เกาะติดพฤติกรรม…Micro-Celeb

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

โดย ดร. ภิเษก ชัยนิรันดร์ www.facebook.com/DoctorPisek
เจ้าของผลงานหนังสือ “ปั้นแบรนด์ให้รวยด้วย Facebook” และ  “การตลาดแนวใหม่ผ่าน Social Media

ผมติดตามพฤติกรรมการใช้ Social Media ของคนปัจจุบัน ก็อดที่จะแปลกใจไม่ได้ หากเป็นเด็กสมัยนี้อาจจะไม่ได้รู้สึกเหมือนอย่างที่ผมเป็น

จุดที่ผมแปลกใจมากก็คือ การเปิดเผยตัวตนมากขึ้น มากจนกระทั่งว่าเมื่อเราอ่าน Info ใน Facebook จะรู้ว่า

  • – ชื่อ-นามสกุล รูปร่างหน้าตา
  • – กิจกรรมที่ทำผ่านรูปภาพหรือการ Check-In ในส่วนของ Facebook Place ทำให้รู้ว่าไปเที่ยวมานะ ไปกินข้าวที่ไหน หรือแม้กระทั่งตอนนี้ทำอะไรอยู่
  • – รู้ว่าเรียนจบที่ไหน ตอนนี้ทำงานที่ไหน รวมไปถึงประวัติของการทำงานที่ผ่านมา และอยู่จังหวัดอะไร
  • – บอกถึงเรื่องราวความสนใจที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศิลปะ เรื่อเพลง หนังสือ หนังที่ชอบ เกมส์ที่เล่น และสารพัดจิปาทะ
  • – นอกจากนี้ยังบอกช่องทางการติดต่อกับเจ้าของประวัติ บางคนถึงกับลงเบอร์โทรศัพท์มือถือเลยทีเดียว

ใน Twitter เองเราก็สามารถเปิดเผยตัวตนได้ใน BIO นอกจากนี้เวลาไปไหน ก็มักจะทวิตบอกผ่าน Time Line ตลอดเวลา ถึงขนาดทวิตบอกว่าตัวเองอยู่ในห้องน้ำ พร้อมถ่ายหว่างเท้ามาให้ดู ผมก็เคยเจอ 

มองรอบๆตัวคุณยิ่งแปลกใจหนัก เมื่อเห็นวัยรุ่และไม่รุ่นใช้โทรศัพท์มือถือที่ติดตัวถ่ายรูปรอบๆตัว เช่น เวลาจะกินต้องถ่ายรูปอาหาร ไปเที่ยว ก็ถ่ายรูป หรือเหตุการณ์อะไรน่าสนใจก็ถ่าย หรือแม้กระทั่งว่างๆก็ถ่ายรูปตัวเองชูสองนิ้ว จากนั้นก็โพสต์ให้ชาวบ้านรู้บน Facebook หรือทวิตบอกใน Twitter

มาถึงตรงนี้ หลายๆคนอาจจะทำหน้าตาสงสัย มันแปลกตรงไหน???

ย้อนกลับไปสัก 10 ปีที่แล้ว ที่การพูดคุยบนโลกออนไลน์พึ่งจะเริ่มฮิตกัน โปรแกรมช่วงนั้นที่เราใช้สื่อสารเช่น ICQ, Pirch หรือคุยตาม Chat Room ต่างๆ ปรากฏว่าแทบทุกคนล้วนปลอมชื่อ ปลอมรูป ไม่ค่อยจะมีใครกล้าหาญชาญชัยเอารูปจริงมาลง ด้วยกลัวว่าจะถูกหลอก แต่กลับไปเที่ยวหลอกคนอื่นๆแทน มีเรื่องขำๆกันช่วงนั้นว่า บางคนเอารูปคนอื่นที่หล่อหรือสวยมาหลอกกัน แต่พอนัดเจอกันจริงๆกลับกลายเป็นหนุ่มอ้วน สาวสิวเขรอะ แทบจะหนีกันไม่ทัน

คำถามเกิดขึ้นตามมาว่า แล้วทำไมพฤติกรรมมันถึงเปลี่ยนไป…

ผมว่ามันเปลี่ยนเมื่อเกิด Social Media ขึ้นนี้แหละ เมื่อเปิดให้ลงรูป ลงคลิป พร้อมกับมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในรูปแบบสาธารณะได้ อีกทั้งความกลัวอย่างในช่วงต้นของยุคอินเทอร์เน็ตก็ลดน้อยลง เพราะได้เรียนรู้เข้าใจมากขึ้นแล้ว ทำให้ค่อยๆเปิดตัวกันมากขึ้น อยากบอกว่าฉันทำอะไร ชอบอะไร ไปไหน หรือแม้กระทั่งไปกับใคร เปิดเผยกันสุดฤทธิ์ ขอบเขตของการเป็นเรื่องส่วนตัวน้อยลง เปิดเผยต่อสาธาณะมากขึ้น บางทีเราโพสต์ข้อความใน Facebook หรือทวิตใน Twitter แล้วมีใครไม่รู้มาคอมเมนท์พูดคุย เราก็อุตส่าห์โต้ตอบทักทายกลับจนกลายเป็นเพื่อนกันไปเลยก็มี ทั้งๆที่ถ้าเป็นสมัยก่อนใครไม่รู้มาคุยด้วย อาจจะมองเป็นการสอดไปก็ได้ แต่สมัยนี้เป็นเรื่องแสนจะธรรมดา

หลายคนถามผมและบางคนเป็นถึงอาจารย์ด้านการตลาดเลยด้วยซ้ำว่า “เราอยากให้ชาวบ้านชาวช่องรู้ไปทำไมว่าทำอะไร ที่ไหน หรือแม้กระทั่งอยู่กับใคร”

