โฆษณาออนไลน์ครึ่งปีแรก 2553 และคาดการณ์ในอนาคต

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ท่ามกลางภาวะความผันผวนทางการเมือง โฆษณาออนไลน์ของไทยในช่วงครึ่งปีแรกก็ยังโตอย่างต่อเนื่อง และในการเติบโตนั้น เราได้สังเกตเห็นประเด็นที่น่าสนใจ และปัจจัยหลายปัจจัยเข้ามากระทบกับวงการโฆษณาออนไลน์บ้านเราอย่างเห็นได้ชัด

เม็ดเงินในโฆษณา Search Advertising โตขึ้นเป็นเท่าตัว

ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ สินค้าหลายประเภทที่ผู้บริโภคต้องใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อมาก ไม่ว่าจะเป็นหมวดท่องเที่ยว สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ต่างใช้เงินโฆษณาใน Search Engine Advertising เพิ่มเป็นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 แม้ตัวเลขจะสูง แต่ก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะในแง่ของผู้บริโภคแล้วก็ต่างใช้เวลาในการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตก่อนจะตัดสินใจซื้อสินค้าเหล่านี้ โดย Search Engine เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยค้นหาข้อมูล พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไทยเท่านั้น แต่เป็นไปตามแนวโน้มพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก ซึ่งก็สอดคล้องกับการสำรวจของ Google อีกด้วย

ส่วนสินค้าในหมวดอุปโภคบริโภค และการเงิน ก็เริ่มตื่นตัว แต่เนื่องจากปริมาณการใช้เดิมยังไม่มากเท่าไร ภาพการเติบโตจึงยังไม่ชัด เชื่อว่าครึ่งปีหลังนี้เราจะได้เห็นสินค้าบริการกลุ่มนี้ใช้เม็ดเงินโฆษณาใน Search Advertising มากขึ้น

Facebook ฮิตติดลมบน ทั้งเรื่องส่วนตัว และเรื่องธุรกิจ

เราคงรู้สึกได้ว่า ในฐานะผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเราใช้เวลากับการเข้า Facebook มากเหลือเกิน และมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผ่านคอมพิวเตอร์ iPhone หรือ Blackberry  ณ ปัจจุบันนี้คนไทยเราใช้ Facebook กว่า 4.2 ล้านคนแล้ว ซึ่งถ้าเทียบกับเดือน มิ.ย. 2552 ตัวเลขนี้โตขึ้นมาถึง 7 เท่าตัวเลยทีเดียว หรือถ้าเทียบกับช่วงต้นปี จำนวนผู้ใช้งานนี้ก็มากกว่าตัวเลขผู้ใช้งานในเดือน ม.ค. 2553 เป็นเท่าตัว จึงคงปฏิเสธได้ยากว่าในแง่การใช้งานส่วนตัวแล้ว Facebook นี้ฮิตจริงๆ

ในฝั่งของนักการตลาดบ้านเราก็มีการปรับตัวเร็ว ถึงปัจจุบันมีสินค้าบริการในเมืองไทย กว่า 100 แบรนด์แล้วที่หันมาทำหน้า Fan Page เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อพูดคุยกับลูกค้า บางบริษัทที่ผ่านช่วงลองผิดลองถูกมาแล้วก็เริ่มมีแนวทางที่ชัดขึ้น และเริ่มวางมาตรการ นโยบาย วิธีการสื่อสารกับลูกค้าผ่านทางช่องทางนี้เป็นการเฉพาะกันเลยทีเดียว

นักการตลาดจำนวนมาก เล็งเห็นข้อดีของการส่งต่อ บอกต่อ และกระจายตัวที่รวดเร็วของ Facebook Application และได้ฉกฉวยโอกาสนี้ในการใช้ Facebook Application เป็นเครื่องมือในการแนะนำสินค้าใหม่ให้คนได้รู้จัก ตัวอย่างความสำเร็จของ Oishi Maneki Neko ที่ถูกยกเป็นกรณีศึกษากันมากช่วงต้นปี ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็น Application ใหม่ๆ และถูกทยอยนำออกสู่สายตาของผู้ใช้งาน Facebook ไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น

• Daily Menu by Nutrilite: http://apps.facebook.com/nutrilitedailymenu
• Acer Innovation Unlock: http://apps.facebook.com/innovation-unlock
• My DELL My Design: http://apps.facebook.com/mydellmydesign

ยังเป็นที่เชื่อได้ว่า การโฆษณาผ่านทาง Facebook นี้ ยังจะคงความเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าเราอาจจะได้เห็นการพ่วงเอาเทคโนโลยีการสื่อสารกับอุปกรณ์พกพา เช่นโทรศัพท์มือถือ หรือการนำไปผสานกับแคมเปญการตลาดผ่านสื่อออฟไลน์ และหรืองานอีเว้นท์ทางการตลาดต่างๆ อย่างจะแจ้งมากขึ้น

บทความจาก มายด์แชร์ เอเยนซี่เครือข่ายด้านการตลาดและการสื่อสาร
โดย ศิวัตร เชาวรียวงษ์ (siwat@minteraction.net)


  •  
  •  
  •  
  •  
  •