มองต่างมุมสถานการณ์ถุงพลาสติก เมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบ จบอย่างไรให้สวย

  • 327
  •  
  •  
  •  
  •  

Plactic Factory

ดูเหมือนว่า นอกจากปี 2563 หรือ 2020 จะเป็นปีเริ่มทศวรรษใหม่ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของแผนหลายๆ แผน หนึ่งในนั้นคือแผนการงดใช้ถุงพลาสติกที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากถุงพลาสติกเป็นหนึ่งในขยะที่ย่อยสลายยากและใช้ระยะเวลานานกว่า 100 ปีกว่าจะย่อยสลายจนหมด อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาขยะถุงพลาสติกยังคร่าชีวิตสัตว์ป่าและสัตว์ทะเลไปเป็นจำนวนมาก

ถุงพลาสติกจึงกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั่วโลกจึงเริ่มออกมาตรการในการควบคุมการใช้ถุงพลาสติกไปจนถึงการงดใช้ถุงพลาสติก แน่นอนว่าในหลายประเทศที่เจริญแล้วมีการใช้ถุงกระดาษ รวมไปถึงการนำภาชนะ เช่น กล่องกระดาษในการไปใส่สินค้ากลับบ้าน และในบางประเทศก็มีการใช้ถุงพลาสติกแบบบางที่ย่อยสลายได้

Plastic Bag

สำหรับประเทศไทยดูเหมือนจะเลือกใช้วิธีงดใช้ถุงพลาสติกสำหรับห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ และผลที่ตอบกลับมาก็เป็นไปในทิศทางที่ดี แม้จะมีการประชดประชันจากโลกโซเชียล แต่ก็ถือเป็นปรากฏการณ์สร้างสีสันให้กับกระแสรักษ์โลกได้ไม่น้อย แต่ยังมีจุดเล็กๆ อีกด้านของสถานการณ์นี้ที่ไม่อาจมองข้าม

โดยสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ได้มีการประเมินความเสียหายจากการงดใช้ถุงพลาสติกไว้สูงกว่า 30,000 ล้านบาท จากเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก ยังไม่นับรวมรายอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ปัจจุบันยอดขายถุงพลาสติกหายไปราว 70% นับตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เมื่อห้างสรรพสินค้าได้เริ่มนโยบายการงดใช้ถุงพลาสติก และรุนแรงเพิ่มขึ้นหลังจากช่วงวันขึ้นปีใหม่

ผลกระทบด้านยอดขายถือเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจ เพราะผลกระทบที่ตามมาคือการเลิกจ้างแรงงาน และจะส่งผลต่ออัตราคนว่างงานที่ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่รัฐบาลประกาศเลิกใช้ถุงพลาสติกเร็วกว่าแผนเดิม 2 ปี หรือจากเดิมที่กำหนดไว้ในปี 2565 ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่ทันได้ตั้งตัว

TPIA

ด้าน นายณภัทร ทิพย์ธนกิจ รองนายกอาวุโสสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ชี้ว่า รัฐบาลเคยเรียกสมาคมฯ เข้าชี้แจง โดยตามแผนจะให้ประชาชนงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic Bags) ที่มีความหนาไม่เกิน 36 ไมครอนในปี 2565 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า แม้ว่าสมาคนฯ จะเห็นด้วยและสนับสนุนนโยบายงดให้ถุงแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ควรดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลถึง 2 ข้อ โดยต้องการให้รัฐบาลทบทวนแผนและยืดระยะเวลาออกไปตามกำหนดระยะเวลาเดิม (ปี 2565) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว และอนุญาตให้สามารถจำหน่ายถุงพลาสติกใบละ 1 บาท สำหรับถุงพลาสติกที่มีนาดใหญ่กว่าและหนากว่า 36 ไมครอน (Multiple Use) ที่เหมาะสำหรับการรีไซเคิล

No Plastic bag Mexico

ไม่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่งดการใช้ถุงพลาสติก เพราะที่แม็กซิโก (Mexico) ก็ประกาศงดใช้ถุงพลาสติกในช่วงปีใหม่ด้วยเช่นกัน แต่เข้มข้นกว่าด้วยการออกเป็นกฎหมาย ร้านค้าที่ฝ่าฝืนขายหรือแจกแถมถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single Use Plastic Bags) จะถูกปรับสูงสุดที่อัตรา 1.7 แสนเปโซหรือราว 2.7 แสนบาท ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกแม็กซิโกก็ไม่ต่างจากไทย โดยมีการเรียกร้องไปยังรัฐบาลแม็กซิโกให้สนับสนุนการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ได้หลายครั้ง (Multiple Use) แทนที่การยกเลิกการใช้แทบทันที

สำหรับทางออกที่มีความเป็นไปได้ที่สุด รัฐบาล “อาจจะ” ออกมาตรการสนับสนุนการใช้ถุงพลาสติกแบบ Multiple Use รวมไปความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติก ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว รวมถึงการศึกษาถึงประเภทถุงพลาสติกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและการให้ความรู้ในเรื่องของการแยกประเภทขยะแก่ประชาชน

Plastic in Sea

แม้ว่าการเลิกใช้ถุงพลาสติกจะเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับและทั่วโลกตั้งเป้าหมายเอาไว้ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติก แต่บรรดาลูกจ้างในอุตสาหกรรมพลาสติกก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้การเลิกใช้ถุงพลาสติกก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายทั้งธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและทุกสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

Source: Channel 7, PPTV


  • 327
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา