เอสซีจี องค์กรต้นแบบด้าน “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ระดมผู้เชี่ยวชาญเปิดเวทีเสวนาระดับอาเซียน

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

All2-700-430

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา เอสซีจี องค์กรต้นแบบด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ 1 ของโลกจาก DJSI ในสาขาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (Construction Materials) 4 ปีต่อเนื่อง จัดสัมมนาระดับภูมิภาค ASEAN Sustainable Development Symposium 2014 ครั้งที่ 4 บูรณาการแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจทั้งอาเซียน เสริมสร้างความร่วมมือ เพิ่มศักยภาพ ย้ำไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นภาคบังคับที่ธุรกิจต้องทำเพื่อความยั่งยืนในอนาคต โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงาน

Kan2-700
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า การจัดงาน ASEAN Sustainable Development Symposium 2014 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และขยายผล “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ไปสู่ทุกภาคส่วน เป็นการประสานองค์ความรู้ให้เกิดความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ธนาคารพาณิชย์ และเครือข่ายของสภาธุรกิจต่างๆ ซึ่งจะรองรับการขยายตัวทางธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

“จากสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกที่มีมากกว่า 9,000 ล้านคน ภายในอีก 35 ปีข้างหน้า ท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอลงจากการอุปโภคบริโภค ผู้บริหารองค์กรชั้นนำกว่า 200 แห่งทั่วโลกต่างมีความเห็นเกี่ยวกับโลกธุรกิจตามวิสัยทัศน์ 2050 หรือ พ.ศ.2593 ว่าภาคธุรกิจในวันนี้ต้องตระหนักถึงการสร้างสมดุลพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ และสมดุลแห่งทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งสร้างสรรค์และจรรโลงสังคมให้ดำเนินอยู่ในกรอบแห่งความดี ดังนั้น การพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงไม่ใช่ทางเลือกสำหรับองค์กร ว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่เป็นวิถีปฏิบัติอันจำเป็นหรือ Must Have Agenda ที่จะต้องวางแผนและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการประสานสมดุลระหว่างภาคเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเดินหน้าขับเคลื่อนทุกปัจจัยให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน”

การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นแนวทางสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องดำเนินงาน และต้องพัฒนาบุคลากรควบคู่ไปด้วย เราพยายามทำให้บุคลากรทุกคนมีส่วนร่วมมากที่สุด มีการอาสาไปทำกิจกรรมนอกบริษัท ในชุมชนต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนแข็งแรง และเข้มแข็งขึ้น อีกทั้งเรายังได้ความรู้ เรียนรู้ภูมิปัญญาจากชาวบ้าน แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกันสำหรับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน SCG ก็พร้อมที่จะเปิดโรงงานให้ผู้ประกอบการเข้ามาศึกษาการทำเรื่อง Sustainable Development ซึ่งขณะนี้มีหลายโรงงานที่ให้ความสนใจ ไม่จำกัดแค่โรงงานขนาดใหญ่เท่านั้น โรงงานขนาดกลาง หรือเล็ก ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้

ด้าน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวเพิ่มเติมว่า เอสซีจี กำหนดแนวทางด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นแผนแม่บทในการดำเนินธุรกิจ โดยเริ่มจากภายในองค์กร และขยายสู่ห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อาทิ การจัดหาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การยกระดับคู่ธุรกิจด้วย Greening the Supply Chain การสร้างมาตรฐานและให้การรับรองความปลอดภัยคู่ธุรกิจ การยกระดับพนักงานของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ผ่านการอบรมจากโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ (Skill Development School) สร้างสังคมที่ยั่งยืนผ่านการแบ่งปันประสบการณ์และสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรและชุมชน

“ตัวอย่างความสำเร็จด้านการร่วมมือกัน (Collaboration) ของเอสซีจี อาทิ สมาคมเพื่อนชุมชน ซึ่งเกิดขึ้นโดยกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อยกระดับมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชน เพื่ออุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน หรือโรงปูนรักษ์ชุมชนที่สระบุรี โดยการร่วมมือของกลุ่มผู้ผลิตปูนซีเมนต์ แม้จะเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ แต่ก็มาจับมือกันเพื่อดูแลสังคม ความสำเร็จเช่นนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าแต่ละองค์กรยังต่างคนต่างทำ” นายรุ่งโรจน์ กล่าว

“วันนี้ทุกองค์กรต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่เพียงการแบ่งปันองค์ความรู้ ไม่ใช่แค่การทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือการส่งต่อ และลงมือทำอย่างเต็มความสามารถ แต่ต้องเป็นความร่วมมืออย่างเติมเต็มซึ่งกันและกัน ร่วมมือกันอย่างมีกลยุทธ์ทั้งในมิติเชิงกว้าง และเชิงลึก สร้างเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ทั่วทั้งอาเซียน เพื่อมุ่งขยายผลการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง” นายกานต์ กล่าวเสริม
700
สำหรับงาน ASEAN SD Symposium ในปีนี้ ถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่นำไปสู่ความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงและทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง ขอบเขตของงานจะขยายไปสู่ทุกภาคส่วนของธุรกิจในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมธนาคาร และเครือข่ายภูมิภาคของสภาธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCSD of Regional Network)

ภูมิภาคอาเซียนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีประชากรอาศัยอยู่มาก เป็นแหล่งผลิตอาหารสำหรับประชากรโลก ดังนั้น การเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจสู่ความยั่งยืน ถือเป็นการพัฒนาที่สำคัญ ที่จะส่งผลในวงกว้าง และส่งผลดีต่อไปถึงประชาคมโลก ดังนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด อาเซียนต้องเดินหน้าร่วมมือกัน เพื่อการเติบโตอย่างมีพลังเป็นหนึ่งเดียว

 


  •  
  •  
  •  
  •  
  •