TrueMoney เร่งเจาะร้านค้า-จับมือเรือด่วนเจ้าพระยา-MRT-เล็งปล่อยกู้ ตั้งเป้าผู้ใช้งาน 14 ล้านคน

  • 37
  •  
  •  
  •  
  •  

 

e-wallet (1)

ปัจจุบันยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน นี่จึงเป็นช่องว่างที่สร้างโอกาสธุรกิจมหาศาลให้กับ “FinTech” ในการเจาะตลาดลูกค้ารายย่อย โดยเริ่มจาก “Digital Wallet” หรือ “e-Wallet” สำหรับใช้ชำระค่าสินค้า-บริการต่างๆ ตามเครือข่ายพันธมิตรที่มี โดยในเมืองไทย ถ้าไม่ใช่ธนาคาร มี 2 ค่ายใหญ่ คือ

“TrueMoney” ของบริษัท แอสเซนด์มันนี่ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง “ซีพี” กับ “Ant Financial” (FinTech รายใหญ่สุดของโลก บริษัทในเครือ Alibaba) ที่มีจุดแข็งอยู่การอยู่ภายใต้บริษัทซีพี ที่มีความแข็งแกร่งด้านช่องทางค้าปลีก เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น, แมคโคร ฯลฯ ขณะที่ในฝั่ง Ant Financial มีทั้งองค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านการเงินมากมาย จึงสามารถนำสิ่งที่ประสบความสำเร็จ มาประยุกต์ใช้กับตลาดไทย

อีกหนึ่ง Major Player คือ “Rabbit LINE Pay” เป็นการร่วมทุนระหว่าง Rabbit (ในเครือ BTS Holdings) – LINE – AIS ใช้ความได้เปรียบในการมีฐานผู้ใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส บวกกับฐานลูกค้า LINE กว่า 40 ล้านคน และ AIS กว่า 40 ล้านคน โดยปัจจุบันมี Active User 100,000 คนต่อวัน และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1,000,000 คนต่อวัน ด้วยกลยุทธ์ผูกบัตร Rabbit เข้ากับ Rabbit LINE Pay เพื่อให้สามารถเติมเงินค่าโดยสายบีทีเอสได้ และใช้ Incentive Campaign เช่น ทำโปรโมชั่นร่วมกับพันธมิตร ให้ราคาพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้คนมาใช้มากขึ้น

ต่อไปบทบาทของ “Rabbit LINE Pay” จะรุกขยายฐานผู้ใช้งานในตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น ควบคู่กับการใช้ Rabbit Card (Physical Card) ที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่คือ กลุ่มที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล เดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นประจำอยู่แล้ว (อ่านเพิ่มเติม “VGI” เป็นมากกว่าสื่อรถไฟฟ้า! ผสานแพลตฟอร์ม “สื่อโฆษณา-Rabbit-Kerry” เข้าถึงคนทั่วประเทศ)

ขณะเดียวกันเวลานี้ “ธนาคารรายใหญ่” เช่น SCB, KBank ต่างเร่งขยายฐานการใช้ “QR Code Payment” ด้วยการเจาะเข้าไปตามร้านค้า ทั้งช่องทางค้าปลีกที่เป็นเชนสโตร์รายใหญ่ และร้านค้าขนาดเล็ก เพื่อสร้างจุดรับชำระเงินให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยทั้งสองแบงก์สร้าง Character สำหรับ QR Code Payment โดยเฉพาะ เพื่อสร้างการจดจำได้ง่าย ในฝั่ง “SCB” ใช้ชื่อ “แม่มณี” ส่วนทางด้าน “KBank” ใช้ Character แมวนำโชค ตั้งชื่อว่า “ปิ๊ปจัง” 

e-wallet_01

 

เจาะลึก “TrueMoney” แพลตฟอร์มการเงิน “Online Payment – Offline Payment – Financial Services”

นิยามของ “TrueMoney” ไม่ได้เป็นเพียง e-Wallet เท่านั้น แต่เป็น “แพลตฟอร์มด้านการเงิน” ที่เริ่มจากจิ๊กซอว์ “e-Wallet” ก่อน เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่ม Digital User ผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน และ 2. กลุ่มคนที่ยังไม่ได้ใช้บริการของสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะไม่ใช้ ด้วยความสมัครใจ หรือไม่ใช้ เพราะไม่สามารถเข้าถึงบริการสถาบันการเงินได้

ขณะที่บริการ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1. Online Payment โดยจุดที่ทำให้ “TrueMoney” แจ้งเกิด และสร้างฐานธุรกิจมาได้ถึงวันนี้ คือ การเจาะกลุ่มคนเล่นเกมออนไลน์ ซึ่งเกมออนไลน์ ถือเป็นหนึ่งในดิจิทัล คอนเทนต์ที่มีการใช้จ่ายหนัก โดยปัจจุบันมากกว่า 50% ของการใช้จ่ายผ่าน TrueMoney มาจากการชำระค่าดิจิทัล คอนเทนต์

2. Offline Payment รุกชำระค่าสินค้า-บริการในช่องทางร้านค้า Offline มากขึ้น และ 3. Financial Services นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น สินเชื่อออนไลน์, ประกัน

พัฒนาการของ “TrueMoney” ในไทย อยู่ในสเต็ปการให้บริการ Online Payment – Offline Payment ได้แก่ การชำระเงินค่าดิจิทัล คอนเทนต์ / e-Commerce / เติมเงินโทรศัพท์มือถือ / โอนเงินระหว่างบุคคล / ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน App Store ของ Apple ที่ TrueMoey เป็นพันธมิตรธุรกิจ / ชำระบิล / เติมเงิน Easy Pass และล่าสุดการขยายฐานเข้าไปยัง “ร้านค้า Offline” มากขึ้น ในเชนร้านค้ารายใหญ่ และร้านค้าขนาดเล็ก

Resize นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ (4)
คุณธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด

ส่วนจำนวนลูกค้าในไทย อยู่ที่ 7 ล้านคน และมีมูลค่าธุรกรรมทางการเงินบนแอปพลิเคชัน TrueMoney (มกราคม – สิงหาคม 2561) กว่า 70,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้ 10 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านคนในปี 2562

แต่ถ้านับรวมทั้ง 6 ประเทศที่ “TrueMoney” ดำเนินธุรกิจ (ไทย กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) ปัจจุบันมียอดผู้ใช้บริการกว่า 21 ล้านคน มีมูลค่าธุรกรรมทางการเงินรวมทุกประเภท(มกราคม – สิงหาคม 2561) กว่า 140,000 ล้านบาท

สำหรับตลาดต่างประเทศ อยู่ในช่วงเริ่มต้น ดำเนินธุรกิจผ่าน “เครือข่ายตัวแทนท้องถิ่น” หรือ “เอเยนต์” ที่มีมากกว่า 50,000 รายใน 5 ประเทศ และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 70,000 รายภายในปี 2561 โดยเอเยนต์ให้บริการทางการเงิน ประเภท “โอนเงิน” ซึ่งแตกต่างจากเมืองไทย ที่คนไทยคุ้นเคยกับการโอนเงินผ่าน ATM, Mobile Banking, สาขาธนาคาร

แต่สำหรับ 5 ประเทศ (กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) ที่ “TrueMoney” ไปบุก จะใช้วิธีผู้บริโภคที่ต้องการโอนเงิน เอาเงินให้เอเยนต์ ถือเป็นตัวกลางในการโอนเงิน อย่างไรก็ตามมีบางประเทศ ที่ “TrueMoney” เริ่มเข้าสู่ธุรกิจ “e-Wallet” ในการทำธุรกรรมทางการเงินแล้ว เช่น กัมพูชา ปัจจุบันมีฐานลูกค้า 1.5 ล้านคน จากประชากรกัมพูชาทั้งประเทศ 16 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% ของประชากรรวม

ขณะที่มูลค่าธุรกรรมทางการเงินรวมทุกประเภทของปี 2560 (ทั้ง 12 เดือน) อยู่ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 160,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 288,000 ล้านบาท !!

Resize TrueMoney (25)

“ผู้ให้บริการแต่ละรายมีจุดแข็งของแต่ละคน เราเน้น Ecosystem ของเราที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเติมเงิน, เติมอินเทอร์เน็ต, จ่ายบิล, ชำระค่าดิจิทัล คอนเทนต์, ชำระค่าสินค้า-บริการจากร้านค้า ดังนั้นกลยุทธ์ของเรามุ่งเน้นให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการใน Ecosystem ของเรา

สำหรับธนาคาร มีทั้งในส่วนที่แข่งกัน และส่วนทำงานร่วมกัน ซึ่งลูกค้าของ TrueMoney มีจำนวนมากที่เอาเงินเข้าธนาคาร แล้วโอนเข้ามาใน Wallet ของ TrueMoney เพื่อใช้จ่าย แสดงให้เห็นว่าถึงแม้ลูกค้าจะมีแอปพลิเคชันธนาคาร ลูกค้าก็ยังเอาเงินเข้า Wallet เรา เพื่อใช้จ่าย โดยธนาคารได้ประโยชน์ด้วย เพราะทำให้แอปพลิเคชันของธนาคาร Active มากขึ้น

ขณะเดียวกัน TrueMoney ก็ได้ประโยชน์เช่นกัน ทำให้แอปพลิเคชันเราเกิดการใช้จ่าย และเมื่อเกิดการใช้จ่าย ทำให้เราเห็นข้อมูลพฤติกรรมการชำระเงินแบบ Real-time เรานำ Data ไปใช้ เพื่อทำให้เข้าใจความต้องการของลูกค้ามากสุด ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ” คุณธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด เล่าถึงจุดแข็งของ TrueMoney

Resize TrueMoney (9)

 

บุก Offline Payment – ลุยขยายจุดรับชำระเป็น 130,000 จุด – เล็งให้บริการสินเชื่อปี ‘62

กลยุทธ์สร้างการเติบโตทั้ง “จำนวนลูกค้าผู้ใช้งาน” และ “มูลค่าธุรกรรมทางการเงิน” สำหรับในไทย เวลานี้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มเครือข่ายร้านค้า Offline ที่รับชำระ TrueMoney ซึ่งร้านค้า Offline ครอบคลุมทั้ง Modern Trade, ร้านอาหาร และบุกเข้าไปยังร้านค้าทั่วไป โดยรวมแล้วปัจจุบันมีกว่า 100,000 จุดรับชำระ และกว่า 400,000 – 500,000 จุดเติมเงิน

โดยพฤติกรรมผู้ใช้ TrueMoney Wallet ในไทย มียอดใช้จ่าย ประมาณ 200 บาทต่อ 1 การใช้จ่าย และความถี่ในการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 7.2 ครั้งต่อเดือน
แผนจากนี้ คือ เร่งเดินหน้าขยายจุดรับชำระให้มากขึ้น ทั้งพันธมิตรร้านค้าขนาดใหญ่ และรายย่อยให้ครอบคลุมมากกว่าเดิม โดยตั้งเป้าเพิ่มเป็น 130,000 จุดรับชำระในปี 2561

Resize นางสาวมนสินี นาคปนันท์ (3)
คุณมนสินี นาคปนันท์ กรรมการผูัจัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ฉายภาพจุดเติมเงิน TrueMoney ครอบคลุมทั้งสาขาธนาคาร – ร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ต – ตู้คีออส

ส่วนความคืบหน้าของการจับมือกับ “บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)” หรือ “BEM” ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือ MRT ในการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ “TrueMoney” เพื่อศึกษา และพัฒนาการชำระเงินอเล็กทรอนิกส์ เช่น

– ซื้อหรือเติมเงินบัตรโดยสารรถไฟฟ้า ณ จุดจำหน่าย
– เติมเงินบัตรโดยสารแบบออนไลน์
– ชำระค่าโดยสารผ่านมือถือโดยไม่ใช้บัตร (Mobile Payment) ด้วยแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet
– ขยายการพัฒนาจุดรับชำระเงิน e-Wallet ในร้านค้าต่างๆ ภายใน Metro Mall (พื้นที่ค้าปลีกของ BEM) ผ่านแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet
– ร่วมกันผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

คุณธัญญพงศ์ เผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยกับ BEM โดยกำลังพัฒนา Solution ที่จะทำให้ผู้บริโภคสะดวกมากขึ้น คาดว่าจะได้เห็น TrueMoney ใช้กับรถไฟใต้ดินได้ ประมาณต้นปี 2562

นอกจากนี้ ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป “TrueMoney” สามารถชำระค่าโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยา มีจุดรับชำระ 15 สถานี และทำโปรโมชั่นลด 5 บาท เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมจากใช้เงินสด ไปสู่การใช้ e-Wallet

และตามแผนธุรกิจระยะยาว แน่นอนว่าอีกหนึ่งเป้าหมายที่ “TrueMoney” วางเอาไว้ คือ การให้บริการทางการเงิน เช่น สินเชื่อออนไลน์ และประกัน เช่นเดียวกับ “Ant Financial” ซึ่งเป็น FinTech รายใหญ่สุดของโลกที่เริ่มต้นด้วยบริการ Alipay จากนั้นในเวลาต่อมาได้พัฒนาเทคโนโลยีการชำระเงินหลากหลาย และนำเสนอบริการ-ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มากกว่าไปชำระเงิน เช่น Wealth Management, ผลิตภัณฑ์ประกัน, สินเชื่อออนไลน์ หรือ P2P Lending ที่ผู้กู้สามารถกู้เงินได้โดยตรงกับผู้ให้กู้ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคาร

“ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยระบบออนไลน์ อยู่ใน pipeline คาดว่าต้นปี 2562 น่าจะได้เห็น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทย ยังไม่มีใครปล่อยสินเชื่อออนไลน์ 100% ส่นใหญ่เป็นแบบออนไลน์ ผสมออฟไลน์ แต่ของ TrueMoney จะเป็นระบบออนไลน์” คุณธัญญพงศ์ สรุปทิ้งท้าย

Resize นางสาวมนสินี นาคปนันท์ (6)

Resize นายธีรวัฒน์ ติลกสกุลชัย (4)
คุณธีรวัฒน์ ติลกสกุลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด (ประเทศไทย) เล่าถึงแคมเปญ Welcome Bonus สำหรับลูกค้าใหม่ และแคมเปญ Lucky Bag

  • 37
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