เรียนรู้จุดกำเนิดของ “โตโยต้า” จากธุรกิจทอผ้า สู่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

  • 42
  •  
  •  
  •  
  •  

DSCF0321

สังเกตไหมว่าในแต่ละปี หน้าร้อนก็จะยิ่งร้อนขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ หน้าหนาวก็ไม่หนาวเท่าที่ควร หรือหนาวแค่ไม่กี่วัน หากจะถามถึงสาเหตุ เชื่อว่าทุกคนคงทราบกันดีอยู่ว่าเกิดจาก “ภาวะโลกร้อน” นั่นเอง อีกหนึ่งภัยธรรมชาติที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนเรามองข้ามไม่ได้ ซึ่งภาวะโลกร้อน สภาพอากาศแปรปรวนไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยสาเหตุใดก็ตาม ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา

ล่าสุดทาง Marketing Oops! ได้มีโอกาสไปร่วมทริป “โครงการลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” ที่พาไปเยี่ยมชมการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทศญี่ปุ่น โดยโครงการฯ นี้เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 เพื่อกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม

PRimg-20160407170824-700

สำหรับโครงการลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา ปีที่ 11 ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนโรงเรียนและชุมชนทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด โดยในปีนี้ประเภทโรงเรียนรางวัลที่ 1 ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เขตบางแค กรุงเทพมหานคร, รางวัลที่ 2 โรงเรียนนางัวราษฎร์รังสรรค์ อ.นาหว้า จ.นครพนม และรางวัลที่ 3 โรงเรียนดาราวิทยาลัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ในส่วนของประเภทชุมชน รางวัลที่ 1 ได้แก่ ชุมชนบ้านหนองสะแกกวน เทศบาลตำบลโนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์, รางวัลที่ 2 ชุมชนบ้านม่วงชุม เทศบาลตำบลครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย และรางวัลที่ 3 ชุมชนบ้านหนองปลาดุก หมู่ 22 องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม

ทำไมโตโยต้าถึงเลือกทำ CSR ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

PRimg-20160407171020-700

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำธุรกิจในทุกวันนี้จะมุ่งเน้นแต่การขายสินค้า หรือกำไรอย่างเดียวไม่ได้ แบรนด์ต้องตอบแทนสังคมด้วยการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) เพื่อเพิ่มบทบาท และความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภค คุณมานะ ชูขันทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ให้เหตุผลที่โตโยต้าทำ CSR เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมว่า โตโยต้ามีนโยบายหลักขององค์กรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายในการผลิตรถยนต์ให้มีค่าคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ผ่านการดำเนินการ 2 ด้าน คือ ภายในองค์กร ส่งเสริมให้พนักงานตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการการออกแบบ ไปจนถึงการผลิตรถยนต์ ส่วนอีกด้านคือ ผู้บริโภค/ลูกค้า โตโยต้าจะดำเนินงานผ่านกิจกรรม CSR ต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ลูกค้ารับรู้และส่งต่อไปสู่วงกว้าง

ซึ่งในการเดินทางในครั้งนี้ นับเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้ทั้งคณะครู-นักเรียน ชุมชน และคณะสื่อมวลชนอย่างมาก ที่จะได้เข้าไปเรียนรู้การรักษาสิ่งแวดล้อมจาก 5 สถานที่ที่กำลังจะกล่าวถึงนี้

จากธุรกิจทอผ้า สู่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่

DSCF0336
แบบจำลองรถยนต์คันแรกที่ นายซากิชิ โทโยดะ ซื้อมาจากยุโรป

DSCF0339 DSCF0356DSCF0365

โดยจุดหมายแรกที่เรามาคือ พิพิธภัณฑ์เกียรติยศอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโตโยต้า (Toyota Commemorative) สถานที่ที่รวบรวมประวัติความเป็นมาของโตโยต้าก่อนจะมาเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างทุกวันนี้ เพื่อถ่ายทอดวิสัยทัศน์และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า ทั้งในด้านการผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การรับผิดชอบต่อการรีไซเคิลรถเก่า ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสังคมที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากมาย รวมทั้งการจัดแสดงผลผลิตต่างๆ รถยนต์ที่โตโยต้าพัฒนาในแต่ละยุค เทคโนโลยียานยนต์ รวมทั้งมีการแสดงตัวรถยนต์รุ่นล่าสุดและหุ่นยนต์ต่างๆ

“โตโยต้า” เริ่มต้นด้วยการทำธุรกิจปั่นด้ายและการทอผ้า ถือกำเนิดโดยตระกูล “โทโยดะ” จุดเปลี่ยนที่ทำให้โตโยต้าหันมาสู่อุตฯ ยานยนต์ ก็มาจากนายซากิชิ โทโยดะ ผู้ก่อตั้งกลุ่มโตโยต้า ที่ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อดำเนินการเรื่องสิทธิบัตรของธุรกิจสิ่งทอ และเห็นรถยนต์จากยุโรปจึงเกิดความชื่นชอบ และตัดสินใจซื้อเพื่อนำมาถอดแบบ ต่อยอดไปสู่การพัฒนาเป็นรถยนต์รุ่นต่างๆ

ปัจจุบันธุรกิจทอผ้าของโตโยต้าก็ยังเปิดดำเนินงานอยู่ เพราะรถยนต์ทุกคันของโตโยต้าต้องใช้ผ้าคลุมเบาะที่ผลิตจากโรงงานแห่งนี้

DSCF0347

DSCF0362

เรียนรู้การอยู่ร่วมกับธรรมชาติใน สถาบันสิ่งแวดล้อมโตโยต้าชิราคาวา-โก

DSCF0560

สถาบันสิ่งแวดล้อมโตโยต้าชิราคาวา-โก TOYOTA Shirakawa-Go Eco-Institute ตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านโบราณ Shirakawa-Go ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เป็นโรงเรียนธรรมชาติของโตโยต้า จัดตั้งขึ้นเพื่อการเรียนรู้วิถีชีวิตการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ เรียนรู้ความสัมพันธ์ของน้ำและป่าไม้ ถ้ามาช่วงนี้ (มีนาคม-เมษายน) คุณจะได้เห็นหิมะที่กำลังจะละลายกลายเป็นน้ำ โดยมีป่าไม้และดินทำหน้าที่ดูดซับน้ำ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นมีน้ำใช้ตลอดปี การทดลองผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแรงดันน้ำ ผ่านการจำลองเครื่องยนต์ของรถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิง ที่เป็นต้นแบบการผลิตรถมิไร (Mirai) และการเดินสำรวจป่าในตอนกลางคืน เป็นช่วงเวลาที่คุณจะได้อยู่กับตัวเอง อยู่กับธรรมชาติ ปราศจากสมาร์ทโฟน ถ้าใครมีโอกาสมาเราขอแนะนำให้ร่วมกิจกรรมนี้ เพราะอาจจะเป็นค่ำคืนที่คุณเห็นดาวชัดที่สุดในชีวิตก็ได้

H27.5.7ナイトハイク

DSCF0569
การทดลองผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแรงดันน้ำ ผ่านการจำลองเครื่องยนต์ของรถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิง ที่เป็นต้นแบบการผลิตรถมิไร (Mirai)
DSCF0556
ลำธารเล็กๆ ที่หิมะกำลังจะละลายกลายเป็นน้ำ โดยมีป่าไม้และดินทำหน้าที่ดูดซับน้ำ ทำให้หมู่บ้านชิราคาวาโกมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี

Yasuku Kanai ผู้จัดการแผนกวางแผนทั่วไป ของ Toyota Shirakawago Eco Institute เผยว่า เนื่องจากป่าไม้ที่อยู่ภายในสถาบันฯ มีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ เราจึงต้องการปลูกจิตสำนึก และสร้างประสบการณ์ให้ผู้มาที่ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติที่สุด การมาร่วมแคมป์ที่นี่จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ โดยเรามองว่า ผู้ใหญ่คือผู้รักษา เด็กรุ่นต่อไปจะทำให้เกิดความยั่งยืน

