“Look, Anyone can manage for the short-term–just keep squeezing the lemon. And anyone can manage for the long–just keep dreaming. You were made a leader because someone thought you could squeeze and dream at the same time…Performing balancing acts every day is leadership”
Jack Welch อดีตซีอีโอ General Electric กล่าวไว้
สรุปง่ายๆ ได้ว่า การเป็นผู้นำที่ดีนั้น ในระยะสั้น ควรที่จะต้องใช้มือหนึ่งบีบมะนาวลูกเดิมให้ได้ดีที่สุด ในขณะที่ระยะยาว ก็ต้องใช้อีกมือหนึ่งควานหาสิ่งใหม่ๆ (มะนาวลูกใหม่) อยู่ตลอดเวลาด้วย
และนี่อาจเป็นหนึ่งในแนวคิดสำคัญที่ “ชานนท์ เรืองกฤตยา” ซีอีโอของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ Ananda Development บริษัทอสังหาฯ ของคนรุ่นใหม่ ตัดสินใจปรับโครงสร้างสู่ Tech Company รายแรกของไทย ซึ่งนับว่าเป็นการปฏิวัติวงการอสังหาริมทรัพย์ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
และนอกจากนี้ ยังมีการแถลงยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ Ananda UrbanTech ที่จะนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนา ยกระดับมาตรฐานในการขับเคลื่อนองค์กรและโครงการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและผู้บริโภค ทำให้การใช้ชีวิตของคนเมืองมีความทันสมัยและมีคุณภาพที่ดีขึ้น
และเพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีตัวจริง อนันดาฯ ยังได้ทำการเปิดตัว Ananda Campus สำนักงานที่ชาญฉลาดที่สุดในเอเชีย พร้อมกับประกาศว่าด้วยเทคโนโลยีที่นำมาใช้กับสำนักงานจะช่วยสร้างให้เกิดการเติบโตแก่ อนันดาฯ ได้ถึง 300% ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้
Ananda UrbanTech
อะไรคือปัจจัยสำคัญหรือเบื้องหลังที่ทำให้ “โก้ ชานนท์” ตัดสินใจปฏิวัติครั้งใหญ่ครั้งสำคัญแบบนี้?
“โก้ ชานนท์” ยกเหตุผลว่า จากผลสำรวจในปี 2478 พบว่า 500 บริษัทในสหรัฐฯ มีอายุเฉลี่ย 90 ปี และสำรวจอีกครั้งเมื่อปี 2548 พบว่าอายุเฉลี่ยของบริษัทใน Fortune 500 ได้ลดลงเหลือเพียง 15 ปี โดยมีแนวโน้มที่จะลดลงต่ำกว่า 10 ปีนับจากนี้ ดังนั้น เพื่อคงไว้ซึ่งธุรกิจและความสำเร็จต่อไปในอนาคต บริษัทจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานตัวเองอยู่ตลอดเวลา
“ฉะนั้นในเวลา 5-10 ปีต่อจากนี้ เทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และยังมีผลต่อกระบวนการก่อสร้างอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น วิธีการก่อสร้าง การออกแบบ สิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ ที่จะเข้ามาบูรณาการการใช้ชีวิต สร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยประหยัดเวลา มีนวัตกรรมที่ช่วยดูแลสภาพ ช่วยดูแลเด็กและผู้สูงอายุ จนอาจเรียกได้ว่าเทคโนโลยีจะเข้าไปมีบทบาทในทุกแง่มุมของการใช้ชีวิตเลย และนี่อาจจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่โครงการที่อยู่อาศัยจะมีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เป็นแค่วัสดุในรูปทรงนั้นๆ ในสถานที่นั่นๆ ไปสู่สิ่งที่สามารถอำนวยความสะดวกและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทำให้คุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของคนในชุมชนเมืองนั่นเอง”
จากแนวความคิดดังกล่าว นี่เอง “โก้ ชานนท์” จึงตัดสินใจใช้มือหนึ่งควานหามะนาวลูกใหม่ ผ่านโปรเจ็คต์ Ananda UrbanTech โดยวางกลยุทธ์สำคัญไว้ ดังนี้
