Hunch.com เครื่องมือช่วยตัดสินใจ

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายคนคงเคยรู้สึกนะครับว่า ในชีวิตคนเราทำไมมันช่างมีเรื่องมาให้เราต้องตัดสินใจเยอะแยะไปหมด จนบางทีเราก็ไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไร มีข้อมูลไม่พอ ไม่รู้จะไปถามใคร เข้าเว็บไป Search บางทีหาไม่เจอ ถามทิ้งไว้ก็ไม่มีคนตอบกลับ ถามเพื่อน เพื่อนก็ไม่รู้ ปรึกษาใครก็ไม่ได้ อารมณ์ว่ามืดแปดด้าน ถ้าคุณเคยมีอาการอย่างนี้ คุณจะสนใจ hunch.com เว็บไซต์แบบใหม่ที่เป็น “เครื่องมือช่วยตัดสินใจ” ในทุกๆ เรื่อง จาก Caterina Fake อดีตผู้บริหารของ Yahoo! ผู้สร้างเว็บไซต์แชร์รูปภาพ “Flickr” ที่โด่งดังมาแล้วนั่นเอง

hunch_1-1

Hunch คืออะไร ทำงานอย่างไร?

Hunch คือเครื่องมือช่วยตัดสินใจในทุกๆ เรื่องที่เราไม่แน่ใจ และอยากได้คำแนะนำ ขั้นตอนแรก ก็เริ่มจากเราก่อนว่ามีเรื่องอะไรที่เราอยากจะตัดสินใจ เช่น ผมควรจะเปลี่ยนใจไปใช้ Mac ดีไหม? ถ้าหากว่าเราไปถามในเว็บบอร์ด คนอื่นก็จะมาถามคำถามเพิ่มเติม “แล้วตั้งใจจะซื้อคอมพิวเตอร์ไปทำงานอะไรบ้าง?” หรือ “มีงบเท่าไหร่?” จากนั้นคนอื่นถึงจะให้คำตอบคุณได้ (หรือคุณจะลองไปอ่านรีวิว Mac เทียบกับ PC ดูก็ได้ แต่ผมว่ากินเวลาเป็นวันๆ) แต่สำหรับ Hunch คนที่เข้ามาในเว็บจะช่วยกันสร้าง “แบบฟอร์มของคำถาม” ในหัวข้อนั้นๆ ที่จะมาช่วยให้คนอื่นๆ ที่เข้ามาที่ Hunch ตัดสินใจอะไรๆ ได้ง่ายขึ้น ท้ายที่สุดจะก็จะลงท้ายด้วยข้อสรุปว่าเราควรจะตัดสินใจซื้อ Mac หรือไม่ซื้อ

hunch_1-2

ในที่นี้ผมกรอกคำถามว่า “Should I switch from Windows to a Mac?” แบบฟอร์มคำถามของทาง Hunch (ที่สมาชิกคนอื่นของ Hunch ช่วยกันสร้างขึ้นมา) จะเริ่มถามคุณว่า “คุณใช้ Outlook เป็น Email Client ของคุณบ่อยไหม?” เพราะเรารู้กันว่ายังไงๆ การใช้ Outlook ถ้าใช้บน PC ก็จะยังแจ่มกว่า Mac พอสมควร ในที่นี้ผมตอบว่าใช่ จากนั้นก็จะเริ่มมีคำถามที่มีตรรกะตามมาเรื่อยๆ ตามมาด้วยคำถามที่ว่า “คุณยอมจ่ายได้มากกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐหรือเปล่า” (ราวสามหมื่นกว่าบาท) ผมคิดว่าผมจ่ายได้ ถ้ามันเจ๋งพอก็เลยเลือก Yes คำถามต่อไปคือ “ผมจะใช้คอมพิวเตอร์เพื่ออะไรที่ล้ำหน้ามากๆ เช่น เล่น 3D Game ไหม” “อยู่ในธุรกิจดีไซน์ โฆษณา ดนตรี วิดีโอ โปรดักชั่นหรือเปล่า” “Ok หรือเปล่าที่จะใช้ Outlook ที่เป็น web-based” “ใช้ Excel บ่อยไหม หนักมากไหม”

hunch_1-3

หลังจากตอบคำถามทั้งหมดแล้วระบบจะประมวลผลว่าผมควรจะเปลี่ยนไปใช้ Mac หรือไม่คำตอบออกมาว่าผมควรจะเปลี่ยนไปใช้ Mac ได้แล้ว โดยให้น้ำหนักกับคำตอบนี้ 96% พร้อมกับเหตุผลว่าทำไมระบบถึงเลือกคำตอบนี้ให้ผม และถามว่าผมเห็นด้วยกับคำแนะนำในการตัดสินใจครั้งนี้ หรือไม่ เพี่อที่จะได้รู้จักผมมากขึ้น

สมาชิกของ Hunch ที่เข้ามาช่วยกันสร้างแบบฟอร์มคำถามต่างๆ ไม่ได้เงินเป็นผลตอบแทน แต่ว่าได้ป้ายที่แสดงตัวตนเป็นผลตอบแทน เช่น ได้ป้าย Architect ถ้าสร้างแบบฟอร์มแล้วมีคนฟีดแบ็กว่าดีเกินกว่า 100, 500, 1000 ครั้ง เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจให้สมาชิกสร้างผลงานต่อไปเรื่อยๆ (ดูภาพ icon ต่างๆ ในรูปหน้าโปรไฟล์ถัดไปนะครับ)

Profile หัวใจสำคัญของ Hunch

มาดูที่หน้าโปรไฟล์ของ Caterina Fake กันนะครับ คุณจะเห็นว่าที่หน้าโปรไฟล์ของเธอจะมีรูป Icon ต่างๆ ที่เธอได้ มีคนที่ Follow เธอเหมือนกับใน Twitter ถึง 634 คน (หลังจากเปิดตัวมาได้เพียงหนึ่งอาทิตย์) ถ้าดูให้ดี หน้าโปรไฟล์นี่ล่ะครับ ที่จะแสดงว่าคุณได้ Contribute อะไรให้กับ Community มากน้อยแค่ไหน รวมถึงคุณเป็นคนแบบไหน และเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าลองไล่ดูจะเห็นว่ามีโปรไฟล์ของคนที่มีชื่อเสียงในซิลิคอนวัลลีย์อย่าง Jimmy Wales ผู้ก่อตั้ง Wikipedia เข้ามาเป็นสมาชิกด้วย


รูปแบบธุรกิจอะไร?
นักการตลาดหลายๆ ท่านอาจจะถามว่า เขียนมาตั้งยืดยาว เจ้า hunch.com สร้างรายได้อย่างไร คำตอบคือ “Referrer Link” ครับ ถ้าคุณผู้อ่านดูดีๆ จะเห็นว่าท้ายสุดมีเว็บลิงค์กลับไปที่เว็บไซต์ของ Apple ซึ่งตรงนี้เองที่จะสร้างรายได้ให้กับทาง hunch.com อย่างตอนนี้ทาง Hunch ก็ร่วมมือกับทาง amazon.com ในการแนะนำหนังสือที่คุณควรอ่านแล้ว ลองนึกดูว่าถ้าผมอยากจะตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่าง แล้วมีคนช่วยผมตัดสินใจ แล้วมีลิงค์นำผมไปสู่เว็บที่พร้อมจะขายของให้ผมในตอนท้ายสุด โอกาสที่ผมจะซื้อของจากเว็บนั้นๆ ค่อนข้างสูงทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า Hunch ยังคงอยู่ในช่วงตั้งไข่ และจะไปได้ดีหรือเปล่า คงต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกว่าจะเข้ามาช่วยกันสร้าง Hunch ให้เป็นเครื่องมือในการช่วยตัดสินใจที่ดีได้หรือไม่ เหมือนกับครั้งหนึ่งที่หลายคนมองว่า Wikipedia เป็นเรื่องเพ้อฝัน เพราะคนที่เข้ามาให้ความรู้นั้นไม่ได้อะไรตอบแทน แต่ใครจะรู้? ในยุคที่เราเรียกกันว่า User Generated Content (UGC) อะไรก็เกิดขึ้นได้

เราเรียนรู้อะไรจากการเกิดขึ้นของ Hunch


อีกจุดหนึ่งที่ผมว่าน่าคิดและเราได้เรียนรู้จากการเกิดขึ้นของ Hunch ก็คือ อินเทอร์เน็ตกำลังก้าวล้ำเข้าไปอีกยุค คือจากยุค 1.0 ที่เว็บมีไว้ให้คนอ่าน ยุค 2.0 ผู้ใช้และสมาชิกมีอำนาจในการเข้าร่วมมีส่วนในการกำหนดความเป็นไปของโลกมากยิ่งขึ้น และล่าสุดไม่ว่าเราจะบัญญัติมันว่า 3.0 หรืออะไรก็ตาม อินเทอร์เน็ตกำลังชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น รู้จักเรามากขึ้น และช่วยให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ด้วย “Collective intelligence” หรือที่มีการแปลเป็นไทยไว้อย่างไม่เป็นทางการว่า “ปัญญารวมหมู่” โดยอาจารย์วิทยากร เชียงกูล อธิบายศัพท์สังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาไว้ว่า

“ความสามารถของชุมชนมนุษย์ที่จะพัฒนาไปสู่การคิดแก้ไขปัญหาและการผนึกกำลังในระดับสูงและซับซ้อนเพิ่มขึ้น โดยผ่านการอภิปราย การทำงานร่วมกัน และการคิดค้นใหม่ แม้ว่าจะเป็นการถกเถียงอภิปรายและร่วมมือกับคนอื่นที่รู้น้อยกว่า แต่กลุ่มคนที่รู้น้อยกว่าก็มีประสบการณ์และทักษะที่แตกต่างกันออกไป ช่วยทำให้เกิดมุมมอง แง่คิด ที่ช่วยให้กลุ่มสรุปแก้ปัญหาและทำงานได้ดีขึ้น มากกว่าการคิดโดยผู้นำหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพียงไม่กี่คน”

ที่มา: http://www.conan.in.th/allblogs/viewpost/43.html

นับว่าเป็นความเคลื่อนไหวในโลกดอทคอมที่น่าสนใจอีกครั้งนะครับ อันนี้คงต้องถามกลับมายังคนทำเว็บเมืองไทยด้วยว่า ตอนนี้เราทำเว็บที่ตอบโจทย์ผู้ใช้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรทิ้งความเห็นไว้ที่ท้ายบทความของผมใน positioningmag.com ได้เลยนะครับ

hunch_1-4รู้จัก Catarina Fake ผู้ก่อตั้ง Flickr

Caterina Fake เป็นนักธุรกิจสาวชาวลูกครึ่งอเมริกัน-ฟิลิปปินส์ เกิดที่เมืองพิตตสเบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย เธอเริ่มต้นทำงานด้านอินเทอร์เน็ตในช่วงปี 1994 ที่ซาน ฟรานซิสโก จนกระทั่งปี 2001 เธอก็ย้ายไปเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ที่นั่นเธอพบกับ Stewart Butterfield สามีของเธอ ทั้งคู่ร่วมกันสร้างบริษัท Ludicorp ซึ่งมี Flickr เว็บไซต์แชร์รูปภาพชื่อดังของโลกเป็นเรือธง ต่อมา Ludicorp ถูกควบรวมกิจการไปกับ Yahoo! ในปี 2005 ที่ Yahoo! เธอมีตำแหน่งดูแลด้านการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึง Yahoo! Answers (ที่เมืองไทยรู้จักกันในนาม Yahoo! รู้รอบ) เธอมีชื่อเสียงมากจนได้รับรางวัลนักธุรกิจหญิงยอดเยี่ยมจากหลายๆ สถาบัน ปลายปี 2008 เธอลาออกจาก Yahoo! ล่าสุดในเดือนมีนาคม 2009 เธอประกาศเปิดตัว hunch.com ในแบบ Private Beta สำหรับสมาชิกในจำนวนจำกัด ปัจจุบันเธออาศัยอยู่ในซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย

Source: โดย จักรพงษ์ คงมาลัย
ต้นฉบับของ ‘Hunch.com เครื่องมือช่วยตัดสินใจ’ หรือทำความรู้จัก คุณจักรพงษ์ คงมาลัย เพิ่มเติมได้ที่นี่


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
Tukko Nathida
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ MarketingOops.com กับความตั้งใจในการนำเสนอเนื้อหาที่ทันเหตุการณ์ และเกิดประโยชน์ ให้สามารถนำเนื้อหาความรู้ และ Insight ไปต่อยอดกับอนาคตของธุรกิจ และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยี ครีเอทีฟ การตลาด โฆษณา และสตาร์ทอัพ