นอกจากนี้ ที่สถาบันฯ ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวทุกคนเข้าพัก ไม่ใช่แค่พนักงานของโตโยต้าเท่านั้น ในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวไทยเข้าพักที่สถาบันฯ ประมาณ 300 คน มากเป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวันที่มี 4,000 คน โดยช่วงที่คนไทยมาเยอะที่สุดคือ เดือนเมษายน คาดว่าคนไทยอาจหนีร้อนและมีวันหยุดยาว ประกอบกับที่สถาบันฯ จะว่างช่วงนี้พอดี ในปีนี้เราก็คาดว่าคนไทยจะให้ความสนใจมากขึ้น จะมาเป็นกลุ่มหรือมาคนเดียวก็ได้ ความน่าประทับใจอีกอย่างของที่นี่คือ มื้อเย็นจะเสิร์ฟอาหารสไตล์ฝรั่งเศส แทนการการเสิร์ฟอาหารญี่ปุ่น เพราะถ้าคุณอยากทานอาหารญี่ปุ่นแท้ๆ คุณต้องพักที่เกสต์เฮ้าส์ของชาวบ้านในชิราคาวาโก

ชุมชนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมโตโยต้า (Toyota Ecoful Town)

DSCF0586

มาถึงความไฮเทคที่โตโยต้าภูมิใจนำเสนอ ที่ Toyota Ecoful Town เมืองต้นแบบแห่งเทคโนโลยี ที่จำลองรูปแบบการใช้ชีวิตแห่งอนาคตที่นำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระหว่าง คน รถ และบ้าน เช่น ระบบขนส่งในเมือง (Ha:mo) เป็นรถมอเตอร์ไซค์ขนาด 50 cc. ที่เริ่มนำมาใช้ในปี 2010 เพื่อสร้างสมดุลของการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและระบบขนส่งสาธารณะ และยังช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยความที่มีขนาดเล็กจึงช่วยลดปัญหารถติดได้ เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเดินทางคนเดียว การใช้รถคันใหญ่จึงทำให้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

DSCF0603
ระบบขนส่งในเมือง Ha:mo

DSCF0605

ปัจจุบันมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้มี 48 สถานี ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการควบคุม จุดเช่า-คืนก็ไม่จำเป็นต้องเป็นจุดเดียวกัน มีรถกว่า 100 คัน ผู้ลงทะเบียน 4,700 คน สามารถใช้งานได้ 24 ชั่วโมง ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย เฉลี่ย 35 นาที/สัปดาห์ ในส่วนของการใช้งานก็ไม่ยาก เพียงแค่ลงทะเบียนในแอพฯ แล้วใช้สมาร์ทโฟนแตะไปที่ตัวรับสัญญาณที่ติดอยู่กับตัวรถ ก็ใช้งานได้ทันที

DSCF0632

และบ้านอัจฉริยะ (Toyota Smart House) ที่กักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์มาแปรสภาพเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในบ้าน โดยมีระบบควบคุมการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ควบคุมการใช้ไฟฟ้าในจุดที่ไม่จำเป็นและจัดลำดับความสำคัญในการใช้ไฟฟ้าก่อน-หลัง เพื่อก่อให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ

DSCF0606

นอกจากนี้ เรายังได้เห็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ในระยะยาวของโตโยต้า ในปี 2050 นั่นก็คือ Mirai รถยนต์คันแรกที่ใช้พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เรียกได้ว่าเป็นรถที่ประหยัดพลังงานที่สุด สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างใช้รถได้ และยังมีระบบจ่ายไฟฟ้าออกไปข้างนอกจะต่อใช้ภายในบ้านก็ได้ มีปลั๊กไฟฟ้า 100 วัตต์ ที่สำคัญใช้เวลาเติมพลังงานไฮโดรเจนแค่ 3 นาทีก็เต็มถัง

DSCF0585DSCF0610
โดยผู้ใช้ Mirai คนแรกคือ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่าทางรัฐบาลญี่ปุ่น ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก พร้อมกับมีนโยบายกระตุ้นให้ประชากรใช้รถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเยน ด้วยงานให้เงินอุดหนุน 2 ล้านเยน ปรับลดภาษีรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน Mirai เริ่มจำหน่ายแล้วในบางประเทศ

จากความร่วมมือในการคัดแยกขยะ สู่แผ่นดินผืนใหม่

ก้าวแรกของการมาเยือนประเทศญี่ปุ่น หลายคนคงรู้สึกเหมือนกันว่า ญี่ปุ่นเป็นเมืองที่สะอาด ไม่มีขยะหล่นเกลื่อนกลาด ไม่ว่าจะเป็นตามท้องถนน หรือสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งมาจากการปลูกจิตสำนึกของคนญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะ ซึ่งคนญี่ปุ่นก็ทำจนเป็นวัฒนธรรมของชนชาติไปแล้ว

DSCF0649IMG_6063_resizeDSCF0651

DSCF0659
สิ่งที่ระเหยออกจากปล่องควันคือ ไอน้ำ ซึ่งไอน้ำที่ได้ก็นำมาผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน เพราะผ่านระบบการกรองที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เรามองไม่เห็นควัน

คราวนี้เรามาดูวิธีกำจัดขยะที่ประสิทธิภาพ โรงงานเผาขยะเขตโอตะแห่งเมืองโตเกียว (Ota Incineration Plant) ที่รองรับขยะจากครัวเรือนจาก 23 เขตในโตเกียว หรือประมาณ 22 ล้านคน โรงเผาขยะแห่งนี้เปิดดำเนินการในปี 2014 ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปีด้วยกัน เป็นโรงงานเผาขยะที่มีความทันสมัย และควบคุมการปล่อยมลพิษได้ตามมาตรฐานสากล เตาเผาขยะ 2 เตา เผาขยะได้วันละ 600 ตัน มีเครื่องกรองฝุ่นกว่า 1,000 ชิ้น และจะเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 10 ปี สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 22,800 กิโลวัตต์ (เต็มกำลังการผลิต) ปัจจุบันใช้จริงในโรงงานเพียง 3,000 กิโลวัตต์ ที่เหลือจำหน่ายให้การไฟฟ้า

IMG_6079_resize
ปลูกต้นไม้บนนดาดฟ้า เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว

ขั้นตอนการเผาขยะอย่างง่ายๆ

1. รถบรรทุกจะขนขยะจากครัวเรือน มาจาก 23 เขตในกรุงโตเกียว
2. เทขยะลงไปในบังเกอร์ แล้วใช้เครนผสมขยะให้เข้ากัน ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 วัน (หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับประเภทของขยะ)
3. ใส่ขยะไปในเตาเผา ที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง
4. เริ่มขั้นตอนการเผาขยะด้วยอุณหภูมิ 800 องศา แล้วนำไปผ่านกระบวนการลดความชื้น และเผาอีกครั้งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ไอเสียได้จากการเผาขยะจะผ่านการกรองจากเครื่องกรองฝุ่นอย่างดี จึงทำให้สิ่งที่ระเหยออกมาจากปล่องควันมีแค่ไอน้ำ ส่วนน้ำเสียที่ได้ก็จะนำไปบำบัดก่อนปล่อยออกไป
5. ขี้เถ้าที่ได้จากการเผาจะถูกส่งออกไปโรงงานฝังกลบ หรือถมเป็นพื้นดินแห่งใหม่

Tokyo Metropolitan Government Landfill

IMG_6134_resize

ศูนย์การจัดการขยะแห่งเมืองโตเกียว (Tokyo Metropolitan Landfill site) ถือเป็นแหล่งความรู้ด้านบริหารจัดการขยะที่ดี อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะอย่างมาก มีการกำหนดวันทิ้งขยะแต่ละประเภทอย่างชัดเจน เพื่อให้สะดวกต่อการรวบรวมขนส่งไปจัดการ โดยแบ่งเป็น ขยะเผาได้ ขยะเผาไม่ได้ ขยะขนาดใหญ่ และขยะรีไซเคิล

IMG_6166_resize

IMG_6168_resize

โดยศูนย์จัดการขยะแห่งนี้ จะทำหน้าที่คัดแยกขยะที่ได้รับมาจาก 23 เขตในกรุงโตเกียว แล้วนำมาบด และฝังกลบลงไปในทะเล จนทำให้เกิดแผ่นดินใหม่ ตอนนี้ก็เกือบเต็มพื้นที่และเป็นพื้นที่สุดท้ายของกรุงโตเกียว ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน ในการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม

DSCF0701

IMG_6177_resize


  • 42
  •  
  •  
  •  
  •