‘ฟู้ด แฟคเตอร์’ ถึงเวลาทะยาน หลังได้จิ๊กซอว์ใหม่ ‘ซานตา เฟ่’ เสริมทัพ เพิ่มความแกร่งพอร์ตธุรกิจอาหาร

  • 182
  •  
  •  
  •  
  •  

Food Factors

หลังจากการจัดทัพครั้งใหญ่ ในธุรกิจอาหารที่มีอยู่ทั้งหมดของกลุ่มสิงห์ คอร์เปอเรชั่น เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ให้มาอยู่ภายใต้ ‘บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด’ ซึ่งจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้ธุรกิจนี้เป็น 1 ใน 6 เสาหลักสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในกับกลุ่มสิงห์ คอร์เปอเรชั่น

วันนี้ ปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ประกาศพร้อมแล้วที่จะพาบริษัทดังกล่าวทะยานสู่เป้าหมายในการบุกธุรกิจอาหารอย่างเต็มกำลังและต่อเนื่อง เพื่อผลักดันรายได้สู่ 15,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี

“เฟสแรกเป็นการเตรียมความพร้อมภายในของเรา ด้วยการ Reorganization กลุ่มธุรกิจอาหารใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความชัดเจนทั้งเรื่องโครงสร้าง และทิศทางในการเติบโต ซึ่งการดำเนินการในเฟสนี้จบไปแล้ว ต่อไปจะเป็นเฟส 2 ที่เราจะบุกเพื่อสร้างการเติบโตให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้แบบมีทิศทางเดียวกัน คือ ไม่ใช่แค่ teamwork แต่ต้อง synergy” 

ปัจจุบันธุรกิจอาหารภายใต้ ฟู้ด แฟคเตอร์เรียกได้ว่า มีครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก เริ่มตั้งแต่ ธุรกิจต้นน้ำกับกลุ่มการผลิตและผลิตภัณฑ์ (Food Product & Production) ได้แก่ ‘บริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด’ และ ‘บริษัท เฮสโก ฟู้ด จำกัด’ ทำหน้าที่เป็นโรงงานเพื่อพัฒนาและผลิตโปรดักท์ออกสู่ตลาด ทั้งสำหรับบริษัทภายในกลุ่มสิงห์เอง อย่าง Made By TODD และให้กับพาร์ทเนอร์ภายนอก อาทิ  Minor Food , King Power , Sodexo , ALDI เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมี ‘บริษัท ข้าวพันดี จำกัด’ ผลิตและจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงตราข้าวพันดี และโปรดักท์ที่ทำมาจากข้าว ฯลฯ

กลางน้ำ-กลุ่มเครือข่ายธุรกิจอาหาร (Food Network) ได้แก่ บริษัท Bevchain logistics จำกัด ที่จะดูแลธุรกิจด้านซัพพลายเชนของในกลุ่มและนอกกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่

สุดท้าย ปลายน้ำ กับกลุ่มร้านอาหาร (Food Retail) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ‘บริษัท เอสคอมพานี จำกัด’ ประกอบด้วย ร้าน Est.33 , ร้าน Farm Design , ร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji และดีลล่าสุดที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการ นั่นคือ การที่ฟู้ด แฟคเตอร์ลงทุนกว่า 1,500 ล้าน เข้าไปถือหุ้น 88% ใน ‘บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด’ เจ้าของร้านสเต็กดังอย่าง ‘ซานตา เฟ่’ และ ร้านอาหารไทยอีสาน ‘เหม็ง นัวนัว’

‘ซานตา เฟ่’ จิ๊กซอว์ใหม่ เพิ่มความแกร่งกลุ่ม Food Retail

Food Factors

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เรามีการพูดคุยกับเจ้าของแบรนด์ 6-7 แบรนด์ แต่มาสรุปที่เคที เรสทัวรองท์ เพราะเรามองว่า เป็นอะไรที่ตอบโจทย์และเข้ากันกับเราที่สุด เพราะจะทำให้กลุ่ม Food Retail ซึ่งเป็นธุรกิจปลายน้ำของบุญรอดฯ แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เนื่องจาก ซานตา เฟ่ เป็นแบรนด์ที่ติดตลาด และมีการเติบโตสูง ขณะที่ร้านอาหารไทยอีสาน เหม็ง นัวนัว ก็มีโอกาสทางธุรกิจ”

Food Factors

สำหรับความร่วมมือต่อจากนี้ระหว่างบริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ฯ กับบริษัท เคที เรสทัวรองท์ฯ จะเน้นการ synergy ผ่านรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การปรับเมนูใหม่ ที่ทำจากซอสต๊อด รวมไปถึงการนำสินค้าของกลุ่มบุญรอดฯ อาทิ น้ำดื่ม เบียร์ และซอสต๊อด ฯลฯ มาวางจำหน่ายภายในร้านซานตา เฟ่ ที่ตอนนี้มีอยู่ 117 สาขา และร้านอาหารไทย อีสาน เหม็ง นัวนัว 7 สาขา

Food Factors

นอกจากนี้ มีแผนจะใช้สาขาของทั้งซานตา เฟ่ และเหม็ง นัวนัว ซึ่งสามารถเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง ทำหน้าที่เป็นเหมือนศูนย์ R&D ด้วยการให้พนักงานเข้าไปพูดคุยสำรวจความพึงพอใจและความต้องการของลูกค้า เพื่อนำมาพัฒนาโปรดักท์และบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด

สวมบทบาท Developer เร่งโตฟู้ด แฟคเตอร์

ส่วนแผนสร้างความแข็งแกร่งให้กับฟู้ด แฟคเตอร์ในอนาคต จะเป็นอย่างไร ทาง ปิติ ในฐานะแม่ทัพใหญ่บอกว่า ภายใน 2 – 3 ปี จะต้องมีร้านอาหารแบรนด์ใหม่อีก 2 – 3 แบรนด์ และมีร้านอาหารเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 50 สาขา โดยฟู้ด แฟคเตอร์ จะสวมบทบาท developer ทำหน้าที่พัฒนาและต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเอง และในรูปแบบ Join venture ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เสมอไป

Food Factors

แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ต้องสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งและพร้อมจะเติบโตไปด้วยกันได้อย่างไม่มีปัญหา สำคัญไปกว่านั้น คือ ต้องมีทัศนคติหรือแนวคิดในการทำธุรกิจที่ไปในทิศทางเดียวกัน

รวมไปถึงวางแผนจะสร้างซัพพลายเชนธุรกิจอาหารให้ครบวงจร ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำ ‘ครัวกลาง’ (Central Kitchen) เพื่อเป็นศูนย์กลางของการผลิต ตลอดจนมีแผนจัดตั้งศูนย์การกระจายสินค้า (Central Distribution) ด้วยการร่วมกับกลุ่มเฮสโก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการผลิตอาหาร, กลุ่ม Food innovation Center ศูนย์วิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม, และกลุ่ม Bevchain logistics การบริหารจัดการและการกระจายสินค้า  สู่ภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนสร้างแบรนด์สินค้าใหม่ ๆ สำหรับจับกลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อสูง

Food Factors

“ธุรกิจอาหารเรามองเป็นธุรกิจสำคัญของกลุ่มบุญรอดฯ แม้จะแข่งขันสูง แต่ด้วยการวางแผนที่ดี มีทิศทางชัดเจน และครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ เชื่อว่า เราจะโตตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ ธุรกิจอาหารจะมีรายได้ 15,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีจากนี้ ส่วนตอนนี้ทำรายได้อยู่ที่ 4,500 ล้านบาท” 

ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ ประกอบด้วย 6 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจเบียร์ โซดา และน้ำดื่ม, กลุ่มที่ 2 ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ภายใต้การดำเนินการของ ‘บางกอกกล๊าส’, กลุ่มที่ 3 ธุรกิจระดับภูมิภาค ภายใต้ ‘สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง’, กลุ่มที่ 4 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ‘สิงห์เอสเตท’, กลุ่มที่ 5 ธุรกิจซัพพลายเชน ภายใต้ ‘บุญรอดซัพพลายเชน’ และ กลุ่มที่ 6 ธุรกิจอาหาร โดยมี ฟู้ด แฟคเตอร์ เป็นผู้ขับเคลื่อน


  • 182
  •  
  •  
  •  
  •