เรียนรู้การตลาดแบบ Fair Play ผ่านธุรกิจโทรคมนาคมยุค 4G

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

469105593

สงครามการตลาดในธุรกิจโทรคมนาคมกำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์ล่าสุด AIS, dtac และ TruemoveH ออกโปรโมชั่นเน้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ชนิดที่เรียกว่าใช้ทั้งเดือนได้สบายๆ จ่ายประมาณ 500 บาทต่อเดือนได้เน็ตไปเลย 10GB ทั้ง 3 รายบอกว่าตัวเองคือเบอร์ 1 จากมิติต่างๆ ขณะที่อีก 1 รายน้องใหม่คือ Jas ยังอยู่เงียบๆ รอดูสถานการณ์แบบใจเย็น

แม้ว่าทั้ง 3 ค่ายมือถือจะปฏิเสธว่าสงครามราคาจะไม่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงนี่คือสงครามราคารูปแบบใหม่ที่กำลังอุบัติขึ้น และเชื่อว่าจะทวีความรุนแรง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของบริการที่มีคุณภาพ และประชาชนจะได้รับประโยชน์ แต่ก่อนหน้านี้ได้มีการทำการตลาดในลักษณะที่เรียกว่าให้ข้อมูลเชิงลบเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคมต่อเนื่องมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้กระแสเรื่องของจริยธรรมทางธุรกิจ ความยุติธรรมในการแข่งขัน หรือจะเรียกว่า Fair Play กลายเป็นสิ่งที่ถูกเรียกหาอีกครั้ง

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นเรื่องบริการ “ย้ายค่ายเบอร์เดิม” โดยผู้ให้บริการ TruemoveH ที่ใช้ร้านสะดวกซื้อ 7-Elevenซึ่งอยู่ในเครือซีพี เหมือนกันเป็นช่องทางให้บริการย้ายค่ายเบอร์เดิมกับลูกค้า พร้อมข้อเสนอพิเศษต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขในประกาศ ที่ กสทช. กำหนด นั่นคือ ต้องมีเอกสารสำเนาบัตรประชาชน และใบคำร้องขอย้ายค่ายที่ถูกต้อง

7-eleven

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีการโฆษณาว่า ถ้าใช้งาน AIS ซิมจะดับเร็วๆ นี้ หรือใช้งานได้ไม่ดีเหมือนเดิม เพราะไม่มีคลื่น 900MHz ขณะที่ถ้าใช้งาน dtac ซิมจะดับในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือใช้งานได้ไม่ดี เนื่องจากสัญญาสัมปทานที่จะหมดลง ประเด็นนี้ได้ถูกแชร์ต่อในโลกโซเชียลอย่างกว้างขวา งและถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ แม้ว่าร้านสะดวกซื้อ 7-Elevenจะดำเนินการไปเองโดยไม่เกี่ยวข้องกับ TruemoveH แต่กลับเกิดผลเป็นข่าวเชิงลบกับแบรนด์ TruemoveH แต่ก็มีประชาชนจำนวนมากที่ขาดข้อมูล ทำการย้ายค่ายเพราะคิดว่าซิมจะดับ ใช้บริการไม่ได้

ตามมาด้วยกรณีต่อมาว่า มีข่าวว่า TruemoveH ให้บริการย้ายค่ายเบอร์เดิม บนระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยอ้างตาม พรบ. ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จึงไม่ต้องใช้เอกสาร แต่ กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีการประกาศใช้ในราชกิจจานุกเบกษา ซึ่ง กสทช. อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า สามารถทำได้หรือไม่ แต่ถ้าพิจารณาตามประกาศของ กสทช. การย้ายค่ายเบอร์เดิม ต้องมีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนยืนยันเจตนาความต้องการจากผู้ใช้

กรณีนี้มองได้ว่า ในเชิงการตลาด TruemoveH อาจจะได้ลูกค้ามากขึ้น แต่ก็เสียชื่อเสียงจากการทำตลาดที่ผิดพลาด ซึ่งการตามแก้ไขยากกว่า ขณะที่ในเชิงการกำกับดูแล 7-Eleven สามารถทำการย้ายค่ายให้ลูกค้าได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ กสทช. ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมว่าขั้นตอนเป็นไปตามเงื่อนไขในประกาศของ กสทช. หรือไม่ เพื่อให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

ais4gadvanced400

ย้อนกลับไปช่องปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ผู้นำตลาดอย่า ง AIS ได้แถลง Vision 2016 เรื่อง 4G Advanced โดยนำเสนอบริการ 4G Advanced ซึ่งให้ความเร็วในระดับ 100 – 200 เมกะบิตต่อวินาที และมีการทำ Live Demo ทดสอบความเร็วที่ 400 เมกะบิตต่อวินาที เพื่อยืนยันว่า นี่คือ 4G Advanced บนคลื่น 1800 และ 2100MHz ที่ AIS มีอยู่ ขณะที่ dtac แสดงจุดยืนมาตลอดว่า แม้จะไม่ได้คลื่นความถี่จากการประมูล 2 ครั้งล่าสุด แต่ด้วยคลื่นที่มีอยู่ คือ 850, 1800 และ 2100 รวม 50MHz เพียงพอสำหรับให้บริการ dtac Super 4G

อย่างไรก็ตาม มีการปล่อยไฟล์รูปภาพการ์ตูนบน Facebook โดยระบุว่ามี 4G Advanced ของปลอมด้วย พร้อมให้ข้อมูลว่า 4G Advanced ของจริงต้องมีคลื่นครบ 850, 900, 1800 และ 2100MHz  ความเร็วสูงสุดต้อง 300MHz และแนะนำว่าถ้าจะเลือกใช้ต้องเลือกของจริงมากกว่าของปลอม

เป็นอีกครั้งที่การปล่อยไฟล์รูปภาพชุดนี้ ได้รับการต่อต้านจากกระแสในโลกโซเชียลอีกครั้ง โดยผู้บริโภครู้สึกว่า เป็นการให้ข้อมูลที่สร้างความสับสนและมีการเชื่อกันว่าภาพการ์ตูนนี้เป็นของ TruemoveH เพราะมีการใช้สีที่สื่อถึงแบรนด์ดังกล่าว และเกิดเป็นกระแสเชิงลบต่อแบรนด์ จนในที่สุดรูปภาพการ์ตูนชุดนี้ได้ถูกลบหายไป แต่ความรู้สึกเชิงลบไม่ได้หายไปง่ายๆ

4gfakeorreal

ถ้าจะเทียบกับในต่างประเทศ ที่แบรนด์ต่างๆ มีการออกภาพยนตร์ หรือคลิปโฆษณาล้อเลียนแบรนด์อื่นๆ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือสร้างเสียงหัวเราะ ที่เห็นบ่อยที่สุด คือ โค้กและเป๊ปซี่ ที่จิกกัดล้อเลียนกันไปมาตลอดเวลา มียอดชมหลายล้านวิว เพราะแข่งขันกันด้วยไอเดียของโฆษณามากกว่าจะดิสเครดิตกัน รวมถึงแบรนด์อื่นๆ เช่น ซัมซุงกับแอปเปิล หรือแม้แต่ ไมโครซอฟท์ ที่ล้อเลียนทั้งแอปเปิลและซัมซุง ก็มีมาแล้ว ล่าสุด สดๆ ร้อนๆ ระหว่าง นิคอนและแคนนอน ที่เพิ่งมีกรณีภาพประกวดเครื่องบินไป คลิกอ่านย้อนหลังได้

จาก Consumer Insight ในการดูโฆษณาต่างๆ พบว่า คนไทยชอบโฆษณาที่ Drama หรือ Humor ถ้านำมารวมกับการเปรียบเทียบคุณสมบัติของสินค้าและบริการเข้าไปแบบแนบเนียน ใช้ไอเดียสร้างสรรค์ให้ผลงานออกมาดูสนุก น่าจะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ซึ่ง แบรนด์ต้องทำการบ้านร่วมกับครีเอทีฟเอเจนซี่อย่างหนัก เพื่อให้ได้ผลงานที่น่าประทับใจ หากไม่มั่นใจว่าจะทำออกมาได้ดี การโฆษณาคุณสมบัติของตัวเองอย่างเดียวอาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

สรุปได้ว่า ถ้าจะเลือกทำโฆษณาหยิกแกมหยอก ดูสนุก ก็ต้องแนบเนียนและสร้างสรรค์ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นผลลบกับแบรนด์เสียเอง เป็นสิ่งที่แบรนด์ต้องระมัดระวัง รวมถึงการให้ข้อมูลลูกค้าเพื่อดิสเครดิตคู่แข่ง เห็นชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักจริยธรรมธุรกิจ หรือ Fair Play ซึ่ง กสทช. เข้ามาต้องกำกับดูแลการแข่งขันให้เป็นธรรม และให้ความรู้กับผู้บริโภคอย่างถูกต้อง เพราะถ้าเป็นเรื่องบริการโทรคมนาคมแล้ว กสทช. คือที่พึ่งเดียวของประชาชน

Image Source: Pantip.com


  •  
  •  
  •  
  •  
  •