เปิดใจแอดมินเพจ “ทุกอย่างดูซอฟท์เมื่อเป็นพาสเทล” ทำไมต้องทำเพจด้วยคำ ‘หยาบคาย’

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

นาทีนี้ถ้าจะไม่เขียนถึงเพจนี้ก็คงจะไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นเพจที่มาแรงมากทีเดียว เรียกได้ว่าถ้าเป็นชาวเน็ตตัวจริง หรือนักท่องเฟซบุ๊ก จะไม่มีทางพลาดสายตาเพจนี้อย่างแน่นอน “ทุกอย่างดูซอฟท์เมื่อเป็นพาสเทล”

เพจที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่มียอดไลค์สูงถึง 38,501 โดยในส่วนของเนื้อหานั้นจะเล่นสนุกกับคำกวนๆ ไปจนถึงคำหยาบคายสุดๆ โดยเพจดังกล่าวนี้ให้นิยามกับตัวเองว่าเป็น “เพจที่ทดสอบว่า สีพาสเทลทำให้ทุกอย่างดูซอฟท์ลงจริงหรือไม่”

ทั้งนี้ Marketing Oops ได้มีโอกาสสนทนากับแอดมินเพจนี้ ซึ่งปรากฏว่านอกจากจะมีความสุภาพแล้วยังเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่มีความคิดดี น่าสนใจมาก ลองมาทำความรู้จักกับเขากัน

pastel1

แนะนำตัว

ชื่อ “ชโลธร นวนทอง” ชื่อเล่น “ชะ” ครับอันที่จริงชื่อเล่นชื่อ “เป้” แต่เพื่อนๆ ไม่ค่อยเรียกกัน   เรียนจบมนุษย์ศาสตร์ สื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบมา 7-8 ปีแล้ว ตอนนี้ทำงานเป็นครีเอทีฟโฆษณา อยู่บริษัทเอเจนซี่แห่งหนึ่ง

สำหรับเพจนี้ นอกจากตัวผมแล้วยังมีแอดมินอีก 2 คน ที่ช่วยๆ กันทำ Mr.Por เป็นหน่วยบิ้วด์ และไชยวัฒน์ ศรีวิลาศ เป็นหน่วยส่องลูกเพจ

ก่อนหน้านี้เคยเปิดเพจมาแล้ว อย่างเพจ “โคลงเคลง 4 ไม่สุภาพ” ซึ่งเพจนั้นก็มีคนมากดไลค์ประมาณ 6 หมื่นกว่าไลค์ครับ จากนั้นก็มาเปิดเพจนี้ “ทุกอย่างดูซอฟท์เมื่อเป็นพาสเทล”

จุดเริ่มต้น

มันเกิดจากการที่เราเกิดข้อสงสัยกันในหมู่เพื่อนพี่น้องวงกินข้าว ก็คุยกับพี่ที่ทำงานด้วยกันว่า เราสงสัยว่าสีพาสเทลมันทำให้ทุกอย่างดูซอฟท์ลงจริงรึเปล่า เกิดจากคำถามในใจ เป็นความสงสัยแบบเรื้อนๆ บางคนก็บอกวาเออ..น่าคิด บางคนก็บอกว่ามันไม่เห็นจะเกี่ยวกันเลย แล้วพี่อีกคนก็บอกว่าถ้าเอ็งอยากรู้ เอ็งก็ลองทำสิ แล้วจะได้เป็นการพิสูจน์จากสมมุติฐานที่คิดว่ามันจะเป็นจริงอย่างนี้ไหม ก็เลยลองทำกันแบบขำๆ ดู

ดูเป็นแนววิทยาศาสตร์ไปเลยนะ

สงสัย ตั้งข้อสังเกต แล้วก็ลองทำดู แล้วก็ไม่คิดว่าคนจะเข้ามากดไลค์อะไรกันเยอะแยะขนาดนี้

ทำไมต้องใช้คำหยาบคายแรงขนาดนี้ เจตนาเป็นอย่างไร?

ยอมรับว่าเป็นความตั้งใจที่จะใช้คำแรงๆ เลย เพราะอยากจะลองดูว่าสิ่งที่แรงที่สุด คำที่แรงที่สุด เมื่อใส่สีพาสเทลลงไป ใส่ลายโพกาดอทหรือลายมุ้งมิ้งลงไป มันจะทำให้อารมณ์ความรู้สึกของคนดูต่อคอนเท้นต์นั้นๆ ดูซอฟท์ลงไหม ซึ่งตอนแรกก็ทำขำๆ กันในหมู่เพื่อน ก็ตลกดี ไม่ได้คิดอะไร

แต่มันมาพีคสุดเมื่อมันถูกแชร์ออกไป เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (31 ก.ค.) ที่ทำเซ็ทคำหยาบชุดแรกออกไป ปรากฏว่าทำให้มีคนเข้ามาเพจเราวันเดียวรวด 2 หมื่นกว่า 

pastel5

 

ภาพที่ถูกแชร์มากที่สุดคือคำอะไร?

อีดอกครับ อยู่ในเซ็ท 8 คำ แต่คนส่วนใหญ่ก็จะแชร์ทั้งอัลบั้มครับ แชร์ทั้งเซ็ท 8 รูปไปเลย

ปฏิกริยาคนเป็นอย่างไรบ้าง?

ถ้าคนที่เป็นแฟนเพจ หรือชอบเพจเราก็จะรู้สึกว่า เออ…มันทำให้ซอฟท์ลงจริงๆ นะ และส่วนใหญ่ที่ผมไปไล่ดูการแชร์ของลูกเพจที่แชร์ไป ส่วนใหญ่จะเอาไปเล่นกันในหมู่เพื่อนมากกว่าที่จะแชร์แบบสาธารณะ

คือมันจะเป็นคำหยาบคายอยู่แล้วที่พูดกันในหมู่เพื่อน มันเป็นคำที่เราจะไม่ค่อยได้คุยกันอยู่แล้วกับคนที่เราไม่คุ้นเคย หรือไม่ได้สนิทมากนัก ส่วนใหญ่เป็นคำที่เราคุยกับเพื่อนสนิทกัน  ซึ่งที่เราทำตรงนี้ก็เหมือนกับของเล่นใหม่ที่ทำให้เขาได้เล่นกันในกลุ่มเพื่อน

กลุ่มลูกเพจเราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไหน?

ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงครับ ผู้หญิง 70% ตามฐานแฟนที่ดูในเฟซบุ๊ก โดยช่วงอายุ 18-24 ประมาณ 25% และช่วงวัยทำงาน 25-35 ปี ประมาณ 45% ผู้ชายก็มีบ้าง แต่ก็คาดว่าน่าจะเป็นผู้ชายที่กลุ่มชาวสีรุ้งมากกว่าที่จะเป็นกลุ่มชายแท้

คิดว่าทำไมส่วนใหญ่ถึงมีแต่กลุ่มเพศหญิง?

คือนอกจากความที่มันเป็นพาสเทล สีหวานๆ ดูหญิงๆ แล้ว ก็ยังเกี่ยวกับตัวของภาษาด้วย คือผู้ชายส่วนใหญ่เวลาด่ากันก็ส่วนใหญ่ก็มีแต่ไอ้เหี้ย ไอ้สัส เท่านั้นครับ ส่วนคำอื่นๆ อย่างอีดอก อีแรด มันจะเป็นภาษาของผู้หญิงมากกว่า หรือกลุ่มกระเทยหรือเกย์มากกว่าครับ

นอกจากนี้ ผมยังทดลองปล่อยเซ็ท 2 ออกมา ซึ่งเป็นคำเบาๆ กว่าคำเซ็ทแรก แต่มันจะไม่ค่อยถูกแชร์เท่าไหร่ ผมคิดว่าที่มันไปเร็วมันคงจะเกิดการช็อคในครั้งแรก ว่าเฮ้ย! มันไม่เคยมีอาร์ท ไดเร็กชั่นอย่างนี้มาก่อนสำหรับคำพวกนี้

อย่างเซ็ทล่าสุดจะเป็นแนวคำคมของบรรดาพนักงานออฟฟิศ คือผมพยายามต่อยอดไอเดียไปเรื่อยๆ คือนอกจากคำหยาบแล้วเนี่ยลองอย่างอื่นบ้าง ไม่อยากให้เพจเป็นแหล่งรวมของคำหยาบอย่างเดียว ลองหาสถานการณ์อื่นๆ แปลกๆ ดูบ้าง แม้กระทั่งรูปอื่นๆ เช่นอะไรที่มันดูรุนแรงที่สุดก็ลองทำดู เช่น อีกเซ็ทที่ทำคือเซ็ทตัวร้าย villian ขึ้นมาลองมาใส่ในแบล็กกราวน์พาสเทลดูบ้าง พยายามหาลูกเล่นใหม่ๆ มาเล่น รวมทั้งยังเป็นการหาวิธีทดลองใหม่ๆ ด้วย เพราะว่าเพจนี้จุดเริ่มต้นมันเกิดจากการทดลอง ทดลองสมมุติฐานนี้ว่ามันจริงหรือไม่

pastel3 pastel4

 

การตอบรับจากลูกเพจเป็นอย่างไร?

เริ่มมีลูกเพจส่งไอเดียมาร่วมเล่นกันมากมาย ส่วนใหญ่ก็เก็ทไอเดีย และส่งคำมาให้เราทำมากมายเลยครับที่หลังไมค์ แต่ตอนนี้ต้องบอกว่าทำไม่ทัน ส่วนใหญ่ก็เก็ทว่า พ้อยท์ของเราคือการใส่ความเป็นสีพาสเทลลงไปแล้วทำให้ทุกอย่างดูซอฟท์ลง ดูมุ้งมิ้งขึ้น

จากตรงนี้จะมีการต่อยอดไปเป็นอย่างอื่นในอนาคตหรือไม่?

ผมว่า ณ ตอนนี้ จะลองหาการทดลองอื่นไปเรื่อยๆ ว่า คือนอกจากคำหยาบแล้ว คำขอในออฟฟิศแล้วยังมีคำอะไรอีก หรือว่ามีสถานการณ์อะไรอีก หรือมันมีอะไรอีกที่มันรุนแรง แล้วทำให้มันดูซอฟท์ลงด้วยสีพาสเทล ซึ่งในอนาคตจะเป็นอะไรต่อไปอีกก็ยังไม่ทราบครับ แต่จะขอลองต่อไปก่อนเรื่อยๆ

ความรู้สึกแรกที่เห็นคนแชร์คอนเท้นต์เรา และพูดถึงเพจเราเยอะขึ้นเป็นอย่างไร?

อันที่จริงเรื่องการแชร์คอนเท้นต์ผมไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่ครับ เพราะว่าในเพจเก่าที่เคยทำก็เคยมีอารมณ์นี้มาบ้าง แต่จะมาตื่นเต้นในวันศุกร์ที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า โอ้โฮ้! วันเดียวคนเข้ามาทีเดียว 20,000 คนเลยเหรอ??!! อย่างเพจเก่าที่มันโตมา และโตมาได้เรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้โตแบบฮวบฮาบอย่างนี้ ก้าวกระโดดขนาดนี้ เพจเก่ามันก็ค่อยๆ โตมาเรื่อยๆ ตอนนี้ก็มีคนประมาณ 6 หมื่นกว่าคน แต่ก็ไม่ได้มีโมเม้นต์ว่าพุ่งปรี๊ดมา 2 หมื่นกว่าคน

ก็คิดว่าเออเฮ้ย! บางทีสมมุติฐานนี้เป็นจริง หรือคนอื่นๆ เองก็อาจจะสงสัยเหมือนกับเรา และคนอื่นๆ เองก็เริ่มแท็กเพื่อนมาในคอมเม้นต์ว่าเออ…จริงป่าววะแก

pastel6

ทำเพจมีคำหยาบคาย คนจะหาว่าสนับสนุนให้พูดคำหยาบหรือเปล่า?

อยากจะบอกกับคนอื่นๆ หรือคนในสังคมยังไงว่าเจตนาไมได้ทำเพจเพื่อสนับสนุนการใช้คำหยาบคาย สำหรับผมจริงๆ ก็ไม่ได้อยากให้คนมาพูดคำหยาบคายกันมากขึ้น

แต่ก็อยากจะพูดกับน้องๆ วัยรุ่นก่อนว่า การพูดคำหยาบกับกลุ่มเพื่อนฝูงมันไม่ผิดหรอก ถ้าเป็นการพูดกันในกลุ่มเล็กๆ มันไม่ผิด แต่บางทีเราเห็นน้องบางคน มาพูดในที่สาธารณะ พูดกลางรถไฟฟ้า คือบางทีน้องหน้าสวยมาก น่ารักมาก พอได้ยินน้องพูดคำหยาบออกมาเท่านั้น เราก็สะดุ้งเฮือกเหมือนกัน มันอาจจะเป็นเพราะน้องไม่ได้มีสีพาสเทลคลุมคำพูดนั้นอยู่ พอคำพูดนั้นมันถูกปล่อยออกมาโพร่งๆ แล้ว มันไม่มีสีพาสเทลช่วย มันก็ดูแย่ไปเลย น้องดูขี้เหร่ไปเลย

คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้หันมาเปิดเพจของตัวเองมากขึ้น

ผมว่ามันทำให้ประเทศไทยมีคอนเท้นต์สนุกๆ มีอะไรให้อ่าน ให้เสพมากขึ้น มันมีอะไรมากกว่าที่เราได้ดูทีวีโทรทัศน์ หรือดูอะไรที่เขาบังคับให้ดู แล้วผมว่าบางทีการเปิดเพจอาจจะไม่ต้องหวังว่าให้มันสำเร็จ บางทีอาจจะเกิดจากการที่ลองกันขำๆ ลองกันสนุกๆ แล้วอาจจะได้อะไรใหม่ๆ ขึ้นมา

รู้สึกว่าเด็กสมัยนี้มีความกล้ามากขึ้น ก็อยากจะให้ใช้ความกล้าอันนี้มาทำอะไรบ้าง บางทีมันอาจจะโดนเสียงคัดค้านจากคนอื่น เพื่อนอาจบอกว่ามันไม่จริงหรอก แต่เราก็อยากลอง อยากทำตามเสียงของตัวเองดูบ้าง

คิดอย่างไรที่บางเพจมาเร็วไปเร็ว และบางเพจก็อยู่นาน?

ไม่ใช่เรื่องผิดกับเพจที่มาเร็วและไปเร็ว ในความเห็นส่วนตัวผมมองว่าเพจลักษณะนั้นเป็นเพจที่มาตามกระแส มาได้ถูกจังหวะถูกกระแสพอดี ลักษณะนี้จะโตอย่างเร็วมาก แต่เพจลักษณะนี้ที่ไม่ได้เล่นกับ insight ของคน เป็นลักษณะที่เชิงแฟชั่นมาเร็วไปเร็ว พอกระแสหลักมันดรอปไปเพจเหล่านี้ก็จะดับตามไปด้วย

ส่วนเพจที่ผมมองว่าจะอยู่ได้นานๆ อยู่ได้ไปเรื่อยๆ มันอาจจะไม่ได้โตแบบฮวบฮาบแต่มันอาจจะโตไปกับ insight ของคน เกาะไปกับความรู้สึกของคน มันสามารถหยิบและดึงเอาสถานการณ์นั้นๆ มาเล่นได้ตลอดเวลา ผ่านการนำเสนอในรูปแบบของตัวเอง อย่างเพจโคลงสี่ฯ ของผมก็คล้ายกันคือหยิบเอาสถานการณ์นั้นๆ มาเล่น แม้กระทั่งเคยร้างไปประมาณ 3 เดือน แต่พอมาแต่งใหม่คอนเท้นต์โดนมันก็คนก็ยังกลับมาฮิตต่อ

อีกอย่างที่ทำก็คือผมจะไม่พยายาม tie in โฆษณาลงเพจ คือมีคนมาติดต่อขอเหมือนกัน เคยทำในเพจโคลงสี่ไม่สุภาพ แต่รู้สึกว่าคอนเท้นต์มันไม่ใช่ไม่เข้ากับเพจ คนอ่านก็ไม่สนใจเลย

สำหรับเพจทุกอย่างดูซอฟท์เมื่อเป็นสีพาสเทล ผมก็ตั้งใจว่าถ้ามันมีอะไรที่เข้ากับตัวเพจ ก็โอเค.ครับ ขอดูให้มันเข้ากับเพจ ให้ตรงกับกลุ่มลูกเพจของเรา ที่สำคัญคือ คนที่ลงโฆษณาเองจะได้ไม่คุ้มด้วยถ้ามาแล้วไม่ตรงกับผู้อ่านในเพจของเรา

‘สีพาสเทล’ จะช่วยอะไรสังคมที่มันยุ่งเหยิงอย่างทุกวันนี้ได้บ้างไหม?

มันคงไม่ได้ช่วยให้ได้ 100% แต่มันอาจจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยได้ ถ้าจะเปรียบไป ‘สีพาสเทล’ มันเหมือนกับ ‘น้ำเสียงในการพูด’ หรือน้ำเสียงในการแสดงออกออกมา ฉะนั้นตอนนี้มุมมองทางสังคมคือทุกคนตะโกนใส่กัน กูไม่เห็นด้วยกับมึงก็ตะโกนใส่ มึงไม่เห็นด้วยกับกูเมิงก็ตะโกนใส่กู ฉะนั้น ถ้าเราถอดธีมรากของสีพาสเทลออกมา มันก็คือการพูดให้อ่อนโยนลง เปรียบสีพาสเทลคือการพูดจาหวานๆ เข้าหากัน เช่น ถ้าผมไม่พอใจใครคนนึงแทนที่ผมจะตะโกนใส่เขา ผมก็มีวิธีที่จะพูดกับเขาในอีกรูปแบบหนึ่งให้มันซอฟท์ลงมาได้

pastel2

ได้คำตอบหรือยังว่า ‘สีพาสเทล’ ทำให้ทุกอย่างดูซอฟท์ไหม?

ถ้าถามผมมันทำให้ดูซอฟท์ในระดับหนึ่ง ผมว่ามันช่วยได้ประมาณ 80% แต่ในบางอย่างมันไม่สามารถทำให้ซอฟท์ลงได้ เช่น ‘พรุ่งนี้วันจันทร์’ คนก็ยังรู้สึกทรมานเหมือนเดิม หรือเรื่องอื่นๆ ที่โหดร้ายทารุณมากๆ เช่น สงคราม มันเลวร้ายเกินกว่าที่อารมณ์ของสีมันจะช่วยได้

ส่วนตัวชอบสีพาสเทลไหน?

เขียวมินท์ ครับ.

ภายใต้เปลือกนอกที่ดูหยาบของเพจ “ทุกอย่างดูซอฟท์เมื่อเป็นพาสเทล” กลับซ่อนความหมายดีๆ เอาไว้อย่างแยบยล ฉะนั้น ในสังคมทั้งออฟไลน์และออนไลน์เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าเราควรหันหน้าเข้ามาพูดกันด้วยภาษาลายเส้นที่ชดช้อย ส่งสายตาโพกาดอทหากัน และใส่สีพาสเทลลงในคำพูดเยอะๆ สังคมของเราจะน่าอยู่และมุ้งมิ้งขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว.


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!