case study: ล้ำ? นักแสวงบุญอินโดฯ เรียกเงินบริจาคขั้นต่ำแลกกับการสวดมนต์ให้สมหวัง

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

 mekkah1

ภาพนครเมกกะห์ซึ่งเป็นสถานที่แสวงบุญของชาวมิสลิม

 

สังคมอินโดนีเซียถือเป็นสังคมที่ตื่นตัวกับประเด็นด้านสังคมเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่ข่าวแปลกๆ นี้จะกลายเป็นไวรัลไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว สำนักข่าว Tech in Asia ระบุเหตุ อันห์มัด โกซาลิ (@AhmadGozali) นักแสวงบุญและที่ปรึกษาขององค์กรเพื่อสาธารณะประโยชน์ Sedekah Harian (หมายความว่า การบริจาคทุกวัน) ที่มียอดผู้ติดตามเพียงเล็กน้อยและมีการบริจาคหลังเกิดเหตุภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ไม่มากนัก โดยโกซาลิเผยแพร่โปสเตอร์ฉาวที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอินโดนีเซียอย่างกว้างขวาง

 

และนี้คือโปรเตอร์ที่โกซาลิโพสต์ขึ้น

titip-doa-baitullah

 

ซึ่งโปสเตอร์ข้างบนระบุว่า โกซาลิจะสวดภาวนาให้แก่ผู้ที่บริจาคเงินให้องค์กรขั้นต่ำ 8.3 ดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 265 บาท) ระหว่างการเดินทางเยือนนครเมกกะห์เพื่อแสวงบุญ ด้วยเหตุผลว่าเงินบริจาคจำนวนนี้จะนำไปใช้ในแผนพัฒนาสังคมขององค์กรในปีนี้ นอกจากนี้ยังแนะนำว่าตัวเลข 2,014 รูเปียห์เป็นตัวเลขที่องค์กรจะสามารถตรวจสอบการโอนเงินได้ง่าย

 

ใครที่ต้องการบริจาคเงินเพียงระบุคำอธิษฐานที่ต้องการพร้อมใบเสร็จการโอนเงินไปที่องค์กร Sedekah แถมยังไม่แฟร์เพราะไม่มีการประกันการคืนเงินหากคำสวดของคุณส่งไปไม่ถึงพระเจ้า (ฮา)

 

กลายเป็นโจ๊กรับปี 2014

ต้องขอบคุณ (หรือคิดแค้น?) โจโกะ อันวอร์ (@JokoAnwar) ที่นำมุกขอรับบริจาคแลกกับการสวดมนต์นี้ไปแชร์ต่อบนทวิตเตอร์ของตัวเอง (เขามีคนติดตามอยู่ราว 5.4 แสนคน) ทำให้แคมเปญจ่ายเงินเพื่อคำสวดกลายเป็นไวรัลที่คนพูดถึงให้แซด และแม้ข้อเท็จจริงคือการขอรับบริจาคแลกกับคำสวดในนครเมกกะห์นั้นถือเป็นธรรมเนียมที่ทำได้  แต่การที่โกซาลิถูกประนามรุนแรงเช่นนี้เกิดจากการที่เขาตั้งราคา “บริการ” ของเขาอย่างเป็นรูปธรรมแถมมีการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำเหมือนการแปะป้ายราคาสินค้าตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งขัดกับคำสอนของชาวมุสลิมที่ว่าการบริจาคและจำนวนเงินต้องมาจากความสมัครใจของผู้ศรัทธาเป็นที่ตั้ง

 

นอกจากจะถูกสังคมออฟไลน์วิจารณ์อย่างรุนแรงแล้ว บนโลกออนไลน์ ยังมีวัยรุ่นบางคนพยายามล้อเลียนโกซาลิด้วยการโพสต์สลิปการโอนเงินและระบุคำอธิษฐานว่าขอให้พระเจ้าคุ้มครองทุกคนให้ปลอดภัยจากโกซาลิ และอัมดุล อาซีส (ประธานขององค์กร Sedekah Harian) ผู้ซึ่งใช้นามของพระองค์ในการหาเงินเข้าองค์กร

 

sedekah-harian-transfer

ภาพคนที่ล้อเลียนขอให้พระเจ้าปกป้องทุกคนจากโกซาลิ และอาซีส

 

อีกคนที่โพสต์ข้อความล้อเลียนว่า ขอให้สวดภาวนาให้ นาบิลาห์ เซเลบริตี้จากวงหญิงล้วน JKT48 เป็นแฟนของเขาในเร็ววัน ขณะที่อีกหลายคนอธิษฐานของให้ทีมฟุตบอลที่ตัวเองเชียร์ได้แชมป์

 

ไฟโหมอีกรอบ

ความฉาวยังไม่สิ้นสุด เมื่อโกซาลิทวิตข้อความว่าเขาเพิ่งเดินทางมาถึงเมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอะราเบียเรียบร้อย แต่สถานที่ที่ปรากฏในทวิตเตอร์กลับเป็นกรุงจาการ์ต้า ทำให้ชาวโซเชียลเนคเวิร์กออกโรงถล่มจนเละ ก่อนที่ภายหลังโกซาลิจะออกมาแก้ข่าวว่า ทวิตเตอร์ของเขาไม้ได้ถูกตั้งให้ระบุสถานที่ตามจุดที่อยู่จริง และยืนยันว่าเขาไม่ได้หลอกลวงใคร

