ดราม่าสิงคโปร์แย่งจัดงาน Celebrate Songkran 2014 อะไรคือข้อเท็จจริง? อะไรคือความเห็น?

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

cats

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม มีกระแสดราม่าโลกโซเชียลมีเดียอย่างเอิกเกริกเกี่ยวกับประเด็น “สิงคโปร์แย่งไทยจัดงานสงกรานต์ซะแล้ว” โดยต้นตอของการวิพากษ์วิจารณ์ที่เริ่มร้อนแรงน่าจะมาจาก Facebook ของนายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ (Pongsuk Hiranprueck) พิธีกรด้านไอทีชื่อดังที่ระบุว่า

“ไปกันใหญ่! เมื่อสงกรานต์ไทยที่โชว์ชาวโลกไปมันไม่ใช่สิ่งดีงามตามเจตนารมณ์บรรพบุรุษ “สิงคโปร์(จึง)ฉก” เทศกาลสาดน้ำอย่างบ้าคลั่งนี้ไป”ทำเอง”แล้วครับ เคลมว่า”ใหญ่ที่สุด” หวังดูด(แย่ง)นักท่องเที่ยวไปจากไทยที่มัวแต่ทะเลาะกันจนมันไม่น่าเที่ยวซะแล้ว T-T #RIPsongkran มีเว็บไซต์โดเมนสวย CelebrateSongkran.com เป็นเรื่องเป็นราว #มองตาปริบๆ”

cats3

ซึ่งคอมเมนต์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกระแสโจมตีรัฐบาลและประชากรสิงคโปร์ว่าเป็นผู้ฉกฉวยโอกาส ถือเอาช่วงที่ประเทศไทยยังประสบปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองมาจัดงานสงกรานต์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไปจากไทยในช่วงสงกรานต์ กระแสดังกล่าวเผยแพร่ไปทาง Pantip.com ทาง Facebook และอีกหลากหลายช่องทาง

อย่างไรก็ตาม เราลองมาทบทวนข้อเท็จจริงที่ได้จากเว็บไซต์จริงของผู้จัดงานดูหน่อยไหมครับ?

ข้อเท็จจริง

  1. เทศกาล Celebrate Songkran 2014 เป็น festival ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเล่นสงกรานต์ในประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 12-13 เมษายนที่จะถึง จัดโดยองค์กรเอกชน JBozz Consultants ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ที่รับจัดอีเวนท์นอกสถานที่ ที่ย่านธุรกิจ Padang โดยไม่ได้รับเงินสนับสนุนและสปอนเซอร์จากหน่วยงานรัฐบาล
  2. งานนี้แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งจะเป็น General Pass ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนมาเล่นสงกรานต์กันได้ฟรี รวมทั้งมีบูธเผยแพร่วัฒนธรรมไทย เช่น เวทีมวยไทยกลางแจ้ง ร้านค้าขายสินค้าต่างๆ การเปิดให้ชิมอาหารไทยและขนมไทย ส่วนที่สองของงานจะเป็นเทศกาลดนตรี H2O Music Festival ซึ่งมีศิลปินชื่อดังมาร่วมงานมากมาย อาทิ ดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์-ป็อบจากวง Far East Movement การแสดงของ Nam Gyu Ri และนักร้องชาวไทยจากค่ายอาร์เอส อาทิ ฟิล์ม รัฐภูมิ,เฟย์ ฟาง แก้ว,โฟร์ มด,ขนมจีน,หวาย กามิกาเซ่ เป็นต้น การแสดงส่วนนี้จะขายตั๋วเข้าชมตั้งแต่ราคา 35 – 100 เหรียญสิงคโปร์ หรือราว 900 – 2,500 บาท (แล้วแต่แพ็คเกจ) และจำกัดอายุผู้เข้าชมไม่ต่ำกว่า 18 ปี
  3. ในจดหมายข่าวของผู้จัดงานอีเวนท์ระบุว่าจุดประสงค์การจัดงานคือการเผยแพร่ความเข้าใจอันดีต่อวัฒนธรรม มรดกและความเป็นไทย ภายใต้บรรยากาศแบบอินเตอร์เนชั่นแนลที่น่าตื่นเต้น
  4. งาน Celebrate Songkran 2014 ครั้งนี้ระบุว่า งานของตัวเองเป็น “เทศกาลสงกรานต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสิงคโปร์”

Source

songkran 2014-1

cats2

ส่วนในความเห็นของผม ผมสามารถแจกแจงเป็นประเด็นได้ดังนี้ครับ

  1. การระบุว่า “สิงคโปร์แย่งนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย” อาจเป็นความจริงครึ่งเดียว เนื่องจากคำว่าสิงคโปร์ที่คนพูดกล่าวหมายความถึง “รัฐบาลสิงคโปร์” ซึ่งเมื่อดูข้อเท็จจริงแล้วรัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้มีส่วนสนับสนุนหรือส่งเสริมงานนี้เลย (อย่างน้อยโดยตรง) ทั้งหมดเป็นการดำเนินงานของภาคเอกชนและรายได้ของเขาก็ได้จากการขายตั๋วคอนเสิร์ตและบูธขายของเหมือนงานอีเวนท์ทั่วไป หากจะรวมว่าบริษัทเอกชนดังกล่าวก็เป็นบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ ผมว่าบริษัทนี้ก็คงทำเพื่อ “รายได้” (เพราะนี้เป็นจุดมุ่งหมายขององค์กรเอกชนอยู่แล้ว) และไม่ได้ทำเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์ที่อยาก “แย่ง” นักท่องเที่ยวจากประเทศไทย (ในกรณีที่รัฐบาลสิงคโปร์จะมีนโยบายดังกล่าวจริง)
  2. งานครั้งนี้เคลมตัวเองว่าเป็น “เทศกาลสงกรานต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสิงคโปร์” (ข้อความอยู่บนโปสเตอร์) ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่าเป็นงานสงกรานต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างแน่นอน
  3. การตีความว่าสิงคโปร์จัดเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นการพยายามแย่งนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย หากเราตีความด้วยตรรกะเดียวกัน หลายประเทศทั่วโลก ทั้ง ออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐ และฯลฯ ต่างก็มีการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์เช่นเดียวกัน (แม้งานจะไม่ได้ใหญ่เท่าสิงคโปร์) และมีการประชาสัมพันธ์งานอย่างเอิกเกริก เช่นนั้น ทุกประเทศกำลังพยายามแย่งนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยหรือ?
  4. การตีความว่าสงกรานต์ของไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เป็นงาน original อันดีงามเป็นความคิดหนึ่งที่เป็นไปได้ แต่หากมองด้วยตรรกะเดียวกัน พรุ่งนี้เราอาจต้องรับหน้ากับกองทัพร้านอาหารจีน อาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารเสริมเกาหลี ที่จะยกทัพกันมาวิจารณ์ร้านค้าในไทยที่ไปบิดเบือนสูตรก๋วยเตี๋ยว น้ำชาเขียว กิมจิ หรือสูตรยาหน้าใสของประเทศเขา ส่วนตัวผมคิดว่าวัฒนธรรมที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้เลย ถูกแช่แข็ง ไม่มีโอกาสที่จะเติบโตไปในโลกสมัยใหม่ที่ทุกอย่าง globalized และอนาคตหนึ่งเดียวของวัฒนธรรมเหล่านั้นคือการถูกลืมหรือหายสาบสูญไป
  5. ประเด็นสุดท้ายคือ หากการเมืองของไทยไม่สงบจนนักท่องเที่ยวไม่กล้ามาเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ แม้สิงคโปร์ไม่จัดงานดังกล่าวก็ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่ประเทศไทยอยู่ดีครับ ดังนั้น ก็น่าคิดว่าเราน่าจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าปลายเหตุหรือเปล่าครับ?

songkran 2014


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง