“Blockchain คือ The next big thing after the Internet” จากมุมมอง ‘สิริเกียรติ์ บุญวรเศรษฐ์’

  • 6.7K
  •  
  •  
  •  
  •  

ทำไมใครๆ พากันพูดถึง Bitcoin (บิทคอยน์) ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้คนรอบตัวคุณเคยพูดถึง Bitcoin ว่าอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ…คุณเข้าใจ Bitcoin หรือสิ่งที่พวกเขากำลังพูดถึงหรือไม่?

ถ้าคุณยังไม่เข้าใจ หรืออาจเคยทำความเข้าใจมาบ้างแต่ไม่มั่นใจว่าความรู้เหล่านั้นถูกต้องหรือไม่ เรารับอาสา…ช่วยไขความสงสัยเหล่านั้นให้หมดไป แต่ไม่ใช่เราที่จะเป็นผู้ขยายความ เรื่องนี้คงต้องหลีกทางให้ตัวจริงอย่าง “คุณสิริเกียรติ์ บุญวรเศรษฐ์” (Sirikiat Bunworaset) กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริดจ์ คอนซัลติ้ง จำกัด (Bridge Consulting) ในฐานะที่ปรึกษาทางธุรกิจด้านการวางแผนยุทธศาสตร์และการพัฒนาองค์กร และให้คำปรึกษาด้าน Blockchain ให้กับองค์กรชั้นนำหลายองค์กรในประเทศ ได้เป็นผู้อธิบาย พร้อมกับช่วยยืนยันว่า…นี่คือเวลาอันเหมาะสมที่ทุกคนจำเป็นต้องรู้และเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้!

“ก่อนจะเข้าใจ Bitcoin ต้องทำความเข้าใจ Blockchain (บล็อคเชน) ก่อน คนส่วนใหญ่มองว่านี่เป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องระบบเทคโนโลยี ใครไม่ได้ทำงานด้านไอทีหรือไม่ได้ชื่นชอบเทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องสนใจ ต้องบอกว่านี่คือความคิดที่ผิด และอยากบอกให้ทุกคนเปลี่ยนมุมมองใหม่ เพราะเรื่อง Blockchain ตอนนี้นั้นมีความสำคัญไม่แพ้กับ การเกิดขึ้นของ Internet เมื่อ 10 ปีกว่าที่ผ่านมา

1

Blockchain คือ…?

คุณสิริเกียรติ์ เริ่มต้นอธิบายให้เข้าใจ Blockchain ว่า สมมติให้เห็นภาพกับเรื่องใกล้ตัว เช่น การฝากและกู้เงินจากธนาคาร เราเลือกฝากเงินกับธนาคารเพราะรู้ว่าธนาคารมีความน่าเชื่อถือและจ่ายดอกเบี้ยให้กับเรา ไม่ว่าธนาคารจะนำเงินของเราไปปล่อยกู้กับคนอื่นแต่สุดท้ายเราก็จะถอนเงินของเราออกมาได้ครบทุกบาทตามที่ฝากเอาไว้ อีกทางหนึ่ง…เราเลือกจะกู้เงินจากธนาคารเพื่อมาลงทุนธุรกิจหรือใช้สอยปลูกบ้าน ซ่อมบ้าน เพราะเรารู้ว่าเราสามารถเชื่อถือธนาคารได้ มีอัตราดอกเบี้ยชัดเจน ไม่เหมือนการไปขอหยิบยืมเงินเพื่อนหรือคนอื่นที่เราไม่รู้จัก นี่คือระบบการเงินแบบในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเราอาศัย Trusted 3rd Party ที่เราเชื่อถือและมั่นใจเพื่อดูแลการเงินมาโดยตลอด และอย่าลืมว่าเราต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการใช้จ่ายให้กับ Trusted 3rd Party ด้วย

แต่ Blockchain แตกต่างออกไป และจะทำให้บทบาทของ Trusted 3rd Party ลดลง! ภายใต้รูปแบบธุรกรรมที่เรียกว่า Peer to Peer คือแทนที่จะมีตัวกลางองค์กรนึงมาทำหน้าที่เป็น Trusted 3rd Party ดูแลความถูกต้องของธุรกรรมต่าง ๆ ระบบ Blockchain ทำให้ทุก ๆ คน (หรือหลาย ๆ คน) ใน blockchain network นั้นเป็นคนช่วยกันตรวจสอบ ยืนยันธุรกรรมแต่ละธุรกรรมใน Network นั่นคือเปลี่ยนจากการประมวลผลธุรกรรมแบบรวมศูนย์ (Centralized) เป็นรูปแบบการกระจายอำนาจ (Decentralized) ทั้งนี้ทำให้ผู้รับและผู้ให้บริการติดต่อกัน และทำธุรกรรมกันเองได้โดยตรง ลดความล่าช้า และค่าใช้จ่ายของการมีตัวกลาง

ขอยกตัวอย่างประโยชน์ของการทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง…สมมติว่าเราเดินทางไปประเทศสิงคโปร์และใช้บริการรถแท็กซี่ซึ่งต้องใช้บัตรเครดิตในการจ่ายค่าโดยสาร ถึงแม้ว่าเป็นแค่การจ่ายเงินง่าย ๆ แค่ 1 ธุรกรรม แต่ในทางระบบนั้น ต้องเกิด Transaction นับ 10 ครั้ง กว่าเงินจะถูกโอนไปสู่คนขับรถ เช่น การตรวจสอบวงเงิน การอนุมัติของบริษัทบัตรเครดิต การตัดเงินผ่านบัญชีของธนาคาร การโอนเงินต่าง ๆ ผ่านตัวกลางอย่างน้อย 4 องค์กร เช่น บริษัทบัตรเครดิต บริษัท acquirer ธนาคารของลูกค้า ธนาคารของคนขับรถ ทั้งยังมีค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนสกุลเงิน รวมแล้วกว่า 5-7% ของค่าบริการ ทำให้เกิดขั้นตอนและระยะเวลานานหลายสัปดาห์หรือมากกว่าเดือนที่ผู้ขับจะได้รับเงินค่าโดยสารนั้น แต่ถ้าเป็นระบบ Blockchain ที่รองรับการใช้เงินสกุลดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีสกุลเงินดิจิทัลเป็นจำนวนมากแต่ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย คือ Bitcoin และ Ether เหตุการณ์ที่ยกตัวอย่างอาจเกิดขึ้นและเสร็จสิ้นได้ภายในเวลาเพียงเสี้ยววินาที โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ไม่ต้องเสียค่าแลกเปลี่ยนเงิน และแทบไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เพราะลูกค้าสามารถโอน Bitcoin หรือ Ether ให้กับคนขับรถโดยตรง โดยการยืนยันการทำธุรกรรมนั้นจะถูกตรวจสอบและยืนยันจาก node ต่าง ๆ ใน Blockchain network โดยไม่ต้องมีตัวกลางเหมือนเดิม

ดังนั้น Blockchain คือเทคโนโลยีที่ช่วยกระจายความสำคัญไปสู่ทุกคน (Decentralized Network) ไม่มีตัวกลางและไม่มีใครสำคัญกว่าใคร เพราะทุกคนสามารถตรวจสอบและเข้าถึงธุรกรรมที่เกิดขึ้นทุกเวลาได้ เพียงแต่ไม่สามารถรู้ได้ว่านั่นคือการใช้จ่ายของใคร โดยระบบจะทำการ encrypt ID ของแต่ละคนไว้ ซึ่งทำให้เกิดข้อดี คือ ทุกคนสามารถช่วยกันตรวจสอบและยืนยันความน่าเชื่อถือของแต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้นได้

ธุรกรรมที่ว่านี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นธุรกรรมทางการเงิน อาจเป็นธุรกรรมด้านอื่น ๆ ก็ได้ เช่น การซื้อขายที่ดิน การให้เช่าทรัพย์สิน การให้เช่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ทั้งหมดนี้สามารถทำเป็นธุรกรรมแบบไม่มีตัวกลางผ่านระบบ Blockchain ได้

2

แล้ว Bitcoin คือ…?

สรุปให้สั้นที่สุด Bitcoin คือ หนึ่งในสกุลเงินนับร้อยสกุลในโลกของเงินดิจิทัล ซึ่งสกุลเงิน Bitcoin ได้รับความนิยมสูงจนอาจเรียกได้ว่าเป็นอันดับหนึ่งในโลกเงินดิจิทัลก็ว่าได้

แต่ปัจจุบันไม่ได้มีแค่เงินดิจิทัลสกุลเดียว เพราะยังมี Ether เป็นเงินอีกสกุลหนึ่งที่ได้รับความนิยมเช่นกัน แต่ความแตกต่างของเงิน Ether คือระบบ Ethereum ซึ่งมาพร้อมกับเทคโนโลยี Smart Contract ที่สามารถกำกับการทำสัญญา เงื่อนไขการซื้อขาย หรือชำระเงินได้ด้วยโดยอัตโนมัติ ตามโปรแกรมในสัญญาที่เขียนขึ้น โดยไม่ต้องมีตัวกลางทำหน้าที่นั้น ๆ เช่น ศิลปินสามารถให้เช่าเพลงออนไลน์กับผู้ฟังได้โดยตรงไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลาง คือ app ต่าง ๆ ซึ่งจะได้หักค่าหัวคิวไปถึง 30-40% ทั้งยังสามารถระบุเป็นสัญญาการเช่าเพลงได้เลยว่าผู้ฟังจะได้รับสิทธิ์เปิดฟังเพลงได้กี่ครั้ง เมื่อไหร่ ที่ไหน โดยจะชำระเงินผ่านสกุลเงินดิจิทัลได้โดยอัตโนมัติ เมื่อธุรกรรมตามเงื่อนไขของสัญญาได้เกิดขึ้น

3

4

ทำไมประเทศไทยต้องใช้ Blockchain?

เทคโนโลยี Blockchain โดยเฉพาะ Ethereum จะเชื่อมผู้ซื้อและผู้ขายให้สามารถติดต่อและทำธุรกรรมกันได้โดยตรง ผ่านคอนเซ็ปต์ของ decentralized network โดยจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับประเทศได้มหาศาล รวมถึงยังลดต้นทุนทางธุรกิจด้วย

สิ่งสำคัญที่สุด คือ รัฐบาลต้องเห็นความสำคัญและผลักดันให้เกิดการใช้งานอย่างจริงจัง เนื่องจากปัจจุบัน ภาคเอกชนของไทยก็เห็นความสำคัญและเริ่มต้นใช้งานบ้างแล้ว เช่น ระบบ Blockchain Payment ของ Omisego เงินสกุลดิจิทัล Ripple ที่ธนาคารไทยพาณิชย์กำลังเริ่มใช้ อีกไม่นานคงแพร่หลายอย่างรวดเร็ว รวมถึงทางบริษัทบริดจ์ คอนซัลติ้งเองได้ร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่ของประเทศหลายองค์กรในการนำเอาระบบ Blockchain มาใช้ในการพัฒนาองค์กรและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ

เรื่องนี้ถือเป็น The next big thing after the Internet และปัจจุบันเทคโนโลยีก็พร้อมใช้งานแล้วขาดแต่เพียงความรู้ความเข้าใจที่ต้องเปลี่ยนเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมใช้งานเท่านั้น

“เมื่อก่อนเราเคยมองอินเทอร์เน็ตอย่างไร วันนี้ Blockchain ก็เป็นแบบนั้น หลายคนอาจจะยังมองไม่ออกว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศหรือโลกได้อย่างไร แต่ขอให้ดูอินเทอร์เน็ตเป็นต้นแบบ เพราะในอดีตเราก็ไม่เคยคิดว่าการเปิดอีเมลเพื่อเช็คข้อมูลระหว่างวัน โดยเปิดใช้จากมือถือนั้นจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ อนาคตของ Blockchain ก็เช่นกัน ยังมีประโยชน์และโอกาสมหาศาลที่รอเราอยู่ เข้าใจว่าในส่วนของการสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 4-5 ปีถึงจะแพร่หลาย แต่ก็เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องทำร่วมกันและเริ่มต้นทำพร้อมกันตั้งแต่ตอนนี้”

ประโยชน์ด้านอื่นของ Blockchain

นอกจากประโยชน์ด้านเงินสกุลดิจิทัล Blockchain ยังมีประโยชน์ในการกระจายโอกาสไปสู่อุตสาหกรรมด้านอื่นด้วย ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกากำลังเริ่มนิยมใช้ social media แบบใหม่ชื่อ “Steemit” (steemit.com) ซึ่งเป็น Blockchain-based social media platform กระตุ้นให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียได้รับประโยชน์จากการโพสต์ข้อความ รูปภาพ ยิ่งใครมีข้อความหรือภาพที่คนสนใจมากก็จะได้รับเงินกลับมามากด้วย แตกต่างจากโซเชียลมีเดียที่คนไทยนิยมใช้ในปัจจุบันที่มีไว้อัพโหลดข้อความและภาพให้เพื่อนได้ติดตามแต่เราไม่เคยได้รับเงินกลับมา คนที่ได้ประโยชน์จาก content ที่เราสร้างขึ้นกลับเป็น social media platform ทั้งที่ควรจะเป็นของเรา คนที่สร้างข้อความด้วย เรื่องนี้ก็ถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ทั่วโลกจะให้ความสนใจและใช้งานอย่างแพร่หลาย

5

ถ้าอยากได้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ…

ในวันที่ 21-24 กันยายนนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) จะจัดงานแสดงศักยภาพทางดิจิทัลเทคโนโลยีแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “Digital Thailand Big Bang 2017” ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยภายในงานจะมีนิทรรศการและการบรรยายประเด็นที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ รวมถึงเรื่อง Blockchain

6

ทั้งนี้ คุณสิริเกียรติ์ จะเป็นผู้ดำเนินรายการในการบรรยายช่วง “The Future of Payment” ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรต่างๆ อาทิ KBANK , SCB, BAY, VISA, Mastercard เพื่อพูดคุยในประเด็น The Future of Payment. How digital and blockchain technology revolutionize the future of money? ซึ่งจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 23 กันยายน เวลา 11.00-12.30 น. ที่ Challenger Hall โดยผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถติดตามรายละเอียดได้จากเว็บ www.digitalthailandbigbang.com

 


  • 6.7K
  •  
  •  
  •  
  •