[ข่าวประชาสัมพันธ์]
โลกแห่งนวัตกรรมปัจจุบันในแง่ของผู้บริโภคแล้ว ทำให้เราได้มีโอกาสใช้ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ที่พลิกโฉมหน้าผลิตภัณฑ์เดิมและนำมาสู่การอำนวยความสะดวกให้แก่ชีวิตประจำวันของคนเรามากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน ปัญญาประดิษฐ์(AI) ฯลฯ แต่สำหรับธุรกิจแล้วนวัตกรรมเหล่านี้อาจกลายเป็น Disruption ส่งผลให้บางธุรกิจต้องล่มสลายหายไปในพริบตา ดังนั้นผู้ที่สามารถ Transform ตัวเองได้ย่อมพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส
การวิจัยและพัฒนา(R&D) จึงเป็นหัวใจสำคัญต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นเพื่อเข้ามาตอบโจทย์ให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งและมั่นคง เช่นเดียวกับ “Microchannel Heat Exchanger” ผลงานการคิดค้นที่เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมของคนไทยที่เกิดจากการประสานองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC แกนนำธุรกิจเคมีภัณฑ์ของกลุ่ม ปตท. ที่ใช้เวลาทุ่มเทค้นคว้าถึง 5 ปีเต็ม
เทคโนโลยีดังกล่าวจะมาตอบโจทย์การทำตลาดเพื่อทดแทนการนำเข้า เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนเทคโนโลยีเดิม ในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ระบบปรับสภาพสภาวะอากาศ( HVAC) และจำพวกอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากนวัตกรรม “Microchannel Heat Exchanger” อาศัยองค์ความรู้ด้าน Microchannel Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการออกแบบให้เครื่องมือในกระบวนการผลิตมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมได้ถึง 70-90% สามารถลดอุณหภูมิของสารไฮโดรคาร์บอนในกระบวนการลงจากเดิม 5-20 องศาเซลเซียส ทำให้สารไฮโดรคาร์บอนกลั่นตัวเป็นของเหลวได้มากขึ้น ช่วยให้องค์กรประหยัดเงินได้ถึงปีละ 40 ล้านบาทและยังทดแทนการนำเข้า
ปตท. และ GC ยังได้ร่วมกันยื่นจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ กว่า 40 ฉบับ และล่าสุดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 นายวรวัฒน์ พิทยศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล บมจ.ปตท. นายวริทธิ์ นามวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มปฏิบัติการเพื่อความเป็นเลิศ GC และ นายไพโรจน์ สมุทรธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีซี เมนเทนแนนซ์ แอนด์ เอนจิเนียริง จำกัด หรือ GCME ได้ลงนาม License Agreement ของโครงการ Microchannel Heat Exchanger
ผลของการลงนามดังกล่าวปตท. และ GC ในฐานะเจ้าของเทคโนโลยีได้อนุญาตให้ GCME ในฐานะผู้นำทางด้าน Maintenance and Engineering Solution Provider เป็นผู้ที่จะนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปขยายผลใน เชิงพาณิชย์ได้ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา โดยมุ่งทำการตลาดเข้าทดแทนเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนเทคโนโลยีเดิมในอุตสาหกรรม LNG, LPG, HVAC และจำพวกอุตสาหกรรมอาหาร
เทคโนโลยีดังกล่าวเชื่อว่าจะเข้ามาปฏิวัติการตลาดเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมในไม่ช้านี้ ซึ่งถือเป็นการยกระดับให้อุตสาหกรรมด้านพลังงานของไทยได้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับ กลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท. ในการร่วมกันดำเนินงานวิจัยและพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในแต่ละบริษัทมารวมกัน เพื่อสร้างเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ความแข็งแกร่งและมั่นคงให้กลุ่มปตท เช่นเดียวกับนโยบาย GC ที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน นวัตกรรม ความร่วมมือ และความยั่งยืน
จากเรื่องที่นำเสนอมานี้จะเห็นได้ว่าการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนั้นต้องอาศัยองค์ความรู้ และระยะเวลากว่าที่ผลงานในห้องปฏิบัติการจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดเพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ดังนั้นธุรกิจจะยั่งยืนได้ส่วนหนึ่งก็ต้องปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันโลกอยู่เสมอ
[ข่าวประชาสัมพันธ์]