ค่ายมือถือเปิด Cloud ส่วนบุคคล เตรียมต่อยอดองค์กร

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

“คลาวด์ คอมพิวติ้ง” อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเทรนด์ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่กำลังเป็นเทคโนโลยีที่องค์กรธุรกิจต่างๆ หันมาให้ความสนใจและเริ่มนำระบบการจัดการแบบกลุ่มเมฆนี้มาปรับใช้กันมากขึ้น เพราะรับรู้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับรวมถึงความสามารถในการนำเสนอความคล่องตัวทางธุรกิจ การลดต้นทุนและการควบคุมค่าใช้จ่ายไอทีซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันสำหรับองค์กรในยุคปัจจุบัน แต่นอกเหนือจากประโยชน์ที่กล่าวมาแล้วนั้น ระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง ยังสามารถนำมาใช้เพื่อให้บริการด้านความปลอดภัยได้อีกด้วย

วิศรุต เอื้ออานันท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและพัฒนา เอไอเอส แอพ สโตร์ และพอร์ทอล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เผยว่า “ข้อมูลของเอไอเอสพบว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เรามียอดขายดีไวซ์เครื่องใหม่ได้มากกว่า 25 ล้านเครื่อง แต่ก็พบว่า มีจำนวนของข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากลูกค้า เช่น ขอปิดเบอร์เพราะว่ามือถือหายที่สูงถึงประมาณ 2.4 แสนราย พอเราได้ข้อมูลแบบนี้ก็เกิดความคิดที่ว่าอยากทำเซอร์วิสที่สามารถช่วยได้ใน 2 เรื่องใหญ่ๆ คือเรื่องของการสำรองข้อมูลและปกป้องโทรศัพท์ของลูกค้า”

ais-mycloud-1

“AIS myCloud” แอพฯ พื้นที่ส่วนตัวที่ชัวร์กว่า

วิศรุต อธิบายว่า AIS myCloud คือโครงการที่ทำร่วมกับบริษัท พีทีแอนด์ที ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาคอนเทนต์และความปลอดภัยบนโทรศัพท์มือถือที่ได้รับใบรับรองจากชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการจุดประกายการใช้ประโยชน์จากระบบคลาวด์ยุคใหม่จากการใช้งานในระดับธุรกิจมาสู่การใช้งานแบบส่วนบุคคล โดยผู้ใช้สามารถสำรองข้อมูลทั้งรายชื่อ รูปภาพวิดีโอข้อความ หรือไฟล์เอกสาร ที่อยู่ในสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต พร้อมทั้งสามารถเรียกคืนข้อมูลกลับมาใส่ในอุปกรณ์ดีไวซ์เครื่องเดิมหรือเครื่องใหม่ได้โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของระบบปฏิบัติการ ทำให้ผู้ใช้งานมั่นใจได้ว่าหากเกิดเหตุไม่คาดคิดโทรศัพท์มือถือสูญหายหรือถูกขโมย แต่ข้อมูลสำคัญในโทรศัพท์ยังอยู่ครบและสามารถเรียกคืนข้อมูลกลับมาใช้งานได้ทุกเมื่อ โดยให้คอนเซปต์ของ AIS myCloud ไว้ว่า Save Your Files. Safe Your Phone.

“คอนเซ็ปต์แรก Save Your File คือการแบ็คอัพข้อมูลต่างๆ ในมือถือ เปรียบเสมือนกับ iCloud ของแอปเปิล แต่จะแตกต่างตรงที่ว่าเราทำออกมาเพื่อรองรับกับโทรศัพท์มือถือทุกแพลตฟอร์มไม่ว่าคุณจะใช้แอนดรอยด์ ไอโอเอส แบล็คเบอร์รี่ วินโดว์สโฟน ซิมเบียน หรือแม้กระทั่งจาวา ต่อมาอีกคอนเซปต์หนึ่งที่เรียกว่า Safe Your Phone ก็คือทำยังไงที่จะกันขโมยมือถือของลูกค้าไม่ให้หาย ซึ่งปรากฏว่าพอทำไปแล้วลูกค้าก็มีความอยากได้มาก เพราะทุกวันนี้เวลาลูกค้ามือถือหายก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง ประกอบกับสมาร์ทโฟนปัจจุบันก็ค่อนข้างมีราคาแพง” วิศรุต กล่าว

