บิทคอยน์และบล็อกเชน เวอร์ชันขาหมู อ่านทีเดียวจบ เข้าใจตลอดไป

  • 2.2K
  •  
  •  
  •  
  •  

ทุกคนคงจะเคยได้ยินคำว่า FinTech Startup มาบ้างใช่มั้ยครับ?  FinTech Startup มีหลายรูปแบบ แต่เรื่องนึงที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ บล็อกเชนและบิทคอยน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่ได้รับความสนใจในวงการ Startup   แต่องค์กรใหญ่ๆ เช่น Bank of Australia หรือ JP Morgan ก็ให้ความสนใจและเข้ามาศึกษา กระทั่งรัฐบาลฟิลิปปินส์ยังมีการศึกษาระบบเพื่อวางแผนจะออก e-peso มาใช้เป็นสกุลเงินของประเทศ

สงสัยใช่มั้ยล่ะ ว่าบิทคอยน์และบล็อกเชนคืออะไร ทำไมถึงได้รับความสนใจขนาดนี้ วันนี้เราจะมาให้คำตอบแบบง่ายๆ อ่านทีเดียวจบ เข้าใจตลอดไป

มาดูกันก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น

ย้อนกลับไปยุคเมโสโปเตเมีย(เอ้ยไม่ใช่แล้ว) เรามีขาหมูหนึ่งขา เพื่อนไม่มีสักขาและกำลังหิวมาก ตรงนี้ถ้าเราอยากเอาขาหมูให้เพื่อนก็แค่เอาไปให้ถึงหน้าบ้านใช่ไหมคะ สมัยก่อนที่ระบบการแลกเปลี่ยนยังไม่ซับซ้อนทุกอย่างมันดูง่าย ไม่จำเป็นต้องมีบุคคลที่สามมาเป็นตัวกลางเลย

1-mktoops_coins_pic1

เมื่อคนอยากได้ขาหมูกันมากขึ้น

ปัญหามันเริ่มต้นเมื่อเราต้องการส่งขาหมูไปให้เพื่อนที่อยู่ไกลออกไปหรือส่งขาหมูเป็นหมื่นขา

เมื่อความยุ่งยากในการขนขาหมูเพิ่มขึ้น ผู้คนจึงใช้วิธีแลกเปลี่ยนสิทธิ์ในการครอบครองขาหมูนั้นแทนเหมือนที่เราฝากเงินธนาคารแล้วเซ็นเช็คออกมาแทนนั่นแหล่ะครับ

เราขอเรียกสิทธิ์ในการครอบครองขาหมูนี้ว่า “ขาหมูดิจิตอล”  ซึ่งในการส่งเจ้าขาหมูดิจิตอลนี้ให้เพื่อนทางอินเตอร์เน็ต เราจะรู้ได้ยังไงว่าขาหมูดิจิตอลนี้เป็นของใคร ส่งให้ใครบ้าง เคยส่งไปแล้วหรือเปล่า มั่วนิ่มสร้างอันใหม่ขึ้นมาหรือเปล่า (เพราะเป็นดิจิตอล เราอาจสร้างขาหมูขึ้นมาอีกอันปลอมๆไว้ได้) วิธีแก้ง่ายๆก็คือการแต่งตั้งใครสักคนมาดูแลสมุดบัญชีกลาง ที่เวลามีการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนย้ายขาหมูดิจิตอล หรือเรียกว่าการทำธุรกรรม เราก็จดๆ ลงไป เท่านี้ก็สามารถเก็บข้อมูลธุรกรรมทั้งหมดไว้ได้แล้ว

ตรงนี้แหล่ะที่เป็นปัญหา ถ้าสมมุติผู้ดูแลบัญชีเกิดอยากสร้างขาหมูขึ้นมากินเองสองสามขาหล่ะ หรือวันนึงหัวหน้าไม่มาเข้างานแล้วเราจะทำการส่งขาหมูกันอย่างไร ใครจะมาตรวจสอบได้

