Google Chrome

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

เมื่อเบราว์เซอร์คือประตูสู่กิจกรรมออนไลน์ครอบจักรวาล การแจ้งเกิดเบราว์เซอร์ของตัวเองในนาม Google Chrome จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ชาวไซเบอร์พูดถึงไม่ขาดปาก แน่นอนว่าเรื่องนี้ทำให้ผู้เล่นทุกรายในสมรภูมิเบราว์เซอร์นั่งไม่ติด รวมถึงเจ้าตลาดอย่าง IE

 (Internet Explorer) ของไมโครซอฟท์

นัยสำคัญของการให้บริการเว็บเบราว์เซอร์ และชื่อกูเกิล เป็นที่สนอกสนใจของโลกไซเบอร์ทุกหย่อมหญ้า ส่งให้การเปิดตัวสุดเซอร์ไพรส์ของ “Google Chrome” เบราว์เซอร์น้องใหม่ฝีมือกูเกิลเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อ Google Chrome ถูกนิยามว่าเป็นเบราว์เซอร์ยุคใหม่ที่จะทำให้นักท่องเน็ตใช้งานเว็บได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น และปลอดภัยมากขึ้น

แปลว่าเบราว์เซอร์ทุกรายในตลาดขณะนี้ ทั้ง IE, Firefox, Safari, Opera และอื่นๆ ยังแรงไม่ถึงใจกูเกิล

เรื่องนี้ Ben Goodger วิศวกรซอฟต์แวร์ของกูเกิลแถลงไว้ว่า เบราว์เซอร์ที่กูเกิลสร้างไม่ได้เกิดมาเพื่อชมคอนเทนต์ออนไลน์ดั้งเดิม เช่น ข้อความ หรือมัลติมีเดีย แต่เกิดมาเพื่อเป็น “Window Manager” หรือการจัดการหน้าต่างเว็บเพจและเว็บแอพพลิเคชั่นจำนวนมากที่ผู้ใช้มักจะเปิดพร้อมๆ กัน

สาเหตุที่กูเกิลคิดเช่นนี้ เพราะกูเกิลเชื่อว่าเว็บแอพพลิเคชั่นหรือบริการแอพพลิเคชั่นออนไลน์บนอินเทอร์เน็ต จะมาแทนที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างเต็มตัวในอนาคต เนื่องจากผู้ใช้ซึ่งตกเป็นทาสของโปรแกรมแสนแพงนานาชนิด ไม่จำเป็นต้องกัดฟันซื้อลิขสิทธิ์รายคนเพื่อนำโปรแกรมมาติดตั้งในคอมพิวเตอร์ตัวเองอีกต่อไป

แน่นอนว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องยกเมฆ เพราะกูเกิลได้พิสูจน์ให้โลกเห็นถึงความสะดวกสบายที่เกิดจากสารพัดกิจกรรมออนไลน์แล้วในขณะนี้ ตัวอย่างเช่น บริการ Google Docs ที่ผู้ใช้สามารถพิมพ์งานและทำพรีเซนเทชั่นได้บนเว็บ หรือบริการ Google Talk ที่ผู้ใช้สามารถแชตกับเพื่อนได้โดยไม่ต้องติดโปรแกรมใดๆ และอื่นๆ ที่จะแจ้งเกิดตามมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แต่เบราว์เซอร์ที่โลกมีในขณะนี้ยังไม่สามารถรองรับเว็บแอพพลิเคชั่นประสิทธิภาพสูง ผู้พัฒนาเว็บแอพพลิเคชั่นจึงต้องชะลอความสามารถของเว็บแอพพลิเคชั่นที่ตัวเองสร้างขึ้นให้รองรับกับเบราว์เซอร์ที่มีอยู่ เพราะไม่เช่นนั้น ผู้ใช้ก็จะไม่มีทางเปิดเว็บแอพพลิเคชั่นเหล่านั้นได้ ขณะเดียวกัน ผู้พัฒนาจำนวนไม่น้อยยังมีความคิดว่าต้องยึดตัวเองไว้กับเบราว์เซอร์ยอดนิยม ซึ่งไม่มีความสามารถเพียงพอ

เหล่านี้ทำให้เว็บแอพพลิเคชั่นประสิทธิภาพสูงที่จะโกยความนิยมจากผู้ใช้ไม่เกิดขึ้นเสียที ความเชื่อของกูเกิลจึงเป็นรูปธรรมได้ช้าแบบไม่ควรเป็น

เพื่อปลดล็อกให้เว็บแอพพลิเคชั่นเติบโตโดยไม่มีเงื่อนไข กูเกิลจึงคลอดเบราว์เซอร์ของตัวเอง โดย Larry Page ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิลให้สัมภาษณ์ว่า เริ่มต้นโครงการนี้ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว บนความหวังให้ผู้ใช้รู้สึกภูมิใจกับเบราว์เซอร์โอเพ่นซอร์สที่ตัวเองใช้อยู่ ซึ่งทุกคนสามารถร่วมกันพัฒนา และทำให้เกิดเป็น “ระบบแวดล้อมสุขภาพดี” ที่ทุกคนได้ประโยชน์

“IE8” อยู่นอกสายตา

เมื่อ Page ถูกถามด้วยว่า Google Chrome ถูกสร้างเพื่อชนกับ IE8 เบราว์เซอร์เวอร์ชั่นล่าสุดของไมโครซอฟท์ที่เปิดให้ทดลองใช้เป็นเวอร์ชั่นที่ 2 อยู่ในขณะนี้หรือไม่ Page ตอบแสบสันทำนองว่า ต้องเป็น IE9 เวอร์ชั่นหน้าจึงจะเหมาะเป็นคู่แข่งของ Chrome โดยบอกว่า กูเกิลตั้งใจแข่งขันกับโปรแกรมที่ถูกตั้งเป็นค่าเริ่มต้น (Default) มากับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่

Page ยืนยันว่า Google Chrome ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่จะทำเงินให้กูเกิลเลย แต่จะเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับประสบการณ์ท่องเน็ตของผู้ใช้ ซึ่งเมื่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น เมื่อนั้นรายได้จึงจะเข้ากระเป๋ากูเกิล

คำถามว่า ทำไมกูเกิลจึงแยกวงจากมอสซิลลา (Mozilla) องค์กรพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระซึ่งแจ้งเกิด Firefox เบราว์เซอร์น้องใหม่บนความร่วมมือกับกูเกิล ได้รับคำตอบจาก Sundar Pichai ประธานฝ่ายจัดการผลิตภัณฑ์ของกูเกิล ว่าเพราะกูเกิลไม่ต้องการยัดเยียดความคิดของกูเกิลให้ใคร กูเกิลต้องการเป็นตัวเลือกให้ผู้ใช้ตัดสินใจเอง

เรื่องนี้ John Lilly ซีอีโอ Mozilla โพสต์ไว้บนบล็อกแล้วว่า การเปิดตัว Chrome ไม่มีผลกระทบใดๆต่อความสัมพันธ์ระหว่างมอสซิลลาและกูเกิล ยืนยันว่าจุดยืนของสององค์กรไม่เหมือนกัน ภารกิจและแนวคิดที่ต่างกันทำให้สององค์กรเดินไปคนละทาง โดยความร่วมมือกับกูเกิลในโครงการต่างๆของมอสซิลลาจะยังกินระยะเวลาไปถึงปี 2011

นักวิเคราะห์นั้นฟันธงว่า กูเกิลไม่ได้หวังจะเป็นผู้ให้บริการเบราว์เซอร์เจ้าตลาดจริงอย่างที่พูด แต่กูเกิลต้องการแย่งชิง “ความเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์พีซี” มาจากไมโครซอฟท์ โดย Sheri McLeish นักวิเคราะห์จาก Forrester Research บอกว่า Chrome เป็นความพยายามในการสร้างพื้นที่เพื่อบริการและชุดเครื่องมือของตัวเองในอนาคต ไม่ใช่การลงมาเล่นในตลาดเบราว์เซอร์

