สำรวจตลาดอาเซียน-คนไทยถือบัตรเครดิตต่ำ โอกาส e-Wallet เติบโตสูง

  • 8
  •  
  •  
  •  
  •  

TMN-Wallet-InfoGraphic

กระแส FinTech กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก และหนึ่งในนั้นคือบริการ e-Wallet ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง Cashless Society ซึ่งก่อนหน้านี้ Rabbit และ LINE Pay ได้ร่วมทุนกันไปแบบสดๆ ร้อนๆ ทีนี้ ลองมาดูสถานการณ์ตลาดโดยรวมทั้งในไทยและอาเซียนดูว่าเป็นอย่างไร โดย True Money อีกหนึ่งผู้ให้บริการ e-Wallet ได้ให้ข้อมูลอย่างน่าสนใจ

วิษณุ ศรีเจริญ Head of Program Management ของ Ascend Groupบอกว่า กลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศไทย มีอัตราการใช้งาน e-Wallet เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ในการซื้อสินค้าดิจิทัล เช่น แอพพลิเคชั่น บนแอพสโตร์ และกูเกิลเพลย์ รวมถึงช้อปสินค้าออนไลน์บน e-Commerce เนื่องจากสินค้าและบริการเหล่านี้จำเป็นต้องใช้บัตรเครดิต แต่จำนวนผู้ถือบัตรเครดิตคิดเป็นสัดส่วนต่ำว่า 10% ของจำนวนประชากรในอาเซียนกว่า 600 ล้านคน หรือในประเทศไทยที่มีจำนวนบัตรเครดิตประมาณ 10 ล้านรายเท่านั้น

ดังนั้น สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีความเข้าใจสินค้าประเภทนี้แล้ว จึงมีโอกาสเติบโตสูงมากในปีนี้ ประเมินจำนวนผู้ใช้งานเบื้องต้น พบว่า มีผูัใช้กูเกิลเพลย์ประมาณ 20 ล้านราย แอพสโตร์ประมาณ 16 ล้านราย แต่มีบัตรเครดิตประมาณ 10 ล้านราย ใช้งาน iBanking ประมาณ 8 ล้านราย และใช้งาน mBanking กว่า 1 ล้านราย นี่คือโอกาสที่ e-Wallet จะเติบโตขึ้น

ขณะที่ปัจจัยบวกที่มาเสริมตลาด ส่วนสำคัญคือนโยบายจากภาครัฐเรื่อง National e-Payment ที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน e-Wallet อย่างแพร่หลาย มีการสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมถึงกระแส FinTech ที่มาแรงมากตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าตลาดรวมจะเติบโต และทรูมันนี่ ได้เตรียมบริการเพื่อสร้างความสะดวกสบายอย่างเต็มที่ จากปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานประจำกว่า 8 แสนราย เชื่อว่าปีนี้จะเติบโตขึ้นมากกว่า 100%

ส่วนของตลาดต่างประเทศ ทรูมันนี่ เปิดให้บริการแล้ว 6 ประเทศ คือ พม่า, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และไทย มีแผนเปิดอีก 2 ประเทศในปีนี้ คือ ลาว และ มาเลเซีย โดยตัวเลขผู้ใช้บัตรเครดิตที่ต่ำกว่า 10% ของประชากร และตัวเลขผู้ใช้บริการธนาคาร (รวมบริการบัญชีธนาคาร, การลงทุน และประกัน) ต่ำกว่า 80% ของจำนวนประชากร เป็นโอกาสในรุกตลาดของทรูมันนี่ เช่นเดียวกัน

K Wisanu Pic_Retouch
วิษณุ ศรีเจริญ Head of Program Management ของ Ascend Group

อภินันท์ ดาบเพ็ชร ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ TrueMoney บอกว่า ปลายปีที่ผ่านมา บริการ e-Wallet ได้เปิดให้ผู้ใช้สามารถโอนเงินข้ามค่ายกันได้เพื่อสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้น และในปีนี้จะเน้นเรื่องการช้อปปิ้ง หรือการซื้อผ่าน e-Wallet มากขึ้น โดยบริการแรกของทรูมันนี่ที่จะเน้นมากขึ้น คือ การซื้อสินค้าดิจิทัลโดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต เช่น แอพพลิเคชั่นบนแอพสโตร์ และกูเกิลเพลย์ ซึ่งต้องใช้บัตรเครดิตในการผูกบัญชี แอพทรูมันนี่ วอลเล็ต สามารถสร้าง WE Card เพื่อเป็นบัตรพรีเพดการ์ด ทำหน้าที่แทนบัตรเครดิตได้ทันที โดยมีทั้งแบบ Virtual Card ใช้ผ่านสมาร์ทโฟน และแบบ Physical Card ใช้ซื้อของได้เหมือนบัตรเดบิต

จากการสำรวจพฤติกรรมคนไทยพบว่า เพศชาย อายุ 13-22 ปี เป็นกลุ่มวัยรุ่น เรียน และเริ่มต้นทำงาน ยังไม่มีบัตรเครดิต แต่นิยมซื้อสินค้าดิจิทัลสูงที่สุด เพราะแอพส่วนใหญ่ราคาประมาณ 1-2 เหรียญ หรือ 35-70 บาท ราคาไม่สูง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อได้แต่ไม่มีบัตรเครดิต ซึ่ง ทรูมันนี่ วอลเล็ตออกมาตอบความต้องการได้ ระบบมีความปลอดภัย และที่สำคัญสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ตามจำนวนเงินที่เติมเข้าไป เชื่อว่าการใช้งานจะเติบโตขึ้นอีกมาก

“ทรูมันนี่สำรวจการใช้งานของลูกค้าพบว่า กลุ่มที่มีการจ่ายบิล เฉลี่ยมีการจ่ายประมาณ 3 ครั้งต่อเดือน กลุ่มที่ซื้อแอพ จะซื้อประมาณ 4-5 ครั้งต่อเดือน และกลุ่มที่ช้อปปิ้งออนไลน์ จะซื้อเฉลี่ย 1 ครั้งต่อเดือน”

บริการต่อมาคือ การผูกบัญชีกับ Paypal ตามปกติ Paypal จะผูกบัญชีกับบัตรเครดิต แต่ตอนนี้สามารถใช้กับทรูมันนี่ วอลเล็ต และ WE Card ได้แล้ว ทำให้สามารถซื้อสินค้าออนไลน์จากร้านค้าในต่างประเทศได้ อีกทั้งมีความปลอดภัย สามารถสั่งเปิดปิดได้จากในแอพ และจำนวนเงินถูกจำกัดไว้เท่าที่มีการเติมเงิน รวมถึงปัจจุบันบริการ e-Money ในประเทศไทยยังไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศได้ อยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้นทรูมันนี่ วอลเล็ตจึงผูกบัญชีกับ Paypal เพื่อเป็นทางเลือกในการช้อปปิ้งให้ลูกค้า

1


  • 8
  •  
  •  
  •  
  •