CSR กับเศรษฐกิจชุมชน วันนี้พวกเราทำดีพอแล้วหรือยัง

  • 19
  •  
  •  
  •  
  •  

corporate-social-responsibility

ปัจจุบันถือได้ว่าเราได้เห็นปัญหาของประเทศไทยในหลายๆ ด้าน ทั้งปัญหาทางด้าน การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่อเนื่องไปถึงปัญหาครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ โดยเฉพาะในเรื่องของปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าที่สูงขึ้น กับปัญหารายรับไม่พอกับค่าใช้จ่ายของครอบครัว ซึ่งทั้งหมดล้วนสัมพันธ์กันระหว่างธุรกิจและสังคม เพราะหากธุรกิจดี ผู้ประกอบการ และพนักงานก็จะมีรายได้ดี มีโบนัสดี มีสวัสดิการที่ดี และได้รับการดูแลที่ดีจากองค์กร ก็จะช่วยแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของบุคคล และครอบครัวให้ดีขึ้นได้   ลองนึกกันดีๆ ว่าจริงๆแล้ว “ธุรกิจ” นอกจากจะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจกับสังคมแล้ว ยังมีบทบาทหลักในการสร้างรายได้ ป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน และครอบครัวด้วยเช่นกัน   และยังไม่ได้รวมถึงความสำคัญของธุรกิจที่มีบทบาทความสำคัญในการแก้ปัญหาของสังคม และชุมชนอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ ทำให้เราได้เห็นความสำคัญของภาคธุรกิจ และองค์กรที่มีต่อสังคมกันมากขึ้น   ซึ่งปัจจุบันมีแบรนด์ต่างประเทศหลายแบรนด์เข้ามาเปิดสาขาหรือเปิดตลาดในประเทศไทย ทำให้คนไทยจับจ่ายใช้สอย และใช้บริการจากแบรนด์ต่างประเทศมากมาย  ซึ่งแน่นอนว่าเราคนไทยไม่ได้คิดอะไร แต่จะยินดีมากขึ้น ถ้าแบรนด์ใดได้มีส่วนช่วยเหลือหรือคืนกำไรให้กับสังคมของเราและชุมชนของเราให้ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

บทบาทความสำคัญของธุรกิจ และการทำ CSR

หากกล่าวถึงบทบาทความสำคัญของธุรกิจที่มีต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และสังคมด้วยการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการที่ดี ให้คนมีงานทำและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปแล้ว ธุรกิจยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งกับเจ้าของกิจการ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง ลูกค้า และพันธมิตรทุกคนรวมทั้งต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณชนและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้องค์กรได้รับการยอมรับไม่ถูกสังคมต่อต้านและสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ด้วยคุณธรรมจริยธรรมขององค์กร ตระหนักถึงการให้ เพื่อเป็นการคืนกำไรไปสู่สังคมในรูปแบบต่างๆ ตามความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรนั้น และยังถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรไปด้วย ทำให้การดำเนินงานของธุรกิจเป็นไปอย่างสะดวก ประชาชนทั่วไปเห็นความดีขององค์กรต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม สิ่งนี้คือการลงทุนอย่างหนึ่งซึ่งคุ้มค่าและเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อสังคม สิ่งที่ทำจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือระเบียบ เช่น การบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ หรือเงินช่วยเหลือ การมอบทุนการศึกษา รวมไปถึงการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ด้านสังคม หรือศาสนา แล้วก็สิ่งแวดล้อมของสังคมและชุมชนนั้นๆ แนวคิดดังกล่าวนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในทุกภาคส่วน ซึ่งในบางองค์กรที่มีความเข้มแข็ง โดยการนำกิจกรรมในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมไปพัฒนาเป็นหลักการที่เรียกว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีหลายองค์กรที่ได้มีการจัดตั้งส่วนงานขึ้นเพื่อดูแลกิจกรรมนี้โดยเฉพาะ

ความเป็นมาของ CSR

CSR หรือ Corporate Social Responsibility หรือ บรรษัทบริบาล หมายถึง การดำเนินกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กรที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมทั้งในองค์กร และในระดับใกล้และไกล ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรและจากภายนอกองค์กร จัดการ ช่วยเหลือและสร้างกิจกรรม เพื่อที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข

  • Corporate หมายถึง กิจการที่ดำเนินไปเพื่อแสวงหาผลกำไร
  • Social หมายถึง กลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันหรือมีวิถีร่วมกันทั้งโดยธรรมชาติหรือโดยเจตนา รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รายรอบ
  • Responsibility หมายถึง การยอมรับทั้งผลที่ไม่ดีและผลที่ดีในกิจการที่ได้ทำลงไป หรือที่อยู่ในความดูแลของกิจการนั้นๆ ตลอดจนการรับภาระ หรือเป็นธุระดำเนินการป้องกัน และปรับปรุงแก้ไขผลที่ไม่ดี รวมถึงการสร้างสรรค์และบำรุงรักษาผลที่ดีซึ่งส่งผลกระทบไปยังผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ

50 อันดับบริษัทของโลกที่มีภาพลักษณ์ที่ดีจากการทำ CSR

csr-top-50-companies

ตัวอย่าง CSR: พาน้องเข้าเรียน กิจกรรมผ่านสื่อผสม ทั้งออนไลน์และแอพพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์มือถือ

ตัวอย่างการทำแคมเปญ CSR ผ่านสื่อดิจิตอล ครั้งนี้ขอเลือกแคมเปญ Take Them to School (พาน้องเข้าเรียน) มาเป็นเคส เนื่องจากเป็นแคมเปญที่น่าสนใจ ตอบโจทย์การช่วยเหลือสังคม และการใช้สื่อออนไลน์ผสม ระหว่างเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือสมาร์โฟนผสมผสานกันออกมาได้อย่างน่าเอ็นดู และที่สำคัญ แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง และยังได้รับรางวัล Webby Award ประเภท Corporate Social Responsibility ในปี 2012 อีกด้วย

แคมเปญ CSR นี้จัดทำขึ้นผ่านความร่วมมือระหว่างบริษัท ING Direct และ Unicef ด้วยจุดประสงค์เพื่อต้องการบริจาคเงินให้น้องๆที่ด้อยโอกาสทางด้านการศึกษาให้ได้ไปโรงเรียน ด้วยการสร้างแคมเปญสุดน่ารักให้เกิดการอินเตอร์แรค (Interact) กันระหว่างสองแพลตฟอร์ม คือ เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน และทำให้การบริจาคดูเสมือนจริงและสนุกสนาน คือการจัดทำเว็บไซต์ โดยมีนักเรียนเข้าคิวรอรับการบริจาค หรือรอให้เราพาพวกเขาไปโรงเรียน   ส่วนแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือจะเป็นส่วนของโรงเรียนที่ผู้บริจาคจะต้องบริจาคเป็นค่าดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น และในแอพพลิเคชั่นที่ได้มาจะมีโรงเรียนให้กับน้องๆ   โดยผู้บริจาคเงินสามารถนำโทรศัพท์มือถือมาทาบกับหน้าเว็บไซต์ผ่านแอพพลิเคชั่น แล้วจะได้เห็นเด็กกระโดดเข้ามาที่แอพพลิเคชั่น เพื่อไปโรงเรียน เห็นแล้วน่ารักจริงๆ ดูวิดีโอคลิปได้ที่นี่ http://vimeo.com/47009122

take-me-to-school

take-me-to-school-2

จากแคมเปญตัวอย่างที่นำมาให้ชม พอทำให้เห็นภาพในอีกหนึ่งมุมได้ว่า ภาคธุรกิจหรือองค์กรนิยมทำ CSR ด้วยการบริจาคเงินให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการศึกษาแก่เด็กผู้ด้อยโอกาส การทำเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกป่า หรือลดมลพิษในหลากหลายรูปแบบ โดยหลายครั้งได้ลืมนึกถึงปัญหาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจหลักก่อให้เกิดปัญหาในสังคมต่างๆตามมา

CSR เพียงพอแล้วหรือยังกับการยกระดับชุมชน

โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ควรที่จะต้องมีบทบาทแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน ในรูปแบบการสร้างงานและกระจายรายได้ให้มากขึ้น   ซึ่งในจุดนี้ ยังมีผู้ประกอบการระดับชุมชนอีกมากมายที่มีวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจการค้าเพื่อสร้างรายได้ ยกระดับและพัฒนาชุมชนของตนเอง แต่ยังขาดความรู้ และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้เกิดปัญหากำไรขาดทุนที่ไม่สมดุล การดำเนินงานที่ผิดพลาด ด้วยต้นทุนที่สูง และอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบให้ทั้งผู้ประกอบการ คู่ค้า พนักงาน และต่อเนื่องไปยังปัญหาครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ โดยเฉพาะในเรื่องของปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าที่สูงขึ้น กับปัญหารายรับไม่พอกับค่าใช้จ่ายของครอบครัวดังที่กล่าวมาข้างต้น

ด้วยเหตุนี้ จึงอดคิดไม่ได้ว่าการทำ CSR ในปัจจุบันที่บริษัทเล็กใหญ่ต่างช่วยกันลงแรงนั้นเพียงพอต่อการยกระดับชุมชนแล้วหรือยัง เพื่อที่จะทำอย่างให้ชุมชนได้รับการแก้ปัญหาที่แท้จริงอย่างยั่งยืน และมั่นคงกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อรู้ถึงปัญหาของธุรกิจชุมชนแล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่หลายๆองค์กรจะสามารถให้ความช่วยเหลือธุรกิจชุมชนนี้อย่างไร ให้สามารถดำเนินธุรกิจในแบบที่มีประสิทธิภาพ สร้างประสิทธิผลอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายถึงการแก้ปัญหาให้กับประเทศของเราโดยรวมเช่นกัน


  • 19
  •  
  •  
  •  
  •  
Tukko Nathida
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ MarketingOops.com กับความตั้งใจในการนำเสนอเนื้อหาที่ทันเหตุการณ์ และเกิดประโยชน์ ให้สามารถนำเนื้อหาความรู้ และ Insight ไปต่อยอดกับอนาคตของธุรกิจ และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยี ครีเอทีฟ การตลาด โฆษณา และสตาร์ทอัพ