พลิกเกม True Corp ไพ่ใบสุดท้ายกับ 3G

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

true_3g

ในบรรดา “สามก๊ก” แห่งค่ายมือถือ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ต้องตกอยู่ในสถานะ “ไก่รองบ่อน” หมายเลขสามมาโดยตลอด

นอกจากเข้าสู่สมรภูมิช้ากว่าใครแล้ว ภาระ “หนี้” ที่เกิดขึ้นช่วงวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” เป็น “ตัวถ่วง” การเติบโตมาโดยตลอด

จนต้องทิ้งไพ่ใบ (เกือบ) สุดท้ายด้วยแผนเพิ่มทุนครั้งใหญ่ “19,500 ล้านบาท” หวัง “ลดหนี้” ก้อนโต

แต่มวลชนยังไม่ให้ความไว้วางใจ ถึงขั้นนายใหญ่ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์  ต้องออกโรง “เรียกแขก” ด้วยตัวเอง แต่ยังไม่อาจช่วยฟื้นชีวิตทรูได้

แม้วิบากกรรมยังไม่จบ แต่มังกรน้อยแห่ง CP “ศุภชัย เจียรวนนท์” ให้ความเชื่อมั่นว่า เมื่อพลุ “3G” ถูกจุดขึ้น

… กลุ่มทรู มีโอกาส “พลิกเกม” !!

เคยเป็นบริษัทที่เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่อลังการ เป็น “ความหวัง” ใหม่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ที่แตกไลน์จากธุรกิจเกษตรสู่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในชื่อ “เทเลคอมเอเชีย” (TA) ท่ามกลางความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจในเวลานั้น

แต่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ได้ฉุดดวงอาทิตย์ดวงนี้ลงสู่พื้นดินด้วยหนี้สินมหาศาลที่เป็นเงินตราต่างประเทศนับ “แสนล้านบาท”

ทำให้ผลประกอบการของเทเลคอมเอเชีย (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ทรู คอร์ปอเรชั่น) ขาดทุนสลับกำไรมาตลอด 10 ปี และเคยมีหนี้สินต่อทุนถึง 10 เท่า

ในเชิงการแข่งขันธุรกิจมือถือ การที่ทรูจะเข้าสู่ตลาดหลังเอไอเอสและดีแทคบวกด้วยภาระหนี้ที่ต้องจ่าย แม้จะเปิดตัวแบรนด์ “TA Orange” อย่างยิ่งใหญ่ ก็ไม่อาจสู้แรงเสียดทานไหว จนผู้ถือหุ้นจากฝรั่งเศลต้องถอนตัวกลับไปในที่สุด และทรูต้องเข้าไปลงทุนเองด้วยทุนที่จำกัดพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “True Move”

จนกระทั่งถึง “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ปลายปี 2551 เมื่อถึงเวลาที่ทรูจะต้องซื้อหุ้นบริษัทกรุงเทพอินเตอร์เทเลเทค (BITCO) ซึ่งถือหุ้นใหญ่บริษัททรูมูฟคืนจากกลุ่ม CP หลังนำหุ้นไป “จำนำ” ไว้เมื่อสองปีก่อนเพื่อขอเงินมาลงทุน   รวมถึงมี “เจ้าหนี้” ต่างชาติกวักมือเรียกให้รีบใช้หนี้เงินกู้ “80,256 ล้านบาท” ให้เร็วที่สุดจะมี “โปรโมชั่น” ลดหนี้ให้ “ครึ่งหนึ่ง” สุดท้ายคือนำไปใช้ลงทุน “3G”

จึงเป็นที่มาของการประกาศแผนเพิ่มทุน “ครั้งใหญ่” จำนวน 1 หมื่นล้านหุ้น จำนวนเงิน 19,500 ล้านบาท เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมราคาหุ้นละ 1.95 บาทสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 2.22 หุ้นใหม่ เพื่อแก้ไขวิกฤติเฉพาะหน้า

แต่ในมุมมองของนักวิเคราะห์ต่างให้ความเห็นตรงกันว่า “ไม่คุ้ม” ทุกประการเพราะนอกจากจะเสนอขายในราคาต่ำกว่าราคาพาร์ 10 บาทแล้ว ยังต่ำกว่าราคาในตลาดเวลานั้นด้วยซ้ำ ทั้งยังไม่มีช่องให้เห็นภาพเลยว่าบริษัทจะแข็งแกร่งขึ้นได้หรือไม่

คำแนะนำที่ออกมาในบทวิจัยเกือบทั้งหมดคือขอให้ “งดใช้สิทธิ”

เกม “ลาก” ราคาหุ้น TRUE จึงเกิดขึ้นทันที จากราคาหุ้นละ 1.30 บาทวิ่งขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.86 บาทใกล้เคียงกับราคาเสนอขาย ทั้งที่ไร้ “ข่าวดี” สนับสนุน