 

คำชี้แจงจาก Sedekah Harian

หลังจากการถล่มองค์กรบนโลกโซเชียลมีเดียดำเนินไปราว 2-3 ชั่วโมง Sedekah Harian ก็ออกมาชี้แจงอย่างเป็นทางการโดยเป็นตัวโกซาลิเองที่ออกมาแถลงการณ์ 6 ข้อที่ระบุว่า มันเป็นเรื่องปกติที่จะสวดภาวนาให้แก่คนที่บริจาคให้ตนแต่ขอโทษที่เรียกร้องเงินบริจาคขั้นต่ำ และยืนยันว่าตนอยู่ในประเทศซาอุดิอะราเบียจริง

 

ขณะที่ อับดุล อาซิส ประธานขององค์กร Sedekah Harian ก็ทวิตเช่นกันโดยระบุว่าเงินทั้งหมดจะนำไปใช้ในสาธารณกุศลและตนไม่ได้กำไรจากองค์กรแม้แต่แดงเดียว แต่ยอมขอโทษที่ทำให้เกิดกรณีอื้อฉาวดังกล่าวขึ้น ทั้งนี้ อาซิสจะออกให้สัมภาษณ์ในรายการทีวีอีกหลายช่องทางเพื่อดับความโกรธเกรียวของสังคมที่เป็นอยู่ในเวลานี้

 

ด้านเว็บไซต์ทางการของ Sedekah Harian ก็มีแถลงข่าวยืนยันว่า เงินจำนวนนี้จะนำไปใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์อย่างแท้จริง และขอโทษที่ทำให้เกิดความสับสน อย่างไรก็ตามโกซาลิได้หยุดโครงการนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว ด้านแฟนเพจที่ติดตามโกซาลิระบุว่า ยังคงศรัทธาในผู้บริหารทั้งสองคนแต่ไม่สามารถยอมรับโครงการ “จ่ายเงินเพื่อคำสวด” ได้

 

ผู้เขียน: ส่วนตัวผมเห็นว่าสิ่งที่น่าสังเกตคือการตอบโต้จากองค์กร Sedekah Harian ทั้งจากโกซาลิและอาซิส โดยทั้งสองระบุสารที่มีเนื้อหาเดียวกันและตั้งอยู่บนจุดยืนเดียวกัน จึงถือเป็นการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตที่ถูกต้อง และสิ่งที่น่าสนใจขึ้นไปอีกคือ ทั้งสองต่างตอบโต้ว่า “การสวดมนต์เพื่อเงินบริจาคเป็นสิ่งที่ไม่ผิด” แต่ยอมรับว่าการเรียกร้องเงินขั้นต่ำนั้นเป็นสิ่งที่ผิดตามหลักศาสนาอิสลามและยอมขอโทษ

 

ลองมองย้อนกลับมากรณีเทียบเคียงในสังคมไทย อย่าง โฆษณาหญิงผิวสีกับเบเกอรี่ช็อคโกแลตของแบรนด์ดังยี่ห้อหนึ่ง เราจะพบว่าผู้บริหารออกมาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนและยืนยันว่าจะเดินหน้าโฆษณาต่อไปเพราะไม่ใช่ความผิด แต่ท้ายที่สุด ก็ต้องยอมถอดโฆษณาออกไปด้วยแรงกดดันจากสังคมและสาขาหลักในต่างประเทศ ซึ่งโดยส่วนตัว ผมเข้าใจว่าสังคมไทยไม่ค่อยอ่อนไหวกับประเด็นด้านการเหยียดสีผิวเท่าไหร่นัก (เพราะเรายังไม่ค่อยเจอประเด็นแรงๆ อย่างในสหรัฐ) ซึ่งถ้ามองในมุมนี้ สิ่งที่ผู้บริหารพูดก็อาจถือว่าถูก (เพราะโฆษณานี้ไม่กระทบกับคนไทยซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลัก) แต่ในอีกทางหนึ่ง เราก็อาจมองได้ว่าการตอบโต้ของท่านไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของ “หลักการ” อันหนึ่งอันใด ซึ่งเมื่อถูกนำไปโต้แย้งกับหลักการ “การเหยียดผิว” ที่ทั่วโลกยอมรับมันก็ไม่อาจเอาชนะได้ และต้องยอมถอดโฆษณาในภายหลัง

 

ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า หากองค์กรของท่านจะตอบโต้อะไรกับวิกฤตที่เผชิญอยู่ตรงหน้า ควรกลับไปทบทวนหลักการก่อนว่าการตอบโต้ครั้งนั้นจะมีเหตุมีผลหรือตั้งอยู่บนหลักการอะไร (ที่เป็นที่ยอมรับของสังคมส่วนใหญ่) อะไรที่ผิดจากหลักการให้ขอโทษอย่างจริงใจ ขณะที่อะไรที่ถูกต้องตามหลักการอยู่แล้วให้ยืนยันความบริสุทธิ์และชี้แจงว่าองค์กรไม่ได้ผิดอย่างที่ถูกกล่าวหา

 

แล้วคุณผู้อ่านมีความเห็นอย่างไร? รบกวนแชร์ให้เราอ่านหน่อยครับ


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง