Podcast – EP.13 เปิดมุมมอง – ไลฟ์สไตล์ “วัยรุ่นไทย” เข้ามหาวิทยาลัย เริ่มต้น “ชีวิตใหม่” ต้องปังกว่าเดิม!

  • 6.7K
  •  
  •  
  •  
  •  

เปิดมุมมอง - ไลฟ์สไตล์ “วัยรุ่นไทย” เข้ามหาวิทยาลัย เริ่มต้น “ชีวิตใหม่” ต้องปังกว่าเดิม!

เมื่อครั้งที่เปลี่ยนผ่านจาก “รั้วโรงเรียน” ไปสู่ “รั้วมหาวิทยาลัย” นับเป็นอีกหนึ่ง Chapter สำคัญของจังหวะชีวิตคนเรา เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของ “ความเป็นผู้ใหญ่” ที่พบเจอโลกที่กว้างขึ้น และต้องรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น ทั้งการวางแผนด้านการเรียน – การเงิน – การใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงวัยนักเรียน

เพื่อเตรียมต้อนรับเปิดภาคการศึกษาใหม่ ที่ปีนี้ล่าช้ากว่าทุกปี อันเป็นเหตุมาจากสถานการณ์ COVID-19” ทำให้ภาคการศึกษาในทุกระดับชั้นต้องเลื่อนเปิดภาคเรียน ซึ่งเวลานี้ “มหาวิทยาลัย” ต่างๆ เริ่มทยอยเปิดเทอมกันบ้างแล้วตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายน จนไปถึงเดือนสิงหาคม

Marketing Oops! Podcast รายการ “MarTech : Consumer Insights” ดำเนินรายการโดย “คุณณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์” และ “คุณแพน จรุงธนาภิบาล” จาก GroupM ในตอนนี้ว่าด้วยเรื่อง “เข้ามหาวิทยาลัย คือ เกิดใหม่ต้องปังกว่าเดิม” เป็นการศึกษาวิเคราะห์มุมมอง ความคิด และการใช้ชีวิตของวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน ที่กำลังอยู่ในช่วงชีวิตนิสิต-นักศึกษา

 

1. ค่านิยมเลือกมหาวิทยาลัยดังในกรุงเทพฯ ลดลง – หันไปเลือกมหาวิทยาลัยใกล้บ้านมากขึ้น

ค่านิยมการเลือกมหาวิทยาลัย ทั้งผู้ปกครอง และผู้เรียน จะเลือกมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ ก่อนเสมอ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ค่านิยมดังกล่าวกลับลดลง โดยพบว่าผู้เรียนหันมาเลือก “มหาวิทยาลัยใกล้บ้าน” มากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ปกครองให้การสนับสนุนการเลือกดังกล่าว ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้เลือกมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน เพราะ

– คนรุ่นใหม่มอง “อิสระภาพในการใช้ชีวิต” นั่นคือ การเป็นเจ้านายตัวเอง ได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก หรือทำงานในสิ่งที่มีกรอบน้อยลง เพราะฉะนั้นเขาจึงมองว่าไม่จำเป็นต้องเข้ามหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงก็ได้ เพราะเมื่อจบออกมาแล้ว เขาจะมีธุรกิจ หรือทำงานเป็นของตัวเอง ก็ต้องหาประสบการณ์เองจากข้างนอกอยู่ดี

– ได้อยู่กับครอบครัว ประกอบกับพ่อแม่รุ่นใหม่เข้าใจระบบการศึกษามากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยมองว่าทุกวันนี้ความรู้สามารถหาไปจากหลากหลายแหล่ง

– เรียนที่บ้านเกิด ประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าเรียนในกรุงเทพฯ เพราะไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องเช่าหอ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมา

 

2. “ภาษาอังกฤษ” สร้างความมั่นใจ และสร้างโอกาส

คนรุ่นใหม่รู้ว่า “ภาษาอังกฤษ” คือ ทักษะจำเป็น และสามารถสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองที่จะทำให้มีโอกาสมากขึ้น จึง

เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ยุคนี้ให้ความสำคัญลำดับต้นๆ

อย่างไรก็ตามนักศึกษาไทยยังคงมี “ความกังวล” ด้านทักษะภาษาอังกฤษของตัวเอง เพราะเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย บางสาขา – บางวิชาใช้หนังสือเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ในขณะที่ตัวเขาเองรู้สึกว่าทักษะภาษาอังกฤษ อยู่ในระดับพื้นฐาน จึงไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำได้อย่างเต็มที่

 

3. ทำ “ศัลยกรรม” เสริมรูปลักษณ์ให้ดูดี เพื่อความมั่นใจ

คำว่า “ชีวิตใหม่” ในช่วงชีวิตวัยนักศึกษามหาวิทยาลัย ยังรวมถึงการเปลี่ยนเป็น “ร่างใหม่” ด้วยเช่นกัน ซึ่งคำว่าร่างในที่นี้ หมายความรวมถึงทุกเพศสภาพ โดยการทำ “ศัลยกรรม” ไม่ว่าจะเป็นการทำจมูก ตาสองชั้น เสริมหน้าอก

เหตุผลที่เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย บางคนตัดสินใจทำศัลยกรรม เพราะต้องยอมรับว่าเป็นค่านิยมของคนรุ่นใหม่ยุคนี้ ที่ค่านิยมนี้อาจมาจากต่างประเทศ โดยมองว่าการมีหน้าตาดี จะช่วยสร้างโอกาส – สร้างความสัมพันธ์ ทำให้ตัวเองมีความมั่นใจมากขึ้น

 

4. เริ่มทดลองใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่

เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย คือการเข้าสู่ชีวิตใหม่ และบ่งบอกถึงการเริ่มต้นเป็นผู้ใหญ่ โดยบางคนทดลองใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ นั่นคือ การใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันกับแฟน โดยที่ผู้ใหญ่ทางบ้านอาจไม่รู้ ทั้งการเช่าหอ และใช้จ่ายร่วมกัน หรือบางคู่อาจอยู่หอเดียวกันอยู่แล้ว แต่คนใดคนหนึ่งย้ายมาอยู่กับอีกคน ในขณะที่อีกห้องก็เช่าทิ้งเอาไว้

คนรุ่นใหม่มองว่าการตัดสินใจมาอยู่ด้วยกัน คือการพิสูจน์ตัวเองอย่างหนึ่งที่สะท้อนได้ว่าเขาอยากโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว โดยที่เขาสามารถดูแลชีวิตตัวเอง – ดูแลความสัมพันธ์ได้ จึงเป็นการทอลองไปในตัวว่าจะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่

 

5. สนใจเรื่องการเมือง เพราะการเมืองในวันนี้ คือ อนาคตของพวกเขาในวันข้างหน้า

ถ้าพูดถึงเรื่องการเมือง หากเป็นสมัยก่อน มักจะมองว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ วัยทำงาน 30 – 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่สนใจการเมือง และกล้าที่จะพูดคุยเรื่องการเมืองกัน เห็นได้จากใน Social Media เช่น Twitter ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่คนรุ่นใหม่นิยมใช้ มี hashtag เกี่ยวกับการเมืองมากมาย

เหตุผลที่ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องการเมือง เพราะเขามองว่าการเมืองในวันนี้ คืออนาคตของพวกเขาในวันพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่จึงต้องการแสดงสิทธิ์ ออกเสียง หรือแสดงจุดยืนของตัวเอง เพื่ออนาคตวันข้างหน้าจะมีชีวิตที่ดี

 

6. หารายได้พิเศษ รองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

เมื่อเข้าสู่ชีวิตมหาวิทยาลัย พบว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงวัยนักเรียน ทำให้ถึงแม้จะได้เงินจากทางบ้าน ไม่ว่าจะเป็นรายอาทิตย์ หรือรายเดือน ก็ยังคงไม่พอใช้ ประกอบกับต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน โดยมีเงินมากขึ้น เพื่อนำไปใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง หรือแม้แต่ดูแลแฟน ทำให้หลายคนหารายได้เสริมในหลากหลายวิธี เช่น ขับ Grab, ขายของออนไลน์, เป็นพนักงาน Part Time ตามร้านอาหาร, เป็นพริตตี้ ฯลฯ

 

7. หาเงินเก่ง แต่ก็ใช้เงินเก่งด้วย!

ในขณะที่คนรุ่นใหม่ยุคนี้ เติบโตมาในยุคโลกดิจิทัล และเปิดกว้าง ทำให้มีโอกาสหารายได้จากหลากหลายวิธี แต่ก็พบว่าใช้เงินเก่งเช่นกัน ทว่าในการใช้เงินของคนกลุ่มนี้ ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า จะเสิร์ชหาข้อมูล เปรียบเทียบ และดูโปรโมชั่น เพื่อให้ได้ความคุ้มค่า

โดยช่องทางที่คนรุ่นใหม่นิยมซื้อสินค้า ถ้าเป็นของกินของใช้ประจำวัน พบว่าไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ตน้อยลง และหันไปสั่งของผ่านออนไลน์ ให้มาส่งถึงหอพัก หรือถึงบ้านมากขึ้น ยกเว้นแต่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือห้างสรรพสินค้าจะจัดโปรโมชั่นลดราคา ที่นำเสนอราคาคุ้มค่ากว่าออนไลน์ คนรุ่นใหม่ถึงจะไปซื้อที่ Physical Store

รวมถึงอาหาร ใช้บริการ Food Delivery ไม่ว่าจะสั่งมากินคนเดียว หรือกินร่วมกันกับเพื่อน

ส่วนสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น Gadget ต่างๆ จะใช้วิธีเสิร์ชหาข้อมูล – เปรียบเทียบสินค้า จากนั้นไปดูของจริงที่ร้าน พร้อมกับเปรียบเทียบกับที่ขายผ่านออนไลน์ เพื่อดูว่าซื้อช่องทางไหน จะคุ้มค่ากว่ากัน

หรือในช่วงเทศกาลช้อปปิ้งของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น 11.11, 12.12 คนรุ่นใหม่มองว่าเป็นเทศกาลพิเศษ โดยจะเก็บเงินล่วงหน้าเป็นเดือน เพื่อรอช้อปปิ้งในวันนั้น

 

แบรนด์ควรทำหน้าที่เป็น “ผู้ให้คำปรึกษา – คำแนะนำ”

โดยสรุปแล้วคนรุ่นใหม่ กังวลเรื่องอนาคต และทุกคนต้องการความมั่นใจ ซึ่งความมั่นใจนี้มาจาก…

– ทักษะภาษาอังกฤษ
– รูปลักษณ์ภายนอก
– การเงิน เพื่อทำให้สามารถใช้จ่ายในสิ่งที่ต้องการ และมีเก็บไว้ในยามจำเป็น
– เศรษฐกิจ และการเมือง

เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่มีความก้าวหน้าทางความคิด และมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น อยากแสดงความเป็นตัวตน หรือแสดงจุดยืน เพื่อให้สังคมยอมรับความคิดของเขาในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่ง ดังนั้นคนรุ่นใหม่อยากได้คนที่สามารถ Inspire ให้กับเขา ไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่มาครอบความคิดของเขา

เมื่อ Insights คนรุ่นใหม่เป็นเช่นนี้ ในมุมมองของ “แบรนด์” ควรทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำ หรือให้คำปรึกษา และปรับวิธีการสื่อสาร เช่น อาจพูดกับผู้บริโภคกลุ่มนี้ถึงอนาคตที่มีความมั่นคง และปรับวิธีการเข้าหาผ่านทั้งช่องทาง Offline หรือ Online

 

สามารถติดตามรับฟัง Marketing Oops! Podcast
ผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้ที่

Google Podcasts


  • 6.7K
  •  
  •  
  •  
  •  
Neil Pan
ณีว มาวิจักขณ์ ผู้บริหารแผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย นักวางแผนกลยุทธการสื่อสาร นักเดินทาง มีความหลงใหลในศิลปะการเก็บภาพโมเม้นท์ผ่านมือถือพอๆ กับการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค, แพน จรุงธนาภิบาล รองผู้อำนวยการ แผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย นักศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค นักการตลาด และผู้ชื่นชอบการวิ่งเป็นชีวิตจิตใจ