Cartoon ไทยยุค Mobility

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

โทรศัพท์มือถือ สร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ให้วงการการ์ตูนนิสต์ นักเขียนการ์ตูน หรือ Cartoonist  ในอดีตอาจถูกจำกัดสิทธิการสร้างรายได้อยู่ที่ต้นสังกัด ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊ค หรือหนังสือพิมพ์ ผลิตผลของนักเขียนทั้งหลายเป็นลิขสิทธิ์ ของผู้ว่าจ้างรวมถึงภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นชื่อดังของไทย

หากวันเวลาเปลี่ยนแปลงมาสู่ยุคหลอมรวม การเสพความบันเทิง ข้อมูลข่าวสารผ่านโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ในทุกอุปกรณ์สื่อสาร โดยเฉพาะที่ใครลืมทิ้งไว้ที่บ้านไม่ได้เลย ต้องกลับไปเอาทันทีนั่นคือ โทรศัพท์มือถือ

cartoon_mobile

ยุคใหม่ Cartoonist

ที่งานเสวนาของคนในวงการการ์ตูนเรื่อง “อุตสาหกรรมคาแร็คเตอร์ไทย จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ” และโอกาสทางธุรกิจของคาแร็คเตอร์ไทย นายรณพงศ์ คำนวนทิพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้คาแร็คเตอร์เพื่อการพาณิชย์ ได้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการ์ตูนในประเทศไทยว่า ขณะที่ศิลปิน อย่างนักเขียนการ์ตูนถนัดสร้างสรรค์ผลงาน อีกฟากหนึ่งเจ้าของกิจการ หรือผู้ว่าจ้าง ลูกค้า ต้องการงานที่ผลิตแล้วโดนใจกลุ่มผู้อ่านการ์ตูน หรือรับชมการ์ตูนในรูปแบบต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ เอ็มวี ไอคอนบนอินเทอร์เน็ตก็ตาม
 
ดังนั้นจะต้องหาตัวเชื่อมระหว่างศิลปิน และการตลาด นั่นคือต้องมีกระบวนการทีมงานที่มีมุมมองความเข้าใจตลาด ลูกค้า แนวโน้มความนิยมของผู้บริโภค ตลอดจนการเข้าใจ เชื่อถือในตัวศิลปินเองด้วย เพื่อให้ได้ผลงานที่ลงตัว และนำไปต่อยอดสร้างรายได้แขนงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเมอร์เชนไดส์ (Merchandise) ในร้านค้าปลีก หรือขายคอนเท้นต์ ให้แก่ Mobile Operator
 
ยิ่งเมื่อมองถึงยุคต่อไป หากมีเทคโนโลยี 3 จี การถ่ายทอดการ์ตูนจากฝีมือการ์ตูนนิสต์จะทำได้อีกทางหนึ่ง และเป็นการสร้างรายได้ที่มีปริมาณเงิน แม้แต่ละค่ายจะมีไม่มากแต่หากรวมกันทุกเจ้าแล้วก็นับเป็นจำนวนที่น่าสนใจสำหรับศิลปิน มากกว่าการสร้างงานรูปแบบเดิมๆ ที่ผลิตให้เจ้าขององค์กร ไม่สามารถนำการ์ตูนที่คิดออกมาไปวาดขายกับผลิตภัณฑ์อื่นได้
 
“ในอนาคตนักการ์ตูนนิสต์ไทยมีโอกาสไปสู่ระดับโลกผ่านงานที่ถ่ายทอดทั้งทางอินเทอร์เน็ต การ์ตูน ทีวี เอ็มวีที่เริ่มจากแถบประเทศอาเซียนกันเองก่อนขยายไปทั่วโลกได้” นายรณพงศ์
 
ทั้งนี้การสร้างเส้นทางจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำจากศิลปิน สู่การตลาด หรือธุรกิจได้จะต้องมีความร่วมมือกันของคนในวงการเป็นสมาคม เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นหลายแง่มุม ก่อนจัดทำมาตรฐานต่างๆ ขายผลงานและแบ่งรายได้ให้ศิลปินอย่างเป็นระบบ เหมือนวงการเพลงที่มีในปัจจุบัน

ไอเดียเด่น-คาแร็คเตอร์โดน

ด้านศิลปินเจ้าของผลงานที่โดดเด่น 2 พี่น้อง หนึ่งในศิลปินหน้าใหม่ของไทยที่มีโอกาสปั้นฝันสู่เวทีสากลในอนาคต
นางสาวหทัยรัตน์ และนายโอ๊ต มณเฑียร เจ้าของผลงานการ์ตูนเอสเตรลลา (Estrella) ที่กลั่นเรื่องราว และคาแร็คเตอร์ของตัวเองขายงานศิลปะลายเส้น สีสันน่ารัก ทั้งคู่ได้นำผลงานการ์ตูนเอสเตรลลา ที่ภาษาสเปน แปลว่าดาว ในงานแฟต ทำให้นักช้อปผลงานอย่าง “นายรณพงศ์” ไปพบเข้า และตกลงร่วมมือเป็นพันธมิตรธุรกิจกันอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งนายรณพงศ์จะทำหน้าที่เป็นผู้หาโอกาสทางธุรกิจ เจรจาหาพันธมิตรให้ศิลปินกับเจ้าของแบรนด์ดังๆ หลายแบรนด์
 
เริ่มจากแบรนด์แฟชั่นของห้องเสื้อไทยที่เปิดตลาดต่างประเทศ โดดเด่น อย่าง “โครเซต” ก่อนมาดังในประเทศ ค่ายเพลงอินเตอร์ สาขาไทยอย่างยูนิเวอร์แซล ตลอดจนโมบาย โอเปอเรเตอร์ ผ่านคอนเท้นต์ โพรไวเดอร์
 
รูปแบบของการนำเสนอคาแร็คเตอร์การ์ตูน เปรียบเสมือนเป็นพรีเซ็นเตอร์นำเสนอสินค้าของแบรนด์นั้นๆ เช่นเอสเตรลลา สวมเสื้อผ้าของโครเซ็ต หรือเป็นปกเทปเพลงแนวหวานๆ ของยูนิเวอร์แซล
 
“หัวใจของความสำเร็จของการ์ตูน จะต้องมีความน่ารัก ซึ่งเป็นเรื่องสากล แล้วเนื้อเรื่อง ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จ อย่างเอสเตรลลานี้ มาจากความจริงใจ เพราะมาจากชีวิตจริงของตัวเอง ที่สำคัญอย่างมากสำหรับศิลปินเมื่อ 2 อย่างลงตัวยังไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องบิสิเนส” โอ๊ต การ์ตูนนิสต์ เล่า

อุปสรรคขายสินค้าคาแรคเตอร์

ท่ามกลางโอกาส ก็ต้องอย่าลืมวิกฤต ซึ่งหน้าใหม่ที่หวังจะเข้ากระโจนแข่งในธุรกิจการ์ตูนต้องคำนึงถึง เป็นเรื่องของสภาพคล่องที่หดหายไปตามเศรษฐกิจดังเช่นที่นายกฤษณ์ ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทูสปอต คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เล่าถึงสภาพธุรกิจการขายสินค้าต่อยอดจากคาแร็คเตอร์การ์ตูนที่เขาทำตลาดผ่านช้อปค้าปลีกหลายร้อยคาแร็คเตอร์ ว่า รายได้ตกลงมากกว่า 30% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวทั้งจากเอเชีย และยุโรปลดการเดินทางมาไทย ทำให้แม้ว่าร้านค้าย่านสยามเซ็นเตอร์ รวมถึงเซ็นทรัลพระราม 3 ถึงกับซบเซา
 
กระนั้นเขาคาดว่าสิ่งที่จะทำให้รายได้ยังคงเติบโตต่อไปได้มีรายได้ปีนี้หลัก 10 ล้านบาทมาจากการขายคาแรคเตอร์การ์ตูนลิขสิทธิ์ 60% ให้แก่คอนเท้นต์ โพรไวเดอร์ ส่งต่อให้โมบายโอเปอเรเตอร์ จะเติบโตต่อไป เพราะธุรกิจโทรคมนาคม การสื่อสารผ่านมือถือไม่ได้ตกลงไป ยอดดาวน์โหลดวอลล์เปเปอร์ ยังโตต่อเนื่อง

Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, โดย เรวดี ตั้งสกุล


  •  
  •  
  •  
  •  
  •