ถ้าไม่มี 2 คุณสมบัติซ่อนเร้นนี้ คุณจะไม่มีวันได้งานแน่นอน

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

2-hidden 

ที่มา http://mpics.manager.co.th/pics/Images/558000006641503.JPEG

บริษัททั้งไทยและต่างชาติทั้งหลายล้วนมีความต้องการจากแคนดิเดทมาจากหลายๆปัจจัยและองค์ประกอบที่ต่างกันในแต่ละตำแหน่งที่เปิดรับสมัคร แต่สิ่งที่เป็นคุณสมบัติหลักๆ 2 อย่างที่ทุกบริษัทต้องการให้คุณมี คือ

1. ความน่าเชื่อถือ (Being Credible)

ถ้าปีนี้คุณมี Resolution หรือเป้าหมายว่าคุณอยากจะมีหุ่นฟิตแอนด์เฟิร์ม แบบมี Six Packs หุ่นเช้งกระเด๊ะแบบปู ไปรยา หรือถ้าคุณเป็นผู้ชาย ก็อาจจะอยากได้หุ่นแบบ คริส แพรตต์ พระเอกสุดหล่อจากหนังฮอลลีวูดพันล้านเรื่อง Jurassic World  และตัดสินใจอยากจะจ้างครูผู้สอน หรือ Personal Trainer (PT) ให้ช่วยคุณเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น คุณเลยไปขอคำปรึกษาจาก Fitness First และเรียกหาอยากดูว่ามีใครสามารถสอนคุณได้บ้าง สรุปทางเคาน์เตอร์เซอร์วิสเรียก PT มานายหนึ่ง แต่กลับเป็นครูผู้สอนที่หุ่นอ้วนพลุ้ยไม่ได้บึกบึนสมความเป็น PT อย่างที่คุณต้องการ (เหมือน คริส แพตต์ ตอนก่อนฟิตหุ่นในรูป) เป็นคุณคุณจะเชื่อมั้ยว่าเขาจะช่วยให้คุณได้หุ่นในฝันสมใจคุณ คุณจะอยากจ้างเขาไหม หรือว่าขอลองเปรียบเทียบกับคนอื่นๆที่มีหุ่นเป็นกล้ามๆมากกว่าดี

ในการทำงานหรือสัมภาษณ์งานก็เหมือนกัน การที่คุณจะให้คนอื่น เชื่อว่าคุณดีแบบนั้นแบบนี้จริงๆ คุณต้องแสดงให้เขาเห็นว่าคุณมีดีจริง คุณต้อง Convince ให้เขาเชื่อว่าคุณเป็นคนที่ Credible จริงๆ Strong จริงๆนะ ไม่ได้มาเล่นๆนะ

ผมมีตัวอย่างที่ผมขอป๋าหมากให้ผู้อ่านฟัง สมัยที่ผมยังทำงานเป็น Recruiter ที่หนึ่ง มี Management ท่านหนึ่งเป็นผู้หญิงชาวฝรั่งเศส เธอทำงานเป็นระดับ Top Management เคียงคู่กับ CEO Asia Pacific ของบริษัท และมีตำแหน่งเป็นถึง Training Director ของภูมิภาค Asia ผมและคนอื่นๆที่ทำงานต้องผ่านการสอนจากเธอคนนี้ ตอนเริ่มเธอก็พร่ำพรรณนาสาธยายว่าทำงานในบริษัทมากี่ปี เป็น Top Performer หรือพนักงานสุดเก่งปิดการขายกระจาย ได้ขึ้นตำแหน่งพรวดๆ เร็วเวอร์อะไรงี้ ซึ่งก็ฟังดูดีมาก แต่พอเธอเริ่มสอน ผมและพวกเราทุกคนรู้สึกแบบเดียวกันคือ ไม่ได้รู้สึกว่าเค้าเก่งอย่างที่ตอนแรกเล่าไว้เลย สอนไม่รู้เรื่อง ไม่มี Structure ในการเล่า พูดไม่ค่อยหนักแน่น ไม่มีน้ำหนัก วนๆ ถามไป ชีก็ไม่มีคำตอบให้ สรุปคือ สอนได้ห่วยแตกมาก ไม่ได้รู้สึกว่าได้ความรู้ และไม่มีใครที่หลังจากออกมาจาก Training นี้แล้วเชื่อในสิ่งที่ผู้หญิงคนนี้สอน เพราะอะไร เพราะเธอไม่ได้โชว์ความน่าเชื่อถือให้พวกเราได้เห็นจากการสอนของเธอ

2-hidden2

ที่มา Shutter Stock

ในการสัมภาษณ์งานมีแคนดิเดทมากมายที่เตรียมเรื่องมาเล่าเยอะ เป็นตุเป็นตะว่าเค้าทำอะไรมาบ้าง แต่ไม่สามารถทำให้ผู้ฟังเชื่อได้ หรือถ้าเขาเชื่อแล้วไปเสิร์ซคุณบน Google หรือ LinkedIn แต่ไม่เจอคุณ หรืออะไรที่เป็นหลักฐานบางอย่างที่บ่งบอกว่าคุณเป็นอย่างนั้นจริง มันเหมือนมันไม่มีน้ำหนักถ้าเทียบกับคนอื่นๆที่เขามีกัน เพราะฉะนั้นคุณควรที่จะทำ LinkedIn Profile ไว้ มีการใส่ผลงานบางอย่างไว้บนนั้นด้วย และถ้ามีการรับรอง (Endorsements) หรือคำแนะนำ (Recommendations) จากคนอื่น ด้วยก็จะเยี่ยมมาก นอกจากนี้เวลาสัมภาษณ์ ก็ต้องมีภาษากายที่ดูน่าเชื่อถือจริง ทะมัดทะแมง แสดงความมั่นใจเวลาพูดออกไปไม่มากไม่น้อยจนเกินไป เท่านี้ความน่าเชื่อถือของคุณก็ควรที่จะเพิ่มขึ้นแล้วครับ

2. ความมีเหตุผล (Being Reasonable)

ทุกคนอาจจะบอกว่าตัวเองนั้นมีเหตุผลต่างๆนานาเวลาไปสัมภาษณ์งาน แต่รู้มั้ยครับคนส่วนใหญ่ขาดความมีเหตุผลทันทีเมื่อพูดถึงเรื่องการต่อรองเงินเดือน ไอคำว่าเรื่องเงินนี่มันไม่เข้าใครออกใครมันดูจะเป็นเรื่องจริง จริงๆแฮะ ผมช่วยแคนดิเดทในการต่อรองเงินเดือนมานักต่อนัก น้องและพี่ๆทั้งหลายชอบกลายร่างเป็นมนุษย์นักต่อรองแบบฉบับสุนัขล่าเนื้อ ขาดเหตุผลกันไปเลย และทำให้ท้ายที่สุดไม่ได้งานไปก็มากมายเลยครับ ยกตัวอย่างเช่น

พี่หน้าเลือด (ชื่อสมมุติ) ได้ Job Offer ที่บริษัทแห่งหนึ่ง ตัวเองได้เงินเดือนปัจจุบันอยู่ที่ 130,000 บาทต่อเดือน และขอ Expected Salary ไป 250,000 บาทต่อเดือน เกือบจะขึ้นมา 100%  อะไรมันจะขอมากปานนั้น ผมพยายามบอกพี่เค้าว่ามันสูงไปคงจะไม่ได้ และบอกเหตุผลว่าเขาควรจะได้เท่าไรที่มันสมเหตุสมผล แต่พี่ท่านนี้ไม่ฟังและยืนกราน ผมซึ่งเป็น Recruiter ในตอนนั้นก็พยายามไปต่อรองจนพี่เขาได้ Job Offer ที่ 200,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมันก็ขึ้นมามากกว่า 50% ซึ่งก็ถือว่าโคตรจะเยอะแล้ว สุดท้ายพี่คนนี้ดื้อด้านไม่เอาท่าเดียว และสุดท้ายไม่ได้งานไป ผมเข้าใจนะว่าพี่ไม่ได้มาเล่นๆ บีทำไม่ได้แน่ คริสอย่าหวัง แต่พี่ต้องเข้าใจนะว่าอันนี้มันไร้ความมีเหตุผลในทุกกรณี เหมือนถอยชนเค้าแล้วบอกเค้ามาชน งงนะ หลังจากนั้นประมาณ ปีกว่าๆ พี่คนนี้กลับมาจะให้ผมช่วยหางานอีก ผมไม่ช่วยแล้วครับ และ Blacklist ไปเพราะไม่อยากทำงานเสียเวลา แล้วสุดท้ายพี่เขาไม่เอาอีก เราเสียทั้งพลัง และชื่อเสียง เพราะพอเขาไม่เอา คนที่ลูกค้าด่า คือเราเอง ไม่กล้าทำงานด้วยแล้วครับ

2-hidden3

ที่มา http://www.wiseworkplace.com.au/Blog/Reasonable.jpg

อีกตัวอย่างหนึ่ง อันนี้ไม่โคม่าเท่าอันบน แต่มันคงเป็นความเข้าใจผิดของคนหางานว่าทุกๆการเปลี่ยนงาน คุณจะต้องได้เงินเดือนขึ้นมาอย่างน้อย 20-25% เป็นอย่างน้อย แต่ลืมไปหรือเปล่าว่ามันต้องขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่คุณทำงานในที่ทำงานที่เก่าด้วยว่าคุณทำงานมานานแค่ไหน ถ้าคุณอยู่ในงานนั้นมาสัก 3 หรือ 4 ปี อยากขอเท่านั้นไม่มีใครว่าครับ

คุณจุ๋ม (นามสมมุติ) เป็นคนที่เปลี่ยนงานค่อนข้างบ่อย เรียกว่าเกือบทุกปี พอไปได้งานที่ใหม่ ก็ขอเค้าขึ้นอีก 25% มันคงได้อ่ะนะ เพราะคุณจุ๋มยังทำงานที่ปัจจุบันยังไม่ถึงปีเลยครับ สรุปถ้าคุณทำงานที่ปัจจุบันยังไม่ถึงปี หรือปีนิดๆแล้วเกิดไปได้งานจริงๆ ก็แทนที่จะขอเยอะ ก็ขอให้พอเหมาะ สมเหตุสมผลดีกว่าครับ เช่น อาจจะขอสัก 10% หรืออาจจะเท่าๆกับที่เดิมแต่ได้ Bonus เพิ่มขึ้นหรืองานมันตรงกับที่คุณต้องการจริงๆก็ได้ครับ สมเหตุสมผลดี

สิ่งหนึ่งที่ผมบอกกับแคนดิเดทผมอยู่เสมอคือ คุณอยากจะขอทางบริษัทเท่าไหร่ก็ขอไปเหอะ แต่มันขึ้นอยู่กับว่าคุณโชว์ให้เค้าเห็นว่าคุณน่าเชื่อถือแค่ไหน และมันสมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหนที่เขาจะลงทุนกับคุณด้วยเงินจำนวนที่คุณขอไป ถ้าได้ก็ดีไป แต่ถ้าไม่ได้เขาก็ตัดคุณออก และคุณก็เสียโอกาสที่จะได้งานนั้นเท่านั้นเอง

พอผมบอกแบบนี้ มันเป็นเชิง Sarcastic หรือประชดหน่อยๆ แต่มันก็ทำให้แคนดิเดทเกือบทุกคนของผมเข้าใจถึงสองคุณสมบัติที่ผมกล่าวมาในบทความนี้มากขึ้นครับ คุณละครับมีรึเปล่าสองสิ่งนี้


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
Mark Laothavornwong
Mark Laothavornwong เป็น Career Coach ชั้นนำในประเทศไทย และเป็นผู้เขียนหนังสือ “8 มหาคำถามที่มนุษย์สมัครงานทุกคนต้องอ่าน” หาซื้อได้ที่ร้านหนังสือทั่วประเทศ