กลยุทธ์สำคัญของ Ananda UrbanTech
- ให้การสนับสนุน Ecosystem เป็นการให้ความสนับสนุนผู้ริเริ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ในระบบนิเวศน์ ทั้ง Startup, Accelerators และ Incubator โดยอนันดาฯ จะเป็นผู้สนับสนุนผู้อื่นมากกว่าลงมือทำเอง และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเฟ้นหาธุรกิจใหม่มากกว่าทำโดยลำพัง ซึ่งจะช่วยในการเข้าถึงเทคโนโลยี ไอเดีย และความรู้ ได้รวดเร็วขึ้น แต่มีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง ซึ่งกลยุทธ์นี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจและก้าวสู่การเป็น UrbanTech Company ตลอดจนสร้างสรรค์บริการต่างๆ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองได้อย่างแท้จริง สำหรับพันธมิตรที่อนันดาฯ ได้จับมือร่วมกัน อาทิ Hubba Thailand, สถาบันศศินทร์, Seedstars, BUILK,Money Table เป็นต้น ประเดิมโปรเจ็คต์แรกกับ Haupcar Co. ผู้ให้บริการ ฮอปคาร์ (Haupcar) ซึ่งเป็นการให้บริการแบบ car-sharing ผ่านทางสมาร์ทโฟน เรียกว่าเป็นเทคโนโลยีล้ำๆ ที่ลูกบ้านอนันดาฯ จะได้ก่อนใคร
- จัดตั้งกองทุน Fund of Funds ลงทุนในกองทุนนวัตกรรมทั่วโลกการลงทุนในกองทุนต่างๆ จะช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และยังได้เรื่องของธุรกิจและการลงทุนในระยะยาวของบริษัท
- การบริหารกิจการร่วมทุน Corporate Venture Capital การร่วมลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพและเทคโนโลยี ที่สามารถนำมาเสริมธุรกิจขององค์กรในอนาคตได้
Ananda Campus
นอกจากแถลงเรื่องการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจแล้ว ยังมีการพาทัวร์ สำนักงานแห่งใหม่ของอนันดาฯ โดย “โก้ ชานนท์” พาตะลอนด้วยตัวเอง ณ อาคาร FYICenter ถนนพระราม 4 ชั้น 11 และ 12 พร้อมกับยืนยันว่าเป็น The Smartest Office in Asia ที่มีการนำเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่าล้ำสมัยอย่างยิ่งเพื่อช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น บนพื้นที่ใช้สอย 8,255 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็นพื้นที่ส่วนสำนักงาน ห้องประชุม และส่วนสันทนาการ
- Smart Office
และอย่างที่กล่าวไปคือจะเน้นการสร้างสรรค์พื้นที่การทำงานให้เป็น Smart Officeแน่นอนว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน เช่นการจองห้องประชุมและโต๊ะทำงานที่สามารถจองได้เลยผ่านมือถือ (Smart Registration System) การสั่งงานพิมพ์ผ่านมือถือ (Mobile Printing) โดยระบบ Send Anywhere หรือการประชุมแบบออนไลน์ที่สามารถส่งไฟล์เอกสารได้ด้วย (Viedo Conference –WebEx) ระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในห้องประชุม อย่าง E-Board เป็นต้น ถ้ายังนึกภาพไม่ออกลองดูจากคลิปด้านล่างค่ะ
Ananda Campus Smart Office
httpv://youtu.be/CYOS8Yh9woc
Ananda Campus E-board
httpv://youtu.be/TCdv8PJE6qg
รวมถึงการนำระบบแอพพลิเคชั่นมาใช้ในการทำงานด้วย อาทิ Jabber และ Workplace by Facebook ซึ่งถือว่าอนันดาฯ เป็นเจ้าแรกของบริษัทอสังหาที่นำระบบนี้มาใช้ และทั้งหมดนี้จะติดตั้งลงบนสมาร์ทโฟนและเครื่องคอมพิวเตอร์ให้พนักงานแต่ละคนได้ใช้งานเพื่อให้เข้าถึงการติดต่อสื่อสารภายในองค์กร โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรชั้นนำที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี อาทิ Samsung, Cisco, Fujisu เป็นต้น
ที่สำคัญยังตั้งเป้ากับการนำเทคโนโลยีมาใช้ว่า จะต้องทำให้บริษัทเติบโตได้ถึง 300% ภายใน 3 ปี โดยไม่เพิ่มจำนวนพนักงานเลย นั่นหมายความว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานทุกคน
- ปฏิวัติวัฒนธรรมองค์กร
นอกจากนี้ อนันดาฯ ยังมุ่งสร้างวัฒนธรรมในองค์กรใหม่ โดยต้องการเปลี่ยนให้เน้นเรื่องของการประสานความร่วมมือ (Collaboration) ให้มีพื้นที่ส่วนกลางใช้ร่วมกันได้ ไม่มีโต๊ะหรือคอมพิวเตอร์ส่วนตัวใช้ที่ทำงาน ด้วยคอนเซ็ปต์โต๊ะทำงานแบบ Hot-Desk เน้นโครงสร้างการบริหารแบบแฟลท ที่ผู้บริหารเองก็มีเพียงโต๊ะทำงานเล็กๆ ที่เปิดโล่งเพื่อลดปัญหาการสื่อสารภายใน
มีมุมพักผ่อนให้พนักงานได้พักตามอัธยาศัย จัดเตรียมอาหารกลางวันและคาเฟ่เพื่อสุขภาพจากร้าน Kloset สำหรับพนักงานทุกคน
ในมุมพักผ่อน ฮือฮามากกับการจัดพื้นที่เหมือนห้องนอนแบบแคปซูลให้พนักงานได้งีบหลับพักผ่อนอีกด้วย เพื่อชาร์ตพลังการทำงานให้เฟรชขึ้น
เปิดพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจในความคิดสร้างสรรค์ เช่น การสร้างกำแพงที่สามารถขีดเขียนได้ (Inspiration Wall) หรือสร้างงานศิลปะก็ได้ตามต้องการ
ห้องประชุมที่มีการตั้งชื่อตามสถานีรถไฟฟ้า กิมมิคโดดเด่นของโครงการคอนโดติดรถไฟฟ้าของอนันดาฯ นั่นเอง มีทั้งหมด 45 ห้องด้วยกัน ตั้งแต่ขนาดย่อมไปจนถึงขนาดใหญ่
และนอกเหนือจากการปรับกลยุทธ์ธุรกิจและวัฒนธรรมองค์กรแล้ว อนันดาฯ ยังได้ปรับโครงสร้างการบริหารพร้อมแต่งตั้งคณะผู้บริหารขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่เป็นการเฉพาะในการขับเคลื่อนสู่การเป็น Tech Company โดยได้มีการแต่งตั้งผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ ได้แก่ ดร.เชษฐ์ ยง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรม (Chief Innovation Officer) ความรับผิดชอบครอบคลุมการเป็น Think Tank หรือ ศูนย์รวมทางความคิดเพื่อเสริมเข้ากับนวัตกรรมทั้งหมด และ ดร.จอห์น มิลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ เป็นผู้มีบทบาทอันหลากหลายและเป็นผู้วางกลยุทธ์นวัตกรรมใหม่ของบริษัท
และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ของการก้าวเข้าสู่การเป็น Tech Company อนันดาฯ จึงได้จัดทำวิดีโอ แสดงถึงบทสรุปของการปฏิวัติวงการอสังหาฯ ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นคำสัญญาที่สำคัญที่เราจะได้เห็นและจับตาการเปลี่ยนแปลงของอนันดาฯ ต่อไป
ANANDA URBANTECH
httpv://youtu.be/vzWdfJE_9ks
การพลิกโฉมอย่างที่คาดไม่ถึงนี้ ทำให้ อนันดาฯ เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายแรกที่ประกาศเปลี่ยนตัวเองเป็น Tech Company แต่ยังคง core business ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์อยู่ พร้อมกับการมุ่งสู่ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีร่วมกับพันธมิตรเพื่อสร้าง ecosystem ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้การดำเนินธุรกิจมีโอกาสอยู่รอดและเติบโตต่อไปในอนาคต เรียกได้ว่าเป็นการ ‘คั้นมะนาวลูกเก่า’ พร้อมกับ ‘หามะนาวลูกใหม่’ ไปพร้อมกันได้อย่างน่าทึ่ง และจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เชื่อว่าปี 2017 อุตสาหกรรมอสังหาฯ ในบ้านเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป น่าจะจับตาความเร่าร้อนนี้ยิ่งนัก.
Copyright © MarketingOops.com