฆษณา การอธิบายมันกลับยากอย่างที่คุณคาดไม่ถึง เราอาจเข้าถึงแต่กลับสัมผัสมันไม่ได้ ฉะนั้น เราจะเห็นแบรนด์เกี่ยวกับเสียงเพลงหลายแบรนด์เลี่ยงไปเน้นความสนุก ปาร์ตี้ ความห่าม วัยรุ่น หรือสิ่งอันที่เป็นรูปธรรมเพื่อสื่อถึงเสียงเพลงซึ่งเป็นสินค้าหลักของแบรนด์

แต่สำหรับ Tosando Music แห่งแดนอาทิตย์อุทัย พวกเขากล้าหาญเลือกชนกับสินค้าของตัวเองโดยตรง เมื่อจะขายโรงเรียนสอนเล่นดนตรีก็ต้องโฆษณาเพลงสิ!

httpv://youtu.be/-09dRyIG9bU

โฆษณาสามนาทีอันเรียบง่ายในชื่อคลิป “ประกาศในพิธีแต่งงาน” เผยให้เห็นพ่อเจ้าสาวที่เฝ้าฝึกฝนเพลง Canon in D ของ Johann Pachelbel เพื่อเล่นให้แก่ลูกสาวแก้วตาดวงใจที่กำลังจะออกเรือนไป เพลงคลาสลิกบทนี้สะกิดใจเจ้าสาวให้หวนคิดถึงช่วงเวลาที่ครอบครัวอยู่พร้อมหน้า เหมือนเป็นการฟุ้งฝุ่นผงของความทรงจำอันเจ็บปวดแต่สุดท้ายเจ้าสาวก็เป็นกำลังใจให้พ่อบรรเลงเพลงให้ถึงที่สุด

ผมชอบโฆษณานี้ในแง่ของความเรียบง่ายและเล่นกับความรู้สึกได้อย่างแนบเนียน Canon in D จริงๆ แล้วเป็นบทประพันธ์ที่ “เกร่อ” มากในระดับหนึ่ง คือคนที่ไม่มีความรู้เรื่องดนตรีคลาสลิกก็น่าได้ยินเพลงนี้บ่อยๆ ตามห้างสรรพสินค้า หรือเวลารอสายโทรศัพท์ ที่สำคัญคือเพลงนี้ฟังยังไงก็ไม่เศร้า (ก็มันเป็นเพลงแต่งงานยอดฮิตเพลงหนึ่ง) มันเหมาะกับงานรื่นเริงซะมากกว่า แต่เมื่อผู้กำกับนำมันมาประกอบกับภาพความทรงจำที่ฝืดขมของเจ้าสาวเพลงนี้ก็เลยดูเศร้าไปถนัดใจ

ป.ล. สำหรับคนที่อยากทราบคำแปล ช่วงแรกพิธีกรในรายการกล่าวเชิญคุณพ่อขึ้นมาเล่นเปียโน พอคุณพ่อเริ่มเล่นเพลง เจ้าสาวก็พูดกับตัวเองว่า “หยุดเถอะ” “เพลงแบบนี้มัน…” แต่เมื่อคุณพ่อเล่นไปได้สักพักแล้วเกิดสะดุดลืมโน้ต เจ้าสาวกลับคิดให้กำลังใจคุณพ่อว่า “พยายามเข้าค่ะคุณพ่อ” “พยายามเข้าค่ะ…พ่อ” และสุดท้าย copy แปลได้ว่า “เสียงเพลงบอกเล่าถ้อยคำ” เข้ากับความทรงจำครอบครัวอบอุ่นตอนท้าย

Source


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง