เส้นทางวิกฤต “พาที สารสิน” หน้ากากนกอินทรี ก่อนลาออกจาก CEO นกแอร์

  • 5K
  •  
  •  
  •  
  •  

จากที่เป็นข่าวฮือฮาไปเมื่อไม่นานกรณีที่ “พาที สารสิน” ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) สายการบินนกแอร์ เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงวิพากย์วิจารณ์ว่า น่าจะมาจากสาเหตุของการบริหารงานไม่ประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ก็นับได้ว่า “พาที สารสิน” เป็นผู้บริหารหนุ่มที่มีบทบาทโดดเด่นในวงการอย่างมาก ทำให้เราขอย้อนรอยเส้นทางการบริหารงานของเขาสักเล็กน้อย

ตามข่าวเมื่อวันที่ 14  กันยายนที่ผ่านมา บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 9/2560 เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2560 มีมติรับทราบการลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของนายพาที สารสิน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้ นายพาที สารสิน จะยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทเช่นเดิม นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งนายพาที สารสิน กรรมการบริษัท ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริษัท และแต่งตั้ง นายปิยะ ยอดมณี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีผลตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.2560 เป็นต้นไป

nokair2

พาที สารสิน

กับการสร้างแบรนด์นกแอร์ สายการบินโลว์คอสแอร์ไลน์ นอกเหนือจากเอกลักษณ์ของชุดแอร์สีเหลืองและแอร์โฮสเตสมีชื่อนำหน้าว่า “นก” ทุกคนแล้ว อีกสิ่งที่ตีคู่กันไปกับแบรนด์เสอมคือภาพของซีอีโอหนุ่ม นามว่า “พาที สารสิน” ตลอด ซึ่งส่งผลให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์นกแอร์ เป็นสายการบินของคนรุ่นใหม่ มีผู้บริหารหนุ่มที่มีวิสัยทัศน์กล้าคิดนอกกรอบ และได้ใจแฟนๆ ผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ไปเต็ม แต่ความเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ ก็เปี่ยมไปด้วยความท้าทายและหลายวิกฤตที่เกิดขึ้นก็พยายามให้ “พาที” ได้พิสูจน์ตัวเอง

nokair3

เอ็นเตอร์เทนเนอร์

พาที สารสิน ชื่อเล่นว่า “ดุ๋ง” เป็นบุตรชายคนเดียวของอาสา สารสิน ราชเลขาธิการ และท่านผู้หญิงสุจิตคุณ สารสิน (สกุลเดิม กิติยากร) เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เคยเล่นหนังโฆษณาให้กับบัตรเครดิตธนาคารไทยพาณิชย์ สมรสกับ ปิติภัทร จิตณาธรรม (ชื่อเดิม: ปิยวรรณ) อดีตดารานักแสดงและพิธีกรไทย

ที่เรียกว่าเป็นเอ็นเตอร์เทนเนอร์ได้เพราะว่า นอกจากโฆษณา SCB ที่ทำให้เราได้รู้จักพาที สารสินแล้ว เขายังเล่นโฆษณานกแอร์ด้วยตัวเองอีกหลายตัวทำให้คนยิ่งจดจำเขาคู่ไปกับสายการบินไปด้วยอย่างที่เกริ่นไว้

นอกจากนี้ ยังเคยเป็นนักแสดงรับเชิญให้กับละครเรื่อง สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ตอน คุณชายรณพีร์ อีกด้วย แต่ที่ฮือฮาสุดคงไม่พ้นการเข้าร่วมรายการ The Mask Singer โดยขึ้นร้องเพลงภายใต้ “หน้ากากอินทรี”

nokair4

วิกฤตระบบเช็คอินล่ม

เมื่อราวเดือนสิงหาคม ปี 2558 เกิดปัญหาระบบเช็คอินสายการบินนกแอร์ล่ม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนเดินทางมากที่สุด เพราะอยู่ในช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่อง 12 สิงหาคม ส่งผลให้ผู้โดยสารเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ทั้งขาออกจากสนามบินดอนเมืองไปยังต่างจังหวัดและขาเข้ามาดอนเมือง เที่ยวบินล่าช้า 2-3 ชั่วโมง นกแอร์ ถูกตำหนิอย่างมากทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ (อ่านข่าวเพิ่มเติม)

ทางสายการบินจึงตัดสินใจชดเชยปัญหาดังกล่าว ด้วยการมอบตั๋วโดยสารฟรีเส้นทางบินในประเทศกับผู้โดยสารที่เดินทางกับสายการบินนกแอร์ที่เดินทางออกจากสนามบินดอนเมืองตั้งแต่เที่ยวบินเวลา 04.00-10.00 น. ของวันที่ 12 สิงหาคมทั้งหมด มากไปกว่านั้น พาที ยังได้ตัดสินใจ ทำหนังสือขอโทษอย่างเป็นทางการส่งไปให้กับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบทุกคนด้วย

nokair1

นักบินสไตรค์

เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559 เกิดเหตุการณ์สไตร์กของกัปตันนกแอร์หลายคน ทำให้ต้องยกเลิกเที่ยวบินภายในประเทศจำนวน 9 เที่ยวบิน ทำให้ผู้โดยสารหลายร้อยคนเดือดร้อน และแน่นอนว่ากระทบต่อภาพลักษณ์ของสายการบิน พร้อมกับมีการแฉกันถึงความไม่รับผิดชอบและขาดการดูแลพนักงานที่ดี แล้วสุดท้ายหลังการเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้มีผู้รับผิดชอบ จบลงด้วยการไล่ออก 1 คนและพักงาน 2 คน สะท้อนภาพความแตกร้าวภายในองค์กรชัดเจน

ปัญหาขาดทุนหนัก

คณะกรรมการบริษัท การบินไทย เตรียมพิจารณาปรับโครงสร้างยุทธศาสตร์ของบริษัท ด้วยการตั้ง “Thai Group” (ไทยกรุ๊ป)  เพื่อบริหารจัดการ 3 สายการบิน คือ การบินไทย , ไทยสมายล์  และนกแอร์ โดยรวบอำนาจให้การบินไทย บริหารนกแอร์ และเพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จ ทั้งสามสายการบิน จึงต้องวางแผนร่วมกัน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขาดทุนของนกแอร์ ที่ต้องเปลี่ยนนโยบายบริหารใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนซีอีโอคนใหม่ โดยผลประกอบการของนกแอร์ขาดทุนติดต่อกันมาตลอด ปี 2557 ขาดทุน 471ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน 726 ล้านบาท และปี 2559 ขาดทุนถึง 2,110 ล้านบาท

และด้วยหลายภาวะที่ถาโถม ก็อาจจะเป็นคำตอบที่ว่าทำไมต้องมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารนกแอร์ในวันนี้ก็เป็นได้.

Copyright © MarketingOops.com


  • 5K
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!