กูรูแนะ WeChat ควรปรับตัวตามแบบ Facebook

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

WeChat

แม้จะมีกำลังภายในกล้าแข็งเพียงใด แต่ Great Wall แห่งแดนมังกรก็ไม่เคยปล่อยให้นักลงทุนต่างชาติ (โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี) ทะลวงเข้าไปทำการค้าได้อย่างสะดวกโยธิน ดังนั้น WeChat จึงเป็นหนึ่งใน Chat App สัญชาติจีนที่กำลังทรงอิทธิพลและโด่งดังแบบไม่ค่อยมีคู่แข่งในประเทศจีนขณะนี้

 อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวของ TechinAsia ระบุว่า WeChat อาจถึงเวลาต้องปรับตัวโดยเรียนรู้จาก Facebook เป็นตัวอย่าง เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันของแอพฯ กำลังไม่สู้ดีนักเพราะมีฟีเจอร์ที่เยอะและหลากหลายเกินกว่าที่คนทั่วไปต้องการ เช่น เกม, การอัพเดท feed, voice-to-text, บริการชำระค่าบริการมือถือ และอื่นๆ โดย Paul Bischoff คอลัมนิสต์จาก TechinAsia แชร์ประสบการณ์การใช้ส่วนตัวว่า ส่วนใหญ่ตนใช้ WeChat เพื่อส่งข้อความ รูปภาพ และบางครั้งก็ส่งข้อความเสียง แต่ไม่เคยเล่นเกม ทำธุรกรรม และแชตผ่านวีดีโอ เนื่องจากเห็นว่าแอพฯ อื่นสามารถทำได้ดีกว่า ฉะนั้นในช่วงเวลาที่ WeChat เริ่มขยายอิทธิพลมาโด่งดังนอกประเทศ จึงควรมีการปรับตัวหลายอย่าง

 

WeChat กำลังเดินตามถนนที่ Facebook เคยผ่านมาแล้ว

เราคงจำกันได้ว่ากว่า Facebook จะสามารถเคลื่อนตัวเองจาก platform บน desktop มาสู่ Mobile app นั้นเป็นเรื่องยากลำบากมาก การเพิ่มโปรแกรมให้รองรับการใช้งานบนมือถือโดยไม่มีการปรับองค์ประกอบอะไรเพิ่มเติมคงไม่สามารถทำให้ Facebook ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพบนมือถือได้ กระนั้น Mark Zuckerberg ก็ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า app Facebook บนมือถือมีขนาดใหญ่และมีฟีเจอร์ที่รกเกินไป ดังนั้นกลยุทธ์ใหม่ที่ Facebook ทำอยู่คือการแยก apps Facebook ออกไปเดี่ยวๆ และมีความซับซ้อนน้อยกว่าที่อยู่บน desktop ผลสำเร็จคือการที่ Facebook สามารถกวาดผู้ใช้ได้กว่า 950 ล้านคนต่อเดือนบนโมบาย และครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เล่น app ทุกวัน

ส่วน Facebook Messenger ขณะนี้กลายเป็น app เดี่ยวๆ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็น chat app  และมีการเติบโตอย่างเรียบๆ เพียง 70% เมื่อไตรมาศที่ผ่านมา (ยังตามหลัง WhatsApp ที่เป็นผู้นำตลาดอยู่ในตอนนี้) และในอนาคต Facebook จะแยกฟีเจอร์ต่างๆ ให้ออกเป็น app ต่างหากเช่น Paper สำหรับติดตามข่าวสาร Instagram สำหรับการโพสต์รูปถ่าย อย่างชัดเจนมากขึ้น

หากพิจารณา Line chat app อีกหนึ่งตัวก็จะเห็นว่าการดำเนินนโยบายคล้ายกับ Facebook คือการเชื่อมกลุ่มแอพฯ ที่ตัวเองพัฒนาเข้าด้วยกัน แต่ทุกแอพฯ เป็นอิสระจากกัน อย่าง Line Camera, Line หรือ Line Social games อื่นๆ กลยุทธ์นี้ก็ประสบผลสำเร็จเห็นจาก app หลายตัวของ Line ขึ้นแท่นแอพฯ ยอดนิยม

 

แอพฯ เดียวไม่สามารถครองตลาดได้

แม้ WeChat จะดูเป็นไปได้ทางธุรกิจเพราะไม่ว่าใครจะใช้ฟีเจอร์ไหนก็ต้องคลิกเข้า WeChat ทั้งหมด แต่ในความเป็นจริง แอพฯ ที่รกเกินไปทำให้ผู้ใช้รำคาญและเริ่มไม่อยากใช้ ส่งผลให้ user ค่อยๆ น้อยลง ขณะเดียวกัน ฟีเจอร์ที่เยอะอยู่แล้วของ WeChat ถูกทำให้เยอะขึ้นไปอีกด้วยฟีเจอร์จากบริษัทอื่นๆ โมเดลเรื่องฟีเจอร์เยอะๆ ให้ครอบคลุมอาจใช้ได้ผลกับ desktop แต่คงไม่ได้ผลกับโมบายเมื่อการมีฟีเจอร์มากมายทำให้แอพฯ ดูอุ้ยอ้าย

หาก WeChat ยังเดินหน้าโดยปรับตัวต่อไปก็อาจมี startups ที่ว่องไวกว่าและชำนาญกว่าพัฒนาแอพฯ ขึ้นตามตอบสนองความต้องการตรงนี้ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะขึ้นมาเทียบชั้นเป็น chat app ได้แต่อาจแย่งฐานลูกค้าที่ต้องการใช้ฟีเจอร์อื่นๆ ออกไป

 

บรรทัดสุดท้าย WeChat ควรเลิกความคิดเรื่องการรวบทุกฟีเจอร์เข้ามาเป็นหนึ่งแอพฯ แต่กระจายมันออกไปมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้แอพฯ แต่ละตัวสะอาดตาและสามารถสร้างทีมขึ้นมาพัฒนาเป็นฟีเจอร์ไปได้แล้ว ยังเปิดพื้นที่สำหรับการโฆษณาให้มากขึ้นซึ่งหมายถึงรายได้ที่จะเฟื่องฟูขึ้นเช่นกัน 


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง