“ดีไซเนอร์”ปลุกกระแสสร้างจุดเปลี่ยนให้โปรดักส์

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ผู้จัดการรายสัปดาห์ – *เมื่อ “ดีไซน์เนอร์”ระดับโลกข้ามไลน์ *ปรับลุคสินค้าอุปโภค-บริโภค *ครีเอตผลงานให้กับตัวโปรดักส์ใหม่ *ดึงไลฟ์สไตล์ลูกค้าสร้างจุดแข็ง

ใครจะเชื่อว่ากระแสดีไซน์ By ดีไซน์เนอร์ที่เคยสร้างแบรนด์ดังๆให้กับวงการแฟชั่นมาแล้ว ณ วันนี้จะกลับกลายเป็นสีสันทางการตลาดของสินค้าอุปโภค-บริโภค เมื่อหลายค่ายธุรกิจเริ่มให้ความสนใจหยิบยกไอเดียให้ดีไซน์เนอร์เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดของตัวสินค้าเองที่พยายามสร้างความแตกต่างเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย

การดีไซน์เป็นเรื่องที่มีการพูดกันมากขึ้นในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังจากต้องเผชิญกับสงครามราคาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองจีน ส่งผลให้บรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์เนมต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อถีบตัวเองให้หนีห่างออกไป ทว่าแบรนด์จีนก็มีการพัฒนาเทคโนโลยี จนมีการพูดกันว่าปัจจุบันเทคโนโลยีไล่ตามกันทัน ดังนั้นบรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายค่ายจึงหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาดีไซน์สินค้าให้มีเอกลักษณ์แตกต่างจากคู่แข่ง และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ จนเครื่องใช้ไฟฟ้าเปรียบเสมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งในบ้านที่นอกจากจะเอาไว้ใช้งานปรกติแล้ว ยังเป็นของตกแต่งบ้านให้สวยงาม การออกแบบของหลายๆแบรนด์จึงพยายามสร้างคอนเซปต์ให้กับสินค้ากลุ่มต่างๆเป็นธีมเดียวกัน เช่น โทนสีต่างๆไม่ว่าจะเป็นสีเงิน สีชมพู หรือสีอื่นๆ ล้วนมีเหมือนกันหมดในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ตั้งแต่หม้อหุงข้าว เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ไมโครเวฟ เป็นต้น เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าเป็นเซตจะได้ง่ายในการจัดชุดเข้ากับห้องต่างๆภายในบ้าน

แม้ว่าการดีไซน์ที่ดีจะสามารถสร้างเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์นั้นๆได้ ทว่าการที่แต่ละแบรนด์มีดีไซน์ที่หลากหลาย ทำให้ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นล้วนแต่มีดีไซน์จนไม่มีผลิตภัณฑ์ใดโดดเด่นกว่ากัน ดังนั้นเพื่อสร้างการยอมรับและจดจำได้อย่างรวดเร็ว หลายแบรนด์จึงมีการโคแบรนด์ร่วมกับแบรนด์ที่มีความโดดเด่นด้านดีไซน์เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาแอลจีมีการโคแบรนด์กับชวารอฟสกี้ด้วยการนำคริสตัลจากชวารอฟสกี้มาประดับบนบานประตูตู้เย็นไซด์บายไซด์ ซึ่งทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตู้เย็นรุ่นดังกล่าวซึ่งมีราคากว่า 179,000 บาท นอกจากนี้แอลจียังมีการโคแบรนด์ร่วมกับพราด้า ออกโทรศัพท์มือถือ พราด้า โฟน โดยมีราคา 22,900 บาท และเป็นรุ่นลิมิเต็ดที่ผลิตเพียง 1,000 บาท เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกภูมิใจที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเพียงไม่กี่เครื่องเท่านั้น

