ขยับเข้ามา…จะบอกให้! ไขข้อข้องใจ “พ.ร.บ.ไซเบอร์” กับเรื่องชวนสงสัย “แอบดูข้อมูล” ได้จริงหรือ?

  • 80
  •  
  •  
  •  
  •  

ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์

ยังคงเป็นเทรนด์ร้อน โลกโซเชียลวิพากวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ช่วงบ่ายวานนี้ หลังมีข่าว สนช. ลงมติเห็นชอบให้ ประกาศใช้ “ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ….” (อ่านได้ที่นี่) กระทั่งตอนนี้ #พรบไซเบอร์ ก็ยังเป็นแฮชแท็กยอดนิยมสำหรับชาวเน็ตไทย

เมื่อเป็นประเด็นร้อนติดเทรนด์โซเชียลขนาดนี้ เราจึงไม่พลาดที่จะชวนทุกท่านมาไขข้อข้องใจ ว่าประเด็นที่ชาวเน็ตให้ความสนใจนั้น ตกลงแล้วเป็นอย่างไร! ทั้งเรื่องอำนาจเจ้าหน้าที่ในการแฮก การตรวจ – ยึดคอมพิวเตอร์ ที่มีความกังวลมากมายว่ากฎหมายดังกล่าวให้สิทธิ์ดำเนินการแก่เจ้าหน้าที่โดยไม่ต้องขอหมายศาล หรือแม้แต่ประเด็นรัฐบาลสามารถเข้าถึงการสนทนาและการสื่อสารของผู้คน… แท้จริงแล้ว เป็นอย่างไร?

ทำความเข้าใจด่านแรก “พ.ร.บ.ไซเบอร์ ≠ พ.ร.บ.คอมพ์”

ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นต่าง ๆ ทุกคนควรทำความเข้าใจเรื่องนี้ก่อน… ร่างพ.ร.บ.ไซเบอร์ (ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ….) ซึ่งกำลังจะเป็นกฎหมายใหม่นั้น “ไม่ใช่กฎหมายฉบับเดียวกัน” กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560) โดยฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560

ความหมายของคำว่า “ไม่เหมือนกัน” สังเกตได้ตั้งแต่ “ชื่อพระราชบัญญัติ” ซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน รวมถึง “วัตถุประสงค์” ของตัวบทกฎหมาย โดย ร่างพ.ร.บ.ไซเบอร์ จะเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการสร้างความมั่นคงปลอดภัยในระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ของประเทศ โดยป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคามที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบคอมพิวเตอร์ ขณะที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีขึ้นเพื่อป้องกัน ควบคุม การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นจากการใช้คอมพิวเตอร์ (เงื่อนไขของคำว่าคอมพิวเตอร์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เดสก์ท็อปหรือโน้ตบุ๊ก แต่ยังรวมถึงแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ด้วย)

cyber-law-privacy-policy

จุดเริ่มต้น “กฎหมายไซเบอร์” มีมาตั้งแต่ 2558

สำหรับกฎหมายดังกล่าว ว่ากันว่า เป็นหนึ่งในกฎหมายที่รัฐบาลชุดนี้พยายามผลักดันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 ส่วนเหตุผลในการออก ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มาจาก…ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์มีจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายทั้งต่อระดับปัจเจกชนและระดับประเทศ ซึ่งนานาประเทศต่างให้ความสำคัญในการดำเนินงานเพื่อรับมือกับปัญหาภัยคุกคามดังกล่าวอย่างมาก จึงจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม

“ภัยคุกคามไซเบอร์” คืออะไร?

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ไซเบอร์ มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งมีการกำหนดระดับความร้ายแรงของภัยคุกคามไซเบอร์ไว้ 3 ระดับ คือ ระดับไม่ร้ายแรง ระดับร้ายแรง และระดับวิกฤต

โดยความหมายของแต่ละระดับ ได้แก่

ไม่ร้ายแรง: ภัยคุกคามไซเบอร์ที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศหรือการให้บริการของรัฐด้อยประสิทธิภาพลง

ร้ายแรง: ภัยคุกคามไซเบอร์ที่มีการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่มีผลทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ หรือคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านความมั่นคงของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ การสาธารณสุข ความปลอดภัยสาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่สามารถทำงานหรือให้บริการได้

วิกฤติ : แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.ภัยคุกคามจากการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้าง ทำให้การทำงานของหน่วยงานรัฐ การให้บริการของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศที่ให้กับประชาชนล้มเหลวทั้งระบบ จนรัฐควบคุมไม่ได้และเสี่ยงจะทำให้บุคคลจำนวนมากเสียชีวิตหรือระบบคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์จำนวนมากถูกทำลายเป็นวงกว้างในระดับประเทศ 2.ภัยคุกคามทางไซเบอร์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม

cyber-law

ทำไมชาวเน็ต “เป็นกังวล” กับกฎหมายฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม โลกออนไลน์ได้พากันแชร์ข้อมูลจากเว็บ iLaw ที่ระบุเนื้อหาถึงความกังวลใน 8 ประเด็น ได้แก่…

1. นิยามภัยคุกคามไซเบอร์ ตีความได้กว้าง ครอบคลุมเนื้อหาบนโลกออนไลน์

2. เจ้าหน้าที่รัฐสามารถขอข้อมูลจากใครก็ได้ เพื่อประโยชน์ในการทำงาน

3. กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ยึด – ค้น – เจาะ – ทำสำเนา คอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์

4. เมื่อมีภัยคุกคามไซเบอร์ร้ายแรงขึ้นไป เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสอดส่องข้อมูลได้แบบเรียลไทม์

5. ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนเจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล

6. การใช้อำนาจยึด ค้น เจาะ หรือขอข้อมูลใด ๆ ไม่สามารถอุทธรณ์เพื่อยับยั้งได้

7. เมื่อมีภัยคุกคามไซเบอร์ระดับวิกฤติ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ

8. ผู้ใดฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งมีทั้งโทษปรับและโทษจำคุก

ข้อมูลจาก iLaw
ข้อมูลจากเว็บ iLaw

แต่ในเวลาต่อมา เริ่มมีสื่อหลายสำนักออกมาแสดงความเห็นต่าง กับ 8 ประเด็นข้างต้น โดยระบุว่า…

ภัยคุกคามไซเบอร์ ของร่างกฎหมายฉบับนี้มีการอธิบายและกำหนดเอาไว้แล้วอย่างชัดเจน ว่า…การกระทำหรือการดำเนินการใด ๆ โดยมิชอบโดยใช้คอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมไม่พึงประสงค์โดยมุ่งหมายให้เกิดการประทุษร้ายต่อระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง และเป็นอันตรายที่ใกล้จะถึงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อการทำงานของคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายกังวล เรื่องการเข้าถึงข้อมูล การใช้อำนาจโดยไม่ต้องใช้หมายศาล หรือการสอดส่องแบบเรียลไทม์นั้น ถูกคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายว่า ไม่เป็นความจริง โดยการดำเนินการยังคงต้องมีหมายศาล และการสอดส่องแบบเรียลไทม์ก็ไม่สามารถทำได้หากแต่เป็นกรณีร้ายแรงก็สามารถทำได้เพียงขอหมายศาลเพื่อขอข้อมูลล่าสุดมาวิเคราะห์การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่าง ๆ โดยระบุว่า ประชาชนไม่ต้องเป็นกังวลเพราะทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ข้อมูลจาก ชัวร์ก่อนแชร์
ข้อมูลจากเพจชัวร์ก่อนแชร์

ขั้นตอนต่อจากนี้ เป็นอย่างไร…

ลำดับขั้นตอนต่อจากนี้ หลังผ่านมติเห็นชอบจาก สนช. ถึง 133 คะแนนเสียง ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. ยังต้องรอจัดส่งไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ซึ่งในวันนั้น เราคงจะได้เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนของกฎหมายฉบับนี้!

 

ที่มา : ICT Law Center , iLaw


  • 80
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน