5 มุมมองผู้บริหารสู่ “วิกฤตเงินเดือนที่สูงเกินจริง” ของคนทำงานวงการดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง

  • 21
  •  
  •  
  •  
  •  

digital-salary

เป็นอะไรที่ไม่ได้มโนขึ้นเอง แต่เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นจริงในแวดวงคนทำงานด้านสื่อดิจิทัล กับเงินเดือนของพนักงานบริษัทตั้งแต่ระดับ Account Executive, Client Service, Creative Director, Campaign Manager, Media Planner, Strategic Planner ไปจนถึง Developer, Art Director หรือเรียกได้ว่าเกือบจะทุกตำแหน่งงานในวงการนี้ ที่ผู้บริหารต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีอัตราเงินเดือนที่สูงเกินควร ทำให้การว่าจ้างลำบากมากขึ้น เพราะบางคนเงินเดือนสูงกว่าประสบการณ์ หรือความสามารถที่แท้จริง และบางคนถึงกับสูงกว่าคนสัมภาษณ์เสียด้วยซ้ำ

แต่ด้วยความเข้าใจในสื่อ “ดิจิทัล” องค์ความรู้ที่ไม่ได้ถูกกำหนดให้มีในหลักสูตรการเรียนหรือหากันได้ง่ายๆ ทำให้บริษัทที่ไม่เข้าใจสื่อดิจิทัล เกิดความต้องการคนกลุ่มนี้มาทำงาน เพราะเชื่อว่าจะสามารถช่วยสร้างทีมหรือทำให้องค์กรของตนสามารถเข้าใจในเรื่องดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งได้ และในที่สุดคือการเพิ่มความสามารถในการให้บริการด้านดิจิทัลมาร์เก็ตต้ิงของบริษัทได้

จริงอยู่ว่าประสบการณ์ด้านสื่อดิจิทัลนั้นยังคงเป็นเรื่องใหม่ต่อใครหลายๆคน เพราะนอกจากความสนใจในโลกดิจิทัลและประสบการณ์ที่เคยผ่านงานมาจริงๆแล้ว ความเข้าใจในการทำการตลาดบนโลกออนไลน์ยิ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการทำโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์นั้นช่างแตกต่างและซับซ้อนกว่าการทำโฆษณาในสื่อหลักอย่างทีวี วิทยุ และสิ่งพิมพ์ เป็นอย่างมาก   นอกจากต้องอาศัยประสบการณ์แล้ว ยังต้องมีวินัยในการติดตามเรื่องราวข่าวสาร เทคโนโลยี และพฤติกรรมของคนออนไลน์ที่เกิดขึ้นอีกด้วย ทำให้คนเหล่านี้สามารถเป็นเทพได้ เพราะพูดในภาษาที่คนฟังไม่ค่อยเข้าใจ ทำให้ผู้รู้ด้านการตลาดหลายๆท่านคิดกันไปเองว่าคนเหล่านี้รู้มากกว่าตน

สื่อดิจิทัลสำหรับประเทศไทย มีมาร่วม 10 ปีแล้ว จนถึงทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่าคนในวงการโฆษณาทั้งจากสื่อหลักก็เริ่มเข้าใจสื่อดิจิทัลมากขึ้น จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก็มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด แถมมากกว่า 50% ของประชากรไทยก็ใช้สื่อนี้เป็นประจำ ผู้ให้บริการด้านสื่อดิจิทัลเอง ก็จัดอบรมสอนการใช้สื่อของตนให้กับเอเจนซี่โฆษณา และนักการตลาดอย่างสม่ำเสมอ การตลาดผ่านสื่อดิจิทัลจึงไม่ยากเหมือนแต่ก่อน และยังประสบการณ์ของคนในวงการเองก็มีจำนวนปีที่มากขึ้น รู้กลเม็ดวิธีที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทางสื่อออนไลน์ได้ดีกว่าแต่ก่อน เรียกได้ว่า มีคนเข้าใจสื่อนี้มากขึ้น และได้ทดลองและจัดทำแคมเปญผ่านสื่อนี้มาพอสมควร   แม้กระนั้น..ความต้องการบุคคลากรของวงการนี้ ก็ดูเหมือนจะยังไม่พอ ทำให้เกิดการเปลี่ยนงานและดึงตัวกันมากขึ้น   พอมีการเปลี่ยนงานที เงินเดือนก็ถูกปรับขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้กระทบโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทหลายแห่งกันเลยทีเดียว

มาถึงตรงนี้ ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า การทำงานในวงการนี้ สมควรที่จะได้รับค่าตอบแทนสูง หรือว่าปัจจุบันค่าตอบแทนที่ได้กันนั้นสูงเกินไป แต่ที่แน่ๆ นักโฆษณากลับลงความเห็นเหมือนกันว่าสื่อดิจิทัลนั้นราคาถูกว่าสื่อหลัก ยืดหยุ่นกว่า และวัดผลได้ แต่สำหรับดิจิทัลเอเจนซี่กับมีต้นทุนของแรงงานที่สูงขึ้น และบางแห่งยังต้องนำเสนอราคาที่ถูกกว่าเพื่อแข่งขันกับเอเจนซี่คู่แข่ง ทำให้บางบริษัทต้องทำงานหนักเพื่อแลกกับกำไรที่น้อยลง

มาถึงจุดนี้ จึงไม่แปลกที่จะมีประเด็นในเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ   จึงอยากสอบถามผู้บริหารในวงการนี้ดูว่า มีความเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ เห็นสมควร หรือควรจะรับมืออย่างไร หรือแท้ที่จริงแล้วไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากมายอย่างที่คิด รวมถึงกลยุทธ์ในการรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัทของตนให้นานที่สุดมีอะไรบ้าง ลองมาฟังความคิดเห็นของผู้บริหารจากทั้งดิจิทัลเอเจนซี่ มีเดียเอเจนซี่ ครีเอทีฟเอเจนซี่ และคนในแวดวงดิจิทัลกันค่ะ

 

siwatคุณ ศิวัตร เชาวรียวงษ์
CEO บริษัท mInteraction จำกัด และ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล ประเทศไทย (DAAT)

ผมคิดว่าเป็นเรื่องจริงที่จำนวนคนทำงานในสายงานดิจิทัลมีความขาดแคลน และเป็นปรกติที่เมื่อจำนวนคนมีน้อยกว่าความต้องการของตลาด supply น้อยกว่า demand ก็จะทำให้อัตราค่าจ้างขยับสูงขึ้นครับ ผู้ประกอบการและเอเยนซี่ก็มีทางเลือกหลายๆทาง    บางรายอาจเลือกที่จะตรึงอัตราค่าจ้างไว้ในระดับที่ตัวเองคิดว่าเหมาะสม บางรายอาจเลือกขยับค่าจ้างสูงขึ้นเพื่อจูงใจบุคลากรต่างๆ  บางรายเร่งพัฒนาบุคลากรภายในให้มีความรู้ความสามารถด้านนี้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ เมื่อผู้ประกอบการและเอเยนซี่จ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้น ก็ต้องพยายามดึงเอาศักยภาพในตัวบุคคลออกมาให้ได้มากขึ้นด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องให้ทำงานหนัก หักโหมเกินกำลังนะครับ หมายถึงการจัดงานให้ตรงกับความสามารถที่มี เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดทั้งกับธุรกิจและกับตัวบุคลากรเองด้วย

อีกประเด็นหนึ่งคือบุคลากรในสายงานนี้จำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ แม้ว่าค่าตอบแทนจะเป็นเรื่องสำคัญในอันดับต้นๆ แต่จากประสบการณ์ ปัจจัยอื่นๆ ก็มีผลมาก โดยเฉพาะความสุขในการทำงาน ซึ่งมีผลมาจากเนื้อหาของงานเอง ปริมาณงาน ผู้บังคับบัญชา การพัฒนาทักษะที่จะได้เรียนรู้ระหว่างการทำงาน ประสบการณ์และความหลากหลายในงาน สังคม สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งสิ่งใดจะจูงใจคนคนไหนได้มากกว่ากันก็ขึ้นกับแต่ละคน ผู้บริหารต้องมองให้ออกและให้การสนับสนุนในแบบที่คนทำงานต้องการครับ

 

digital-salary-4Supavadee Tantiyanon
CEO, LOWE THAILAND

เนื่องจากในขณะนี้ดิจิตอลบูมอย่างก้าวกระโดด คนทำงานเฉพาะทางด้านนี้มีจำกัดและทางมหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็ยังวิ่งไล่ตามผลิตไม่ทัน  จึงเป็นเหตุทำให้เอเยนซี่ ลูกค้า และบริษัทสื่อต้องแย่งบุคลากร ทำให้ค่าตัวสูงแบบก้าวกระโดดแต่ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอาจยังไม่ถึงขั้น แต่เหตุการณ์นี้น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

โลกดิจิตอลเปลี่ยนและพัฒนาเร็วมาก ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมีความชัดเจนมากขึ้น หากเราแยกสายการทำงานกันออกมาให้ชัดเจน เช่นทีมวางแผน ทีมบริหารจัดการ ทีมวิเคราะห์ ทีมวางแผนและจัดซื้อสื่อ ทีมครีเอทีพ ทีมผลิตงาน และทีมเทคโนโลยี เราจะเห็นปรากฏการณ์เรื่องคนที่เปลี่ยนไป   ความต้องการของตลาดจะทำให้คนที่อยู่ในโลก Analog ถูกบังคับให้ปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิตอลให้ได้     คนกลุ่มนี้ก็จะต้องขวนขวายหาความรู้เพื่อที่จะอยู่รอด ส่วนเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ ดิจิตอลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะฉะนั้น ดิจิตอลก็จะกลายเป็น commodity skill ในด้านการจัดการไม่ได้พิเศษเฉพาะเจาะจงแต่ยังคงความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอยู่ในบางด้านเช่น โปรแกรม เทคโนโลยี การวิเคราะห์ การทำคอนเทนท์ แต่เมื่อมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะมีคนในพูลให้เลือกมากขึ้น

และที่สำคัญคือ ในความเป็นจริงแล้วดิจิตอลเป็นอีกหนึ่งแชนแนลในการสื่อสารกับผู้บริโภค  ซึ่งการสื่อสารแบบอนาลอคยังมีความจำเป็นและต้องมีการเชื่อมโยงกัน อย่างที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแล้วจากการที่สื่อเริ่มมีการพัฒนามากขึ้น   เช่น การซื้อสื่อแบบ programatic  สำหรับ multi-screen users  ซึ่งคนผลิตงานต้องเข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้าแบบครบวงจร    ดังนั้น.. คนที่มีความรู้เฉพาะสื่อดิจิตอลอย่างเดียวอาจไม่สามารถเรียกค่าตัวเกินความจำเป็นได้อีกต่อไป   และสุดท้ายต้องดูที่ความเก่งและความเชี่ยวชาญกันจริงๆ   อีกข้อที่สำคัญมากๆด้วยก็คือการทำงานที่สามารถวัดผลได้   ซึ่งวันนี้คนทำงานที่เก่งและดีต้องช่วยลูกค้ามองให้รอบ  ดังนั้นการแข่งขันก็จะเป็นการรแข่งขันที่มีคุณภาพนำ มากกว่าการแข่งขันกันที่ราคาอย่างเดียว คนที่สามารถเชื่อมโยงโลกอนาลอคกับโลกดิจิตอลได้นี่แหละจะเป็นคนที่วงการโฆษณาต้องการตัวในอนาคต

อีกเรื่องหนึ่งที่อาจเป็นผลกระทบกับสายงานดิจิตอล คือ ค่าแรงแพงเกินความเชี่ยวชาญ   ซึ่งในวันนี้..ตัวเลือกไม่ได้มีแค่ในประเทศ และงานดิจิตอลหลายๆขั้นตอนสามารถทำได้ในต่างประเทศ ที่มีเรทราคาค่าผลิตที่อาจถูกกว่าการจ้างคนในประเทศ  การส่งงานออกไปสู่แรงงานต่างประเทศก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งค่ะ ดังนั้นสำหรับบริษัทเราเองก็ต้องพัฒนาบุคลากรข้างในให้พร้อม เพื่อที่จะพร้อมเดินไปกับโลกที่กำลังจะเปลี่ยนไป

jinn-marketingoopsจิณณ์ เผ่าประไพ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเจ เวิร์ค จำกัด

มันเป็นเรื่องปกติเลยครับ ตามหลักของ demand ที่มีมากกว่า supply แต่สิ่งที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในปีนี้ก็คือ ที่ออฟฟิศผม มีนักศึกษาจำนวณมากเข้ามาฝึกงาน นับว่ามากที่สุดกว่าทุกๆปีเลยก็ว่าได้  แต่เมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อสองสามปีก่อนที่ผมได้มีโอกาสไปพูดในมหาลัยหลายทั่วประเทศ ผมจะถามน้องๆเสมอว่า ใครจบแล้วจะสมัครทำงานในดิจิตอลเอเจนซี่บ้าง ซึ่งไม่มีใครในห้องยกมือสักคนเลยครับ  และเป็นแบบเดียวกันกับทุกๆมหาลัย    น้องๆส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอาชีพและธุรกิจแบบนี้ อยู่ในโลก และสิ่งที่ผมเห็นผู้ใหญ่ในวงการบางคนกำลังทำอยู่ ก็คือเปลี่ยนงานเป็นว่าเล่น อายุงานในแต่ละที่ไม่เกินหนึ่งปี

ในความคิดเห็นผม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้กระทบกับธุรกิจผม ในความคิดลูกค้าบางคน คิดว่า digital marketing ราคาถูก เราในฐานะคนทำงานอยู่กับมันทุกวัน ก็ต้องอธิบายลูกค้ามากกว่าว่าที่จริงคืออะไร  ผมคิดว่าการแย่งชิงตัวและการให้เงินเดือนเกินความสามารถจะหายไปเรื่อยๆ เด็กรุ่นใหม่ๆ กำลังถูกส่งเข้าตลาดแรงงานดิจิทัล   ส่วนรุ่นที่เพิ่งเข้ามาก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ รุ่นที่เปลี่ยนงานบ่อย จะหางานยากขึ้น และถึงเพดานในที่สุด  เพราะประวัติเปลี่ยนงานบ่อย พอถึงตำแหน่งที่สูงระดับ director จะลำบาก ตลาดมันจะสมดุลด้วยตัวมันเอง อีกไม่นานครับ สามปีนี้ละครับ

 

 

 

digital-salary-5

คุณอดิศักดิ์ อมรฉัตร
กรรมการผู้จัดการ บริษัท Isobar จำกัด

มันเป็นเรื่องของดีมานด์ และซัพพลายครับ  แม้วันนี้จะมีคนที่เข้าใจและมีประสบการณ์ทางด้านดิจิตอลมากขึ้น  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเพียงพอกับความต้องการของตลาด  เพราะมันมีด้วยหลายปัจจัยครับ

ปัจจัยแรก เป็นเรื่องของดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น   ในระยะหลายปีมานี้  ฝั่งลูกค้าได้ shift งบประมาณจากสื่อออฟไลน์มายังออนไลน์ ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี  ครีเอทีฟเอเจนซี่ มีเดียเอเจนซี่ต่างก็เปิดแผนก  เพื่อขยายการให้บริการด้านนี้มากขึ้น    ด้วยงบประมาณที่ต้องเพิ่มขึ้น คนทำงานไม่พอ  การซื้อตัวหรือยอมจ่ายแพงจึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน   เพราะอย่างไรก็คุ้ม  แล้วค่อยไปวัดดวงกันในอนาคต

ปัจจัยที่สอง  เป็นเรื่องของซัพพลาย  แม้ทุกวันนี้สถาบันการศึกษาจะมีการเปิดหลักสูตรทางด้านดิจิตอล มาร์เกตติ้ง  รวมทั้งเปิดอบรมคอร์สด้านนี้มากขึ้น  แต่จากปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความหลากหลายและซับซ้อนของงานดิจิตัลที่เพิ่มขึ้น ลูกค้าเองก็ sophisticate ขึ้น     จำนวนบัณฑิตที่จบมายังไงก็ไม่พอ   อีกทั้งเด็กที่จบมาหลายคนก็หันไปเป็น  freelance  บางกลุ่มก็ไปขายของออนไลน์  อีกกลุ่มก็หันไปเล่นหุ้น  อีกกลุ่มก็ไปเรียนต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้กระแส start up มาแรงและเป็นความใฝ่ฝันของเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นเจ้าของการกิจการที่ประสบความสำเร็จ   ลองคิดดูสิครับ  แล้วอย่างนี้คนจะไม่ขาดได้อย่างไร

ปัจจัยที่สาม  มันเป็นเรื่องค่านิยมของเด็กรุ่นใหม่ พอจบมา  ทำงานไปสักพักก็คิดว่าสามารถทำได้  พร้อมจะเติบโตขึ้นในตำแหน่งที่สูงขึ้น  มันเป็น short cut ในอาชีพของเขา ถ้าไม่ได้ปรับเงินเดือนเพิ่มหรือโปรโมทภายในหนึ่งปี เขาก็ไปหาที่ใหม่ ทางออกที่ไอโซบาร์ได้ทำก็คือ  ไอโซบาร์ร่วมกับกลุ่มบริษัท Dentsu Aegis Network  จัดโครงการเพื่อสร้างเลือดใหม่เข้าวงการ   โดยทางเราได้ร่วมมือกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตร Integrated Marketing Communication ให้กับนิสิตปีสี่    และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เปิดหลักสูตร Integrated Digital Communications ทำให้เราได้รับบัณฑิตที่จบมา เข้ามาทำงานในกลุ่มบริษัท Dentsu Aegis Network ทุกปี

 

digital-salary-3กษมาช นีรปัทมะ
ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท Phoinikas จำกัด

ก่อนที่ผมจะตอบคำถามนี้ได้   ผมขอเล่าตัวอย่างในอดีตที่เกิดขึ้นในบ้านเราเพื่อเป็นข้อมูลในการเปรียบเทียบก่อน    ในยุคก่อนปี 2540 นั้น เศรษฐกิจไทยนั้นเติบโตต่อเนื่องกว่า 8% ทุกปี    เป็นเหตุให้วงการโฆษณามีอัตราการเติบโตสูงทุกปีเช่นกัน   สิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ธุรกิจนั้นโตมากๆ คือการที่คนทำงานโฆษณาในตำแหน่งต่างๆไม่พอ และโตไม่ทันตามตลาด ทำให้เกิดการซื้อตัว   ทำให้คนในวงการโฆษณามีฐานเงินเดือนค่าตัวที่สูงมากขึ้นตามในเวลานั้น

แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2540 ประเทศไทยนั้นเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทำให้ตลาดโฆษณานั้นซบเซา ถึงขั้นหยุดนิ่ง เกิดการ Layoff คนโฆษณาในหลายๆบริษัท คนที่ทำงานและอยู่ได้ในตอนนั้นต้องมีทั้งความสามารถ และโชคในการทำงานด้วย   จึงมีคำพูดว่า “เฮงอย่างเดียวไม่พอ ต้องเก่งด้วย”   ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบยุคนี้ที่ตลาดดิจิทัลนั้นโตมากๆ และทุกๆเอเยนซี่ ไม่ว่าจะ Digital House เอง,  Media House เอง,  Advertising House จนถึง Event House ก็ต่างต้องการคน Digital เข้าไปอยู่  เพราะทั้งลูกค้าและเอเยนซี่ที่ยังปรับตัวไม่ทันต่อตลาด   ต่างต้องหาคนเพื่อมารองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นและโตต่อเนื่องกว่า 10% ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ไม่ต่างจากตอนก่อนหน้าปี 2540 มากนัก ที่คนทำงานด้านดิจิทัลจะมีฐานเงินเดือนไปไกลกว่าความสามารถ เพราะเป็นเรื่องของ demand และ supply ที่ไม่เท่ากัน   ตลาดมีความต้องการทางคนดิจิทัลสูงมาก แต่ Supply หรือคนที่เข้าใจและสามารถทำการตลาดดิจิตัลได้มีจำนวนน้อย และโตไม่ทันตลาด ทำให้เงินเดือนตอนนี้จึงดูสูงกว่าความสามารถที่เป็น   ซึ่งในอนาคตนั้นเมื่อ Digital กลายเป็นเรื่องทั่วไป หรือ Demand และ Supply เท่ากันแล้ว ผมคิดว่าฐานเงินเดือนก็จะเข้าสู่ฐานที่ปกติเหมือนวงการโฆษณาในสมัยนี้เช่นกัน และคนที่จะสามารถมีเงินเดือนสูงได้ในเวลานั้นจะเป็นคนที่  “เฮงอย่างเดียวไม่พอ ต้องเก่งด้วย” เหมือนในอดีต

 

Source: Copyright © MarketingOops.com


  • 21
  •  
  •  
  •  
  •  
Tukko Nathida
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ MarketingOops.com กับความตั้งใจในการนำเสนอเนื้อหาที่ทันเหตุการณ์ และเกิดประโยชน์ ให้สามารถนำเนื้อหาความรู้ และ Insight ไปต่อยอดกับอนาคตของธุรกิจ และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยี ครีเอทีฟ การตลาด โฆษณา และสตาร์ทอัพ
CLOSE
CLOSE