ais-mycloud-5

มากด้วยฟังก์ชั่นข้อมูลปลอดภัย อุ่นใจแม้มือถือหาย

วิศรุต เล่าต่อไปว่า แอพพลิเคชั่น AIS myCloud ประกอบด้วยเมนูหลักที่สำคัญ ได่แก่ เมนูสำรองและเรียกคืนข้อมูล ทั้งรายชื่อผู้ติดต่อ ข้อความ รูปภาพ วิดีโอ และเอกสาร เมนูตามมือถือ ที่มีส่วนประกอบของฟังก์ชั่นย่อยตั้งแต่ ฟังก์ชั่นล็อคและแสดงข้อความ คือสั่งล็อคอุปกรณ์พร้อมทั้งแสดงข้อความบนหน้าจอผ่านทาง SMS ฟังก์ชั่นส่งเสียงเตือน คือตามหามือถือด้วยการทำให้มือถือส่งเสียงไซเรนผ่านทาง SMS ฟังก์ชั่นระบุตำแหน่ง คือทำการติดตามพิกัดของมือถือผ่านทาง SMS ฟังก์ชั่นถ่ายภาพ คือสั่งถ่ายรูปจากกล้องหน้าและกล้องหลังผ่านทาง SMS ฟังก์ชั่นแจ้งเตือนเมื่อมีการเปลี่ยนซิม คือถ้าเกิดมีการเปลี่ยนซิมการ์ด ระบบจะทำการส่งเบอร์ใหม่ไปยังเบอร์ที่อยู่ในกลุ่มเบอร์ผู้ใกล้ชิดที่ได้ตั้งไว้ทันที ฟังก์ชั่นล้างข้อมูล คือสั่งลบข้อมูลส่วนตัวจากมือถือผ่านทาง SMS และฟังก์ชั่นป้องกันการเข้าใช้แอพฯ คือป้องกันคนอื่นเช้าใช้แอพฯ โดยใช้รหัสผ่าน

“เมื่อ 2 สิ่งนี้อยู่ในโปรแกรมเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร คุณสามารถแบ็คอัพรายชื่อผู้ติดต่อ แบ็คอัพข้อความ แบ็คอัพรูปภาพ แบคอัพวิดีโอ หรือจะแบคเอกสารก็ได้ อันนี้คือคอนเซปต์ของ Save Your File ส่วน Safe Your Phone สิ่งที่กันขโมยให้มือถือคือเราสามารถทำสิ่งที่เรียกว่าเป็นการรีโมทเข้าไปที่มือถือ สมมติว่ามือถือของผมหายหรือถูกขโมย ผมก็สามารถใช้มือถือเครื่องอื่น อาจจะเป็นของเพื่อนหรือของใครก็ได้ แต่ผมก็จะมีรหัสผ่านที่ใส่ไว้ในโปรแกรมตัวนี้ ผมจะสามารถส่งรหัสผ่านเข้าไป แล้วไปสั่งให้มันล็อกได้หรือตามคำสั่งอื่นๆ ได้ โดยที่ไม่เกี่ยวว่ามือถือเครื่องอื่นๆ หรือของเพื่อนนั้นจะใช้เครือข่ายอะไรก็ตาม เพราะจะใช้วิธีการส่งด้วย SMS แต่สิ่งที่สำคัญคือมือถือเครื่องที่หายจะต้องมีแอพพลิเคชั่นนี้ และจะต้องตั้งค่าด้วยว่าเราจะใช้รหัสผ่านอะไร” วิศรุต กล่าวพร้อมเสริมว่า

