ตลาดเครื่องสำอางผู้ชายปี 52

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ในปัจจุบัน นอกจากผู้ชายต้องมีบุคลิกภาพที่ดูดีแล้ว ยังต้องมีรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูดีอีกด้วย โดยเฉพาะผู้ชายในวัยทำงานที่มีความจำเป็นจะต้องพบปะกับลูกค้าอยู่เสมอ ซึ่งการมีภาพลักษณ์ที่ดี ส่งผลอย่างยิ่งต่อความน่าเชื่อถือและความประทับใจแรกของลูกค้า เครื่องสำอางจึงถือเป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่ผู้ชายหันมานิยมใช้กันมากขึ้น แต่เนื่องจากผู้ชายมีสภาพร่างกายที่แตกต่างจากผู้หญิง และรูปแบบการดำเนินชีวิตที่สมบุกสมบันมากกว่าผู้หญิง ทำให้ผู้ชายไม่สามารถใช้เครื่องสำอางประเภทเดียวกันกับเครื่องสำอางของผู้หญิงได้

men-market

ในปี 2550 ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับผู้ชายมีมูลค่าประมาณ 1,450 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.1 ส่วนทั้งปี 2551 นี้ คาดว่า ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับผู้ชายภายในประเทศ จะมีมูลค่าประมาณ 1,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 4.2 แต่เป็นการขยายตัวที่ชะลอลง เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ทำให้ผู้บริโภคเพศชายลดการบริโภคเครื่องสำอางที่มีราคาสูง เช่น น้ำหอม ครีมบำรุงต่างๆลง โดยบริโภคเฉพาะเครื่องสำอางที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันเท่านั้น ซึ่งได้แก่ เครื่องสำอางกลุ่มทำความสะอาดผิวหน้า และระงับกลิ่นกาย นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างมาก ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในอาชีพการงาน ผู้บริโภคเพศชายจึงชะลอการบริโภคผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย หรือลดการบริโภคเครื่องสำอางลงไป

สำหรับปี 2552 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ตลาดเครื่องสำอางสำหรับผู้ชายน่าจะมีมูลค่าประมาณ 1,560 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวร้อยละ 3.5 จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงปลายปี 2551 ทำให้ผู้บริโภคเพศชายมีการตัดค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยลง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เนื่องจากผู้บริโภคเพศชายส่วนใหญ่ ไม่เห็นว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นสินค้าอุปโภคที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนกับผู้บริโภคเพศหญิง

แต่ก็ยังมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดเครื่องสำอางผู้ชายยังสามารถขยายตัวอยู่บ้าง คือ

  • สภาพสังคมและค่านิยมที่ทำให้ผู้ชายต้องหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น
  • กลุ่มผู้ชายที่รักษารูปลักษณ์ของตนเอง และไม่ได้แต่งงานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

แนวทางการกระตุ้นการบริโภคเครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย

  • ปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคเครื่องสำอางของเพศชาย
  • เจาะตลาดกลุ่มผู้ชายที่รักษารูปลักษณ์ของตนเอง และยังไม่ได้แต่งงาน ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีอำนาจการจับจ่ายสูง
  • ออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ให้ง่ายต่อการใช้งาน ตรงกับภาพลักษณ์ของเครื่องสำอาง และต้องมีส่วนสร้างแรงจูงใจในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
  • เพิ่มช่องทางการจำหน่าย และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆเช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสารที่เน้นเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้ชาย วิทยุ รวมถึงทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคเพศชายได้ทุกวัย เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้น และส่งเสริมให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจ และอยากทดลองใช้

Reference : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, บจก.

Read full story


  •  
  •  
  •  
  •  
  •