แงะแอดติจูดและวิธีการทำงานแบบ ‘วิชัย-เบนซ์’ 2 คอนเทนท์ครีเอเตอร์มาแรง แห่ง Salmon House

  • 1.6K
  •  
  •  
  •  
  •  

vb

เป็นเวลาปีกว่าๆที่เราติดตามงานของ Salmon มาอย่างต่อเนื่อง มันจุดประกายมาจากคลิป คุณลุงฝรั่งคนหนึ่งที่หากคุณเล่นเฟซบุ๊คก็อาจจะเคยเห็นผ่านตากันไปบ้าง ‘ลุงเนลสัน’ ฝรั่งที่แซลมอนเลือกมาเป็นแขกพิเศษในวิดีโอซีรีส์สำหรับโปรโมทหนังสือ

‘New York 1st Time’ ของ คุณเบนซ์-ธนชาติ อธิบายสั้นๆ ว่าเป็นหนังสือที่แคปเจอร์เหตุการณ์ของคุณเบนซ์ตอนไปเรียนที่นิวยอร์กครั้งแรกมาเล่าในสไตล์ของเขา (คลิปลุงเนลสันอยู่ข้างล่างสุดของบทความ)

screen-shot-2559-09-13-at-12-55-43-pm

คลิปลุงเนลสันที่แซลมอนทำออกมาโปรโมทหนังสือ ได้รับความนิยมอย่างมากบนโลกออนไลน์ ไวรัลกันเลยทีเดียว(คำนี้อีกแล้ว) พอดิบพอดีกับที่ช่วงนั้นที่มีกระแสเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย มันเป็นเหตุการณ์สั้นๆที่ทำให้เราได้เห็นว่าคนทำงานกับกระดาษเขาก็ transform ตัวเองนะเขาไม่ได้มัวโทษโชคชะตา หรือโทษการเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่พวกเขาคิดหาวิธีการนำเสนอใหม่ๆให้ผลงานตัวเองมันไป relate กับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนอ่าน ซึ่งก็น่าสนใจมาก เพราะทำออกมาแล้วมันเวิร์ค (เมืองนอกเขาก็ทำกันนานแล้วล่ะ)

 

มันก็คือการทำโฆษณาสิ่งพิมพ์ ด้วย internet film ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่าออนไลน์กับออฟไลน์สามารถ integrate กันได้หมด มันอยู่ที่วิธีคิดคอนเทนท์ และการนำเสนอ ว่าจะไปแตะจุด impression ของกลุ่มเป้าหมายได้มั้ย ถ้ามันได้ผล conversion ก็จะตามมา หมายถึงว่าคนก็ตามไปซื้อ และกำไรก็จะมาเอง

 

พอเห็นว่าคลิป ‘ลุงเนลสัน’ มันเวิร์ค คุณเบนซ์และเพื่อนในออฟฟิศจึงคิดต่อยอดมันออกเป็นโปรดักชั่นผลิตรายการทางชาแนล Youtube ภายใต้แบรนด์ Salmon House ซึ่งในฐานะคนดู เราค่อนข้างสนใจวิธีการสร้างคอนเทนท์ของเฮ้าส์นี้ ด้วยการเล่าเรื่องที่ฉีกแนวไปจากหนังโฆษณาแบบเดิม แคสติ้งนักแสดงที่เป็นคนทั่วไป การเสียดสีที่ใส่เข้ามาเล่าได้อย่างสนุกสนาน

โดยบทสัมภาษณ์บางส่วนเราเก็บตกมาจากงาน DAAT DAY 2016 ที่ผ่านไปเมื่อสองสัปดาห์ก่อน แต่โดยรวมบทสัมภาษณ์อาจจะไม่เชิงเป็นการสัมภาษณ์สักเท่าไหร่ หากบอกว่าเป็นการนั่งสนทนากันจะใช่มากกว่า แต่รับรองว่าคุณจะได้รู้จักแซลม่อนเฮ้าส์มากขึ้น และจะได้สัมผัสถึงความคิดของ เบนซ์ และ วิชัย ในแง่มุมที่คุณอาจไม่เคยทราบมาก่อน  โอเค…พร้อมแล้วเนอะ ลุย!

 

 salmon-team-w-logo

ทีมงาน แซลม่อนเฮ้าส์

 

ทิศทางการทำงานของแซลม่อนเฮ้าส์เป็นยังไง

เบนซ์: คอนเซ็ปต์หลักของเฮ้าส์เรามันเริ่มจาก Relatable เวลาที่แบรนด์จะเข้ามา เราจะดูก่อนว่าแบรนด์ของเค้า หรือ product ของเค้ามันจะเกี่ยวข้องกับคนดูกลุ่มเป้าหมายได้ยังไงบ้าง แล้วเราควรจะหามุมไหนมาพูดให้มันโดนใจพวกเค้าได้บ้าง

 

วิชัย: แซลมอนเฮ้าส์อยู่ในรัชดาซอย 3 มันเป็นถนนที่เลวร้ายมาก ลุงเนลสันเค้ามาเดินซอยนี้เค้าบอกเลยว่า ‘ถ้ามึงเดินซอยนี้ได้ มึงก็สามารถเดินทุกถนนบนโลกนี้ได้’ เรากับเบนซ์ทำงานกันอยู่ในพื้นที่ที่มันมีปัญหาหลากหลายรวมๆกันอยู่ แล้วมันจะมีความเป็น local มาก ซึ่งปัญหาก็จะเป็นปัญหาแบบ local อย่างวันนึงมีรถกระบะขับเข้ามาในซอยแล้วเค้าเปิดเพลงดังมาก ก็เลยคุยเล่นๆกับเบนซ์ว่า ‘เออ ถ้าเค้าเปิดเพลงคลาสสิค เปิดบีโธเฟ่น มันจะมีคนกล้าด่าเค้ามั้ยวะ หรืออย่างป้าขายลูกชิ้นถ้าเค้ามีป้ายร้านเขียนว่า TED คนไปซื้อจะรู้สึกมีแรงบันดาลใจขึ้นป่าววะ’ เนี่ยๆจะเป็นอะไรแบบเนี้ย

 

เบนซ์: คือผมว่าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่รวมความไม่น่าพึงประสงค์ของสังคมไทยไว้ในรัชดาซอย 3 เพราะฉะนั้นมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ไอเดียจะมาจากความไม่สมบูรณ์แบบ ความบกพร่อง คือ ไอนั่นก็ไม่ดี ไอนี่ก็แย่ เพราะงั้นมันก็เลยออกมาเหมือนเป็นการบ่น เพียงแต่ว่าเราใส่ตัวคอนเซ็ปต์หรือความคิดสร้างสรรค์ลงไป ให้มันดูน่ารัก ให้มันดูว่าไอนี่ไม่ได้มากวนตีนเฉยๆเหมือนสเตตัสในเฟซบุ๊ค มันใส่อะไรลงไปให้ย่อยง่ายในระดับนึงแล้วดูสนุก

“เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่รวมความไม่น่าพึงประสงค์ของสังคมไทยไว้ในรัชดาซอย 3 เพราะฉะนั้นมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ไอเดียจะมาจากความไม่สมบูรณ์แบบ ความบกพร่อง”

 

เหมือนหยิบจับปัญหามาเล่าให้เป็นสไตล์ของแซลม่อนเฮ้าส์ใช่มั้ย

เบนซ์: คือมันจะมีความ real ครับ มันจะไม่ได้ chic มาก แต่การอยู่ในที่แบบนั้นมันก็มีข้อดีนะครับ มันให้เราได้เห็นว่าผู้บริโภคของเราจริงๆเค้าเป็นยังไงกันแน่ เราได้เห็นชีวิตเค้า ได้เห็นความต้องการของเค้า ได้เห็นเรื่องที่เค้าบ่น มันใกล้ชิดเค้าอะครับ แล้วก็จับประเด็นมาต่อยอดได้

 

วิชัย: มันเหมือนเราอยู่กับความเป็น local สุดๆมากกว่า มันเลยทำให้เราเห็นอะไรที่ อาจจะไม่มีให้เห็นบ่อยนักในย่านออฟฟิศกลางเมือง

 

เวลาคิดงานไม่ออก แก้ปัญหากันอย่างไร

เบนซ์: ถ้าคิดไม่ออกจริงๆ จุดนึงมันต้องเดินออกมาแหละ แล้วก็ไปทำอย่างอื่น ไปวิ่ง ไปออกกำลังกาย หรือไม่ก็ไปดูอะไรที่มันหลุดๆไปเลยอะครับ เพราะบางทีมันตันแล้วมันเหมือนอยู่ในบ่อน้ำที่มีแต่อะไรเดิมๆ ขังอยู่นานแล้ว เคี่ยวเท่าไหร่ก็ไม่ได้ ที่ต้องทำคือเอา input ใหม่ๆเข้ามา ซึ่งมันจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องไอเดีย หรือโฆษณาเมืองนอกหรือว่าอะไร อย่างผมจะชอบดูไรที่… ที่มันหลุดไปเลย อย่างเช่นคิดงานเรื่องธุรกิจอยู่เรื่องนึง ไปดูเรื่องหอยมือเสือ หรือว่ากำแพงของอยุธยาอะไรแบบเนี้ยครับ คือเรารู้สึกว่ายิ่งหลุดยิ่งดี หลุดออกไปจากกรอบที่เรากำลังจดจ่อ

 

ไวรัลคอนเทนท์สำหรับคุณคืออะไร

เบนซ์: จริงๆผมว่าไวรัลมันเป็น Adjective (คำคุณศัพท์)  มันไม่สามารถจะตั้งต้นได้ว่า ‘อยากให้คุณช่วยทำไวรัลให้หน่อย’ เพราะจะไวรัลรึเปล่าคนดูเป็นคนตัดสิน ถ้าเค้าชอบแล้วรู้สึกว่ามันโดนใจ เค้าจะแชร์ไปเอง แต่ว่าเราไม่สามารถมาเซ็ต goal ไว้ว่าจะต้องทำให้มันเปรี้ยง ให้มันโดน เพราะเวลาตั้งต้นคิดงานเราไม่ได้คิดมาจากอะไรอย่างงั้น เราแค่คิดก่อนว่าคนอยากดูอะไร คนชอบดูอะไร เราคิดจากจุดนี้ก่อน

 

วิชัย: ทำคอนเทนท์สนุกๆดีๆอะ แล้วก็ค่อยเอาสินค้าใส่เข้าไป

 

เบนซ์: ต้องพยายามรู้ให้ได้ก่อนว่าอินไซด์คนดูคืออะไร พอเรารู้อินไซด์เค้าแล้วไปพูดกับเค้า มันเหมือนเป็นเพื่อน แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าเค้าคือใคร ไม่รู้ว่าเค้าชอบดูอะไรกันแน่ ไม่รู้ว่าอะไรโดนใจเค้า เวลาไปพูดกับเค้ามันก็จะเหมือนไปขายตรงเค้าแหละ

 

แล้วคุณมีวิธีคิดยังไงให้งานมันไวรัลขึ้นมา

วิชัย: เล่าก่อนว่าเรามองว่างานโฆษณามันคือ one-way content นะครับ คือคุณอยากขายอะไรคุณก็บอก consumer ไป แต่พอมาเป็น Internet film แบบทุกวันนี้ ถ้าเค้าไม่ชอบเค้าสามารถพิมพ์ด่าเราได้เลย คือในแง่ของการทำโฆษณาเค้าจะมี Reason to believe  สินค้านี้มันดียังไงทำไมเค้าถึงต้องเชื่อว่ามันดี แต่ทุกวันนี้มันก็มี Reason to watch คือทำไมเค้าถึงต้องดู โอเคมันอาจจะเป็นโฆษณาเพียวๆเลยก็ได้ แต่ว่าแม่งดีมากสนุกมาก หรือมันอาจจะเป็นคอนเทนท์ที่สนุกมากแล้วมีโฆษณาแทรกเข้ามาปะปรายมันก็ได้ ถ้ามันน่าดูจริง เนื้อหามัน engage เค้าได้จริงเค้าก็ดู ซึ่งตรงนี้เราต้องคิดเผื่อคนดูด้วย ว่าทำไมเค้าถึงต้องดูงานของเรา Reason to watch

 

เบนซ์: สังเกตพฤติกรรมคนครับ ออกไปเจอคน ออกไปข้างนอกแล้วก็พยายามสังเกตธรรมชาติของคนรอบตัว ว่าคนเสพสื่ออะไร เขาชอบดูอะไร เขาอยู่กับสภาพแวดล้อมยังไง

 

วิชัย: ส่วนตัวเราคิดว่า marketing plan หรืออะไรต่างๆที่ทาง strategy ทำงานกับลูกค้า คือมันเป็นสิ่งที่มีหลักเกณฑ์ที่ดี แต่บางทีมันจะกว้างและมันไม่เข้าถึง nature กลุ่มเป้าหมาย อย่างเช่นถ้าเขาแพลนมาว่าสินค้าเรามันมีกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มนี้ๆๆ แต่จริงๆแล้วมันอาจจะไม่ใช่ตามแพลนซะทีเดียวก็ได้นะ มันยังมีมุมทีเขาอาจจะมองข้าม อาจจะเข้าไม่ถึง สมมติถ้าจะขายน้ำส้มอย่างเงี้ย เค้าอาจจะวางทาเก็ตไว้เป็นคนกลุ่มนึงขึ้นมาเป็นคนทำงานมีรายได้ประมาณนี้ แต่ว่าจริงๆแล้วคนที่กินมันอาจจะเป็นนักศึกษาที่ก็ได้นะ อะไรแบบนี้ เราก็อาจจะไปเสนอเค้าว่าคนดูตัวจริงอาจจะไม่ใช่คนกลุ่มที่เค้าวางไว้ แต่อาจจะเป็นกลุ่มนักศึกษาก็ได้นะ

 

“ในแง่ของการทำโฆษณาเค้าจะมี Reason to believe  สินค้านี้มันดียังไงทำไมเค้าถึงต้องเชื่อว่ามันดี แต่ทุกวันนี้มันก็มี Reason to watch คือทำไมเค้าถึงต้องดู”

 

พอมันเป็นงานที่ลูกค้าไม่คุ้น เราต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าเยอะมั้ย

วิชัย: คุยนานนะครับ ผมกับเบนซ์เชื่อว่า online content มันเป็นเรื่องใหม่ และคอนเทนท์ที่จะโดนเนี่ยมันน่าจะเป็นคอนเทนท์ที่สินค้ายอมลดบทบาทตัวเองลงมาหน่อย แล้วเอาพื้นที่ เอาเวลาที่มี ไปเพิ่มความเอนเตอร์เทน เพิ่มความสนุกให้คอนเทนท์ ตรงเนี้ยเราก็คุยกับลูกค้านะครับว่าหนังทั้งเรื่องเนี้ยคุณอาจจะเห็นสินค้าแค่ช็อตเดียวนะ แต่ว่าช็อตนั้นเนี่ย เราจะพยายามดันให้มันเป็น Hero shot เป็นช็อตสำคัญของหนัง เรากับเบนซ์ก็จะพยายามคุยกับลูกค้าให้เข้าใจตรงนี้

 

เบนซ์: เราคิดว่าคนดูในอินเตอร์เน็ตเป็น active audience อะครับ มันไม่จำเป็นต้องไปใส่ ไปอัด ไปชี้นำให้เค้าเยอะๆ คือออกมาแปปเดียวก็ได้แล้วถ้าเค้าชอบ สนใจตัวสินค้า หรือชอบในบรรยากาศของมัน เค้าก็ไปหารายละเอียดสินค้าเอาเองได้ สมัยนี้มันไม่ยาก และเราเชื่อว่าไทม์ไลน์ของเค้ามันเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นะ ถ้าเค้าจะแชร์มันก็คงต้องเป็นอะไรที่เค้าชอบ รู้สึกว่ามันโอเค หรือมันอาจจะเกี่ยวกับตัวเค้า คงไม่อยากมีใครให้กำแพงบ้านตัวเองมีโฆษณาใหญ่ๆมาแปะๆๆ หรอก เค้าอยากให้คอนเทนท์มันดูเป็นเนื้อหาที่เป็นเนื้อหาแน่นๆมากกว่า อย่างอะไรที่สื่อถึง attitude ของเค้า หรืออะไรที่มันแสดงออกมาว่า ‘กูขำกับเรื่องอะไรแบบนี้นะเว้ย กูชอบอะไรแบบนี้’ มันสามารถเป็นการนำเสนอตัวตน หรือแชร์ส่วนนึงที่เป็นคาแรคเตอร์ของเค้าได้เหมือนกัน

 

วิชัย: และอีกอย่างคือ หลายครั้งที่เราดูโฆษณา เรารู้สึกว่าเนื้อหามันดูไปกับ nature จริงๆของมนุษย์ได้ยาก เราก็เลยอยากทำงานที่มันออกมาเกี่ยวข้องกับธรรมชาติของมนุษย์มากที่สุด ให้มันมีความใกล้ชิดและเป็นมิตรกับคนดูมากขึ้น

 

“เราเชื่อว่าไทม์ไลน์ของเค้ามันเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นะ ถ้าเค้าจะแชร์มันก็คงต้องเป็นอะไรที่เค้าชอบ รู้สึกว่ามันโอเค หรือมันอาจจะเกี่ยวกับตัวเค้า คงไม่อยากมีใครให้กำแพงบ้านตัวเองมีโฆษณาใหญ่ๆมาแปะๆๆ หรอก”

 

คาดหวังลูกค้าแบบไหน ลูกค้าในจินตนาการเป็นยังไง ทั้งเอเจนซี่และ Product ที่เข้ามาดีล

วิชัย: เวลาดี เงินก็ดี ฮ่าๆๆ เปล่าหรอกผมคิดว่า ลูกค้าที่เข้ามาก็ต้องกล้าเสี่ยงกับเรา อย่างเช่นงานเนสท์เล่ ‘Love ไม่ตรง Song’ เราแฮปปี้กับลูกค้ามาก คือเค้ากล้าเสี่ยงกับเรา เพราะว่าคอนเทนท์แบบนั้นมันใหม่มากสำหรับเนสท์เล่ ตอนที่ไปขายเค้าคือเค้าเงียบ เงียบแบบนิ่งเลย แล้วเอเจนซี่ก็บอกว่า ‘อืมหือ วันนี้บรรยากาศดีมากเลยนะคะ’ แต่จริงๆแอร์ดังมาก คือจริงๆเราน่าจะเหมาะกับลูกค้าที่อยากลองอะครับ อยากลองและไว้ใจ ซึ่งส่วนใหญ่ที่มาจ้างเราเค้าก็ไว้ใจกันก็เป็นเรื่องที่ดีครับ ซึ่งแซลมอนเฮ้าส์เหมือนจะดูว่าเรากวนตีน แต่จริงๆแล้วเราก็ชอบการขายของนะหลักเราเราก็จะขายกันแบบ…ดูแล้วจะรู้สึกว่าขายกันอย่างงี้เลยหรอ เราพยายามเปิดโลกใหม่ประมาณนี้อยู่ คือเอางี้เลย ขายกันแบบนี้แหละ

 

 

เบนซ์: สำหรับเอเจนซี่ละกันนะครับ คือช่วยเรา defend งานทำความเข้าใจกับลูกค้า เพราะการนำเสนอแบบนี้มันก็เป็นวิธีค่อนข้างใหม่ ลูกค้าเค้าอาจยังไม่คุ้น อย่างเช่นลูกค้ามีคำถามว่า ‘ทำไมโลโก้มันเป็นแบบนี้ ทำไมไอนี่มันขึ้นช้าจังเลย’ คือ…ที่มันไม่ catch คนดูใน 5 วินาทีแรกตามสูตรเพราะมันอาจมีอะไรที่รออยู่ก็ได้นะ คืออยากให้ช่วยเราทำความเข้าใจกับลูกค้า เราชอบเอเจนซี่ที่นับ 1 2 3 ให้เรา คือดีเบตไอเดียเบื้องต้นมาแล้ว แล้วเราสามารถพัฒนาต่อได้ อันนี้เราถือว่าน่ารัก ซึ่งก็มีหลายที่ที่มาหาเราแล้วค่อนข้างให้อิสระเรามากเกินไป แบบเปิดโอกาสให้ คุณเบนซ์ คุณวิชัย ทำอะไรก็ได้เลยแล้วแต่คุณอยากสร้างสรรค์อะไร แต่พอทำไปแล้วมัน…มันแบบ…

 

 

(คุณเบนซ์ คุณวิชัย หัวเราะกันกระจายจนและจบด้วยประโยคจากคุณเบนซ์ว่า)

 

 

เบนซ์: ก็อยากให้ลูกค้าเปิดใจกับสิ่งที่เค้าไม่คุ้นอะครับ

 

พอได้บรีฟมาแล้วเราตีโจทย์ออกมาเป็นไอเดียยังไง

เบนซ์: ดูก่อนว่า product คืออะไร พยายามตีความให้มันกว้างขึ้น เช่น product  คือไอติมรสมะนาว มันอาจจะไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องไอติมรสมะนาวตรงๆ หรือต้องไป specific มัน  แต่ลองฟุ้งๆว่านึกถึงไอติมแล้วนึกถึงอะไร ไอติมคือความสุข แต่เป็นความสุขที่ละลายเร็วหรืออะไรเงี้ย พยายามเปรียบเทียบหรือตีความจาก product ให้มันกว้างขึ้น หรือนึกถึงว่าเวลากินไอติมหน้าร้อนแล้วมันหยดเลอะมือ อะไรแบบนี้แหละครับ คือดึงพวกแง่มุมต่างๆที่มันเกี่ยวกับไอติม หรือว่าคิดฟุ้งออกไปอีกว่าอะไรที่มันละลายเร็ว อะไรที่มันมาไวไปไว คือพยายามหนีออกจากตัวมันให้ไกล พยายามฟุ้งๆ

 

วิชัย: จริงๆมันคือพยายามทำ marketing conceptให้เป็นเรื่องของบ้านๆให้ได้

 

คือพยายามดึงธรรมชาติของคนออกมาสร้างเรื่องราวเหรอ

เบนซ์: ใช่ หลายอย่างมันเริ่มจากพฤติกรรมเนอะ เริ่มจากพฤติกรรมของคนแบบ… คนจะกินไอติมอันนี้คือใคร คนกินไอติมอันนี้เค้ามีปัญหาอะไรบ้าง อะไรอยู่ในชีวิตเค้าบ้าง กลับบ้านตอนเย็นไปเค้าทำอะไร ในเฟซบุ๊คเค้าดูอะไร  คือกลับไปเริ่มจากธรรมชาติการใช้ชีวิตของตัวผู้บริโภคมากขึ้น วาง product ไว้ก่อนนะแล้วไปดูผู้บริโภคของเราว่าเค้าทำอะไรบ้าง แล้วไอติมเรามันจะไปอยู่ส่วนไหนในชีวิตเค้าได้บ้าง

 

วิธีที่คุณบอกนี่คุณ develop จากอะไร

เบนซ์: สังเกตครับ สังเกตคนรอบตัว และ product ที่เข้ามาหาเราหลายๆอัน กลุ่มผู้บริโภคของเค้าก็คือคนที่คล้ายๆเราอะ

 

วิชัย: หรือสังเกตอีกอย่างนึงมันอาจจะเป็นการเปิดหน้าวอลล์ในเฟซบุ๊คดูว่า คนเค้าพูดถึงเรื่องอะไรกันบ้าง

 

เคยได้ product อะไรมาแล้วรู้สึกว่าคิดยากที่สุด

เบนซ์: ห้างแห่งนึง มันตีโจทย์ออกมายากเพราะยอมรับว่าเราไม่ได้รู้จักผู้บริโภคเราขนาดนั้น เราไม่เข้าใจธรรมชาติของเค้า กระทั่งสิ่งที่เค้า enjoy มันก็คนละอย่างกับเรา sense of people คนละแบบ แต่ก็พยายามทำความเข้าใจให้มากที่สุด

 

วิชัย: มันค่อนข้างไกลตัวเราไปหน่อยครับ พอเราคิดขึ้นมามันจะมีความไม่ถูกต้องบางอย่าง

 

ตรวจสอบจากอะไรว่าถูกไม่ถูก

เบนซ์: มันจะมีเซนส์ที่เรารู้สึกได้เองว่าแบบนี้มันไม่ใช่ แบบเราตลกท่านี้ไม่ถูกนะ เราพูดเรื่องนี้เค้าไม่เข้าใจนะ อะไรแบบเนี่ย มันก็สังเกตจากคนรอบตัวแหละ

 

เคยทำ product ที่เราต้องคิดให้มันเป็น nature ของผู้หญิงมากๆบ้างมั้ย

วิชัย: หนังของเราส่วนใหญ่ผู้หญิงเป็นนางเอก เราชอบเล่าในมุมผู้หญิง ทำไมไม่รู้ แต่เรารู้สึกว่าคนมัน engage ง่ายกว่าเวลาเล่าในมุมผุ้หญิง อย่างเช่น ‘Love ไม่ตรง Song’ ตัวเอกเป็นผู้หญิง หรือ MV มนุษย์ลืม ของแสตมป์ ตัวเอกก็เป็นผู้หญิง เราว่าผู้หญิงมันเล่าและเข้าถึงง่ายกว่า และคาแรคเตอร์ของความเป็นผู้หญิงมันจุดติดง่ายกว่าความเป็นผู้ชาย แล้วส่วนมากงานที่เราทำๆต่อเนื่องมา เราชอบคิดให้ตัวเองในมุมผู้หญิง

 

หมายถึงว่าเราถนัดที่จะเล่าเรื่องในมุมผู้หญิง

เบนซ์: ใช่ๆ เราถนัดเล่าในมุมผู้หญิง เหมือนว่าเรารู้คาแรคเตอร์ของผู้ชายดีอยู่แล้วมั้ง แล้วมุมผู้หญิงมันก็น่าเข้าไปศึกษาเข้าไปทำความรู้จัก

 

วิชัย: แล้วพอตัวละครหลักมันเป็นผู้หญิง เรารู้สึกว่าคนมันจะเอาใจช่วยตัวละคร แต่ว่าผู้หญิงที่เราครีเอทขึ้นมามันก็จะไม่ใช่ผู้หญิงจ๋า แต่จะเป็นผู้หญิงที่มีคาแรคเตอร์บางอย่างแบบ มีความกวนๆ ดูจะแข็งแรงแต่อ่อนแอ อะไรแบบเนี้ย

 

ขมวดคำว่า Relatable ที่บอกว่าเป็นคอนเซ็ปต์ของการทำงานอีกทีได้ไหมคะ

เบนซ์: ให้คนดูรู้สึกว่าคอนเทนท์นี้มันเกี่ยวข้องกับเค้า อินเตอร์เน็ตมันต้องมีความเป็นเพื่อนกับเค้า คิดให้มากๆว่าอะไรที่เค้าจะแชร์ในวอลล์ เพราะคนที่จะเข้าไปอยู่กับเค้าได้มันต้องเป็นเพื่อนเค้าอะ อะไรที่ attitude ตรงกันกันแล้วเค้ารู้สึกว่า เออว่ะ กูก็คิดเหมือนมึงว่ะ เออว่ะกูก็ชอบอันนี้เหมือนกันว่ะ เออว่ะกูก็เกลียดอันนี้เหมือนกันว่ะ ให้มันมีความเป็นเพื่อนกับเค้าอะ เค้าแชร์ออกไปมันต้องเป็นการแชร์แบบ positive ไม่ได้แชร์เพื่อด่าเรา

 

วิชัย: เหมือนกับคลิปรถเมล์ที่มันดัง เราก็แซะ(เสียดสี)แทนคนหลายๆคนอะ คือแม่งอยู่กับความไม่โอเคของรถเมล์ นี่คือกูพูดแทนมึงนะ

 

ทำงานกับแบรนด์กับเอเจนซี่มาปีกว่า ได้อะไรที่นอกเหนือความคาดหมายกลับมาบ้าง

เบนซ์: คงเป็นเรื่องว่าเราระมัดระวังถี่ถ้วนกับความเป็นตัวแบรนด์มากขึ้น เราจะเริ่มเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แบบเฮ้ย! อันนี้ไม่ได้นะ อย่างเช่นเนสท์เล่ พอเราได้ทำเราก็รู้ว่ามันไม่ใช่แค่เนสท์เล่ในบ้านเราแต่แบรนด์มันเป็น international มันยังมี product ลูกอีกหลายแบรนด์ เราจะมาทำตามใจเราเลยไม่ได้

 

วิชัย: ซึ่งก็ยอมรับว่าที่เราทำตัวนั้น มันก็ค่อนข้างจะลุกล้ำ principle ของแบรนด์เค้าเหมือนกัน โชคดีที่ลูกค้าใจกว้างมากแล้วเค้ายอมให้ลอง แม้มันจะไม่ใช่หนังที่เค้าเคยทำ หลายอย่างในนั้นมันดูคนละแนวกับความเป็นแบรนด์เค้า หลังๆพวกเราก็จะระวังเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

เบนซ์: ใช่ครับ ตรงนี้ไม่ได้นะ ตรงนี้พูดแบบนี้ไม่ได้ ตรงนี้ใช้สีโทนนี้ไม่ได้ หรือจะมีตัวละคร attitude แบบนี้ไม่ได้ ตรงนี้ตลกดาร์คเกินไปไม่ได้นะ เออเราว่าเราเข้าใจ personality ของแบรนด์ที่เป็นลูกค้าเรามากขึ้น

 

‘ไม่ได้นะ’ ของเรานี่ มันเกิดจากความเข้าใจของเราเองหรือมาจากคอมเม้นลูกค้า

วิชัย: เราต้องศึกษาแบรนด์

 

เบนซ์: แรกๆจะมาจากเอเจนซี่คอมเม้น ว่าทำแบบนี้ๆมันไม่ได้เพราะอะไรในแง่ของความเป็นแบรนด์

 

วิชัย: พอเราได้สินค้าอะไรมา เราก็จะย้อนกลับไปดูโฆษณาเก่าของเค้า มันก็จะให้เห็นภาพ เห็นความเป็นตัวตนของแบรนด์เค้าได้ชัดขึ้น แต่หลักๆที่ชัดเจนสุดคือเอเจนซี่จะคอมเม้นมาว่า เออนี่มันเป็น principle ของแบรนด์เค้าที่เราไม่ควรไปแตะนะ แรกๆเราก็จะมีเถียงเค้า แต่พอได้ทำความเข้าใจเราก็จะรู้สึกว่าเค้าก็คงจะมีเส้นที่ตัวเค้าเองไม่อยากข้าม เราก็ต้องเข้าใจในจุดนั้น ก็หาวิธีคิดใหม่ๆให้อยู่กับสิ่งนั้นให้ได้ดีกว่า คือเราก็ทำตัวเป็น commercial มากขึ้นแหละ อย่างเป็นแซลมอนเฮ้าส์มันก็จะมีแบรนด์ของเราอยู่ในนั้นประมาณนึง ซึ่งตรงนี้ถึงเวลาเราก็ต้องเจรจาให้มันได้อย่างน้อย 50:50 มีทั้งความเป็นแบรนด์ของลูกค้าและความเป็นเราก็ยังไม่หายไป

 

“ถึงเวลาเราก็ต้องเจรจาให้มันได้อย่างน้อย 50:50 มีทั้งความเป็นแบรนด์ของลูกค้าและความเป็นเราก็ยังไม่หายไป”

 

นิยาม ‘แซลมอน เฮ้าส์’ มาเป็นคำสักหนึ่งคำ

เบนซ์: intellectual badass ปัญญาชนคนชั่ว ฮ่าๆๆ คือเราไม่ได้บอกเล่าสิ่งสวยๆ เรามีการเสียดสี แต่ความหยาบของเรามันมีความรู้อยู่ มันมีเหตุผลของมันรองรับอยู่ และเรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร เราไม่ได้เสียดสีไปเรื่อยเปื่อย

วิชัย: อย่างที่เบนซ์บอกเลยครับ อย่างเราเอานวพลมาพูดถึงตัวนวพลเอง หรืองานไหนก็แล้วแต่ที่มันมีการแซะ เสียดสี มันเป็น generic ของเราและเราชอบเซนส์แบบนี้ มันไม่ใช่ความตลกว๊ากๆอ๊ากๆปล่อยมุกฮากระจาย แต่มันตลกด้วยความไม่สมบูรณ์แบบของมันและเราเอามาเล่าในมุมเสียดสี กวนตีนๆ

 

“เรามีการเสียดสี แต่ความหยาบของเรามันมีความรู้อยู่ มันมีเหตุผลของมันรองรับอยู่ และ เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร เราไม่ได้เสียดสีไปเรื่อยเปื่อย”

 

แบบนี้ลูกค้าที่จะเข้ามาหาเราก็ต้องเข้าใจใน generic ของเราประมาณนึง

เบนซ์: ครับ คือความกวนๆอะแหละ ง่ายๆ เออแบรนด์กูมันต้องกวนๆได้นะ เรารู้สึกว่าถ้าเป็นแบรนด์ที่  keep คาแรคเตอร์หรือวางตัวเนี้ยบอยู่ตลอด เราจะเอามาเล่าให้เป็นเราได้ยากครับ เพราะเราจะรู้สึกว่ามันไม่เหมือนเพื่อนเรา เพื่อนเราที่สนิทมากๆ มันก็จะต้องมีความกวนตีน มีความที่กล้ากวนๆเรานิดนึงอะครับ

 

วิชัย: แต่คำว่ากวนตีนมันก็ไม่ได้แปลว่าทำตัวแย่ พูดจาหยาบคายนะ มันจะเป็นแนวแบบ เออ…คิดแบบนี้ก็ได้เว้ย บิดการเล่าให้มันต่างจากแพทเทินเดิมบางทีมันก็กวนตีนได้แล้วนะ

 

เบนซ์ ใช่ครับ กวนตีนของเราไม่ได้หมายถึงถ่อย และความกวนตีนไม่จำเป็นต้องถ่อยครับ

 

วิชัย: อย่างเช่นเนสท์เล่ สินค้าจะไม่นิยมให้เห็นสินค้าตั้งแต่แรกเพราะกลัวคนจะคิดว่าป็นโฆษณา แต่เราก็ให้เห็นสินค้าแม่งตั้งแต่ทีแรกเลย เราก็พยายามไฟท์ว่า โอเคให้เริ่มมาแล้วเจอของเลย ลูกค้าเค้าก็ ‘เฮ้ยเอาจริงๆหรอวะ’ ซึ่งตรงนี้มันคือความ badass ของเรานั่นแหละ เราไม่ได้ขวางโลกแต่เราไม่อยากปักธงไปก่อนว่าวิธีนี้มันจะไม่เวิร์ค

 

“คำว่ากวนตีนมันก็ไม่ได้แปลว่าทำตัวแย่ พูดจาหยาบคายนะ มันจะเป็นแนวแบบ เออ…คิดแบบนี้ก็ได้เว้ย บิดการเล่าให้มันต่างจากแพทเทินเดิมบางทีมันก็กวนตีนได้แล้วนะ”

 

มีเทคนิคในการขายงานให้ผ่านมั้ย

เบนซ์: เราพยายามลงรายละเอียดมากๆเลย ว่าเออ…ที่มันจะต้องกวนตีนแบบนี้ เพราะเดี๋ยวมันจะมาเสิร์ฟอารมณ์ขันตอนสุดท้ายอย่างงี้นะ ทำให้เค้าเห็นภาพที่สุดอะครับ แล้วก็โชว์ referenc ว่าเดี๋ยวมันจะออกมาเป็นแบบนี้ๆ เพราะว่าเอาจริงๆเราไปเป็นโครง เป็นดราฟท์ ลูกค้าเค้ามองไม่เห็นภาพหรอก เราต้องเอาตัวอย่างของ end product ที่มันจะออกมาให้เค้าเห็นว่ามันจะออกมาประมาณนี้ๆ แล้วก็เอเจนซี่ที่เข้าใจเราด้วย เอเจนซี่ที่เข้าใจเค้าจะช่วย defend ธรรมชาติของงานเรา

 

วิชัย: หลักๆคือเราจะเล่าไปตามสเต็ป แต่สเกลที่จะอธิบายให้เค้าเห็นภาพจะมาเต็ม ๆเลยเพื่อไม่ให้เค้ามีคำถามกับเรา

 

หมายถึงว่า ทุก sequence และทุกมุขของเรา มีเหตุผลรองรับว่าทำไมมันถึงออกมาเป็นแบบนี้ใช่มั้ย

วิชัย เบนซ์: ใช่ครับ

 

วิชัย: แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วแต่สินค้านะครับ เช่น ชิ้นนี้ไม่ต้องลงรายละเอียดเยอะหรอก เพราะว่าไอเดียเล่ามาเค้าเก็ตละ แต่บางชิ้นอย่างเนสท์เล่ พอมันเป็น love story แล้วอะ มันต้องมีทั้งหมดไปขายให้เค้าเห็น ให้เค้าเห็นเลยว่า อ๋อ โอเคมันเป็นแบบนี้นะ การเห็นสินค้าก่อนเนี่ยมันมีผลต่อเรื่องยังไงๆ

 

เบนซ์: ใช่ๆ บางอย่างต้องลงรายละเอียด แต่บางอย่างคอนเซ็ปต์มันเห็นภาพมากๆแล้วก็ง่าย อย่างตอนขายงานให้แสตมป์ มิวสิควิดีโอ ‘มนุษย์ลืม’ เราไปแบบ “แสตมป์ครับ เดี๋ยวคอนเซปต์มันจะประมาณว่า ผู้ชายคนเนี้ย เดินอยู่ในมิวเซียมที่ทุกชิ้นงานมันสร้างจากความทรงจำเค้าหมดเลย เป็น The EXibition นิทรรศการแฟนเก่า”  ปึ้ง! จบเลย เค้าซื้อ สองนาทีเค้าเข้าใจทุกอย่างแล้วก็ขายจบเลย

 

งั้นแบบนี้มันต้องอยู่ที่ลูกค้าด้วยเนอะ อยู่ที่ความเข้าใจเค้า

วิชัย: ซึ่งตรงนี้ถ้าได้เอเจนซี่ที่ดีอะ เค้าก็จะมาบอกเราว่าควรขาย 5 นาทีนะ หรือเวลาเท่านี้ไม่พอนะ ตรงแค่นี้ๆนะ คือเค้าจะช่วยวางแผนตอนขายกับเราไว้รอบคอบ

 

เบนซ์: เอเจนซี่จะเค้าใจลูกค้า รู้จักลูกค้าของเค้าดี และรู้ว่าควรทำยังไง

 

อุปสรรคเวลาขายงานที่เราเจอบ่อยๆคืออะไร

วิชัย: เค้าไม่เห็นภาพ แล้วมันกลายเป็นความเสี่ยงสำหรับเค้า

 

เบนซ์: เรื่องมุกอะไรแบบเนี้ย จริงๆมันเล่ายากนะมุกตลกเนี่ย บางทีมันเป็นมุกที่ต้องใช้ภาพช่วย แล้วการไปเล่าให้เค้าอินเนี่ยมันยาก

วิชัย: Holy Vision (TCDC) ตอนไปขายเค้าไม่เก็ตเลย ขายนานมาก คือเราก็ไปเล่านะว่าวัตถุประสงค์คืออะไร แต่เค้าไม่เก็ตเลย ต้องกลับมาทำการบ้านไปขายรอบที่ 2 แต่เราไม่โทษเค้าเลยนะ สิ่งที่เรารู้สึกคือเรายังขายไม่เก่ง งานมันดูบ้าบออะ เราทำให้เค้านึกภาพออกมายาก แต่อย่างเราอย่างเบนซ์เป็นคนทำงานเราเห็นภาพตอนจบกันอยู่แล้ว แต่ตอนเราไปเล่าให้เค้าฟังเนี่ย คือยังไงอะ… คือเราไปขอเงินเค้าจำนวนมากเพื่อไปทำเรื่องปัญญาอ่อนอะ แล้วเค้าแบบไม่เก็ต

 

เบนซ์: เราก็วาดสตอรี่บอร์ดไปขายเค้านะครับ แต่บางเรื่องบางอย่างมันมี element ของภาพยนตร์อะครับ เสียงดนตรีบิวด์ จังหวะการตัดต่อ แบบไอนี่มันอยู่ตรงนี้ และกล้องจะเคลื่อนไปที่ตัวเฉลยมุขที่อยู่ตรงนั้น อะไรแบบเนี้ยอะครับ มันเล่าไม่ง่ายเลย

 

วิชัย: เราคิดว่าขายยากทุกงาน คำว่ายากในที่นี้คือทำให้เค้าเชื่อว่ามันเวิร์คอะยาก

 

เบนซ์: มันยากเพราะภาพยนตร์มันคือการเล่าเรื่องด้วยภาพอะ ภาพยนตร์มันมีภาพเพื่อให้เราไม่ต้องมาเล่าให้เค้าฟังแบบนี้ไง ทีนี้พอมัน  reverse กลับมาเป็นว่าเราต้องเอาภาพมาพูดให้คนฟังเข้าใจมันก็เลยยาก ยิ่งเป็นหนังตลกที่มันมีจังหวะของมันยิ่งยาก เพราะยังไงมันก็เป็น element ของภาพยนตร์

 

วิชัย: สตอรี่บอร์ดมันช่วยแค่เห็นภาพ ส่วนที่สำคัญแต่หายไปคืออย่างที่เบนซ์บอก เพลง จังหวะตัด แอคติ้ง

 

เบนซ์: หลายๆอย่างมันคือ  element ของภาพยนตร์ เอเจนซี่ที่ทำงานเก่งๆเค้าจะ เออว่ะทำไมเล่าได้สนุกอย่างงี้วะ มันเหมือน performance แล้วอะ

 

วิชัย: นั่นแหละครับ พวกเราขายงานไม่เก่งเท่าไหร่

 

“…เพราะภาพยนตร์มันคือการเล่าเรื่องด้วยภาพอะ ภาพยนตร์มันมีภาพเพื่อให้เราไม่ต้องมาเล่าให้เค้าฟังแบบนี้ไง ทีนี้พอมัน  reverse กลับมาเป็นว่าเราต้องเอาภาพมาพูดให้คนฟังเข้าใจมันก็เลยยาก”

