พูดถึงการผ่าตัด ภาพจำที่หลายคนนึกถึง หากเป็นในมุมของแพทย์ก็คงจะเป็นชั่วโมงการทำงานอันยาวนานและเคร่งเครียด หากเป็นในมุมของคนไข้ก็คงหนีไม่พ้นความเจ็บปวดและการใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู แต่เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าในปัจจุบันอย่าง ‘หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด’ นั้น ทำให้การผ่าตัดเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นต่อทั้งแพทย์และคนไข้
ล่าสุดโรงพยาบาลกรุงเทพ เพิ่งเปิดตัวหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดรุ่นใหม่ ‘The da Vinci Xi’ หนึ่งในเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเล็ก (Minimal Invasive Surgery: MIS) ซึ่งนายแพทย์เอกกิตติ์ สุรการ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้มาเล่าให้เราฟังถึงความน่าสนใจของเจ้าหุ่นยนต์ตัวใหม่และการลงทุนครั้งใหม่ของทางโรงพยาบาลในครั้งนี้
คุณหมอเอกกิตติ์ท้าวความให้ฟังว่า หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนั้นถูกพัฒนามาใช้เมื่อประมาณปี 2000 โดย The da Vinci รุ่นแรกซึ่งเป็นของสหรัฐอเมริกา ทางโรงพยาบาลกรุงเทพเป็นแห่งแรกในไทยที่นำมาใช้ แต่เนื่องจากในตอนนั้นเทคโนโลยียังมีข้อจำกัด ทางโรงพยาบาลจึงได้หยุดใช้งานหุ่นยนต์ตัวแรกไป ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีเริ่มพัฒนาดีขึ้น มีการผ่าด้วยเครื่องนี้มากกว่า 10 ล้านครั้งทั่วโลก และเป็นระบบเดียวที่ผ่านการอนุมัติให้ใช้ผ่าตัดได้ในประเทศไทย จึงเริ่มนำ The da Vinci Xi ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดมาใช้เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2023
โดยสนนราคาของ The da Vinci Xi รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เกิน 100 ล้านบาทเล็กน้อย เมื่อรวมค่าอุปกรณ์ การฝึกอบรม การเตรียมห้องผ่าตัดเพื่อรองรับตัวเทคโนโลยี จึงรวมเป็นการลงทุนมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลใช้ในการผ่าตัดประมาณ 5-10% เลือกใช้ในกรณีการผ่าตัดที่ซับซ้อน ต้องใช้เทคนิคขั้นสูง รวมในปีนี้ประมาณ 200 รายแล้ว
ข้อดีของการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ The da Vinci Xi คือ ช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ รักษาได้ตรงจุด โดยเฉพาะการผ่าตัดในบริเวณที่มีความซับซ้อน และเข้าถึงยาก แพทย์สามารถผ่าตัดได้ประณีตละเอียดขึ้นในหลายโรค โดยเฉพาะกับโรคที่มีความซับซ้อน อาทิ โรคที่เกี่ยวกับทรวงอก โรคที่เกี่ยวกับระบบช่องท้อง โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมไธมัส มะเร็งปอด มะเร็งตับ รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวกับนรีเวช ภาวะก้อนที่รังไข่ ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ขณะเดียวกันก็ช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ป่วยระหว่างการรักษา ลดความเจ็บปวด ผู้ป่วยสูญเสียเลือดน้อยลง ระยะเวลาการฟื้นตัวสั้นลง ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อลดลง และอัตราการกลับเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยไม่ได้คาดการณ์ไว้ลดลง หุ่นยนต์ช่วยให้ผ่าตัดไม่กระทบหรือทำลายเส้นประสาท ส่งผลให้ผลการรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
ข้อได้เปรียบของโรงพยาบาลกรุงเทพคือ มีผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ครอบคลุมหลากหลายสาขา โดยปัจจุบันมีทีมศัลยแพทย์ประมาณ 10 คน ทีมพยาบาลและเทคนิเชี่ยน 15 คน และยังมีการส่งไปฝึกอบรมเพิ่มเติม
ทั้งนี้ทั้งนั้น การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงตามเทคโนโลย โดยมีส่วนต่างอยู่ที่ประมาณ 1-2 แสนบาท
“เป้าหมายของเรา เราอยากทำให้คนไข้มีโอกาสใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมากที่สุด เรารู้ว่า หนึ่ง, จำนวนเครื่องในประเทศไทยยังมีน้อย สอง, ราคายังสูง ฉะนั้นเราอยากจะทำการประชาสัมพันธ์ ให้เพื่อนแพทย์จากทุกโรงพยาบาลรู้ว่า ถ้าคนไข้ในมือจะได้ประโยชน์จากหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด มาคุยกับเราได้ เราพยายามที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ทั้งคุณหมอ ผู้ป่วย และผู้ให้ความคุ้มครองสิทธิต่างๆ เพื่อที่จะทำให้ต้นทุนในการผ่าตัดต่ำที่สุด และคนไข้ได้รับสิทธิมากขึ้น
“เป้าหมายตอนนี้ ปีหนึ่งเราอยากได้ประมาณสัก 500 ราย อันนี้ก็เพื่อทำให้มีการใช้ประโยชน์คุ้มค่า คนไข้ได้โอกาสมากขึ้นด้วย แต่ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากได้ถึง 1,000 ราย เพราะว่าถ้ามีจำนวนคนไข้มาก เราก็จะมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น รวมถึงอาจจะมีเครื่องที่สอง หรือว่าเครื่องรุ่นต่อไปที่มีความสามารถมากขึ้นเข้ามาดูแลคนไทย” คุณหมอเอกกิตติ์กล่าวทิ้งท้าย