พลิกดูหน้าผู้เล่นพบว่าเป็นบริษัทฯใน “เครือซีพี” ด้วยกันนี่เองที่กวักมือเชิญแขกให้เข้าร่วมโต๊ะจีน ด้วยการพาเหรดเข้าเก็บหุ้น TRUE จนมีสัดส่วนถือหุ้นเพิ่มจากเดิมถือ  29% เป็น 35.18% และหลังการเพิ่มทุนล่าสุดได้เพิ่มสัดส่วนเป็น 50% แล้ว

การที่เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ลงทุนเปิดเกมรุกด้วยตัวเองขนาดนี้อย่างออกหน้าเพียงนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าเครือ CP “จริงจัง” กับการพลิกคืนชีพให้กับทรูเพียงใด

แต่ความพยายามของเจ้าสัวธนินท์ดูจะ “ไร้ผล” เมื่อปิดสมุดผู้จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนปรากฏว่ามีผู้จองเพียง 32% ได้เงินสดรวม 6,400 ล้านบาท จากจำนวนเต็ม 19,500 ล้านบาท ดูจากสัดส่วนการถือหุ้นแล้วดูเหมือนกลุ่มซีพีจะเป็นผู้ “ควักกระเป๋า” จ่ายฝ่ายเดียว

ส่วนผู้ถือหุ้นรายอื่น “Say No” ไม่ขอร่วมสังฆกรรมด้วย

โดยเงินจำนวนนี้จะแบ่งเป็นสองก้อน ส่วนแรก 2,600 ล้านบาท นำไปเพิ่มทุนให้บริษัททรูมูฟและใช้ลงทุนเทคโนโลยีสามจี ส่วนที่สอง 3,800 ล้านบาท นำไปใช้เป็นเงินสดสำรอง ซึ่งเพียงพอที่จะนำไปใช้ซื้อหุ้นบริษัทกรุงเทพอินเตอร์เทเลเทค (BITCO) คืนจากกลุ่มซีพี จำนวน 3,000 ล้านบาท ภายในวันที่ 11 มิถุนายนปีนี้

นอกจากนี้ยังได้เงินสดจำนวน 6,180 ล้านบาทจากการเสนอขายหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 7,750 ล้านบาท อายุ 5 ปีคิดดอกเบี้ย 6.50% ต่อปี เพื่อมาชำระหนี้หุ้นกู้ชุดเดิม ทำให้สภาพคล่องของบริษัทเริ่มดีขึ้น

ทั้งนี้เป้าหมายของเจ้าสัวน้อยศุภชัย เจียรวนนท์ ตั้งธงว่ากลุ่มทรูจะต้องลดหนี้สินสุทธิจากปัจจุบัน 78,000 ล้านบาท ให้เหลือ 40,000 ล้านบาทภายในปี 2555 เพื่อให้สมดุลกับกระแสเงินสดที่เข้าบริษัท (EBITDA) ปีละ 20,000 ล้านบาท คิดเป็นหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดที่ 2 เท่า ซึ่งเป็นตัวเลขที่จะทำให้กลุ่มทรู “ตัวเบา” ขึ้น (ปัจจุบันมี Debt/EBITDA อยู่ที่ 3.7 เท่า)

ตัวเลขงบการเงินของปีที่ผ่านมา ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง 48.5% เหลือเพียง 5,400 ล้านบาท คิดเป็น D/E Ratio 5.3 เท่า(ยังไม่รวมเงินจากการเพิ่มทุน) มีหนี้สินระยะสั้นที่ต้องชำระภายใน 1 ปี 9,870 ล้านบาท

โดยเป้าหมายในการลดหนี้ปีนี้ (2552) อยู่ที่ตัวเลข 9,000 ล้านบาท ปี 2553 อยู่ที่ 13,000 ล้านบาท ปี 2554 อยู่ที่ 9,000 ล้านบาท และปี 2555 อีก 7,000 ล้านบาท รวมจำนวนหนี้ที่ต้องลด 38,000 ล้านบาทภายใน 4 ปี

“ปีนี้คาดว่าหนี้สินต่อกระแสเงินสดของเราน่าจะดีกว่าปีที่แล้ว เพราะภาระหนี้ระยะสั้นลดลงและธุรกิจมือถือถึงจุดคุ้มทุนแล้ว”

ศุภชัยเคยคาดการณ์ว่า ถ้าการเพิ่มทุน 19,500 ล้านบาทประสบความสำเร็จ กลุ่มทรูจะมีโอกาสล้างขาดทุนสะสมจำนวน 46,000 ล้านบาทได้ภายในสองปี แต่เมื่อทุนไม่เพียงพอบริษัทจึงวางแผนล้างขาดทุนสะสมด้วยสามขั้นตอน

