สงครามทีวีดิจิทัล ใครไม่เก๋า…ถอยไป

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

โดย: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ยุคนี้ใครๆ ก็บอกว่า เป็นยุคแห่งนิวมีเดียที่สื่อรูปแบบใหม่ๆ กำลังเข้ามาปฏิวัติวงการสื่อสารโลก เคลื่อนตัวจากยุคแห่งความมั่งคั่ง ของ “ดอท-คอม”

เมื่อ 10 ปีก่อน สู่ยุคที่อินเทอร์เน็ตเติบโตสูง และกำลังเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วจากเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีธรรมดา และสมาร์ทโฟนมายังทีวีในห้องนั่งเล่น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเกมโชว์ ภาพยนตร์เรื่องโปรด หรือคอนเทนท์หลากหลาย ต่างมาจากการเชื่อมต่อด้วยอินเทอร์เน็ต
 
จึงไม่แปลกที่จะเห็นว่าช่วงนี้ทั้งความดุเดือดของการแข่งขัน และผลการประเมินจากหลายบริษัทไอทีชั้นนำต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แนวโน้มของโทรทัศน์ดิจิทัลที่เป็นส่วนผสมระหว่างโทรทัศน์ความละเอียดสูง โทรทัศน์แบบเคลื่อนที่ (โมบาย ทีวี) และโทรทัศน์บนอินเทอร์เน็ต (ไอพีทีวี) จะเข้าครอบครองพื้นที่ในตลาด ก่อให้เกิดความหลากหลายของไอเดียเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อทุกประเทศอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหมด คอนเทนท์จะแตกหน่อเกิดไอเดียใหม่ๆ และเกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกันบนแพลตฟอร์มเดียวกัน

ถนนดิจิทัลยังไม่มีทางตัน

สำนักข่าวดีพีเอรายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้สองยักษ์ใหญ่แห่งวงการไอทีออกมาเขย่าวงการด้วยการประกาศว่า จะทำให้ลูกค้าสามารถดูทีวีรายการโปรดเรื่องใดก็ได้ในอุปกรณ์อะไรก็ได้ตามแต่ต้องการ ในสหรัฐ สตีฟ จ๊อบส์ ซีอีโอ แอ๊ปเปิ้ล อิงค์ ออกมาเปิดตัวแอ๊ปเปิ้ลทีวี เจเนอเรชั่นสอง ปรับปรุงจากรุ่นเดิมให้มีขนาดเล็กลงแค่ฝ่ามือ เชื่อมต่อได้ด้วยเครือข่ายไวไฟไปยังอุปกรณ์ที่ต่อพ่วงหรือจอภาพที่รองรับได้ แบบไม่ต้องกังวลเรื่องราคาที่ 99 ดอลลาร์ จากเดิมที่ราคา 299 ดอลลาร์ พร้อมข้อเสนอพิเศษสตรีมวีดิโอราคาถูกลง และ เซต ท็อป บ็อกซ์ ราคาเริ่มต้นแค่ 60 ดอลลาร์
 
อย่างไรก็ตาม แอ๊ปเปิ้ล ยังคงต้องต่อสู้กับผลการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมที่ว่า ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ออกมาเป็นเพียงทางเลือกที่ 3 ซึ่งหมายความว่ายังคงเป็นรองสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ธรรมดาอยู่ การจะเข้ามาตีตลาดได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
 
ขณะที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โซนี่ ประกาศขยายบริการมัลติมีเดียแบบออนดีมานด์ “Qriocity” ไปยังทวีปยุโรป ซึ่งต้องใช้อินเทอร์เน็ตในการสตรีมภาพยนตร์ รายการทีวี และเพลงไปยังทีวีของโซนี่ เพลย์สเตชั่น แล็ปทอป เครื่องเล่นบลูเรย์ และสมาร์ทโฟน และนับเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องท้าชนกับสถานีเพลงออนไลน์ ไอทูน และแอ๊ปเปิ้ลทีวี ดูเหมือนว่าจะสายเกินไปที่จะเข้าไปแย่งตำแหน่งผู้นำมาได้

Google – Amazon ก้าวต่อไป

และหากยังไม่ลืมยังมีกูเกิลอีกรายที่เข้ามาท้าทายในเกมนี้ ด้วยการเสนอบริการดูเท่าไร จ่ายเท่านั้นสำหรับภาพยนตร์และรายการทีวีในเว็บไซต์ยูทูบ กับยูสเซอร์ 100 ล้านคนของตัวเอง
 
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ที่ผ่านมายักษ์เสิร์ชวางแผนที่จะเปิดตัวดีไวซ์ของตัวเองที่ชื่อว่ากูเกิล ทีวี หลังจากนี้อีกไม่นาน ซึ่งได้รวมการบันทึกวีดิโอแบบดิจิทัล และการชมโทรทัศน์แบบดั้งเดิม ด้วยการสตรีมคอนเทนท์ และการเสิร์ชเข้ามาไว้ด้วยกัน พร้อมกับ เซต-ท็อป-บ็อกซ์ ที่สามารถนำไปติดตั้งกับอุปกรณ์ทีวี และเครื่องบันทึกแบบบลูเรย์ได้เลย

อย่างไรก็ดีผู้เล่นอื่นๆ ในตลาดที่กำลังสนใจเข้ามาร่วมวงด้วย และน่าจับตามองอย่างมาก คืออเมซอน ยักษ์ใหญ่วงการค้าปลีกบนเว็บไซต์ ซึ่งกำลังเจรจากับผู้ผลิตภาพยนตร์รายใหญ่ในฮอลลีวู้ด และรายการทีวีชื่อดังต่างๆ เกี่ยวกับบริการซึ่งจะให้ผู้ใช้งานเข้ามาดูหนังฟังเพลงได้แบบไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือน

นอกจากนั้นยังมีฮูลูดอทคอม ผู้ให้บริการสตรีมวีดิโอผ่านเว็บไซต์ยอดนิยม และผู้ให้บริการเช่าวีดิโอเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งมีฐานข้อมูลภาพยนตร์และรายการเป็นของตัวเอง ที่ลูกค้าสามารถเลือกชมรายการได้ทันทีอยู่ในข่ายนี้ด้วย

ข่าวร้ายทีวีดาวเทียม

สำนักข่าวต่างประเทศข้างต้นวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์นี้นับเป็นข่าวร้ายของบริษัทเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมที่มีความพยายามมาโดยตลอดในการผูกพันลูกค้าไว้ด้วยระบบสัญญาผูกมัดรูปแบบต่างๆ พวกเขาอยากที่จะเห็นมูลค่ามหาศาลที่เกิดขึ้นจากอินเทอร์เน็ตทีวีซึ่งจำกัดอยู่แต่เพียงหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่วันนั้นดูเหมือนจะมาไม่ถึงอีกแล้ว
 
นักวิเคราะห์เทคโนโลยี คาร์มิ เลวี ฟันธงไว้ว่ามีโอกาสสูงมากที่แอ๊ปเปิ้ลจะเป็นผู้ชนะสงครามครั้งนี้ จาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ เป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญในเรื่องอุปกรณ์ และเป็นเจ้าของสถานีเพลงออนไลน์ไอทูนซึ่งมีผู้ใช้งานมากกว่า 160 ล้านคนเป็นของตัวเอง
 
“เห็นได้ชัดเจนกับบริษัทอย่างแอ๊ปเปิ้ลที่เป็นทั้งเจ้าของดีไวซ์ของตัวเอง และเจ้าของไอทูนซึ่งเทคโอเวอร์โลกแห่งเสียงเพลงไว้แล้ว อย่างไรก็ตามถือเป็นโชคร้ายของผู้ให้บริการทีวีแบบดั้งเดิมและทีวีดาวเทียม ซึ่งขณะนี้โมเดลทางธุรกิจของพวกเขาได้ถูกคุกคามเข้ามา แต่ก็มีข้อดีในมุมของผู้บริโภค จากบริการรูปแบบใหม่ทำให้พวกเขามีอำนาจในการควบคุมคอนเทนท์ที่ตัวเองจะบริโภคได้ด้วยตัวของตัวเอง” นายเลวี กล่าว
 
นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยหนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตรายการ โปรแกรม สาระบันเทิงต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เซต-ท็อป-บ็อกซ์ หรือซอฟต์แวร์ รวมไปถึงบริการใหม่ๆ เช่น เพย์ เพอร์ วิว, โมบาย ทีวี, เอชดี ทีวี, ไอพีทีวี ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการนำเสนอเนื้อหาต่างๆ ได้รวดเร็ว และสะดวกมากยิ่งขึ้นเข้าสู่ยุคเฟื่องฟู…โปรดติดตามปรากฏการณ์ที่กำลังจะมาถึง

[via กรุงเทพธุรกิจออนไลน์]


  •  
  •  
  •  
  •  
  •