5 เทคนิคเชิญนักข่าวมาร่วมอีเวนท์ให้ประสบความสำเร็จ

  • 3
  •  
  •  
  •  
  •  

phone-call-overload

PR หลายคนคงเคยโทรศัพท์ตามนักข่าวจากสารพัดหัวให้มาร่วมงานอีเวนท์สุดหรูหราที่เราบรรจงเสกสร้าง โดยคิดว่างานของฉันมีดารามา งานของฉันเป็น the must งานของฉันมีมื้อกลางวันเลี้ยง งานของฉันมีเซเลบร่วมงาน ยังไงนักข่าวก็อยากมา แต่เมื่อถูกนักข่าวเมินใส่ (แน่นอน หรือบางครั้งก็เหวี้ยงกลับ) ก็เกิดอาการงงว่าทำไมการเชิญของเราถึงได้ล้มเหลว วันนี้ เราหยิบข่าวจาก PR daily เพื่อมาเฉลยเหตุผลที่ทำให้การตามล่าหานักข่าวของคุณล้มเหลว

1. โทรศัพท์อันตราย

PR หลายคนมักจะให้น้ำหนักแก่การตามนักข่าวด้วยโทรศัพท์เป็น priority หลัก เหตุผลคือได้ฟังเสียงและรู้ว่าเขาได้รับข้อความจริง และบางครั้งยังเป็นโอกาสใช้โน้มน้าวให้นักข่าวมางานได้อีกด้วย แต่ข่าวร้ายคือสำหรับนักข่าวแล้ว โทรศัพท์เป็นช่องทางแรกที่พวกเขาไม่อยากถูก PR ตามตัวมากที่สุด (ลองคิดสภาพว่ากำลังสัมภาษณ์นายกฯ อยู่แล้วมือถือที่ลืมปิดเสียงก็ดังแหกขึ้นมากลางวง นอกจากจะโดนทุกคนหมั่นไส้แล้วพอรับสายกลับพบว่าเป็น PR ผู้น่ารัก จังหวะนี้ถึงมีความสัมพันธ์ดีแค่ไหนก็คงอยากจะกรอกเสียงกรี๊ดใส่หูกลับไป) ดังนั้น หากอยากโทรศัพท์จริงๆ ลองส่งอีเมล์หรือส่ง facebook ไปก่อนเพื่อเตือนให้เขารู้ตัวว่าเรากำลังพยายามติดต่อเขาอยู่ หากเขาไม่ตอบรับจริงๆ ค่อยโทรไป

2. ส่งอีเมล์บอกเหตุการณ์ก่อน

ใช้วิธีไหนก็ได้ให้นักข่าวทราบความเป็นมาที่คุณต้องการติดต่อเขา หากเอาเรื่องทั้งหมดไปพูดบนโทรศัพท์ นอกจากเขาอาจจะจับสาระไม่ได้แล้ว ยังจะทำให้เขารำคาญที่ต้องคุยโทรศัพท์กับคุณนานๆ ขณะที่มือก็กำลังปิดข่าวตรงหน้าเป็นระวิง พยายามจำกัดเนื้อหาที่จะคุยโทรศัพท์ให้น้อยที่สุดราว 1-2 นาทีเท่านั้น

3. นักข่าวมีวงจรชีวิตเปลี่ยนไป

สมัยก่อนนักข่าวจะมี “ช่วงเวลาวิกฤต” เพียง 2 ช่วงต่อวัน คือตอนปิดเล่มช่วงเช้าและช่วงดึก แต่ปัจจุบันเมื่อโลกดิจิตอลเข้ารุกรานชีวิตพวกเขา นักข่าวมีช่วงเวลาวิกฤตทั้งวันเพราะต้องทวิต ถ่ายวีดีโอ หรือ โพสต์ คอนเทนต์ข่าวแบบ real-time ตลอด บรรยากาศแบบนี้ทำให้นักข่าวเครียดอยู่แล้ว การพยายามยัดเยียดงาน PR ที่เขาไม่ได้อยากไปเป็นทุนเดิมอาจทำให้เขาเหวี้ยงคุณได้ง่ายๆ

4. นักข่าวทำอะไร? ก็ทำข่าวน่ะสิ

ขึ้นชื่อว่านักข่าว หน้าที่หลักของเขาคือทำข่าว ไม่ใช่ออกงานอีเวนต์ ดังนั้นต้องเข้าว่า priority หลักของนักข่าวก็คือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นตามกระแสโลก การพยายามตื้อให้นักข่าวมางานอีเวนท์ของคุณขณะที่ระเบิดลง ณ มุมใดมุมหนึ่งของเมืองก็อาจไม่ใช่เรื่องที่สมเหตุสมผลนัก ลองเปลี่ยนเป็นยอมตกลงแต่โดยดีแล้วส่งข่าว PR ให้เขาทีหลังจะดีกว่า

5. ใส่ความห่วงใยและความเข้าใจลงในอีเมล์ข่าว PR

PR ทั้งหลายมักมองนักข่าวเป็น “หมาก” ที่คุณจะเรียกหายามต้องการให้เขากระจายข่าวและหมางเมินเมื่อบริษัทยอดขายอู้ฟู่ อย่าลืมว่านักข่าวก็เป็นคนและมีหัวใจเช่นกัน การที่คุณหมางเมินใส่พวกเขายามไม่ได้ผลประโยชน์จะเป็นสิ่งที่เขาจำไว้และมาแสดงออกในโอกาสหน้าที่คุณพยายามเชิญเขา การรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวจึงเป็นสิ่งจำเป็นแต่ไม่ได้หมายความว่าให้คุณประจบนักข่าว เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นจดหมาย PR ที่คุณอาจ tailor made แต่ละฉบับให้แก่นักข่าวแต่ละคน เช่น “โรคปวดหัวดีขึ้นหรือยังค่ะ” “ตอนนี้มีข่าวเยอะ คงเหนื่อยหน่อยนะคะ รบกวนด้วยค่ะ” ความห่วงใยเล็กๆ น้อยๆ จะทำให้นักข่าวรู้สึกว่าคุณใส่ใจพวกเขามากกว่าแค่เรื่องงานและดีกว่าการ “เซ่น” นักข่าวด้วยของหรูๆ เสียอีก

Source


  • 3
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง