ปัดฝุ่นนโยบาย “ลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย” คนไทยได้หรือเสีย?

  • 19
  •  
  •  
  •  
  •  

ราวเดือนกันยายน ปี 2556 เกิดประเด็นร้อนที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เมื่อรัฐบาลในสมัยนั้นมีแนวคิดที่จะผลักดันนโยบายลดอัตราภาษีศุลกากรการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อเป็นแนวทางผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจับจ่ายใช้สอย (Shopping paradise) หวังจะให้นโยบายนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวให้บูมมากขึ้น โดยสามารถมาเที่ยวกินช้อปได้เบ็ดเสร็จจบที่เมืองไทยเลย เช่นเดียวกับที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ประสบความสำเร็จมาแล้ว

นอกจากนี้ ยังเป็นผลดีต่อผู้บริโภคคนไทยด้วยที่สามารถซื้อสินค้าแบรนด์เนมได้ถูกลง ไม่จำเป็นต้องไปบินไปซื้อถึงต่างประเทศให้เสียดุลการค้า

อย่างไรก็ตาม หลังกระแสข่าวว่าจะผลักดันนโยบายนี้เกิดขึ้นก็มีเสียงวิพาย์วิจารณ์มากมาย ทั้งในแง่ที่สนับสนุนและคัดค้าน ทำให้นโยบายนี้ถูกระงับไปก่อนและไม่มีการพูดถึงอีกเลย กระทั่งในรัฐบาลปัจจุบัน นโยบายดังกล่าวก็ถูกปลุกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง

ลองย้อนรอยดูกันว่าอะไรคือผลกระทบที่ตามมาบ้าง หากมีการผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นจริง

reduce tax

สินค้าที่เข้าข่าย

สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยที่เข้าข่ายตามนโยบายนี้ ได้แก่ น้ำหอม เครื่องสำอาง และกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม ทั้งนาฬิกา และเสื้อผ้า ซึ่งปัจจุบันสินค้ากลุ่มนี้ ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 30% ขณะที่สิงคโปร์และฮ่องกง ภาษีสำหรับสินค้าประเภทนี้คือ 0%

ฝ่ายรัฐมองว่าการที่ไทยคิดค่าภาษี จะทำให้สูญเสียโอกาสจากการใช้จ่ายของนักเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย โดยปีหนึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยราว 24 ล้านคน สร้างรายได้ให้ราว 2 ล้านล้านบาท ดังนั้น หากมีการผ่านมาตรการดังกล่าวก็จะช่วยดึงนักเที่ยวต่างชาติให้เข้าประเทศมากขึ้น และเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมทั้งไม่ทำให้เม็ดเงินของเหล่านักช้อปไทยไหลไปต่างประเทศอีกด้วย

เสียงสนับสนุน

สำหรับเสียงที่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ดูเหมือนจะเป็นบรรดากลุ่มผู้นำเข้าสินค้า หรือเจ้าของแบรนด์ หรือผู้ทำตลาดแบรนด์ เพราะต่างมองว่าภาษีคืออุปสรรคสำคัญทาการค้า กีดขวางการเข้าถึงของลูกค้า ทำให้สูญเสียรายได้ แต่หากไร้ซึ่งกำแพงภาษีตรงนี้ก็มั่นใจว่าจะสามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้นทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

แนวคิดนี้เป็นไปในแนวทางเดียวกับผู้ประกอบการช้อปปิ้งมอลล์ใหญ่ๆ ที่มีต่างชาติเป็นฐานลูกค้า โดยเฉพาะห้างหรูใจกลางเมืองซึ่งพยายามผลักดันให้เกิดนโยบายนี้อย่างเต็มที่ โดยมองว่าประเทศไทยพร้อมมากทั้งแหล่งช้อปปิ้ง สินค้า และบริการ มีเพียงปัจจัยเรื่องของ “ราคา” เท่านั้นที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่

เสียงคัดค้าน

หากจะว่าไปเสียงสะท้อนในเชิงคัดค้านค่อนข้างกระหึ่มทีเดียว เพราะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจภายในประเทศเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะภาคการผลิตภายในประเทศ ที่รู้สึกไม่สบายใจกับนโยบายดังกล่าว เพราะกระทบต่อยอดจำหน่ายสินค้าของตัวเอง และอาจเป็นการทำร้ายกลุ่มผู้ประกอบการ SME ด้วย เนื่องจากมีกำลังไม่พอจะสู้กับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้ เมื่อลดภาษีนำเข้าก็เสมือนหนึ่งเปิดทางให้แบรนด์ใหญ่ทุ่มงบประมาณทางการตลาดได้มากขึ้น และ SME ไทยก็ไม่อาจต้านทานได้ สุดท้ายก็จะเกิดปัญหาปิดกิจการหลายแห่ง ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาการเลิกจ้างและอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิจารณ์ว่า นโยบายดังกล่าวสวนทางกับกระแสโลกที่ต่างให้ความสำคัญกับแนวคิด “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) คือการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนแบรนด์ไทยให้มีที่ยืนในระดับโลก แต่เมื่อลดภาษีนำเข้าเอื้ออำนวยสินค้าต่างประเทศโอกาสเกิดของสินค้าแบรนด์ไทยคงเป็นไปได้ยากแล้ว

ยังไม่นับรวม ผลกระทบทางสังคม ซึ่งเราต้องยอมรับว่าค่านิยมของคนไทยนิยม ‘ของนอก’ ดังนั้น เมื่อรัฐบาลเปิดทางให้สินค้าแบรนด์เนมเข้ามามากขึ้น จึงไม่ต่างกับการที่ส่งเสริมให้คนไทยใช้สินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งน่าเป็นห่วงสำหรับกลุ่มเยาวชนที่นิยมซื้อสินค้าตามแฟชั่นแต่กลับไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง หรือคนเงินเดือนน้อยแต่นิยมใช้ของนอก ปัญหาที่จะตามมาก็คือการเป็นหนี้บัตรเครดิตหรือเป็นหนี้นอกระบบ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นอาจจะตัดสินใจกระทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย เช่น ค้ายาเสพติด ก่ออาชญากรรม หรือขายบริการทางเพศ เพื่อหาเงินนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าเหล่านี้ อย่างที่เราได้เห็นกันตามข่าวอยู่บ่อยๆ

ส่งเสริมการท่องเที่ยว?

กรณีการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้นหลายฝ่ายต่างตั้งข้อสังสัยว่า นโยบายดังกล่าวนี้ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้จริงตามเป้าประสงค์หรือไม่? ในประเด็นนี้ ยังเป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่ได้ข้อสรุป และยังไม่มีบทพิสูจน์ว่าจะช่วยในการดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จริง หรือทำให้นักท่องเที่ยวหันมาใช้จ่ายเพิ่มเงินหมุนเวียนในบ้านเรามากขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าคิดก็คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติมีเป้าประสงค์ที่จะมาไทยเพราะต้องการช้อปสินค้าแบรนด์เนมหรือ? เพราะอันที่จริงแล้วจุดขายด้านการท่องเที่ยวของไทย คือสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงาม เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นภูเขา น้ำตก หรือทะเล ฯลฯ รวมทั้งโบราณสถานต่างๆ ที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมและทางประวัติศาสตร์มากมาย นักท่องเที่ยวต่างชาติมิได้จะมุ่งหมายมาช้อปสินค้าแบรนด์เนมที่ไทยแต่อย่างใด

ยิ่งถ้าเป็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก ประเทศของเขาส่วนใหญ่ก็คือผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมอยู่แล้ว หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวชาวจีนที่ปัจจุบันสามารถซื้อสินค้าแบรนด์เนมในราคาปลอดภาษีได้ภายในประเทศของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นที่ SANYA หรือ HAIKOU ในประเทศจีนเอง เป็นต้น ดังนั้นในแง่ของการส่งเสริมการท่องเทียวจำเป็นจะต้องตีโจทย์นี้ให้แตกเสียก่อนว่าได้ผลจริงหรือไม่

เสียงผู้ประกอบการ

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ประเมินว่าการลดภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้สินค้าต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในประเทศ และกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะสินค้าแฟชั่น เช่น เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง ซึ่งหากจะมีการผลักดันเรื่องนี้จริง เห็นว่าควรเปลี่ยนแนวทางเป็นการขยายร้านค้าปลอดภาษีแทนการลดภาษีนำเข้าดีกว่า

“มาเลเซียเคยใช้แนวทางนี้ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวจากต่างชาติมา 2 ปี แต่ไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมากนัก”

ศีริทิพย์ ศรีไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและพัฒนาธุรกิจ บริษัท แดพเพอร์ เจ็นเนอรัล อะแพเร็ล จำกัด กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับมาตรการลดภาษีนำเข้า 0% เพราะมองว่าเป็นการสนับสนุนกลุ่มสินค้าต่างประเทศมากกว่าสินค้าไทย การปรับลดภาษีนำเข้าอาจทำได้บ้างแต่ต้องไม่ใช่การลดภาษีเหลือ 0%

นายบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนม และเครื่องสำอางในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่าการลดภาษีจะทำให้ผู้ประกอบการไทยในธุรกิจเสื้อผ้า เครื่องสำอาง ได้รับผลกระทบ เพราะราคาสินค้าจะไม่แตกต่างกันมากนัก ที่สำคัญจะทำให้ประเทศไทยเสียดุลการค้า มาตรการดังกล่าวตนเชื่อว่ายังไม่เหมาะสมกับตลาดไทยในการดึงดูดใจนักท่องเที่ยวมากนัก โดยพฤติกรรมกลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาในไทยต้องการซื้อสินค้าไทยที่มีเอกลักษณ์ขายเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ไม่ใช่แบรนด์สินค้าที่หาซื้อที่ไหนก็ได้ในประเทศอื่นๆ

เสียงวิจารณ์ออนไลน์

ขณะที่เสียงผู้คนจากโลกออนไลน์ก็ยังเห็นว่านโยบายดังกล่าวไม่ควรนำมาใช้กับไทย เช่น กระทู้ “ถ้าหากลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเหลือ0% แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มาดูและวิเคราะห์กัน” ซึ่งเจ้าของกระทู้มองว่า การลดภาษีนำเข้าเป็นแค่การลดที่ต้นทุนเริ่มต้นของสินค้านั้นๆ ไม่ได้ลดต้นทุนทั้งระบบที่จะสามารถทำให้ลดราคาได้ถึง 30% ซึ่งถ้าหากนำการลดภาษีนำเข้ามาใช้จริงอาจจะทำให้ลดราคาลดได้แค่เพียงประมาณ 5-20% เท่านั้น

หรือกระทู้ “กระทรวงการคลัง เตรียมประกาศปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เหลือ 0% แบบนี้ใครได้ใครเสียครับ” ที่เปิดให้คนเข้ามาวิจารณ์กันเต็มที่ โดยบางเสียงก็ชอบเพราะเห็นว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว และคนไทยเองก็ไม่ต้องบินไปช้อปไกลในต่างประเทศ ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ระบุว่าจะทำให้ผู้ประกอบการ SME ตายปิดกิจการได้ พร้อมกับเป็นห่วงผู้ประกอบการไทยจะสู้ยักษ์ใหญ่จากต่างแดนไมได้ เป็นต้น

ไม่ว่านโยบายดังกล่าวนี้จะถูกนำมาปัดฝุ่นอีกกี่ครั้งในรัฐบาลไหนก็ตาม ควรจะเปิดใจรับฟังเสียงให้รอบด้าน ชั่งน้ำหนักให้ถ้วนถี่ ว่ามันคุ้มค่าและเป็นประโยชน์หรือไม่ ที่สำคัญที่สุดคือการยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง.

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

–          ครอบครัวข่าว
–          กระทู้พันทิป 1
–          กระทู้พันทิป 2
–          กรุงเทพธุรกิจ
–          ฐานเศรษฐกิจ
–          ASTVผู้จัดการออนไลน์
–          หอการค้าไทย
–          เว็บ UASEAN

 


  • 19
  •  
  •  
  •  
  •