 

แล้วเวลาเราแคสนักแสดง พอยต์ของคนแบบไหนที่ตรงกับแซลมอนเฮ้าส์

เบนซ์: ต้องมีความกวน

 

วิชัย: คนบ้านๆ บ้านๆแบบ กระทั่งพระเอก นางเอก เราก็ไม่อยากให้มันหล่อมันสวย

เบนซ์: ช่าย กวนได้ บ้านได้ มีประโยคนึงที่เราว่าดีคือ ‘คนแบบเนี้ย พี่ว่าเดินออกไปหน้าปากซอยจะเจอคนแบบนี้มั้ย’ ถ้าเจอคนแบบเนี้ยคือโอเค คนนี้ใช่ เรารู้สึกว่าคนนี้รีเลทกับเรา แต่ถ้าเรารู้สึกว่าคนแบบนี้มันอยู่เฉพาะ พารากอน หรือเอมบาสซี่อะ จะไม่ใช่ละ คือเราชอบคาแครเตอร์ของคนที่มีชีวิต well-rounded (หลากหลาย) อะ ไม่ได้มีลุคที่ต้องอยู่ที่ใดที่นึงตลอดเวลา

 

วิชัย: เนี่ยแหละอยู่ในคำว่า relatable ของเรา อย่างเช่นแบบว่าถ้าคุณเจอตัวละครตัวนึงแม่งหล่อ เราเดาได้ไอนี่พระเอก เก็ตปะ

 

เบนซ์: เราพยายามคิดว่าพูดบริโภค ถ้าทำหนังแบบนี้ไปแล้วผู้บริโภคจะเจอหนังแบบนี้บ้างมั้ยวะระหว่างทาง หรือว่าในชีวิตประจำวันอะ เค้าเจอคนแบบนี้บ้างมั้ยวะ

 

วิชัย: เราจะหลบเลี่ยงบุคลิกแบบ… เนิร์ดต้องใส่แว่น พระเอกต้องหล่อ คือถ้าหน้าหล่อมาเลยในหนังแล้วมาบอกว่าตัวเองไม่มีแฟนโสดสนิท ดูยังไงมึงก็โกหกแล้ว หน้าแบบมึงเนี่ยยังไงก็มี หรือการทำให้คนทั่วไปมาดูดีขึ้นในระดับนึง เป็นระดับเกินปกติของคนทั่วไปในชีวิตประจำวันจะไม่ใช่ทางเรา เราอยากทำให้บุคลิกมันบ้านๆ บ้านในที่นี้คือ สมจริงนะ

 

ยากมั้ยคะ ถ้าสมมติหน้าแบบเนี้ยได้มาละตามต้องการ แต่มาแล้วแอคติ้งไม่ได้

เบนซ์ วิชัย: ยากครับ ยากมาก

 

วิชัย: เกือบทุก job เราจะมาได้ตอนท้ายๆเลย

 

เบนซ์: เคยแคส ‘ผ้าป่าน’ ตอน MVแสตมป์ สองอาทิตย์อะ ผู้หญิงแบบเนี้ย นิ่งๆ เสียงเย็นๆ ยังไงก็ไม่ได้

 

วิชัย: ลุงสมานก็ได้วันสุดท้าย แบบถ้าไม่ได้วันนี้เราจะเดือดร้อนแล้ว ถ้าเป็นลุงต่างจังหวัดก็อยากให้มันดูเป็นแบบนั้นจริงๆ แต่ถ้าจะเป็นนักแสดงก็อยากให้เป็นนักแสดงที่คนจะจำไม่ได้ว่าเขาเป็นนักแสดง อย่างเช่นกระเป๋ารถเมล์ในหนังรถเมล์ จริงๆเค้าเป็นนางเอกในหนังโฆษณาของพี่ต่อเยอะมาก (ต่อ ฟีโน ผู้กำกับหนังโฆษณา) แล้วก็รู้สึกว่า พอจ้างนักแสดงที่คนจำได้แล้ว ตัวหนังมันต้องใช้เวลาในการละลายพฤติกรรมกับภาพเดิมๆที่คนดูติดอยู่ แต่ถ้ามาเฟรชๆเลยเราใส่ได้เต็มที่

 

เบนซ์: จะพยายามไม่เอาคนที่หน้าช้ำ คือหมายถึงถูกเห็นบ่อยแล้วในหนัง คือเค้าเล่นดี อารมณ์ได้ แต่ถ้าเห็นเค้าบ่อยแล้วก็จะเลี่ยง

 

วิชัย: ส่วนใหญ่โจทย์ที่จะเจอคือ อยากได้พระเอกหล่อๆ นางเอกสวยๆ ซึ่งเราจะบอกเค้าว่าถ้าหล่อมันจะดูเป็นโฆษณาเลยนะครับ ช่วยใช้เนื้อเรื่องทำให้พระเอกคนนี้มันหล่อขึ้นมาดีกว่า

 

เบนซ์: อย่างเนสท์เล่ ถ้าเลือกพระเอกมาหล่อๆเลย เราก็จะรู้สึกว่ามึงอกหักจากคนนี้เดี๋ยวแปปนึงเดี๋ยวมึงก็ได้แฟนใหม่ได้ หล่อขนาดนี้ เราไม่อยากให้มันเป็นแบบ…หล่อมาเลยนะแต่มาใส่แว่นเนิร์ดๆ หรือหล่อมาเลยแต่เป็นคนธรรมดาที่ไม่มีแฟนมาหลายปี ฮ่าๆๆๆ

 

 

จุดไหนที่คุณคิดว่าลูกค้าอาจมองข้าม แต่พอเรามาทำงานในส่วนของ Production แล้ว เรารู้ว่าจริงๆมันสำคัญ

วิชัย: รายละเอียดเล็กๆน้อยๆของหนัง เช่นบางซีนมันไม่จำเป็นต้องมีก็ได้แต่มีแล้วมันจะดีขึ้น คอมเม้นที่เราจะได้คือ ‘ช็อตนี้แช่นานไป เอาออกเหอะ’ ไรแบบนี้

 

เบนซ์: พอมาทำหนังเราจะรู้สึกว่าการแช่นานหรืออะไรๆในหนังมันมีจังหวะของมัน แบบมันดูเป็นเซ็ตได้เลยว่า ช็อตนี้ช็อตตบ ช็อตนี้ช็อตกลืน ช็อตนี้ช็อตขยี้ ทุกวินาทีมันจะตอบได้ว่าทำไมมันต้องมีช็อตนี้ๆ แต่เค้าอาจจะรู้สึกว่ามันยาวไป ซึ่งจริงๆแล้วหนังยาวไปไม่ใช่ปัญหา ถ้าเรื่องคุณเอาคนดูอยู่ อย่างหนังโฆษณาหลายเรื่องที่เรื่องมันดี เค้าทำออกมายาวเค้าก็เอาคนดูอยู่ ‘The One Card จีบได้แฟนตายแล้ว’ 11 นาทีนะเว้ย หรือ ‘LALIN พรเกษม’ นั่นก็ยาวแต่หนังเค้าก็เอาคนดูอยู่

 

ซึ่งเราจะพยายามเซ็ตทุกอย่างให้เหมือนที่คนดูเคยเห็นมากที่สุด คุ้นเคยมากที่สุด ปากซอยมันต้องเป็นแบบนี้ มอเตอร์ไซต์รับจ้างมันต้องเป็นแบบนี้ ในบ้านคนจริงๆมันต้องเป็นแบบนี้

 

แล้วพอมีงานรุ่นพี่ที่เป็น Internet film เรื่องยาวออกมา แล้ว Success มันมีส่วนช่วยกรุยทางให้เราบ้างมั้ย

เบนซ์ วิชัย: ช่วยครับ

 

วิชัย: ลูกค้าก็จะมีกลยุทธ์ของเค้าว่ามันควรจะ catch คนดูในกี่วินาทีๆ ทุกเรื่องจะเป็นแบบนั้น ซึ่งเรายังไม่เคยทำตามเวลาที่เค้าให้มาได้เลย ฮ่าๆๆๆๆ เพราะพอเป็นภาษาหนังมันคนละแบบด้วย และเราจะ defend เรื่องนี้กับลูกค้าอยู่บ่อยๆ แต่พอมันมีเคสหนังยาวที่ success ออกมา ลูกค้าก็เริ่มเปิดใจ เค้าก็เข้าใจเรามากขึ้น อย่างเนสท์เล่ตอนแรกเค้าก็ต้องการประมาณ 3 นาทีนะ เราดันซัดดราฟท์แรกไป 6 นาที แต่ลูกค้าดูแล้วเค้าสนุก เค้าก็เข้าใจว่ามันต้อง 6 นาทีเพราะอะไร เค้าเลยโอเค 6 นาทีได้

 

แบบนี้พอยต์ไม่ได้อยู่ที่ว่าหนังมันยาวหรือสั้น แต่อยู่ที่เรื่องว่ามันต้องเอาคนดูอยู่?

 

เบนซ์: ใช่ครับ ในฐานะผู้บริโภค หลายงานที่เราดูมันแค่ 1 นาทีครึ่ง แต่ทำไมเราถึงรู้สึกว่ามันยาวจังเลย เพราะเค้านำเสนอแต่สิ่งที่เราไม่ได้ต้องการจะดู มันเหมือนขายตรง พยายามจะให้สนใจสินค้าให้ได้ มันไม่มีเรื่องราว เราเป็นผู้บริโภคเองเรายังรู้สึก

 

วิชัย: ส่วนใหญ่เราจะฟูออก หมายถึงเวลาทำงานเราจะตั้งเป้าไว้ว่าโอเคเรื่องนี้ 3 นาทีนะ แต่พอทำจริงๆแล้วจะมีแบบ ช็อตนี้มันต้องยาวขึ้นว่ะ เพื่ออารมณ์จะได้อิ่ม แต่ส่วนใหญ่เราจะตั้งไว้ที่ 3 นาที เราว่ามันเป็นเวลาที่กำลังดี แต่พอถึงเวลาทำจริงๆมันก็จะเกิน 3 นาทีอะแหละ

 

เบนซ์: จริงๆแล้วแต่งานเลยแหละ อะไรที่ต้องการ ดราม่า โรแมนติก เป็นซีนอารมณ์ๆมันก็ต้องมีระยะเวลา

 

ขอคำถามสุดท้าย…มองอนาคตของคอนเทนท์ออนไลน์ว่ามันจะเป็นยังไงบ้าง

 

เบนซ์: เราว่ามันกำลังไปในทางที่ดีนะครับ ทั้งคนดู ทั้งการรับรู้ของเอเจนซี่ ของลูกค้า ว่าเออ…มันเป็นแบบนี้ก็ได้นะ เป็นแบบนี้ก็ได้นะ เรารู้สึกว่าเค้าเอาใจผู้บริโภคมากขึ้น ยอมลดบทบาทสินค้าในหนังลงเพื่อให้เห็นคอนเทนท์ที่คนดูอยากดูกัน

 

วิชัย: เห็นด้วยกับเบนซ์ครับ หลักๆเราว่าคอนเทนท์มันดีขึ้นเรื่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆในแง่ของการไม่ได้มองแต่ว่าสินค้าต้องยิ่งใหญ่ ทั้งลูกค้าทั้งเอเจนซี่เองก็เริ่มมีความตั้งใจอยากลองรูปแบบการนำเสนอใหม่ๆ ก็มีเงินสนับสนุนคนคิดคนทำ มันกำลังไปในทิศทางใหม่ๆ ตัวผู้เสพย์เองก็จะได้ดูคอนเทนท์ที่สนุกๆ

 

เนสท์เล่: Love ไม่ตรง Song

httpv://www.youtube.com/watch?v=Oo1KlQoss6A&list=PLyzRFGg6YWw4BGZSVClZg5FdAzymuzTUU&index=1

 

วิดีโอสาธิตความปลอดภัยบนรถเมล์

httpv://youtu.be/u06GqlNiJUY

 

ลุงเนลสัน

httpv://www.youtube.com/watch?v=7j1moCi56tc

 

ป้าไสว

httpv://www.youtube.com/watch?v=NByHC_ThTUQ

 

เกี่ยวกับ Salmon House

‘สำนักพิมพ์แซลมอน’ เป็นสำนักหนังสือที่มีเป้าหมายจะพิมพ์งานที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนเมือง วัฒนธรรมร่วมสมัย ประเพณี และความสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของคนไทย หรือต่างประเทศ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาหนังสือของแซลมอนหลายต่อหลายเล่ม กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ติดอันดับขายดี และถูกพูดถึงในวงกว้างด้วยการเล่าเรื่องที่คล้าย ‘จริงจัง’ ทว่าเล่าด้วยท่าทีสนุกสนาน และเป็นกันเอง แทนที่จะเป็นหนังสือเชิงวิชาการซึ่งเล่าด้วยท่าทีซีเรียส ทำให้นักอ่านจำนวนไม่น้อยจัดให้เราอยู่ในสำนักพิมพ์หมวด ‘สาระบันเทิง’ กล่าวคือ มีทั้ง ‘สาระ’ และ ‘ความบันเทิง’ อยู่ในแห่งเดียวกัน

ตรงกับเจตนา และแนวทางในการทำงานของเราที่ว่าเป็นปลาแซลมอนชั้นดีซึ่งไม่ได้มีดีแค่ประโยชน์ทางโภชนาการแต่ยังมีรสชาติอร่อยระดับติดใจจนวางไม่ลง ด้วยไอเดียที่ ‘ทวนกระแส’ เพื่อหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับวงการ ทำให้สำนักพิมพ์แซลมอนขยายฐานจากผู้อ่านสู่ผู้ชม ต่อยอดสื่อจากภาพนิ่ง สู่ภาพเคลื่อนไหว เติบโตขึ้นเป็น ‘บริษัท แซลมอน เฮ้าส์ จำกัด’ ที่พร้อมจะสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์ที่แปลกใหม่ แหวกแนว เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามแบบฉบับของแซลมอน

ตามไปดูผลงานอื่นๆของ Salmon House 

 

Source: Copyright © MarketingOops.com


  • 1.6K
  •  
  •  
  •  
  •