ผมอึ้ง…และรู้ว่าทำไมอาจารย์ท่านนั้นถึงแปลกใจ เพราะเป็นคนที่โตมาด้วยกันทันยุคก่อนหน้าที่เราไม่เปิดเผยตัวเองให้ใครก็ไม่รู้มาทักทายรู้จัก

จริงๆก็ไม่น่าประหลาด หากมองตามทฤษฎีความต้องการของ Maslow จากความต้องการล่างสุดคือ ขั้นพื้นฐานคือการอยู่รอด ต่อมาก็เป็นเรื่องของความปลอดภัย สูงขึ้นมาก็ต้องการความรัก จากนั้นมาถึงขั้นต้องการคนยอมรับ สุดท้ายสูงสุดคือ การได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก

Social Media มาสนองความต้องการหรือ Need ในส่วนของขั้นการต้องการคนยอมรับ…

เมื่อโพสต์รูปว่าไปเที่ยวที่ไหน ก็มีเพื่อนๆมาคอมเมนท์พูดคุย เขียนอะไรลงไปมีคนสนใจเข้ามาอ่าน Check-In บอกชาวบ้านว่าอยู่ร้านข้าวมันไก่ ก็มีคนทักอยากจะไปกินด้วย หลายๆคนเมื่อมี friend ใน Facebook มากๆ หรือมี Follower ใน Twitter มากๆ ก็กลายเป็นคนสำคัญมีค่ามีราคาขึ้นมาทันที

มองๆดูก็ไม่ต่างจากบรรดา Celebrity ทั้งหลายที่มี Fan Club ตามกรี๊ด แต่เนื่องจากจำนวน friend ไม่ได้มีมากหรือ follower ก็ไม่ได้เยอะ ก็ถือว่าเป็นเพียง Micro-Celeb ก็ยังดี หรือจะสรปุง่ายๆว่าคนเราอยากเด่นอยากดังด้วยกันทั้งนั้น ซึ่ง Social Media เข้ามาสนองตรงนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ

ใช้พฤติกรรม Micro-Celeb เพื่อการตลาด

เมื่อยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไป คนเรากล้าแสดงออกหรือถึงกับบ้าแสดงออก กิจการหรือแบรนด์ต่างๆเวลาใช้ Social Media ก็ต้องสนใจต่อพฤติกรรมนี้ เปิดโอกาสให้เต็มที่ และเป็นเครื่องมือที่ดีในการบอกต่อผ่าน Share หรือ Retweet เสียด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่างกรณีของ Mo&Friend ร้านขายเสื้อผ้าสตรีบน Facebook ที่มีคนกด Like สูงมาก คือมีจำนวนมากกว่า 50,000 หากพิจารณาในส่วนของ Wall จะพบว่ามีบรรดาลูกค้ามาโพสต์รูปที่สวมใส่เสื้อที่ซื้อจาก Mo&Friend หลายๆคนโพสต์ท่าแบบนางแบบตัวจริงยังอาย เมื่อโพสต์แล้วก็จะมีบรรดาลูกค้าคนอื่นๆมาชมว่าสวย นั้นยิ่งจะเพิ่มความภูมิใจในตัวคนใส่ นอกจากนี้ทาง Mo&Friend เองเท่าที่ผมสังเกตุจะตามเข้ามาชมแทบทุกรูปราวกับเป็นบริการหลังการขาย แต่นั้นแหละคือจุดสำคัญที่เพิ่มการสนองความต้องการเรื่องการยอมรับ

บางคนนอกจาก Tag รูปมาลงที่ Facebook ของ Mo&friend ก็ลงรูปใน Facebook ของตนเอง และ Tag บอกเพื่อนๆด้วย ยิ่งสนองความต้องการไปใหญ่ และถือเป็นการบอกต่อให้เพื่อนๆได้ถามว่าชุดสวยนี้ซื้อมาจากร้านไหน 

มาดูอีกกรณีหนึ่งคือ ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ๊กเม้ง ใน Facebook ของร้าน ยิ่งจะเห็นว่าลูกค้าโพสต์รูปมากมายใน Wall ไม่ว่าจะเป็นรูปเมนูที่กิน หรือป้ายที่ร้านเจ๊กเม้งทำเพื่อให้ลูกค้ามาถ่ายคู่โดยเฉพาะ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ทั้งนี้ทางร้านมองเห็นพฤติกรรมกินแล้วต้องถ่าย(รูป) จึงติดโลโก้เจ๊กเม้งบนฝาผนังแทบจะทุกทิศ เพื่อที่ว่าไม่ว่าจะถ่ายรูปในมุมใด ก็จะมีโลโก้ของเจ๊กเม้งติดอยู่ด้วยเสมอ และก็ไม่ต่างจาก Facebook ของ Mo&Friend หรอกครับที่พวกเขาเหล่านี้นอกจากจะโพสท์รูปบน Wall ของเจ๊กเม้งแล้วก็ไม่พลาดที่จะ Tag รูปบอกต่อเพื่อนๆให้รับรู้กันอย่างทั่วถึงด้วยนั่นเอง

กล่าวสรุปได้ว่า พฤติกรรม “Micro-Celeb” ของบรรดาผู้ใช้ Social Media ยุคนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเอาแต่แปลกใจ แต่ต้องทำความเข้าใจ และปรับใช้เพื่อเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่แสนจะประหยัด และให้คนอื่นเป็นปากเป็นเสียงแทน

เป็นกลยุทธ์ง่ายๆของการทำให้เกิด Viral Marketing…


  •  
  •  
  •  
  •  
  •