ความสำเร็จในการโคแบรนด์ร่วมกับแบรนด์ดีไซน์ชั้นนำของโลกทำให้ผลิตภัณฑ์รุ่นดังกล่าวของแอลจีเป็นที่ยอมรับ ในขณะที่ซัมซุงซึ่งเดินนำหน้าแอลจีมาตลอดก็พยายามสร้างความต่างโดยยังคงโฟกัสไปที่การสร้างความโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง จิออร์จิโอ อาร์มานี ซึ่งแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆที่ใช้เพียงการโคแบรนด์เท่านั้น

ซัมซุง วางแผนระยะยาวในการโคแบรนด์ร่วมกับ จิออร์จิโอ อาร์มานี ภายใต้การออกแบบผลิตภัณฑ์โดย จิออร์จิโอ อาร์มานี ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมาทั้งคู่ได้ลอนช์ แฟชั่นโฟน โทรศัพท์มือถือ จิออร์จิโอ อาร์มานี-ซัมซุง โดยมีราคาอยู่ที่ 23,900 บาท ซึ่งสามารถจำหน่ายได้ 3,000 เครื่องตามเป้าที่วางไว้ ล่าสุด ซัมซุงได้ลอนช์แอลซีดีทีวีรุ่นใหม่เพื่อรุกตลาดพรีเมียมทีวี ภายใต้แบรนด์ “จิออร์จิโอ อาร์มานี-ซัมซุง” เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในตลาดพรีเมียม อีกทั้งยังเป็นการ Cross Target ไปสู่ฐานลูกค้าของอาร์มานี ซึ่งมีการทำเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์หรู และสามารถสอดรับกับดีไซน์ของแอลซีดีทีวีรุ่นใหม่ของซัมซุง โดย Complete Look ถือเป็นคอนเซปต์ในการออกแบบของ อาร์มานี ที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่ออกแบบโดย จิออร์จิโอ อาร์มานี สามารถใช้ร่วมกันได้อย่างเป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน ผ้า โคมไฟ ตลอดจนผลิตภัณฑ์จากซัมซุงที่ออกแบบโดยอาร์มานี

แอลซีดีทีวี จิออร์จิโอ อาร์มานี ซัมซุง มี 2 ขนาดคือ ขนาด คือ 46 นิ้ว ราคา 249,990 บาท และ 52 นิ้ว ราคา 289,990 บาท ซึ่งแพงกว่าแอลซีทีวี ที่เป็น Full HD ของซัมซุงรุ่นอื่นๆในขนาดเดียวกัน 40% โดยมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดีที่สุดในบรรดาแอลซีดทีวีของซัมซุง เช่นการเชื่อมต่อผ่าน USB port การใช้ชิป DNIe Pro ฯลฯ พร้อมกับตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างยอดขายพรีเมียม แอลซีดีทีวี ซัมซุง อาร์มานี ได้ 120 เครื่อง หรือคิดเป็นมูลค่า 30 ล้านบาท ภายในปีนี้

ทั้งนี้ ซัมซุง อาร์มานี จะเป็นงาน Made to Order ซึ่งผู้บริโภคที่สนใจต้องสั่งจองที่ โชว์รูมของ อาร์มานี คาซ่า และที่ซัมซุง เอ็กซ์เพียแรนซ์ ในสยามพารากอน ซึ่งจะมีการผลิตที่เกาหลีและนำส่งเข้ามภายใน 5-6 สัปดาห์ โดยมีโลโก้ ซัมซุง คู่กับ โลโก้ของ อาร์มานี ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกโชว์แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งหรือทั้ง 2 แบรนด์พร้อมกันก็ได้ นอกจากนี้ยังมีการทำรีโมตสำรองรูปหินทะเล สามารถวางใต้ฐานทีวีเพื่อให้ดูเป็นเสมือนของตกแต่งชิ้นหนึ่ง ขณะที่ตัวแอลซีดีทีวีก็จะเป็นเสมือนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งภายในบ้าน

“ปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพควบคู่กับสไตล์ของสินค้ามากขึ้น ดังนั้นการร่วมมือกับอาร์มานี จึงเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น” สุพจน์ ลีลานุรักษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ธุรกิจภาพและเสียง บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าว

ทั้งนี้ปัจจัยในการเลือกซื้อสินค้าลักชูรีของผู้บริโภคจะคำนึงถึงเรื่อง Emotional Benefit หรือคุณค่าทางอารมณ์ความรู้สึก ด้วยสัดส่วนกว่า 45% ตามมาด้วย Functional Benefit หรือ อรรถประโยชน์ของตัวสินค้า คิดเป็นสัดส่วน 32% ส่วน 23% ที่เหลือเป็นเรื่องของ User Friendly หรือความเป็นมิตรต่อผู้ใช้ เช่น ใช้งานง่าย สะดวก ปลอดภัย ซัมซุงจึงให้ความสำคัญกับการทำ Emotional Marketing มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องของการดีไซน์ การสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ ซึ่งการโคแบรนด์และการออกแบบผลิตภัณฑ์โดย จิออร์จิโอ อาร์มานีจะช่วยให้เกิดการ Short Cut ได้อย่างรวดเร็ว และสร้างความต่างจากคู่แข่งที่ใช้เพียงการโคแบรนด์เท่านั้น โดยที่ดีไซเนอร์มิได้เป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์

มาสด้า 3 สปุคนิค จับแฟชั่นดีไซน์มาใส่รถ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2549 ค่ายมาสด้า ได้ปลุกกระแสให้กับวงการรถยนต์ด้วยการเปิดตัวมาสด้า 3 รุ่น สปุคนิค ซึ่งถือเป็นรถยนต์รุ่นพิเศษ ที่มีการออกแบบมาแค่ 8 คันในโลก ความพิเศษของรถในรุ่นนี้ที่สร้างความฮือฮาคือการนำดีไซเนอร์ดาวรุ่งอย่าง มาร์ค- มรุวุตม์ บูรณศิลปิน ดีไซเนอร์จากห้องเสื้อ Spooknic และ Senada มาช่วยออกแบบลวดลายสร้างความต่าง

การออกแบบของมาสด้า 3 สปุคนิค ภายนอกมีการใส่ลูกเล่นลวดลายที่ให้ความรู้สึกผสมกลมกลืน ดูสดใส และมีอิสระ ส่วนลวดลายภายในถูกออกแบบให้สอดประสานกันกับภายนอก ซึ่งที่มาที่ไปของการออกแบบดังกล่าวเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากอวกาศ วัฒนธรรมและลวดลายการ์ตูนในช่วงยุค 1960 โดยรถยนต์ในรุ่นนี้มีให้เลือก 2 แบบ ได้แก่ โดย มาสด้า3 สปุคนิก 5 ประตู เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ราคา 1,066,900 บาท และ มาสด้า3 สปุคนิก 5 ประตู เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ราคา 1,247,900 บาท

การนำดีไซเนอร์ตัวจริงมาตกแต่งรถยนต์ในรุ่นพิเศษในครั้งนี้ ถือได้ว่าสร้างกระแสให้กับวงการรถยนต์ในขณะนั้นพอสมควร เพราะตามปกติแล้วค่ายรถแต่ละค่ายเวลาเปิดตัวรถยนต์ในรุ่นพิเศษแต่ละรุ่น ส่วนมากจะเป็นผลงานที่มาจากบริษัทแม่ หรืออาจจะเป็นผลงานการตกแต่งพิเศษที่มาจากผลงานของนักศึกษาที่ชนะเลิศการแข่งขันออกแบบ ซึ่งมักจะนำมาโชว์มากกว่าที่จะขาย เหมือนดังเช่นที่มาสด้า 3 สปุคนิคทำ

นอกเหนือจากความแตกต่างของตัวรถแล้ว ในส่วนของรูปแบบการเปิดตัวรถยนต์ในรุ่นดังกล่าวยังมีการคิดคอนเซ้ปต์ของงานเพื่อให้เข้ากับตัวรถ โดยใช้ชื่องาน I’M ICONIC… ICON OF FASHION ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงความเป็นไอคอนของรถยนต์ในรุ่นนี้ที่จะมีผลต่อแฟชั่น และภายในงานยังมีการสร้างสีสันด้วยการนำนายแบบ – นางแบบ จำนวน 20 คน มาร่วมเดินแบบแฟชั่นโชว์ภายใต้การออกแบบของ มาร์ค- มรุวุตม์ บูรณศิลปิน ผู้ที่ออกแบบรถยนต์ในรุ่นนี้

การสร้างความแตกต่างทั้งจากการนำดีไซเนอร์มาร่วมออกแบบรถยนต์ในรุ่นนี้ ประกอบกับการมีอีเวนต์เปิดตัวที่สร้างกระแสกระตุ้นตลาด ทำให้ตลาดมีสีสัน และคึกคักไม่น้อย ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นการสร้างแบรนด์มาสด้าให้เป็นที่จดจำไปในตัว และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้า ขณะเดียวกันการรุกตลาดในครั้งนี้ของมาสด้า ยังเป็นการขยายกลุ่มลูกค้า จากเดิมที่อาจจะจำกัดวงแค่กลุ่มเดียว ก็เพิ่มกลุ่มคนรักรถและรักแฟชั่นเข้ามาเพิ่มเติมอีก

เรียกได้ว่าการดำเนินกลยุทธ์ในครั้งนี้ แม้ในแง่ยอดขาย ที่ทำออกมาเพียง 8 คันจะดูน้อย แต่เมื่อมองถึงการสร้างสีสันให้กับตลาดนั้น ก็ต้องบอกได้ว่า มาสด้า สามารถสร้างกระแสได้ดี เพราะมีการพูดถึงกันปากต่อปากถึงการสร้างความแตกต่าง นอกจากนั้นแล้วมาสด้ายังมองยาวไปถึงตลาดต่างประเทศ ซึ่งหากมีความเป็นไปได้ก็จะมีการนำโมเดลดังกล่าวไปใช้กับมาสด้า 3 ในต่างประเทศ และอาจจะเลือกให้ดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงในประเทศต่างๆมาร่วมออกแบบและทำการขายเหมือนเช่นเดียวกับที่ทำในประเทศไทย

น้ำแร่ พรีเมียม คลิกไอเดียดีไซน์ขวด

การแข่งขันในตลาดน้ำแร่ ระดับพรีเมียม มูลค่า 526 ล้านบาท ที่เน้นจับกลุ่มเป้าหมายลูกค้าไฮเอนด์ ในช่องทางโฮเรก้า ระดับพรีเมียม(Hotel-Restaurant-Catering) นั้น นอกจากจะแข่งขันการตลาดและการขายในรูปแบบ Celebrity Marketing ที่ให้เป็น Trend Setter เพื่อเจาะตลาดแบบไลฟ์สไตล์แล้ว จุดขายด้านดีไซน์ของบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบขวดแก้ว มีดีไซน์เรียบหรู ก็นับว่าเป็นจุดสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดหลักของน้ำแร่ ระดับพรีเมียมทั้ง 2 แบรนด์คือ เอเวียง และเปอริเอ้ ต่างก็ให้ความสำคัญจุดขายนี้มาตลอด อีกทั้งเป็นจุดขายที่เข้ามาเสริมคุณค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากคุณค่าของตัวสินค้าด้านสุขภาพของน้ำแร่ซึ่งเป็นจุดขายแรกที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายรักสุขภาพตัดสินใจซื้อสินค้า

ทว่าไม่เพียงจุดขายด้านดีไซน์ของบรรจุภัณฑ์ ที่มีดีไซน์เรียบหรูเท่านั้น แต่สิ่งที่ดูจะไม่ธรรมดาและนับว่าเป็นเกมการตลาดที่เข้ามาสร้างสีการตลาดอยู่เสมอ นั่นก็คือ การแข่งกันเปิดตัวสินค้าใหม่ที่เป็น น้ำแร่ ในรุ่นลิมิเต็ด อิดิชั่น ที่บรรจุภัณฑ์เป็นผลงานการออกแบบจากดีไซน์เนอร์ชื่อดังระดับโลก ซึ่งเป็น กลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญที่น้ำแร่แบรนด์ดังทั่วโลก ไมว่าจะเป็นเปอริเอ้ และเอวียงได้นำมาใช้ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับแบรนด์ และในอีกทางหนึ่งเป็นการออกสินค้าใหม่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการสะสมด้วยเช่นกัน

หากโฟกัสทางด้านการให้ความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ในตลาดน้ำแร่ ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบจากดีไซน์เนอร์ชื่อดัง ที่ผ่านมาจะเห็นได้จากเมื่อปีที่ผ่านมาที่เปอริเอ้ แบรนด์อิมพอร์ต ที่มีแหล่งน้ำแร่ในประเทศฝรั่งเศส ได้ปรับแนวทางมาทำตลาดอย่างจริงจังอีกครั้ง หลังจากที่ไม่เคลื่อนไหวทางการตลาดมากว่า 40 ปี ทั้งนี้เพื่อตอบรับการเติบโตของพฤติกรรมการดื่มน้ำแร่ในตลาดเมืองไทยที่มาพร้อมกับกระแสสุขภาพ พร้อมทั้งได้นำจุดขายทางด้านบรรจุภัณฑ์มาใช้เป็นกลยุทธ์ในการบุกตลาดอีกครั้ง ซึ่งขณะนั้นอยู่ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองช่วงปลายปี โดยการออกผลิตภัณฑ์น้ำแร่เปอริเอ้ ลิมิเต็ด เอดิชั่น บาย พอล แอนด์ โจ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์น้ำแร่เปอริเอ้ในบรรจุภัณฑ์ที่สร้างสรรค์โดยพอล แอนด์ โจ ซึ่งเป็นดีไซเนอร์ ชื่อดังระดับโลก และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักสะสมทั่วโลก โดยจะบรรจุในขวด ใสสีเขียว ด้วยลวดลายกราฟิก และมี 3 แบบ ให้เลือก สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการสะสมโดยเฉพาะ

สำหรับการเคลื่อนไหวในด้านบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ชื่อดัง ของทางด้านผู้เล่นหลักอีกรายในตลาดน้ำแร่ ระดับพรีเมียมอย่าง “เอเวียง” ที่ตลอดมาก็ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์บรรจุภัณฑ์ ชูจุดขายด้านดีไซน์เรียบหรูเช่นกัน โดยมีการเปิดตัวขวดน้ำแร่เอเวียงที่ดีไซน์ออกมาใหม่ๆทุกปี ล่าสุด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เปิดตัวน้ำแร่เอเวียงใน 2 เวอร์ชั่นคือ ขวดน้ำแร่ธรรมชาติเอเวียงแบบโอต กูตูร์ และขวดน้ำแร่ธรรมชาติเอเวียงแบบ “เพรต อะ พอร์เตอร์” เพื่อร่วมฉลองศักราชใหม่ในปี 2008 ซึ่งออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดังของฝรั่งเศส “คริสเตียน ลาครัวซ์” ที่ออกแบบบรรจุภัณฑ์บนขวดให้เต็มไปด้วยลวดลายดอกไม้และเกล็ดหิมะ ที่สื่อถึงความบริสุทธิ์ของน้ำแร่จากธรรมชาติจากเทือกเขาแอลป์

 

Source: ผู้จัดการ


  •  
  •  
  •  
  •  
  •