มิวสิควิดีโอ YouTube ผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

w_youtube

YouTube  เว็บไซต์ วิดีโอ แชริ่งซึ่งเป็นของ Google กำลังจะยุติการให้บริการมิวสิควิดีโอในอังกฤษหลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจากับสมาคมลิขสิทธิ์การแสดงหรือ Performing Right Society ( PRS ) ด้านเพลง ซึ่งเป็นผู้เก็บค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์สำหรับศิลปิน

YouTube  ได้ออกแถลงการณ์ว่าใบอนุญาตที่เคยมีก่อนหน้านี้จาก PRS ได้หมดอายุลงโดยที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใหม่ที่จะเป็นประโยชน์กับ YouTube ได้  ปัญหาสำคัญในการเจรจามีอยู่ 2 เรื่องด้วยกันนั่นก็คือเรื่องการละเว้นการเก็บค่าลิขสิทธิ์และเรื่องการขาดความโปร่งใส ทั้งที่  YouTube ได้ให้ความเคารพและให้ความสำคัญแก่นักดนตรีและผู้ประพันธ์เพลง รวมถึงได้ทำงานอย่างหนักกับผู้ถือลิขสิทธิ์เพื่อให้เกิดรายได้จากการให้บริการออนไลน์และการเคารพในเรื่องลิขสิทธิ์  แต่ PRS ยังคงร้องขอให้ YouTube จ่ายค่าลิขสิทธิ์ครั้งแล้วครั้งเล่าและมากกว่าที่เคยขอให้จ่าย

แถลงการณ์ของ YouTube ยังกล่าวด้วยว่าค่าใช้จ่ายที่ PRS เรียกเก็บนั้นถือว่าไม่เป็นธรรม  ภายใต้ข้อตกลงกับ PRS  จะทำให้ YouTube  เสียค่าใช้จ่ายในแต่ละเพลงมากขึ้น นอกจากนั้น PRS ยังขาดความจริงใจที่จะบอกกับ YouTube ว่ามีเพลงอะไรบ้างที่รวมอยู่ในข้อตกลงที่จะให้ YouTube นำไปดำเนินการได้  ถือเป็นการกระทำที่เหมือนกับให้ผู้ซื้อเพลงซื้อ CD เปล่าโดยที่ไม่รู้ว่าภายใน CD มีเพลงอะไรอยู่บ้าง

แต่ PRS ก็ออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่า Google ไม่ต้องการที่จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์อย่างสมเหตุสมผล หรือสรุปง่ายๆก็คือต้องการจ่ายในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง   เรื่องนี้ PRS ในฐานะผู้บริโภคและผู้ประพันธ์เพลงจึงขอแสดงความไม่พอใจที่ Google เลือกที่จะปิดการให้บริการมิวสิควิดีโอทาง YouTube ในอังกฤษ

แถลงการณ์ของ PRS ยังระบุด้วยว่า Google ทำรายได้หลายพันล้านเหรียญจากมิวสิควิดีโอ และขณะที่จำนวนคนที่เข้าไปชม YouTube เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ Google ยังคงแสดงท่าทีต้องการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่น้อยกว่าที่เคยจ่ายให้กับผู้เขียนเพลง  แต่เรื่องนี้ผู้แทนของ YouTube ชี้ว่าค่ารอยัลตี้หรือค่าธรรมเนียมที่เก็บในอังกฤษนั้นเคยเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ให้บริการมิวสิควิดีโออย่าง Pandora ต้องถอนตัวออกไปจากอังกฤษเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นที่อยู่นอกตลาดสหรัฐ  นอกจากนั้นผลกระทบนี้ยังเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรายย่อยหรือรายเล็กๆในอุตสาหกรรมดิจิตอล มีเดียที่กำลังรู้สึกเจ็บปวด เนื่องจาก PRS ยังพุ่งเป้าไปยังธุรกิจเล็กๆในอังกฤษที่เปิดมิวสิควิดีโอให้ลูกค้าได้ชม โดยทาง PRS  เพ่งเล็งว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ทางด้านช่อง Queen Elizabeth ของ YouTube กล่าวว่าเนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมิวสิควิดีโอ ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบกับทางช่อง แต่สำหรับบริษัทด้านดิจิตอล มีเดียของสหรัฐที่ทำธุรกิจด้านเพลงแล้วยังจะต้องฝ่าคลื่นมรสุมในต่างประเทศอีกมาก

