ผลสำรวจ JWT ชี้แบรนด์ญี่ปุ่นฉายแววรุ่งในเอเชีย

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

j-whiglight

เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน เอเชีย แปซิฟิก เครือบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการสื่อสารการตลาดที่มีชื่อเสียงของโลก เผยผลสำรวจเกี่ยวกับแบรนด์สินค้าหรือบริการของญี่ปุ่น บ่งชี้จุดเด่นด้านแนวคิดแตกต่างและนวัตกรรมโดดเด่นเอื้อให้มีโอกาสเติบโตสูงในตลาดเอเชีย พร้อมแนะช่องทางแบรนด์ญี่ปุ่นเจาะตลาดให้ตรงจุดและเพิ่มความดึงดูดเพื่อคว้าใจผู้บริโภคเอเชีย

ภายหลังยอดขายตกและสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่น บริษัทข้ามชาติรุ่นใหม่จากประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจก้าวเข้าสู่ตลาดเอเชีย โดยจากรายงานขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ในปี 2557 พบว่า บริษัทจากประเทศญี่ปุ่นได้อัดฉีดเม็ดเงินเพื่อการลงทุนในต่างประเทศมากถึง 135 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4,578 พันล้านบาท) ในปี 2558 ซึ่งมากที่สุด ในรอบ 5 ปี โดยภูมิภาคที่บริษัทจากประเทศญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งคือภูมิภาคอาเซียน ซึ่งภูมิภาคนี้มีผู้บริโภคมากถึง 600 ล้านคน และกำลังจะก่อตั้งเขตการค้าเสรีของตนเองในเดือนธันวาคมนี้

อย่างไรก็ตาม บริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้จำเป็นต้องแข่งขันกับแบรนด์ท้องถิ่นที่ผู้บริโภคคุ้นเคย และแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในโลกตะวันตก เนื่องจากบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการมากกว่าการสร้างความแตกต่างให้แบรนด์

เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน เอเชีย แปซิฟิก ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวน 3,200 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ถึง 49 ปี ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, ไทย, จีน และอินเดีย โดยผลสำรวจนี้ ยังระบุแนวทาง 5 ประการที่บริษัทจากประเทศญี่ปุ่นควรนำไปปฏิบัติเพื่อช่วยสร้างและจัดวางตำแหน่งแบรนด์ของตนได้อย่างเหมาะสมในตลาดเอเชีย ดังนี้

• กลุ่มผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนและประเทศอินเดียชื่นชอบสินค้าและบริการของญี่ปุ่นอย่างมาก อีกทั้งญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่อยากไปท่องเที่ยวลำดับต้นๆ เป็นประเทศในดวงใจและดูเป็นมิตร นอกจากนี้ ฉลาก “Made In Japan” ยังเปรียบเหมือน สิ่งการันตีถึงคุณภาพของสินค้า ความน่าเชื่อถือ และเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ซึ่งจากการสำรวจครั้งนี้พบว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงมากที่จะเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น

• แม้ความเป็นญี่ปุ่นในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศ สินค้า หรือแบรนด์ จะเป็นที่ชื่นชอบและได้รับการยอมรับทางด้านนวัตกรรมล้ำสมัยและความน่าเชื่อถือ แต่กลับมีปัญหาในด้านดีไซน์ที่ไม่มีเสน่ห์โฉบเฉี่ยว หรือดูมีสไตล์ ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขโดยการวางกลยุทธ์กำหนดตำแหน่งทางการตลาดของแบรนด์ที่ชัดเจน รวมไปถึงพัฒนาแนวคิดการนำเสนอแบรนด์ให้น่าดึงดูด กว่านี้

• กลุ่มผู้บริโภคเอเชียชอบสื่อออนไลน์และเชื่อว่าแบรนด์ต่างๆ ที่ตนเลือกใช้ช่วยสะท้อนบุคลิกลักษณะของตน ซึ่งแตกต่างจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น ดังนั้นหากต้องการสื่อสารกับผู้บริโภคเอเชียและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ จะต้องลงลึกด้านกลยุทธ์ด้านดิจิตอลที่ช่วยสื่อสารแนวคิดของแบรนด์ได้อย่างชัดเจน

• อาเซียนถือเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่น ผู้บริโภคในภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูงนี้ชื่นชมประเทศญี่ปุ่นมาก และพร้อมเปิดรับแบรนด์สินค้าหรือบริการใหม่ๆ เสมอ นอกจากนี้ ผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวไม่ค่อยเชื่อว่า แบรนด์จากตะวันตกจะดีกว่าเอเชียเสมอไป

• บริษัทของญี่ปุ่นที่ต้องการเจาะตลาดในประเทศจีนนั้นจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างจากตลาดอื่นๆ

“ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในตลาดเอเชียที่กำลังขยายนั้น มีความชื่นชอบประเทศญี่ปุ่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แบรนด์จากประเทศญี่ปุ่นจึงต้องใช้จุดเด่นนี้มาช่วยเสริมทั้งความผูกพัน ความเชื่อมั่น ความชื่นชม และการยอมรับ” นายราทาน มัลลิ (Ratan Malli) ผู้อำนวยการฝ่ายการวางแผนเชิงกลยุทธ์ของ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน เอเชีย แปซิฟิก กล่าว “แบรนด์สินค้าหรือบริการจากประเทศญี่ปุ่นสามารถใช้จุดเด่นของ ‘ความเป็นญี่ปุ่น’ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ หรือใช้จุดเด่นทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเพื่อสร้างหรือยกระดับทั้งในด้านจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแบรนด์ได้ แม้ว่า ‘นวัตกรรม’ และ ‘ความน่าเชื่อถือ’ จะเป็นเอกลักษณ์แรกๆ ที่ผู้บริโภคนึกถึง แต่ควรตระหนักว่ายังมีเอกลักษณ์อีกมากมาย อาทิ วัฒนธรรมแบบสตรีทคัลเจอร์ต่างๆ รวมไปถึงคุณภาพของสินค้าหรือบริการที่ ไม่เหมือนใคร ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อทำให้ตนเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในทวีปเอเชียได้”

สำหรับตลาดที่แบรนด์ญี่ปุ่นกำลังไปได้สวยอย่างภูมิภาคเอเชียนั้น แบรนด์ต่างๆ จากประเทศญี่ปุ่นควรพรีเซนต์ความเป็นตัวเองเพื่อให้สื่อสารกับผู้บริโภคในตลาดเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น โดยนำเสนอจุดเด่นทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสินค้าหรือประเทศญี่ปุ่นแม้ว่าไม่ใช่สินค้าหรือบริการทางด้านเทคโนโลยี เนื่องจากผู้บริโภคมักคำนึงถึงนวัตกรรมและความสมบูรณ์แบบของสินค้าหรือบริการจากประเทศญี่ปุ่น อีกทั้ง ควรนำเสนอจุดเด่นที่ทำให้เหนือกว่าคู่แข่ง อาทิ ความใส่ใจในรายละเอียด คุณภาพ กระแสความนิยมใหม่ๆ ที่ช่วยให้แฟชั่นและแอนิเมชันญี่ปุ่นโด่งดังไปทั่วโลก

“การนำเอกลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่นมาใช้ในการเจาะตลาดต่างประเทศเป็นการสร้างแบรนด์ที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตลาดทั้งในและนอกเอเชีย สินค้าและบริการของญี่ปุ่นก็สามารถซื้อใจผู้บริโภคให้ชื่นชอบได้ไม่ยาก” นายทอม ด็อกเทอรอฟฟ์ ประธานกรรมการบริหาร เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน เอเชีย แปซิฟิก กล่าว


  •  
  •  
  •  
  •  
  •