หนึ่ง..มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ

สอง..ลดราคาพาร์ลง (ปัจจุบันอยู่ที่ 10 บาท)

สาม..เมื่อตลาดหุ้นฟื้นตัว ทรูจะนำบริษัทลูก เช่น ทรูมูฟ ทรูออนไลน์ ทรูวิชั่น ฯลฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ และทรูจะขายหุ้นบางส่วนออกมาเพื่อนำไปชำระหนี้บริษัทแม่ (จากเดิมถือ 100% อาจจะเหลือ 51%)

“ข้อแรกเราทำแน่นอน ข้อสองอาจจะไม่ทำเพราะจะกระเทือนต่อผู้ถือหุ้นสถาบันบางแห่งและจะไม่มีเงินสดพอที่จะลงทุน ส่วนข้อที่สามมีความเป็นไปได้มากที่สุด แต่คงต้องรอให้ภาวะการลงทุนดีขึ้นเสียก่อน”

ในแง่ธุรกิจปีนี้ ศุภชัยยังเชื่อว่ารายได้ของกลุ่มทรูจะเติบโตได้จากปีที่แล้ว 61,891 ล้านบาทเล็กน้อย และน่าจะพลิกมี “กำไรสุทธิ” หลังเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นจากไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ที่มีกำไรจากการดำเนินงานเป็นครั้งแรก 599 ล้านบาท

ส่วนผลประกอบการสุทธิของปีที่แล้ว ยังขาดทุน 2,355 ล้านบาท เนื่องจากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 2,600 ล้านบาท แต่มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 62 ล้านบาท

ปัจจุบันรายได้ของกลุ่มทรูมาจากสามธุรกิจหลักคือ ธุรกิจมือถือของทรูมูฟสัดส่วน 44% ธุรกิจอินเทอร์เน็ต,โทรศัพท์พื้นฐานและพีซีทีของทรูออนไลน์ 38% และทรูวิชั่น 31%

ธุรกิจมือถือของทรูมูฟปีที่แล้วมีจำนวนผู้สมัครใหม่ 2.7 ล้านราย ครองส่วนแบ่งตลาดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิ 30% รวมมีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 14.8 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 22% ของตลาดรวม แต่รายได้จากค่าบริการไม่รวมค่า IC ลดลง 4% และ EBITDA ลดลง 25%

ส่วนธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ปัจจุบันทรูมีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50% โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวนลูกค้าทั้งหมด 62,500 ราย ปีที่แล้วมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 15% และมีรายได้จากค่าบริการงวดปี 2551 เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน

ศุภชัย เชื่อว่าธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตบอร์ดแบรนด์จะมีโอกาสเติบโตสูงที่สุดในกลุ่ม โดยยกสถิติว่าปัจจุบันคนไทยมีสัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพียง 6% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ประเทศในเอเชียด้วยกันอย่างสิงคโปร์มีสัดส่วนถึง 75% จึงมีช่องว่างที่จะเติบโตอีกมาก

ในขณะที่ธุรกิจเคเบิลทีวี ทรูวิชั่น ในปีที่ผ่านมามีลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่า 41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมมีลูกค้ากว่า 1.5 ล้านราย เพราะได้ขยายตลาดลงไปสู่กลุ่มคนระดับล่างมากขึ้น ในปี 2551 ทรูวิชั่นมีรายได้รวม 9,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและมีผลกำไรโดยตลอด

“ปีนี้รายได้ของทรูมูฟอาจจะทรงตัว แต่ทรูออนไลน์และทรูวิชั่นจะเพิ่มขึ้นเพราะเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจต่ำกว่าธุรกิจมือถือ”

มุมมองของนักวิเคราะห์ ยังให้น้ำหนักการลงทุนหุ้น TRUE ต่ำกว่าผู้เล่นอีกสองราย เนื่องจากสถานะการเงินที่ย่ำแย่ โอกาสแข่งขันในธุรกิจมีต่ำ อีกทั้งแผนการเงินที่ออกมายังเป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แถมปีนี้ยังมีความเสี่ยงจากกลุ่มลูกค้าทรูมูฟซึ่งเป็นชนชั้นล่างจะสูญเสียรายได้จากการตกงาน

ครั้งหนึ่งเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เคยเอ่ยปากกับบรรดาซีอีโอของเครือซีพีว่า เมื่อกลุ่มตัดสินใจลงสนามในธุรกิจใดแล้ว ไม่มีคำว่า “ถอย” และมีแต่มอง “ไปข้างหน้า”

แต่สภาพธุรกิจโทรคมนาคมที่กำลังเดินเข้าสู่ “ขาลง” ภายใต้ร่างกายที่ “อ่อนแอ” จะพิสูจน์ประกาศิตของ “พญามังกร” ว่ายังหนักแน่นอยู่หรือไม่!!

Source: กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์


  •  
  •  
  •  
  •  
  •