ในวงการธุรกิจอินเตอร์เน็ต มีไอเดียใหม่ๆเกิดขึ้นมากมายแทบทุกเดือน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นถ้าไอเดียไหนโดดเด่นขึ้นมาถึงขั้นได้รับรางวัล แถมยังเปิดดำเนินงานจริงแล้วได้รับความนิยมอีก ก็ถือว่าแฟนๆ MarketingOops ไม่ควรพลาดที่จะทำความรู้จักไว้
“NuevoStage” เป็นชื่อเว็บไซต์ใหม่ที่กำเนิดจากแผนธุรกิจที่ชนะเลิศในงานสัมมนา “Rethink Music Conference” ที่เกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจเพลง ที่ได้รับการสนับสนุนและร่วมตัดสินโดยสองมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านธุรกิจระดับโลกคือ Berklee College และ Harvard Business School
หลักการทำงานคร่าวๆของ NuevoStage มี 2 ฝั่ง คือฝั่งการขายตั๋วแบบ “social commerce” และฝั่งการหาเวทีแบบจับคู่ matching ความต้องการที่ตรงกันระหว่างวงดนตรีหลากหลายและผับ คลับ หรือร้านมากมาย
ฝั่งขายตั๋วนั้น Nuevostage ให้บริการเปิด “ดีลซื้อตั๋วคอนเสิร์ต” ให้กับวงดนตรีอินดี้หน้าใหม่ทั่วไป ในลักษณะ “social commerce” คล้ายกับเว็บแนว “ดีล” ทั้งหลายที่กำลังฮิตเช่น Groupon ที่สหรัฐฯ และ Ensogo ในไทย
วงดนตรีสามารถจะลงข้อมูลและตัวอย่างเพลงวงตัวเอง แล้วประกาศหาผู้ชม ฝ่ายผู้ชมที่สนใจสามารถลงชื่อและรหัสบัตรเครดิตไว้ก่อน โดยจะถูกหักเงินค่าตั๋วเมื่อมีจำนวนผู้ชมมากพอถึงขั้นที่ทางวงกำหนดไว้เท่านั้น เช่นอาจจะร้อยคนเป็นต้น
ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมา ในสหรัฐฯนั้น วงดนตรีที่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดัง จะเป็นผู้จ่ายค่าเช่าเวทีตามผับคลับต่างๆ แล้วจากนั้นก็รับส่วนแบ่งค่าดริ๊งค์ของคืนนั้นๆที่ตนแสดงแบ่งกับทางร้านค้า ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กันมานานตั้งแต่ยุคแรกๆของวงการเพลงอเมริกา
และนั่นก็เป็นอีกฝั่งที่ NuevoStage ให้บริการครอบคลุมด้วย คือร้าน ผับ คลับต่างๆ สามารถไปลงทะเบียนไว้ว่าเวทีตัวเองจะว่างคืนไหน กี่โมง และต้องการวงแนวไหน แล้วทางเว็บจะจับคู่เสนอวงที่กำลังหาเวทีตามสเป๊คนั้นๆ อยู่พอดี…จะเรียกว่า “Social Ticketing” หรือ “Crowd Ticketing” ก็อาจจะได้
เมื่อรวมบริการทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกัน Nuevostage จึงเป็นตัวเชื่อมระหว่าง วงดนตรี-ผับ-แฟนเพลง ได้อย่างพอดีลงตัว โดยทางวงจะเก็บค่าบริการส่วนแบ่งจากดีลที่สำเร็จนั่นเอง นอกจากนี้การที่มีผู้เข้าไปใช้งานเว็บจำนวนมากพอก็ย่อมติดโฆษณาได้ด้วยเช่นกัน
แม้ business model ใหม่นี้จะดูน่าสนใจ แต่คงใช้ได้ในไทยแค่ฝั่งการขายตั๋วแบบ social ticketing เท่านั้น ส่วนฝั่งการหาเวที จับคู่ band & stage matching
คงยังอาจจะเกิดยากในไทย เพราะพื้นฐานเดิมของวงการดนตรียังต่างกันกับอเมริกาในแง่ที่ว่าผับคลับบาร์ในไทยมักใช้การเปิดออดิชั่นหาวงดนตรีที่ถูกใจแล้วก็จ้างประจำกันไปอย่างยาวนานมากกว่า
แต่แม้ว่าจะแตกต่างกันอย่างนี้ แต่เชื่อว่าต้องมีผู้อ่าน MarketingOops บางคนที่เกิดไอเดียว่า business model นี้อาจจะถูกประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆได้ … คิดแล้วก็อย่าเก็บไว้คนเดียวนะครับ แชร์เล่ากันมาให้เพื่อนๆช่วยกันติชมแลกเปลี่ยนเพื่อที่ไอเดียจะได้ตกผลึกกันเพิ่มขึ้นอีกนะครับ ! ที่ www.facebook.com/marketingoopsfan