“ประเด็นก็คือถ้าเกิดมือถือของผมหาย สิ่งแรกที่ผมอยากทำคืออยากล็อคเครื่องเพื่อที่จะไม่ให้คนที่ได้เครื่องไปเข้าเครื่องได้ก่อน แล้วผมก็ยังสามารถส่งข้อความได้ด้วย เช่น ผมล็อกเครื่องไปแล้วผมบอกว่า สำหรับผู้ที่พบเห็นมือถือเครื่องนี้กรุณาติดต่อส่งคืนได้ที่ไหนยังไง หรือผมสามรถส่ง Command เข้าไปเพื่อให้เสียงไซเรนมันดังขึ้นมาได้ เพราะในบางกรณีเราเองอาจจะลืมมือถือไว้ที่ไหนก็แล้วแต่และหาไม่เจอ เราก็ใช้วิธีการส่งไซเรนเพื่อให้เสียงมันดังขึ้นมาได้ โดยที่เสียงของไซเรนนี้จะไม่สามารถปิดเสียงหรือลดระดับเสียงได้ในระยะเวลา 1 นาที ส่วนการหาตำแหน่ง เมื่อส่งข้อมูลไปมันก็จะทำการค้นหาตำแน่ง ถ้าอยู่ในที่ร่มก็อาจจะใช้เวลานานหน่อย แล้วมันก็จะรีเทิร์นข้อมูลเข้ามาว่าตอนนี้โทรศัพท์ของคุณอยู่ที่ตำแหน่งไหน พิกัดอะไร”

ไฮไลท์ที่น่าสนใจของ AIS myCloud  วิศรุต เล่าอย่างภูมิใจว่า เป็นฟังก์ชั่นใหม่ที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้มีใครนึงถึง ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นที่ทางเอไอเอสได้คิดขึ้นมาเองนั่นคือการถ่ายภาพหมายถึงว่ามีการส่ง Command ไปที่โทรศัพท์มือถือเครื่องที่หายหรือถูกขโมย สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ ถึงแม้ว่าจะเป็นขโมยหรือไม่ใช่ขโมยก็แล้วแต่ เมื่อบุคคลนั้นหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาก็ต้องอ่านข้อความที่ปรากฏ และเมื่อกดตกลง กล้องหน้าและกล้องหลังจะทำการถ่ายภาพไว้ จากนั้นก็จะส่งรูปที่ได้ไปที่อีเมล์ที่ได้ลงบะเบียนไว้กับแอพพลิเคชั่น เจ้าของเครื่องก็จะเห็นได้ว่าคนที่ได้มือถือไปนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งเรียกได้ว่าฟังก์ชั่นนี้คือ ฟังก์ชั่นใหม่ที่ยอดเยี่ยมมาก

“การแจ้งเตือนเมื่อมีการเปลี่ยนซิม ก็หมายถึงว่าถ้าเกิดคนที่ได้เครื่องไปเขาปิดเครื่องผมไว้ แล้วเขาถอดซิมการ์ดของผมออก คือในตอนตั้งค่าแอพพลิเคชั่นมันจะให้ใส่เบอร์ของผู้ใกล้ชิดเราซึ่งเราจะใส่เบอร์ใครไว้ก็ได้ อาจจะเป็นเบอร์พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือญาติ ที่เป็นส่วนตัวของเราไว้ เมื่อเขาถอดซิมของผมและจะใส่ซิมใหม่เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นค่ายไหนก็ตาม โปรแกรมก็จะยิงข้อมูลไปเบอร์ของผู้ใกล้ชิดของเราว่าตอนนี้มือถือของผมถูกเปลี่ยนเบอร์เป็นเบอร์ใหม่แล้ว ซึ่งเมื่อผมได้เบอร์นั้นมา ผมก็สามารถที่จะทำทุกอย่างได้เหมือนเดิม โดยที่ผมจะส่ง Command ไปที่เบอร์ใหม่นั้นที่เครื่องของผม เพราะฉะนั้นตัวนี้มันเหมือนทำหน้าที่มอร์นิเตอร์ว่าเบอร์อะไรที่อยู่ที่เครื่องของผมในขณะนี้” วิศรุต กล่าวและเสริมว่า

ais-mycloud-4

“การล้างข้อมูลคือบางครั้งมือถือของเราหาย เราก็รู้สึกว่าอยากปกป้องข้อมูลเราโดยการลบทิ้งไปก่อน เราก็สามารถส่ง Command เข้าไปเพื่อลบทิ้งได้ แต่ก่อนที่เราจะลบทิ้งข้อมูลตรงนี้ เราก็อาจจะแบ็คอัพไว้ก่อนหน้าแล้ว เพราะฉะนั้นข้อมูลของเราก็จะเก็บอยู่ในคลาวด์ของเอไอเอส พอเวลาเราซื้อมือถือเครื่องใหม่ ก็สามารถดึงข้อมูลเดิมที่เคยแบ็คอัพไว้จากคลาวด์ลงไปที่มือถือเครื่องใหม่ที่จะเป็นแพลตฟอร์มอะไรก็ได้ นี่คือคอนเซปต์ที่ค่อนข้างเหนือกว่า iCloud มากๆ เพราะว่า iCloud ใช้ได้กับมือถือที่เป็นระบบปฏิบัติการไอโอเอส เพียงอย่างเดียวนั่นเอง”

ซึ่งถ้าเกิดคำถามที่ว่าเมื่อคนที่ได้เครื่องไปจะสามารถฟอร์แมตเครื่องเพื่อตั้งค่าให้เป็นเครื่องใหม่ได้หรือไม่ คำตอบคือในจังหวะที่คนที่ได้เครื่องไปจะทำการฟอร์แมทเครื่องนั้นไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่จะต้องมีการเปิดเครื่องขึ้นมา ถ้าสามารถส่ง Command ขึ้นไปค้างไว้อยู่บนเน็ตเวิร์ก และเพียงแค่เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาแล้วนั้น SMS ก็จะเข้าทำงานทันที เพราะฉะนั้นอย่างน้อยขอแค่ส่ง Command เพื่อไปลบข้อมูลที่ไม่อยากให้ถูกนำไปใช้หรือนำไปเผยแพร่ก็สามารถลบข้อมูลเหล่านั้นทิ้งไปก่อนได้แล้ว จึงทำให้มีความปลอดภัยในเรื่องข้อมูลระดับหนึ่ง

“เวลาเริ่มต้นใช้งาน แอพพลิเคชั่นจะให้ใส่ชื่อผู้ใช้ ใส่อีเมล์ เพราะเมื่อเวลาส่งภาพกลับมาก็จะมาหาที่อีเมล์ที่เราตั้งค่าไว้ ต่อมาจะมีรหัสผ่าน มี Command ที่เราตั้งตามใจเรา ซึ่งตรงนี้แหละคือที่เปลี่ยนได้ โดยชื่อที่ตั้งก่อนเครื่องหมายชาร์ปคือคำที่เราตั้งจะยาวไหนก็ได้ แต่ในส่วนหลังเครื่องหมายชาร์ปจะเป็นคำสั่งของ Command แต่ละอัน และก็มีการใส่เบอร์ของผู้ใกล้ชิดเรา ซึ่งทั้งหมดนี้มันจะไปเก็บอยู่ในโปรแกรม เพื่อใช้ส่ง SMS Command ไปสั่งงานฟีเจอร์ต่างๆ  ในเครื่อง เช่นผมจะสั่งให้เครื่องส่งเสียงเตือน ผมก็พิมพ์คำสั่งใน SMS ด้วยชื่อที่ผมตั้งแล้วตามด้วยเครื่องหมายชาร์ป และตามด้วยคำสั่ง             Siren โดยที่คำสั่ง Command ไหนที่ Success มันก็จะบอกเราว่าคำสั่งสำเร็จแล้ว อีกกรณีถ้ามือถืออาจจะตั้งรหัสผ่านอื่นหรือไม่ได้ตั้งรหัสผ่านสำหรับล็อกเครื่องไว้เลย แต่พอเราส่ง Command เข้าไปแล้ว มันจะเอาพาสเวิร์ดของแอพพลิเคชั่นไปล็อคเครื่องแทน จะเห็นภาพเลยว่ามันเป็นสิ่งใหม่ที่เหมาะมากกับสมาร์ทโฟนที่มีราคาแพง” วิศรุต กล่าว 

เล็งขยายพื้นที่เพิ่ม เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนในยุคปัจจุบัน

สำหรับพื้นที่ในการใช้สำรองข้อมูลและแพ็คเกจต่อลูกค้า 1 ราย ผู้จัดการจากเอไอเอส อธิบายว่า ปัจจุบันเริ่มต้นที่ 1 กิกะไบต์ ซึ่งหลังจากที่ลูกค้าสมัครแพ็คเกจเพื่อใช้งาน AIS myCloud จะมีช่วงทดลองใช้ฟรี 7 วันแรก แต่จะให้พื้นที่ในการทดลองใช้เพียง 100 เมกะไบต์ก่อน ถ้าหลังจากที่สมัครแพ็คเกจเป็นสมาชิกแล้วก็จะได้เพิ่มเป็น 1 กิกะไบต์ และในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 5 กิกะไบต์ 10 กิกะไบต์ ฯลฯ ตามมา โดยอัตราค่าบริการนั้นจะมีให้เลือกทั้งแบบรายเดือนและแบบรายปี ค่าบริการรายเดือนนั้นจะอยู่ที่ 59 บาทต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 2 บาท ส่วนค่าบริการรายปีจะเฉลี่ยเพียงวันละ 1 บาท นั่นคือ 365 บาท

“ตอนนี้เรื่องพื้นที่เราให้เป็นมาตรฐานอยู่ที่ 1 กิกะไบต์ เราพยายามเพิ่มขึ้นไปให้เป็น 5 กิกะไบต์ แต่จะต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะการทำระบบคลาวด์มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และในอนาคตที่คิดไว้ก็จะเป็นซีรีส์ไปว่าจาก 1 กิกะไบต์ เป็น 5 กิกะไบต์ 10 กิกะไบต์ 20 กิกะไบต์ หรือ 30 กิกะไบต์ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ คือผู้ใช้งานสามารถซื้อเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ ตามความต้องการ เขาก็จะมีพื้นที่ในการเก็บข้อมูลได้ตามใจเขา สเกลที่เราทำตอนนี้ร่วมกับบริษัทซีเอส ล็อกซอินโฟ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของอินทัชที่ทำเรื่องคลาวด์เป็นหลักอยู่แล้ว     เพราะตรงจุดนี้เราก็ต้องการในเรื่องของความปลอดภัยเราก็พยายามทำสเกลให้ใหญ่ที่สุด และเราก็จะดูตามปริมาณของลูกค้าแล้วค่อยขยายเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่ง ณ ตอนนี้ผมจะพยายามทำเรื่องของแอพพลิเคชั่นให้เสร็จสิ้นทั้งหมดก่อน แล้วค่อยขยับไปดูในเรื่องของการขยายสเกล เมื่อลูกค้าเราเพิ่ม เราก็จะมีเงินมาหมุนในการเพิ่มในการขยายสเกลของเราต่อไปได้” วิศรุต กล่าวพร้อมเสริมต่ออีกว่า

ais-mycloud-6

“ตอนนี้ของเราอาจจะยังเป็นรุ่นทดลองใช้งานอยู่ เพราะเรากำลังอยู่ในระหว่างการทำให้มันครบทุกดีไวซ์ จึงอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะที่จะทำให้เป็นฟูลเวอร์ชั่น ซึ่งปัจจุบันที่เราเปิดไปเฉพาะแพลตฟอร์มของแอนดรอยด์ไปได้สักระยะหนึ่งก็ได้ลูกค้ามาเกือบ 5 พันราย และเราก็กำลังทำเพิ่มเรื่อยๆ ให้ครบทุกแพลตฟอร์ม ข่าวดีก็คือเราก็ทำเวอร์ชั่นไอโอเอสและจาวาเสร็จแล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งกำลังจะเปิดตัวให้บริการในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ประโยชน์ของมันอีกอย่างหนึ่งในแง่ของโอปอเรเตอร์ก็คือ ลูกค้าบางรายมือถือของเขายังเป็นฟีเจอร์โฟน และเมื่อเขาอยากเปลี่ยนเป็นสมาร์ทโฟนแล้ว แต่อยากให้ข้อมูลของในฟีเจอร์โฟนนั้นไปอยู่ในสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ ซึ่งแอพของเราตรงนี้สามารถทำได้นั่นเอง โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นยี่ห้อเดียวกันก็ตาม โดยแอพสำหรับฟีเจอร์โฟนก็คือตัวแพลตฟอร์มของจาวาที่เราพัฒนาขึ้นมา” 

แนวทางการต่อยอดของธุจกิจคลาวด์

วิศรุต เผยว่าในอนาคตแอพพลิชั่นลักษณะนี้สามารถที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่องค์กรได้ แต่จำเป็นที่จะต้องทำระบบคลาวด์ให้มีเรื่องของความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในขณะนี้ก็มีองค์กรธุรกิจในกลุ่มของธนาคารติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปให้พนักงานในองค์กรได้ใช้ แต่ตอนนี้ระบบของเอไอเอสยังไม่พร้อม เพราะว่านอกเหนือจากการที่จะต้องขยายความจุให้รองรับเพียงพอต่อความต้องการแล้วนั้น ก็จะต้องทำระบบ Encryption ที่ไม่ให้บุคคลอื่นสามารถแฮกข้อมูลได้ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูง

“ผมมองโอกาสของคลาวด์ในอนาคตว่ามันคือสิ่งที่ทุกคนกำลังไป เพราะมันสามารถลด Cost ได้ หรือในตอนนั้นที่คลาวด์บูมมากในประเทศไทยเมื่อตอนที่น้ำท่วมใหญ่และคนไม่สามารถไปทำงานที่ทำงานได้ เขาก็เลยอยากจะมีระบบที่สามารถทำงานได้จากที่ไหนก็ได้แต่ในมุมของโอปอเรเตอร์เราอยากทำที่ว่า เราอยากส่งข้อมูลของลูกค้า ช่วยปกป้องข้อมูลของลูกค้าได้ในทุกๆ ดีไวซ์ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสะดวกมากที่สุด” วิศรุต กล่าวและทิ้งท้ายว่า

“เราตั้งใจออกแบบมาเพื่อกลุ่มแมส กลุ่มลูกค้าที่ใช้มือถือสมาร์ทโฟน แต่เมื่อถามว่าในแง่ของเวอร์ชั่นจาวาทำไมเราต้องทำ ซึ่งเราไม่ได้ทำเพื่อเน้นในเรื่องของการป้องกันขโมย แต่เราจะทำในเรื่องของการแบ็คอัพ การทรานเฟอร์ข้อมูล เพราะฟีเจอร์โฟนไม่ได้มีราคาสูงมาก ลูกค้าไม่ได้กังวลเรื่องเครื่องหาย แต่ส่วนใหญ่เขาอยากได้ความสะดวกการโอนถ่ายข้อมูลไปสู่เครื่องใหม่มากกว่า”


  •  
  •  
  •  
  •  
  •