ที่สำคัญ McLeish เห็นว่ากลุ่มที่จะหวั่นไหวไปกับ Chrome คือกลุ่มเซียนเน็ต นักเรียน และผู้ชอบของใหม่อื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดเพียงน้อยนิดของเบราว์เซอร์ยักษ์ใหญ่ แต่เป็นกลุ่มตลาดหลักของ Firefox และเบราว์เซอร์ทางเลือกอื่นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมอสซิลลาควรเป็นห่วงการแจ้งเกิดของ Chrome ไว้บ้าง เพราะจากการประเมิน Chrome สามารถดึงผู้ใช้จาก Firefox ไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์แน่นอน

ตูมเดียวพร้อมใช้ 43 ภาษา

Chrome เปิดให้ดาวน์โหลดเวอร์ชั่นทดลองใช้หรือ Beta แล้วใน 122 ประเทศเบ็ดเสร็จ 43 โดยคุณสมบัติเด่นของ Chrome คือการออกแบบอินเทอร์เฟสใหม่ ซึ่งวางแท็บไว้บนเมนูบาร์ แทนที่จะไว้ด้านล่างแบบปกติ ทำให้การเข้าเว็บรวดเร็วขึ้น ขณะที่แอดเดรสบาร์สามารถใช้พิมพ์ที่อยู่เว็บและค้นหาข้อมูลด้วยคีย์เวิร์ดได้ (ฟีเจอร์นี้ถูกเรียกว่า “Omnibox”) ในที่เดียว

มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กูเกิลออกแบบ Chrome มาสำหรับใช้งานในแต่ละท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพราะหากผู้ใช้อยู่ในประเทศไทย การค้นหาข้อมูลด้วยแอดเดรสบาร์จะได้ผลการค้นหาจากกูเกิลประเทศไทยโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ผู้ใช้สามารถสร้าง “ไอคอน” เพื่อคลิกเข้าเว็บที่มีการใช้งานบ่อยได้สะดวก และหากไม่ต้องการให้ประวัติการท่องเว็บถูกคนอื่นล่วงรู้ สามารถเลือกฟีเจอร์ “ไม่ระบุตัวตน” เพื่อให้ประวัติการเปิดเว็บไซต์และการดาวน์โหลดไฟล์ไม่ถูกบันทึกไว้บนคอมพิวเตอร์

Google Chrome เวอร์ชั่นทดลองถูกวิจารณ์ว่าสามารถทำงานได้เร็วกว่า Explorer แต่ช้ากว่าเบราว์เซอร์อย่าง Safari และ Firefox แม้กูเกิลจะเปิดเผยว่าได้ใช้จาวาสคริปต์รุ่นใหม่ที่ชื่อว่า V8 ทำให้ Chrome สามารถรองรับการใช้เว็บแอพพลิเคชั่นรุ่นใหม่ที่ไม่สามารถทำงานได้บนเบราว์เซอร์ทั่วไปในปัจจุบันได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังการร่วมแรงพัฒนาผ่านชุมชนโอเพ่นซอร์ส และนานาเสียงติชมบนบล็อก http://blog.chromium.org/ จะทำให้ข้อบกพร่องต่างๆ ของ Chrome หายไป

เพียง 1 วันหลังการเปิดให้ดาวน์โหลด คาดว่าจำนวนผู้ใช้ Chrome คิดเป็นสัดส่วน 2% ของนักท่องเน็ตทั่วโลกแล้ว ซึ่งข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา Net Applications คาดว่าส่วนแบ่งตลาดของ Internet Explorer ขณะนี้อยู่ที่ 74 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก ขณะที่น้องใหม่ไฟร์ฟ็อกซ์ทำไปได้ 18 เปอร์เซ็นต์

ไม่ว่าอนาคตของโลกอินเทอร์เน็ตจะเป็นเช่นที่กูเกิลฝันไว้หรือไม่ แต่อย่างน้อย เราในฐานะนักท่องเน็ตก็ควรยินดีที่มีตัวเลือกคุณภาพเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งทาง ไม่ใช่ต้องจมกับน้ำพริกถ้วยเดิมอย่างเดียว.

2 ขั้นตอนเพื่อพิสูจน์ความแรงของ Google Chrome

  1. ดาวน์โหลดตัวโปรแกรมที่ http://www.google.com/chrome/ โปรแกรมขนาดเล็กเพียง 474.74 กิโลไบต์จะถูกติดตั้งในเครื่องทันทีที่คุณกดยอมรับข้อตกลง โดยขณะนี้รองรับได้เฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์เท่านั้น
  2. เมื่อผ่านพ้นขั้นตอนดาวน์โหลด Google Chrome จะถามว่าคุณต้องการนำการตั้งค่าต่างๆ ในเบราว์เซอร์ที่ใช้อยู่เดิม เช่น เว็บโปรด (Favorites) หรือข้อมูลรหัสผ่าน มาเก็บไว้ใช้ใน Chrome ด้วยหรือไม่ และต้องการเพิ่มปุ่มลัดเป็นไอคอนลงบนหน้าจอเว็บด้วยหรือไม่ ถ้าคุณต้องการสิ่งที่กูเกิลเตรียมไว้ทั้งหมดก็เพียงคลิกที่ “เปิด Google Chrome” แต่หากต้องการปรับแต่งค่าด้วยตัวเอง ให้คลิกลิงค์ที่เขียนว่า “กำหนดค่าต่างๆ ด้วยตนเอง”

เท่านี้โปรแกรม Google Chrome จะเปิดขึ้นทันที พร้อมพิสูจน์ความเร็วที่ถูกการันตีว่า สามารถเปิดเว็บได้เร็วขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์

Did you know?

  • สองผู้ก่อตั้งกูเกิล Larry Page และ Sergey Brin บอก Eric Schmidt ซีอีโอกูเกิลว่า “เราจะสร้างเบราว์เซอร์ของเราเอง” ทันทีที่ Schmidt เข้าร่วมงานกับกูเกิลเมื่อปี 2001 แต่แล้วซีอีโอมือโปรก็บอกสองหนุ่มนักคิดว่า “ไม่” โดยให้เหตุผลว่า กูเกิล (ในตอนนั้น) ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะพร้อมออกศึกในสมรภูมิเบราว์เซอร์ แต่เวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนไปทำให้ซีอีโอเห็นว่านี่คือเวลาที่เหมาะสมแล้ว
  • ผู้จัดการดั้งเดิมของโปรเจกต์ Chrome มีชื่อว่า Brian Rakowski เบราว์เซอร์ในระยะแรกก่อตั้งในชั่วโมงอิสระ 20 เปอร์เซ็นต์ของเวลางานที่กูเกิลเปิดกว้างให้พนักงานสร้างสรรค์ผลงานที่สนใจได้อย่างเสรี Rakowski นำเสนอโปรเจกต์ต่อผู้บริหารกูเกิลในการประชุมเล็กประจำสัปดาห์ทุกวันจันทร์แสนธรรมดา
  • หลายคนฟันธงว่ากูเกิลตั้งใจพัฒนา Chrome เพื่อทำตลาดร่วมกับแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์แบบเปิดบนอุปกรณ์มือถือที่ของกูเกิลที่ชื่อว่า “Android” และ “Google Gears” บริการโปรแกรมเสริมสำหรับเบราว์เซอร์ซึ่งกูเกิลเปิดตัวมาก่อนหน้านี้ ทั้งสามผลิตภัณฑ์ถูกมองว่าเป็นสูตรสำเร็จที่จะทำให้กูเกิลขยายอาณาจักรอย่างเกรียงไกรยิ่งขึ้น

  •  
  •  
  •  
  •  
  •