แบไต๋! 2 กฎเหล็กแห่งการเรียนรู้ แบบ ‘Elon Musk’ จัดระเบียบความคิด – เรียนรู้อย่างไรให้เร็วขึ้น!

  • 664
  •  
  •  
  •  
  •  

Credit: Artist Vaska/Shutterstock.om

หากเราพูดถึงนักฟิสิกส์ หรือนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังของโลก หลายๆ คนก็น่าจะรู้จักบิดาในสาขาต่างๆ อย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, ไอแซก นิวตัน หรือ นิโคลา เทสลา บิดาที่สร้างความสว่างไสวให้กับโลก ซึ่งประวัติได้ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์เมื่อไม่นานมานี้

แต่ถ้าให้นึกถึงนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังในปัจจุบันล่ะ? หลายคนต้องยกตำแหน่งนี้ให้กับ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) เป็นหนึ่งในนั้นแน่ เพราะภาพจำของเขาไม่ใช่แค่ CEO หนุ่มที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล แต่เขาคือนักประดิษฐ์ที่สร้างความจดจำ ฮือฮามานักต่อนักแล้ว

โดย อีลอน มัสก์ ได้พูดถึง การเรียนรู้ เขายกให้เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จำเป็น ซึ่งที่ผ่านมามันถูกสื่อสารออกมามากมาย ฉายซ้ำไปซ้ำมาเกี่ยวกับความสำคัญของการเรียนรู้ แต่อันที่จริงกลับยังไม่มีใครที่จะพูดถึง ‘เทคนิค’ ที่ถูกต้อง และเป็นวิธีการที่ชัดเจนมากนัก

ดังนั้น กฎแห่งการเรียนรู้ สไตล์ อีลอน มัสก์ ที่ทำให้เขาทลายกำแพงอุปสรรคต่างๆ ได้ ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้ อีกทั้งยังพิสูจน์ด้วยว่า กฎทั้ง 2 ข้อนี้ทำให้เขาประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่มันเป็นการบรรลุผลสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า หากดูจากผลจากในการทำงานของเขา

 

 

หัดเป็น ‘Disruptor’ ศึกษาหลายอุตสาหกรรม

สำหรับ ‘อีลอน มัสก์’ CEO บริษัท SpaceX, Tesla Motors และใครอาจจะยังไม่รู้ว่า เขาเป็นผู้คิดค้นระบบออนไลน์เพย์เมนต์ อย่าง PayPal และมีอีกหลายธุรกิจที่ถูกคิดค้นโดยนักประดิษฐ์คนนี้ โดยมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง ไม่ได้ยึดถือว่าต้องพัฒนาตัวเองเพื่อไปอยู่ในจุด หรืออุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง นั่นก็คือ ทำให้ตัวเองเป็นนักดิสรัป (Disruptor)

อีลอน มัสก์ มองว่า การโต้แย้งที่ดีจะทำให้เราได้ประโยชน์จากช่วงเวลานั้น ถือเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง

โดยจะเห็นว่า ที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ ทำงานในหลายๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การขนส่ง, พลังงาน และ อวกาศ และสิ่งประดิษฐ์ล่าสุดอย่าง Neuralink เครื่องที่ช่วยเชื่อมต่อสมองมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์ เพื่อเป้าหมายการช่วยเหลือทางการแพทย์ ความมหัศจรรย์เหล่านี้ทำให้ ‘อีลอน มัสก์’ กลายเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะวิธีการเรียนรู้ของเขา การฝึกพัฒนาระบบสมองให้มีความคิดเป็นระบบ

 

 

มุมมองที่แตกต่าง DNA ระดับเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ของโลก

หลายคนพูดถึงความเป็นนักวิทยาศาสตร์ของ อีลอน มัสก์ ว่ามีมุมมองและความคิดที่แตกต่างไปจากผู้ประกอบส่วนใหญ่ เขามี DNA ความเป็นนักทดลอง นักประดิษฐ์สูงมาก ดังนั้น ขั้นตอนการเรียนรู้อย่างแรกๆ และหล่อหลอมให้เป็น อีลอน มัสก์ อย่างทุกวันนี้ ก็คือ การอ่านหนังสือเป็นร้อยๆ เล่ม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับเขา นอกจากนี้ การใช้เวลาคลุกอยู่กับนักคิด และคนเก่งๆ มากมายทำให้เขาได้มุมมองที่เฉียบคมมากขึ้น

แต่นั่นอาจไม่ใช่วิธีคิด และวิธีปฏิบัติทั้งหมด สิ่งสำคัญที่สุด คือ กฎที่ อีลอน มัสก์ ยึดถือมานาน แค่ 2 ข้อเท่านั้น ซึ่งข้อดีของมันก็คือ เราจะเรียนรู้อะไรก็ได้ ในเวลาที่เร็วขึ้น

ไม่แน่นะ ถ้าเราทำความเข้าใจวิธีของ อีลอน มัสก์ แล้วนำไปใช้ต่อในแบบของเรา เราอาจจะทำลายกำแพงขีดจำกัดของตัวเองได้เลย หรือเราอาจจะเห็นนักวิทยาศาสตร์หน้าใหม่มากขึ้นในอนาคต

 

มาดูกันว่า กฎ 2 ข้อที่ว่านี้ มันคืออะไร
  1. ระบุ หรือให้ความหมายกับองค์ประกอบของ ต้นไม้ ได้

ลองหลับตาแล้วจินตนาการถึง ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบมากมายไม่ว่าจะเป็น กิ่งก้านที่โยงใยกันไปมา, ใบไม้สีเขียวขจีที่ปกคลุม ไปจนถึงลำต้น และลงลึกถึงรากของมัน แล้วเราลองให้ความหมายแต่ละส่วนดูว่าคืออะไร ใช้ประโยชน์อย่างไร หรือมันมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกันอย่างไร

โดยอีลอน มัสก์ เชื่อเสมอว่า “คนเราสามารถเรียนรู้ได้มากกว่าที่ตัวเองรู้สึก พูดง่ายๆ ก็คือ เรื่องบางเรื่องเราคิดว่ามันยากเกินความสามารถ แต่ที่จริงแล้วขีดจำกัดการเรียนรู้และการพัฒนาของคนเรามันมีมากกว่านั้น มากกว่าที่คิด”

แล้วทำไมเราต้องลองระบุรายละเอียดของต้นไม้ด้วย? ต้นไม้ ในความคิดของอีลอน มัสก์ คือ ‘องค์ความรู้’ ที่เราต้องเข้าใจและมองให้ออกว่า คืออะไร และสำคัญอย่างไร มีประโยชน์อย่างไรถ้าเราเรียนรู้มัน

โดยเทคนิคของ มัสก์ เขาจะเริ่มทำความเข้าใจอย่างจิงจังกับส่วนที่ใหญ่ที่สุดของต้นไม้ (ภาพรวม) และค่อยๆ เรียนรู้ส่วนประกอบที่เล็กลงมาเรื่อยๆ ที่สำคัญคือ ทุกกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่ ‘ใหญ่ – เล็ก – ลึก’ เราต้องเข้าใจมันจริงๆ เราต้องอธิบายได้จริงๆ ว่า ระหว่างลำต้น, กิ่งก้าน, ใบไม้, ราก หรือ ส่วนประกอบอื่นๆ มันเอื้อประโยชน์กันอย่างไร เชื่อมโยงกันอย่างไร

ถ้าเราเรียนรู้แล้ว แต่อธิบายความเชื่อมโยงระหว่างต้นไม้ทั้งหมดไม่ได้ ให้จำไว้ว่า ‘นั่นไม่ใช่การเรียนรู้ แต่เป็นการยัดเยียด(ให้สมอง)’

“การเรียนรู้ทุกอย่างไม่ว่าจะเรื่องเล็ก หรือใหญ่ เราต้องมีการวางแผนในการเรียนรู้ ไม่งั้นมันจะกระจัดกระจาย แล้วสุดท้ายนอกจากจะทำให้เราเรียนรู้ได้ช้าลง ความเข้าใจในสิ่งเหล่านั้นยังไม่ถาวรอีกด้วย” อีลอน มัสก์

 

  1. เชื่อมโยงความรู้ที่ได้ทั้งหมด หรือต่อยอดความรู้

ความฉลาดในการเรียนรู้ ก็คือ เราต้องเรียนรู้ด้วยวิธีฉลาด อย่างภาพจำ ‘ต้นไม้ใหญ่’ ของ อีลอน มัสก์ ถ้าเราเข้าใจทั้งหมด สามารถแบ่งแยกความสำคัญ และให้ความหมายองค์ประกอบได้ แต่เราไม่พยายามเชื่อมโยงความรู้ที่ได้มา ไม่พยายามต่อยอดมัน ก็ไร้ประโยชน์!

อีลอน มัสก์ เคยพูดถึง ผู้ประกอบการ หรือ CEO จำนวนมากที่เข้าใจในหลักการการต่อยอดความรู้ที่ได้มา แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เข้าใจ องค์ประกอบของต้นไม้ทั้งหมด เข้าใจเพียงแค่บางส่วนของมันเท่านั้น บางคนอาจจะเข้าใจแค่ลำต้น ขณะที่บางคนเข้าใจในกิ่งก้านของมัน พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ประกอบการเข้าใจเฉพาะอุตสาหกรรมที่คุ้นเคย หรือที่ต้องการจะรู้เท่านั้น

แต่สำหรับ CEO และนักประดิษฐ์คนนี้ เขาสร้างต้นไม้แห่งการเรียนรู้ได้ครบทั้งต้น เข้าใจและใช้ประโยชน์แม้จากส่วนที่เล็กที่สุดของมัน หรืออยู่ลึกที่สุดของต้นไม้

ดังนั้น กฎการเรียนรู้ของข้อนี้ ก็คือ คุณจะไม่สามารถจดจำอะไรได้ ถ้าขาดการเชื่อมโยง ดูได้จากสิ่งที่อีลอน มัสก์ เสกขึ้นมาเพียงชั่วข้ามคืน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมไหนก็ตามที่เขาดูแลอยู่

เทคนิคง่ายๆ สไตล์ อีลอน มัสก์ ก็คือ เขาจะเริ่มไอเดียจากรากฐานแก่นสำคัญที่สุด (คิดว่าอะไรสำคัญสุดสำหรับสิ่งประดิษฐ์นี้) จากนั้นจะเริ่มมองหาองค์ประกอบเล็กๆ ที่มาช่วยเสริมไอเดียนี้ แล้วนำไปต่อยอดไอเดียให้ครบองค์ประกอบที่สุด โดยเขาจะจับความรู้ตั้งแต่แก่นสำคัญที่เป็นเรื่องใหญ่สุด มาขมวดรวมกับความรู้ขนาดเล็กที่แตกแขนงกันไป จนครบสมบูรณ์

ที่สำคัญ คือ มัสก์ ไม่เคยเรียนรู้องค์ประกอบต่างๆ แบบ random แต่ทุกๆ ครั้งที่เรียนรู้ เขาจะพยายามเชื่อมต่อข้อมูลที่มีอยู่ให้ลึกลงไปอีก

มีคำพูดหนึ่งที่น่าสนใจของ มัสก์ เขาพูดว่า “ผู้เรียนรู้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ใช่นักทำสวนมืออาชีพ แต่กลับเป็นเพียงนักสะสมกิ่งไม้เท่านั้น คุณจะเห็นว่าพวกเขาเดินไปเรื่อยๆ เพื่อเสาะหากิ่งไม้เล็กๆ แล้วหยิบขึ้นมาจนมันเต็มอ้อมแขน”

“ถ้าคุณโชคดีหน่อย คุณอาจจะได้กิ่งไม้ที่ดีมามากมาย แต่ท้ายที่สุดแล้วคุณก็จะเผาพวกมันนำมาเป็นฝืนชั้นดีอย่างหนึ่งเท่านั้น”

จบประโยคนี้จากคำพูดของ อีลอน มัสก์ เราหลายๆ คนอาจคิดได้ว่า เราต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว…มัสก์ ลองให้เราจินตนาการดูว่า ‘ถ้าการเรียนรู้ของเราเท่ากับกองไฟกองนี้ล่ะ?’ ที่จริงเราน่าจะได้อะไรจากมันมากกว่านี้มั้ย แต่กว่าจะคิดได้ กองไฟที่สุ่มไปด้วยฝืนที่เราหาจากกิ่งไม้เล็กๆ นี้ คงกลายเป็นแค่เถ้าถ่านหลังจากไฟมอดไปแล้ว

แต่สำหรับ อีลอน มัสก์ เขาทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามเลย นั่นคือ เลือกที่จะปลูกต้นไม้ขึ้นมาสักต้นหนึ่ง (สร้างแหล่งการเรียนรู้) แล้วปลูกมันด้วยดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่เขาจะได้กลับมาคือ แหล่งความรู้ที่ใหญ่มหาศาลและใช้ประโยชน์ได้อีกนานไม่มีวันหมด

 

Credit: achinthamb/Shutterstock.com

 

ในเมื่อเรารู้แล้วว่าเคล็ดลับของเจ้าพ่อนักประดิษฐ์ที่ทุกคนต่างยอมรับกันทั่วโลก ทีนี้ก็ถึงเวลาที่เราต้องเลือกแล้วว่า อยากจะเป็นนักทำสวนมืออาชีพ หรือเป็นนักสะสมกิ่งไม้

แต่ถ้าดูจากความสำเร็จของ อีลอน มัสก์ แล้วน่าจะเลือกไม่ยาก หรือแม้แต่ ‘Henry Ford’ ผู้ก่อตั้งบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ ที่เคยพูดให้แง่คิดกับคนทั้งโลกมาแล้ว เขาพูดว่า “หากคุณทำสิ่งๆ หนึ่งมาตลอด คุณก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆ ที่คุณเคยได้รับมาแล้ว”

ดังนั้น ถ้าถามไอเดียเรานะ อะไรที่ยังไม่เคยลองทำ แต่มีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนแล้วว่ามันดี มันใช่ ก็ไม่เสียหายนะที่จะลองดู

 

 

 

 

ที่มา: entrepreneurshandbook


  • 664
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม
CLOSE
CLOSE