หนึ่งในบริษัทที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ iTune ของ Apple  ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ดิจิตอลในร้าน iTune   แต่เรื่องมิวสิควิดีโอยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงอภิปรายกันต่อไปทั้งในสหรัฐและในต่างประเทศโดยยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าอะไรคือยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดในการทำข้อตกลงกับ YouTube ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมให้น้อยลง หรือจัดการเองทั้งหมด  ข้อขัดแย้งส่วนใหญ่มาจากข้อเท็จจริงจากอุตสาหกรรมเพลงที่ว่ายังไม่ได้ผลประโยชน์มากนักจากการป้อนมิวสิควิดีโอให้กับ YouTube

มีรายงานเมื่อต้นเดือนนี้ว่า YouTube อยู่ระหว่างการเจรจากับ Universal Music Group เพื่อสร้างเว็บไซต์standalone หรือเว็บไซต์แยกออกมาต่างหากเพื่อเชื่อมโยงกับ YouTube อย่างใกล้ชิด ลักษณะคล้ายกับมิวสิควิดีโอของ Hulu  ในขณะที่ Viacom ก็ได้สร้างฮับของตัวเองขึ้นมาคือ MTVMusic.com ซึ่งยังไม่อาจสรุปได้ว่าจะยิ่งทำให้เรื่องลิขสิทธิ์กลายเป็นปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นอีกทั้งในสหรัฐและในต่างประเทศหรือไม่

ดังนั้นตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไปมิวสิควิดีโอนับพันเพลงอาจจะหาดูไม่ได้ทาง YouTube  เรื่องนี้มร.แพทริค วอล์คเกอร์ (Partick Walker ) ผู้จัดการฝ่ายวิดีโอของ YouTube กล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ แต่สตีฟ พอร์เตอร์ (Steve Porter ) ผู้จัดการของ PRS ก็กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ช็อคและน่าผิดหวังอย่างยิ่งสำหรับการตัดสินใจของ YouTubeในครั้งนี้  ถือเป็นการลงโทษผู้บริโภคชาวอังกฤษและผู้เขียนเพลงซึ่งทาง PRS ได้ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ให้  PRS   จึงขอเรียกร้องให้ YouTube ทบทวนการตัดสินใจใหม่อย่างเร่งด่วน แต่ฝ่าย YouTube ตอบกลับว่าจำเป็นจะต้องยุติการให้บริการมิวสิควิดีโอไปก่อนระหว่างที่การเจรจากับ PRS ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งการหยุดให้บริการมิวสิควิดีโอคือการส่งสารที่ชัดเจนที่สุดที่จะทำให้ผู้ใช้บริการทางเว็บไซต์ได้สังเกตเห็น

มิวสิควิดีโอจะถูกบล็อกตั้งแต่เวลา 1800 GMT โดยเพลงส่วนใหญ่จะไม่สามารถดูได้   โดยปกติYouTube จะจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับ PRS โดยครอบคลุมการ streaming มิวสิควิดีโอจากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ 3-4 ค่ายและค่ายเพลงอิสระอีกเป็นจำนวนมาก และในขณะที่การทำข้อตกลงกับค่ายเพลงอิสระจะครอบคลุมทั้งภาพและเสียงในมิวสิควิดีโอ แต่บริษัทที่ต้องการ streaming ทางออนไลน์ก็ยังต้องแยกทำข้อตกลงกับผู้จัดจำหน่ายเพลงด้วย

ในอังกฤษ PRS จะทำหน้าที่เป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของสมาชิกผู้ผลิตและจำหน่ายเพลงเพื่อเก็บค่าธรรมเนียมในการใช้เพลง แต่แม้จะมีปัญหาเกิดขึ้น YouTube ยังคงยืนยันที่จะเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของโลก 3-4 ค่าย    วอล์คเกอร์กล่าวว่า PRS ได้ขอขึ้นค่าธรรมเนียมในข้อตกลงใหม่ แต่เขาไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมว่าสูงขึ้นเท่าไร แต่กล่าวว่ามันควรจะเป็นอัตราที่สามารถทำให้โมเดลทางธุรกิจทำงานได้และ  YouTube ก็อยู่ในธุรกิจนี้มานานและยังต้องการทำธุรกิจวิดีโอ ออนไลน์ต่อไป แต่ราคาที่ PRS กำหนดใหม่จะทำให้ YouTube เสียรายได้มากขึ้นในทุกๆเพลง เพราะเป็นราคาที่ไม่สมเหตุสมผล

YouTube เป็นเว็บไซต์วิดีโอออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก แต่ต้องถูกกดดันอย่างหนักและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในการสร้างรายได้ให้มากขึ้นนับตั้งแต่ถูก Google ซื้อมาด้วยเงิน 1,650  ล้านเหรียญเมื่อปี 2006 นั่นอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ YouTube ไม่ต้องการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายใดๆที่แพงเกินไปอย่างที่มองว่า PRS กำลังทำอยู่ พร้อมกับเตือนไปทาง PRS ด้วยว่าธุรกิจนี้เป็นอุตสาหกรรมที่กว้างขวางไปทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะเกี่ยวเนื่องแต่เฉพาะ YouTube เท่านั้น ดังนั้นการกำหนดราคาค่าธรรมเนียมหรือลิขสิทธิ์ใหม่ ต้องเป็นราคาที่สามารถทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ ไม่ใช่ได้ประโยชน์อยู่แค่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ซึ่งสุดท้ายก็แพ้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ผู้ให้บริการมิวสิควิดีโอออนไลน์รายอื่นๆอย่าง Pandora.com ,MySpace UK และ Imeem ก็มีปัญหากับการทำข้อตกลงกับ PRS ในอังกฤษในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาเช่นกัน  Pandora ถึงกับปิดการให้บริการกับผู้ฟังผู้ชมมิวสิควิดีโอที่ไม่ใช่ชาวอเมริกัน  สาเหตุหลักที่ต้องปิดก็เพราะข้อกำหนดใหม่ที่จะขึ้นค่าธรรมเนียมสำหรับ Webcaster ที่จะต้องจ่ายให้กับค่ายเพลง 

มร.ทิม  เวสเตอร์เกรน (Tim Westergren ) ผู้ก่อตั้ง Pandora กล่าวว่า การปิดให้บริการเกิดขึ้นหลังจากถูกกดดันจากค่ายเพลงมานานหลายเดือน  Pandora แถลงว่าได้ใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการขอใบอนุญาตสากลเพื่อใช้เพลงต่างๆทั้งในอังกฤษและแคนาดา โดยการบริการเน้นไปที่ผู้ใช้บริการชาวอเมริกัน แต่จนถึงขณะนี้ยังต้องถูกกำหนดให้มี ZIP code และถูกบล็อค IP address นอกสหรัฐ  แต่แม้จะมีปัญหาในการให้บริการอยู่บ้าง ก็ยังเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้บริการอยู่จำนวนไม่น้อย บางคนบอกว่าใครก็ตามที่ได้เข้าไปในเว็บไซต์ของ Pandora สัก 5 นาทีก็จะรู้ดีว่าเป็นบริการที่เยี่ยมยอดขนาดไหนสำหรับอุตสาหกรรมเพลงทั้งหมด  ถือเป็นเว็บไซต์ที่ดีสำหรับการแนะนำเพลงให้กับผู้ฟังเพลงรายใหม่ มีเพลงให้เลือกฟังครบทุกสไตล์ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นบริการที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ปัญหาก็คืออุตสาหกรรมเพลงต้องการให้ Pandora จ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่แพงขึ้น ซึ่งได้กลายเป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมเพลงเองเมื่อ Pandora ไม่อยู่ในฐานะที่จะจ่ายแพงขั้น จึงต้องหยุดให้บริการมิวสิค วิดีโอทางออนไลน์

บางคนตำหนิไปยังสภาคองเกรสสหรัฐที่ตัดสินใจขึ้นค่าลิขสิทธิ์จนสูงเกินไปสำหรับมิวสิควิดีโอ ออนไลน์ ซึ่งเป็นราคาที่แพงกว่าการเปิดเพลงทางสถานีวิทยุผ่านดาวเทียมเสียอีก  บางคนชื่นชม Pandora ว่าไม่ใช่ตัดสินใจเพื่อตัวเองในความจำเป็นต้องลดการให้บริการ แต่ปัญหาอยู่ที่อุตสาหกรรมเพลงที่พยายามทุกวิถีทางในการหยุดยั้งคนฟังเพลงที่ใช้บริการออนไลน์ ส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการจำหน่ายเพลงโดยตรง โดยไม่ตระหนักว่าคนฟังเพลงย่อมจะไม่ซื้อเพลงที่ยังไม่รู้จัก หรือไม่คุ้นหู ที่สำคัญราคาจำหน่ายเพลงก็ยังแพงกว่าที่ควรจะเป็น นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนหันไปสนใจไปฟังเพลงทางออนไลน์

แต่ก็อย่างที่เห็นตรงกันว่าปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนและมักมองต่างมุมกันเสมอระหว่างศิลปิน ผู้เขียนเพลง เจ้าของค่ายเพลงและผู้ประกอบธุรกิจบริการเพลงทางออนไลน์ เพราะถ้าทำตามกฎกติกา ล้วนแต่ต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งไม่จูงใจให้ผู้ใช้บริการหันมาซื้อหรือดูทางออนไลน์ แต่ตราบใดที่ยังมีปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ก็ยังต้องถกเถียงกันต่อไป จนกว่าจะหาจุดที่เหมาะสมได้ในเรื่องของราคา

Source: Telecom Journal


  •  
  •  
  •  
  •  
  •