1-mktoops_coins_pic2

สมุดบัญชีขาหมูสำหรับทุกคน

ทางแก้ง่ายๆก็คือ ให้ทุกคนมีสมุดบัญชีนี้สิ ทุกคนบันทึกธุรกรรมทั้งหมดในระบบอย่างถาวร เกิดวันดีคืนดี มีคนนึงอยากจะเขียนขาหมูขึ้นมาเพิ่มในระบบเอง ก็ทำไม่ได้ เพราะว่าบัญชีนั้นก็จะไม่ตรงกับคนอื่นในระบบ ถ้าเราอยากส่งขาหมูให้คนอื่น แต่เราไม่มีขาหมูในมือแล้ว เราก็ส่งไม่ได้ สร้างขึ้นมาเพิ่มเองไม่ได้ ยิ่งถ้าระบบนี้ใหญ่ขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งโกงได้ยากขึ้น เพราะทุกคนช่วยกันบันทึกและประมวลผล

ในระบบดิจิตอลนี้ ใครๆ ก็สามารถเข้ามาร่วมได้ด้วย เข้ามาบันทึกและประมวลผลธุรกรรมกัน นอกจากนี้เพื่อเป็นรางวัลในการบันทึกธุรกรรม ระบบก็จะให้ขาหมูชิ้นใหม่เป็นค่าตอบแทนแก่ผู้บันทึกธุรกรรมอีกด้วย

ระบบนี้ยังทำให้เรารู้ว่า จำนวนขาหมูจริงๆ ในระบบมีเท่าไหร่ แถมไม่ต้องมีใครมาเป็นตัวกลางควบคุม เพราะเป็นสมุดบัญชีสาธารณะ ทำให้การทำธุรกรรมทางดิจิตอลเหมือนการทำธุรกรรมกันแบบต่อหน้า ที่ไม่ต้องมีคนกลาง ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม แถมเรายังส่งขาหมูได้พันขา ล้านขา หรือส่งแค่ 0.00000001 ขาก็ได้อีกด้วย นอกจากนี้ถึงเราอยู่กรุงเทพ เราจะส่งขาหมูให้เพื่อนที่อยู่อเมริกาก็ได้

1-mktoops_coins_pic3

อ่านมาทั้งหมดนี่แหล่ะ นี่แหล่ะบล๊อคเชนและบิทคอยน์

ระบบนี้ฟังดูง่าย และมีประสิทธิภาพมากๆ เลยใช่มั้ยครับ? ระบบนี้แหละค่ะเรียกว่าบล็อกเชน และขาหมูที่เราส่งกันไปมา เรียกว่าบิทคอยน์ครับ ทำให้ทุกคนสามารถทำธุรกรรมทางการเงิน ได้ง่ายเพียงแค่มีอินเตอร์เน็ต ปลอดภัย ด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำจนแทบจะไม่มีเลย

ในตอนหน้า เราจะมาคุยกันเรื่องประโยชน์ของบิทคอยน์และบล็อกเชน ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ส่งผลกระทบต่อชีวิตของทุกคนยังไง และจะมาเปลี่ยนแปลงโลกของเราในรูปแบบไหน อย่าลืมติดตามกันครับ

 

jirayut

เขียนโดย จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
กูรูผู้เชี่ยวชาญด้าน Blockchain เทคโนโลยีในการถ่ายโอนมูลค่า และปัจจุบันเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท coins.co.th ซึ่งเป็นหนึ่งใน Fintech startup ที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียขณะนี้

อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่

Copyright © MarketingOops.com


  • 2.2K
  •  
  •  
  •  
  •  
Jirayut Srupsrisopa
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการทำงานในแวดวงอุตสาหกรรม เทคโนโลยี Cryptocurrency และ Blockchain ก่อนหน้านี้เคยทำงานในฐานะนายธนาคารด้านการลงทุนที่ปรึกษาทางการเงินและนายธนาคารกลาง มีประสบการณ์การเป็นวิทยากรหนึ่งในทีมชั้นนำระดับประเทศ จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศสหราชอาณาจักร ตอนนี้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ bitkub.com - การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย