เจาะลึก Blockchain ของกสิกรกับไอบีเอ็มรับรองหนังสือค้ำประกัน

  • 73
  •  
  •  
  •  
  •  

เคยสงสัยหรือไม่ว่าการทำธุรกรรมแต่ละครั้งกับแต่ละองค์กรจะต้องมีเอกสารที่ต้องใช้ซ้ำๆกัน นึกถึงบัตรประชาชนของเราที่ต้องถ่ายเอกสารให้หน่วยงานหลายๆที่ที่เราต้องการติดต่อ อีกทั้งยังมีขั้นตอนในการรับรองความถูกต้องของเอกสารต้นฉบับที่ซ้ำซ้อน ทำให้เสียทั้งเงินและเวลา การทำธุรกรรมต่างๆจึงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

การเข้ามาของเทคโนโลยีของ “บล็อกเชน”(Blockchain) จะทำให้เราไม่ว่าจะเป็นลูกค้า พนักงาน องค์กรต่างๆได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว ประหยัด ปลอดภัย ล่าสุดกสิกรไทยจับมือกับไอบีเอ็ม ทำบล็อกเชนและสร้างบริการ “Original Cert” ใช้รับรองเอกสารต้นฉบับรับรองความน่าเชื่อถือ

ขนาดบริษัทการเงินข้ามชาติรายใหญ่อย่าง Goldman Sach ออกมาคาดการณ์ว่าตลาดทุนจะประหยัดเงินได้ถึง  6 พันล้านเหรียญ ต่อปีถ้าเอาบล็อกเชนมาใช้ในตลาดทุน

img_1391

 

บล็อกเชน ไม่ใช่แค่ Internet of Things แต่เป็น Internet of Value

พูดง่ายๆ บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่เก็บข้อมูลที่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน และเมื่อเก็บเข้าไปในบล็อกเชนแล้ว เราจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้อีกเลย

ฉะนั้นจะไม่มีทางปลอมแปลงเอกสารในบล็อกเชนได้ ทำให้เราสามารถเก็บข้อมูลที่มีค่าไว้อยู่ในอินเตอร์เน็ตได้ โดยไม่ต้องมีตัวกลาง ข้อมูลที่เก็บอยู่ในบล็อกเชนจึงน่าเชื่อถือเท่ากับต้นฉบับที่เจ้าของมีอยู่ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชนนั้นสามารถเข้าถึงข้อมูลชิ้นเดียวกันนั้นได้ทันที

 

blockchain-applications

 

ทุกเอกสารในบล็อกเชนคือต้นฉบับที่เจ้าของรับรองความถูกต้อง

เอกสารในบล็อกเชนถือว่าเป็นเอกสารต้นฉบับ คนที่ใช้บล็อกเชนเข้ามาก็เสมือนว่าได้ดูต้นฉบับจริงๆ เช่นเอาหนังสือคำประกันใส่เข้าไปในบล็อกเชน คนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. หรือบุคคลที่อยากได้หนังสือสัญญาค้ำประกัน ก็จะเห็นหนังสือสัญญาค้ำประกันเหมือนได้รับจากธนาคารโดยตรง

เอกสารอื่นๆ เช่นบัตรประจำตัวประชาชนที่เก็บไว้ในบล็อกเชน บัตรประจำตัวนั้นก็จะมีค่าเท่ากับบัตรประชาชนที่กระทรวงมหาดไทยออกให้ หรือ หรือแม้แต่เรื่องของสัญญาหรือกรรมสิทธิ์ หากเราเอาโฉนดที่ดินใส่เข้าไปในบล็อกเชน โฉนดที่ดินนั้นจะน่าเชื่อถือเท่ากับโฉนดที่ดินที่กรมที่ดินออกให้หน่วยงานก็ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ คนที่เกี่ยวข้องสามารถเชื่อถือข้อมูลในเอกสารที่อยู่ในบล็อกเชนได้

ตัดขั้นตอนการตรวจสอบไปได้เลย

certify

 

บล็อกเชนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ทุกวงการธุรกิจ ไม่ใช่แค่การเงินการธนาคาร

เช่นการนำเข้าส่งออกของจากต่างประเทศ ก็ต้องออกเอกสารเช่นใบสั่งของ และ Invoice ทุกครั้งที่มีการออกเอกสารก็ต้องติดต่อแต่ละที่เอาเอง ทำให้ไม่แน่ใจว่าเอกสารที่ได้ไปนั้นหมดอายุแล้วหรือไม่ และไม่รู้ว่าใช่ต้นฉบับตัวจริงหรือไม่ เสียทั้งเวลาและต้นทุนค่าใช้จ่าย

และธนาคาร คนสั่งซื้อ คนสั่งของเข้ามา คนส่งของ และผู้เกี่ยวข้องทั้งลูกโซ่สามารถส่งข้อมูลเข้าบล็อกเชนและเข้ามาเห็นทุกธุรกรรมและบัญชีตัวเดียวกันได้ และร่วมกำหนดกติกาของธุรกิจนั้นได้ว่าให้ใครในลูกโซ่เห็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแต่ละคนได้แค่ไหน อย่างไร

 

Team Huddle Harmony Togetherness Happiness Concept

 

โครงการ “ไฮเปอร์เลตเจอร์”: ที่มาของบล็อกเชนของไอบีเอ็ม

โครงการ “ไฮเปอร์เลตเจอร์” (Hyperledger) ของไอบีเอ็มได้พัฒนาบล็อกเชนผ่านบริการคลาวด์แพลตฟอร์มบลูมิกซ์ ซึ่งใส่ข้อมูลของบริษัทต่างๆ เช่น IOT และ Watson ลงไปในแพลตฟอร์มนี้ แล้วให้องค์กรสร้าง Application เข้าถึงข้อมูลมหาศาล

ซึ่งไอบีเอ็มลงทุนไป 2-3 ร้อยล้านเหรียญสร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา มีสถาปนิก 100 คน นักวิจัยอีก  35 คนพัฒนาโค้ตกว่า 44,000 และทำงานกับ Linix Foundation ซึ่งมีสมาชิกเริ่มต้น 17 รายเช่น ANZ JPMorgan และ Accenture มาพัฒนาการกำกับดูแลบล็อกเชนให้เป็นระบบที่น่าเชื่อถือโปร่งใส และเพิ่มประสิทธิภาพพอที่จะทำให้ทุกคนเชื่อใจในระบบและเข้ามาใช้บริการ

ฉะนั้นบล็อกเชนต้องเป็นเทคโนโลยีที่ทุกองค์กรต้องใช้และเข้าถึงง่ายหากเอาบล็อกเชนไปใช้เปลี่ยนวิธีการทำงานในอุตสาหรรมและใช้กันแพร่หลายในองค์กรต่างๆที่อยู่ในบล็อกเชน  ยิ่งมีคนใช้เยอะเท่าไร่ บล็อกเชนยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทด้วย

img_1364

นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด 

 

Origin Cert ของกสิกรไทย ช่วยรับรองความถูกต้องของข้อมูลในหนังสือค้ำประกัน

กสิกรไทยให้บริการระบบรับรองความถูกต้องของข้อมูลบนเอกสาร Origin Cert ซึ่งใช้บล็อกเชนของไอบีเอ็มโดยสร้างชั้นของการให้บริการขึ้นมา (Service Layer) ให้ Application Program Interface หรือ API ดึงทุกคนเข้ามาร่วมโครงการ โดยเฉพาะธนาคารเจ้าอื่น ไม่ใช่แค่กสิกรไทย

โดยกสิกรเริ่มให้บริการ Origin Cert API รับรองหนังสือค้ำประกัน เมื่อลูกค้าอยากให้ออกหนังสือค้ำประกัน ลูกค้าสามารถส่งคำร้องได้เลยว่าต้องการให้ธนาคารไหนเป็นผู้ออกให้ และรับหนังสือนั้นจากธนาคารในบล็อกเชนได้ทันที เมื่อหนังสือใกล้หมดอายุ บริการนี้ก็จะเตือนและเสนอให้ต่ออายุตามขั้นตอน และที่สำคัญลูกค้าที่เป็นเจ้าของหนังสือเท่านั้นที่สามารถกำหนดเงื่อนไขได้ว่าหนังสือของเราสามารถให้ใครหรือหน่วยงานไหนเข้าถึงและใช้ได้บ้าง

Origin Cert API จึงช่วยลดกระบวนการที่ใช้ออกหนังสือ บริการลูกค้าได้เร็วขึ้น ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงและใช้งานเอกสารหนังสือค้ำประกันในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ไม่ต้องลำบากเดินไปแต่ละธนาคาร หรือไม่ต้องนั่งกดแอปฯของแต่ละธนาคาร ลูกค้าเข้าระบบบริการ Origin Cert ได้ที่เดียวเลย

สะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง และปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องบล็อกเชนเลย

img_1385

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป 

 

สรุปง่ายๆ กสิกรไทยสร้างชั้นบริการใน Origin Cert ขึ้นมาโดยจับมือกับไอบีเอ็มสร้างบล็อกเชนในโครงการ Hyperledger รองรับบริการ Origin Cert ที่รับรองหนังสือสัญญาค้ำประกัน แต่ที่ท้าทายคือทำอย่างไรจะดึงคนมาใช้บริการได้เยอะๆจนเป็นส่วนหนึ่งของบล็อกเชน ที่สำคัญกสิกรไทยและไอบีเอ็มต้องเร่งทำความเข้าใจให้ทุกคนเห็นว่าบล็อกเชนของตนดีอย่างไร ประหยัดอย่างไร

มิฉะนั้นต่างคนต่างสร้างบล็อกเชนซ้ำซ้อน แทนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ กลับให้ผลตรงกันข้าม

 

Source: Copyright © MarketingOops.com


  • 73
  •  
  •  
  •  
  •  
Sarunjade
แชร์มุมมองเกี่ยวกับ Digital Marketing, Digital Business และ Technology เท่าที่รู้ สามารถติชมหรืออยากให้เจาะลึกเรื่องไหนเป็นพิเศษ ส่งเมลมาเลยที่ contact@oopsnetwork.co.th