2 หญิงแกร่งกสิกรไทย ชี้ระบบการเงินไทยต้องผ่าน COVID-19 ได้ พร้อมแผนรับมือหลังผ่านวิกฤติ

  • 78
  •  
  •  
  •  
  •  

Her Talk1

ก่อนหน้านี้หลายคนต้องฮือฮากับการลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการธนาคารกสิกรไทยของคุณบัณฑูร ล่ำซำ และมีการเชิญคุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร มาดำรงตำแหน่งรักษาการประธานกรรมการ และแต่งตั้งคุณขัตติยา อินทรวิชัย มาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งนับเป็นผู้บริหารระดับสูงไม่ใช่คนในตระกูล “ล่ำซำ”

โดยผู้บริหารสาวแกร่งทั้ง 2 ท่านได้ออกมาชี้แจงถึงแผนและสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในการ LIVE “Her Talk” ซึ่งเป็นไปตามมาตรการ Social Distancing เพื่อลดการแพร่กระจาย COVID-19 ซึ่งทางคุณกอบกาญจน์ชี้ว่า COVID-19 ถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดและเกิดขึ้นทั่วโลก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำธุรกิจ

 

มุมมองคาดการณ์ของประธานฯ คนใหม่

โดยวางเป้าหมายธนาคารกสิกรไทยฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจและสู้ศึกดิสรัปชั่น (Disruption) วางอนาคตสร้างธนาคารเป็นองค์กรใหญ่ที่คล่องตัวสูง ขับเคลื่อนเร็วพร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทีม พาธนาคาร ลูกค้า และเศรษฐกิจประเทศชาติรอดไปด้วยกัน คาดหาก COVID-19 คุมได้ในไตรมาส จีดีพีติดลบ 5.0%

Kobkarn
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย

ด้าน นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ชี้ว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า คุณภาพสินเชื่อจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับธุรกิจธนาคาร โดยอาจต้องติดตามสถานการณ์ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคล ตลอดจนสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งที่พึ่งพิงตลาดและกำลังซื้อในประเทศ และที่พึ่งพิงตลาดส่งออก ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

อย่างไรก็ตามคาดว่ามาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ จะมีส่วนสำคัญในการลดทอนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการผ่อนคลายเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะช่วยลดภาระการกันสำรองของสถาบันการเงิน ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ส่งผลให้การทบทวนประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2563 คาดว่าจะหดตัว –5.0ท่ามกลางสมมติฐาน ดังต่อไปนี้

1สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในไทยและต่างประเทศ สามารถควบคุมจำนวนการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อได้ในภายในไตรมาสที่ 2

2เศรษฐกิจโลกและไทยคาดว่า จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2563

3.นโยบายการเงินและการคลังที่ทยอยออกมาแล้ว และที่กำลังจะตามมา จะช่วยประคองกลไกทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเงินให้สามารถดำเนินต่อไปได้

 

ทิศทางธนาคารกสิกรไทยช่วง COVID-19

อย่างไรก็ตาม ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยปีนี้ คือ การใช้จ่ายของภาครัฐที่จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว การส่งออก การบริโภค และการลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ

Her Talk2

ทิศทางของธนาคารกสิกรไทยที่ดำเนินต่อจากนี้ คือ เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าธนาคารในหลายๆ ทาง พร้อมมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่จะมีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ และในอนาคตข้างหน้า นอกจากการฝ่าวิกฤติ COVID-19 ครั้งนี้แล้ว ธนาคารกสิกรไทยจะยังคงบทบาทการเป็นสถาบันการเงินชั้นนำ ที่จะเป็นตัวจักรสำคัญในการพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ และพร้อมเสมอที่จะรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่อื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ด้วยบทบาทและหน้าที่ของประธานกรรมการ ในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแล ได้ประเมินฝ่ายบริหารและศักยภาพพื้นฐานของธนาคารแล้ว ก็มั่นใจว่า ยังดำรงความแข็งแกร่งเป็นที่น่าพอใจ และเชื่อมั่นว่าฝ่ายจัดการจะสามารถบริหารธนาคารให้ก้าวผ่านโจทย์ธุรกิจในช่วงแพร่ระบาดของ COVID-19 ควบคู่กับการสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจเพื่อรับมือดิสรัปชั่นและความท้าทายอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเรียบร้อย

 

แผนการรับมือ 3 ด้านรองรับสถานการณ์

ขณะที่ นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ชี้ว่า เป็นความท้าทายอย่างมาก และเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานของธนาคารสามารถดำนินการได้อย่างต่อเนื่อง เพราะคณะผู้บริหารของธนาคารมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์และทิศทางธุรกิจสอดคล้องกันมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

Kattiya
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

การดำเนินธุรกิจของธนาคารกสิกรไทยต่อจากนี้ การจัดการที่จะเร่งทำให้มากขึ้นในภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ได้แก่

      • การส่งมอบบริการทางการเงินไปถึงลูกค้ารายรายเล็กให้ได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยยังคงหลักระมัดระวังและการบริหารความเสี่ยงที่ดี ซึ่งเป็นโจทย์ที่ควรเร่งทำเป็นอันดับต้นเพราะจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นโจทย์ของธนาคารทั้งในฐานะคนทำธุรกิจและพลเมืองของประเทศ
      • การจัดการด้านต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (Productivity management) ให้ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการถึงลูกค้าได้ดีขึ้น เร็วขึ้น และถูกลง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ไม่ใช่แค่การทำตามระเบียบของทางการ ซึ่งหากมองในระดับประเทศแล้วต้นทุนทางการเงินของธนาคารยังนับว่าเป็นเพียงส่วนน้อยของต้นทุนในระบบประเทศ ยังมีภาคส่วนอื่น ๆ ที่สามารถเพิ่ม Productivity ได้อีกมาก เพื่อให้แรงงานการผลิตมีค่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญให้ธุรกิจอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจนี้
      • การจัดการด้านทรัพยากรบุคคล ที่ต้องมีการยกระดับทักษะความสามารถพนักงาน ให้พร้อมรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีใหม่ๆ 

นางสาวขัตติยาเพิ่มเติมว่า โลกในทุกวันนี้เปลี่ยนไป ทั้งบทบาทของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและการแข่งขันในธุรกิจอย่างมาก รวมกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เข้ามากระทบ ปัจจัยที่จะมาสั่นคลอนและท้าทายชีวิตของลูกค้ามีมากขึ้น ทั้งเชิงธุรกิจและชีวิตส่วนตัว แต่ธนาคารกสิกรไทยจะอยู่กับลูกค้าทุกที่และทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าอยู่กับเราแล้วปลอดภัย

โดยจะช่วยเพิ่มอำนาจให้กับการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจของลูกค้า (Empower Every Customer’s Life and Business) ทั้งการสนับสนุนแหล่งเงินทุน บริการทางการเงิน การให้ข้อมูล และโอกาสในการพบผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะกับธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าก้าวนำการเปลี่ยนแปลงเป็นผู้นำในการทำธุรกิจ และได้ใช้ชีวิตตามที่ตัวเองต้องการ

 

พร้อมรับมือและพร้อมช่วยเหลือลูกค้า

เหตุการณ์ต่างๆ ในภายภาคหน้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงที่เหนือการคาดการณ์ได้มากมาย เราอาจยังไม่รู้ชัดว่าธุรกิจธนาคารจะเปลี่ยนแปลงไปในรูปลักษณ์ไหน แต่สิ่งที่เรารู้แน่ชัดคือ เราต้องมีแนวคิดที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง (Change Mind Set) มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ (Innovation) ที่สำคัญที่สุดคือ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและโลกใบนี้ (Sustainability) ซึ่งธนาคารกสิกรไทยจะเป็นองค์กรที่ใหญ่แต่เร็ว คล่องตัวสูง เป็นฟันเฟืองหลักของระบบเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับการนำพาองค์กรฝ่าวิกฤติการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง นับเป็นโจทย์สำคัญอันดับแรกในขณะนี้ ซึ่งนับตั้งแต่การระบาดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ธนาคารกสิกรไทยได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าด้านสินเชื่อไปแล้ว 115,000 ราย ยอดสินเชื่อ 124,000 ล้านบาท

K-PLUS-QR-Cash-Withdrawal

และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการและลูกค้าบุคคลที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ธนาคารจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เป้าหมายสำคัญในการฝ่าวิกฤตินี้ คือ พนักงานปลอดภัย สามารถส่งมอบบริการได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าให้ได้มากที่สุด และเตรียมความพร้อมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศต่อไป

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ธนาคารอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลผลกระทบต่าง ๆ โดยจะมีการทบทวนแผนธุรกิจและเป้าหมายปี 2563 อย่างชัดเจน หลังจากเห็นผลประกอบการของไตรมาสแรก เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในลำดับถัดไป

 

Source: KBank


  • 78
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา