“ธนชาต” จัดเสวนารับมือ ศก.ปี’58 ชี้ 4 หมวดธุรกิจไปรุ่ง เตือน “อสังหาฯ-สินเชื่อรายย่อย” ต้องระวัง

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ThanachartLOGO

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวน การเตรียมความพร้อมและมีความรู้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะทำให้เราก้าวเดินในเส้นทางธุรกิจอย่างมั่นใจและประสบความสำเร็จได้ จากจุดนี้ทำให้ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดเสวนา “การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจปี 2558” เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 ที่ห้องไพลิน ชั้น D อาคารเอ็มบีเคทาวเวอร์

วิชา กุลกอบเกียรติ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารและบริหารแบรนด์ กล่าวเปิดงานว่า ปัจจุบันโลกเราเข้าสู่ยุคออนไลน์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อสังคมทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ สังคมออนไลน์น่าจะเป็นประโยชน์กับสังคมไทยได้ในมุมกว้าง ธนาคารธนชาตฯ เราจึงได้จัดงานเสวนาครั้งนี้เพื่อหวังให้เป็นประโยชน์ในการวางแผนรับมือกับเศรษฐกิจในปีนี้ และในอนาคต สำหรับวิทยากรที่เราได้เชิญมานั้น ได้แก่ “สุวภา เจริญยิ่ง” กรรมการผู้จัดการ บ.หลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ท่านมีประวัติการทำงานมากมาย และมีความเก่งกาจอย่างยิ่ง จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่งานในครั้งนี้จะได้รับประโยชน์กับผู้ฟังและสื่อจะได้นำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

thanachart1

ในช่วงเสวนา “สุวภา” ได้เล่าย้อนไปถึงวิกฤตเศรษฐที่ผ่านมาไล่ไปตั้งแต่ปี2518 ปี2528 ปี2540 ปี2550 และหาก cycle ดังกล่าวเป็นไปตามนี้จริงแน่นอนว่าวิกฤตรอบหน้าที่จะเกิดขึ้นก็คือปี 2560 ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว โดยช่วงนี้หากจะเปรียบก็คืออยู่ในช่วงไต่ขึ้นบนยอดก่อนจะทิ้งดิ่งลงมา และเมื่อเวลาเราพูดถึง cycle เศรษฐกิจแล้วมันมีจริง ดังนั้น สิ่งที่เราจะทำได้เพื่อรับมือกับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นก็คือ การชะลอตัวให้วิกฤตที่เกิดขึ้นเบาบางที่สุด ตกต่ำน้อยที่สุด และที่สำคัญคือฟื้นตัวเร็วที่สุด

สำหรับวิกฤตปี 2540 มีอยู่ 2 บริษัทที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ ได้แก่ โลตัส ที่ให้เทสโก้เข้ามาซื้อหุ้น จนกลายเป็นเทสโก้ โลตัส ทุกวันนี้ และกลุ่มเซ็นทรัลฯ ที่นำรายได้ลงพร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ จนอยู่รอดและแข็งแกร่งมาได้ สำหรับภาคโดยรวมของประเทศตอนนั้นถือว่าหนักมากเพราะคนเสียหายคือภาคเอกชนเสียส่วนใหญ่ ตอนนั้นปิดกิจการไฟแนนซ์ไปกว่า 50 แห่ง แต่เราก็ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น โดยมีการแยก good bank ออกจาก bad bank และก็มีการใช้ยาแรงฉีดเข้าไปซึ่งทำให้ทั้งประเทศช็อคแต่ก็เป็นบทพิสูจน์ว่ายาแรงแรงจริงและหายไว้จริง ทำให้เราสามารถหลุดพ้นจาก IMF ได้ก่อนกำหนดเสียอีก นี่คือสิ่งที่เราได้เรียนจากบทเรียนที่ผ่านมา

“ในตอนนี้เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง แต่เราก็ยังเข้มแข็ง เพราะว่าเรายังอยู่ในสโคปที่ดีอยู่ ตลาดเงินก็ยังเข้มแข็งอยู่ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเมื่อเราต้องการให้ประเทศชาติเข้มแข็ง หรือแข็งแรง เราก็ต้องเริ่มจากหน่วยที่เล็กที่สุดก็คือครอบครัว เมื่อครอบครัวเข้มแข็ง หมู่บ้านเข้มแข็ง ตำบาลเข้มแข็ง อำเภอเข้มแข็ง จังหวัดเข้มแข็ง ประเทศชาติก็จะเข้มแข็ง นี่คือที่มาที่ดิฉันตัดสินใจเขียหนังสือเรื่อง ‘ครอบครัวตึ๋งหนืด’ เพราะมองว่าการปลูกฝังนิสัยอดออม ลงทุน และดูแลตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญและต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก”

สำหรับในปี 2558 ธุรกิจที่มีแนวโน้มจะไปได้สวยนั้น สุวภา กล่าวว่า เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ ต้องกินต้องใช้ และจากการขยายตัวของภาครัฐ ทำให้ธุรกิจในภาคก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง ด้านคอนสตรักชั่นมาแน่ ในขณะที่ธุรกิจสื่อสาร มือถือก็กลายมาเป็นอวัยวะหนึ่ง ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ต้องมาซัพพอร์ตเรื่องก่อสร้าง และกลับไปเรื่องกินเรื่องอยู่ คิดว่า 4 หมวดนี้มาแน่ๆ

ในขณะที่ธุรกิจที่จะต้องระมัดระวังในการลงทุนอย่างยิ่ง กลับกลายเป็นด้านพร็อพเพอร์ตี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนมาโฟกัสเพื่อจะขยายงานในเซ็กเตอร์ใหม่ แต่คนอาจจะไม่มีเงินเหลือพอที่จะอินเวสต์ให้เยอะได้เหมือนเดิม สินเชื่อรายย่อยถ้าไม่มีการเก็บเงินที่ดีก็จะกลายเป็นภาระที่มากขึ้น

thanachart2

ปีนี้ที่ AEC กำลังจะเกิดขึ้น ประเทศไทยมีจุดแข็งคือสินค้าเราเป็นที่โปรดปรานของคนในละแวก ขอแค่เราส่งโปรดักส์ในดวงใจเหล่านี้ให้กับประชากรที่อยู่ในย่านนี้ ตามมาด้วยการเทคแคร์เพื่อนบ้าน

“แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่เทคแคร์เพื่อนบ้าน มักจะทะเลาะกับเพื่อนบ้านเป็นประจำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือขอให้เราเปิดใจเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันเป็นเสมือนครอบครัวเดียวกัน คนเหล่านี้พูดภาษาไทยได้หมด แต่เราไม่เคยได้ใช้เวลาในการศึกษาพูดภาษาของเพื่อนบ้านเลย และเพื่อพัฒนาศักยภาพตรงนี้ เราน่าจะแลกเปลี่ยนและก็แชร์กัน ซึ่งคนในแถบชายแดนก็ทำได้อยู่แล้ว ซึ่งเราน่าที่จะให้ความสำคัญ และดูแลประเทศเพื่อนบ้านแถบนี้ให้ดี” สุภวดี กล่าวและว่า สำหรับการท่องเที่ยวยังคงเป็นจุดแข็ง อันดับ 1 ของไทยอยู่ ประเทศไทยของถูกและดีที่สุดแล้วเพราะฉะนั้นถ้าเราปรับปรุงให้ดี แล้วทำให้เข้มแข็งมันจะต้องดีกว่านี้

ในตอนท้าย สุวภา กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2558 และการเตรียมความพร้อมในการรับมือไว้อย่างน่าสนใจว่า ช่วงนี้คนก็จะมองว่าเราจะโต 4-5% และไปต่อเนื่องอีก 2 ปี ตรงนี้เราก็คงต้องให้กำลังใจกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่ตามมาคือเราจะเห็นว่าภาครัฐจะมีการขยายตัวและมีการอัดงบประมาณจากภาครัฐมาให้เยอะที่สุด และนั่นคือกลไกที่ทำให้ภาคเอกชนขยายตัวตาม

“ส่วนในแง่ของผู้บริโภคก็น่าจะเป็นปีที่ควรระมัดระวังด้านค่าใช้จ่าย แต่ไม่ใช่ว่าหยุดการใช้จ่ายไปเสียทีเดียว ตรงนี้เองถ้าจะเป็นไปได้ สิ่งที่จะฝากเสมอคือ วันนี้เศรษฐกิจของครัวเรือนสำคัญที่สุด ถ้าทุกคนกินอิ่มนอนหลับมีชีวิตที่ดีประเทศชาติมันจะเข้มแข็งเอง เพราะฉะนั้นในแง่รัฐคงดูแลไม่ได้ทุกครอบครัวอยู่แล้ว เรามีคนอยู่ 65 ล้านคน สิ่งที่เราบอกกล่าวและต้องช่วยกันก็คือ ถ้าใครที่เข้มแข็งก็สามารถช่วยคนอื่นได้ก็ขอให้ช่วยให้เต็มที่ แล้วคนที่ไม่เข้มแข็งก็ต้องมาเรียนรู้ ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย ถ้าเราสามารถไม่ก่อหนี้เพิ่ม ดูแลเรื่องการออมการลงทุนเราก็จะผ่านทุกวิกฤตไปได้ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร”

 


  •  
  •  
  •  
  •  
  •