4 เทรนด์ Mobile Marketing ในรูปแบบของงานบริการลูกค้า

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

mobile-messaging-matthew-g-720x540-higlight

ทุกวันนี้การส่งข้อความผ่านมือถือได้เปลี่ยนวิถีชีวิตเราไปอย่างสิ้นเชิง การพูดคุยด้วยน้ำเสียงก็ค่อยๆ หายไป เหลือเพียงแต่ข้อความ และตัวอักษร การสื่อสารระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคเองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็สร้างความตื่นเต้นให้เราได้เสมอ และคนในยุคนี้ก็พร้อมจะเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาอย่างง่ายดาย

ข้อได้เปรียบของ Mobile Messaging คือ สื่อสารได้ตลอดเวลา และมีความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ ยังสามารถแชร์ไฟล์ ข่าวสาร และเรื่องที่น่าสนใจให้กับเพื่อนๆ ได้ในครั้งเดียว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นต่างๆ ต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพื่อดึงดูดผู้ใช้

อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีจะพัฒนามามากแค่ไหน เราก็ยังมองว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น มาดู 4 เทรนด์สำคัญ ที่แบรนด์จะต้องรู้ และลงมือทำเพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภค

1. ใช้การ Search ให้เหมือนการสนทนา

ปัจจุบันการค้นหาข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตจะมีแต่ข้อความอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมได้ การสนทนาในที่นี้ก็หมายถึง ผลการค้นหานั่นเอง เช่น การค้นหาผ่าน Google จะต้องได้คำตอบที่ตรงกับคำถาม และเชื่อมโยงกับประวัติการค้นหาของผู้ใช้ด้วย

หนึ่งในฟีเจอร์ที่หลายคนเลือกใช้คือ Google Now ที่จะเปลี่ยนผลการค้นหาแบบเดิมๆ ด้วยการรายงานข้อมูลที่คิดว่าผู้ใช้จะต้องการ เป็นข้อมูลสั้นๆ แต่ตรงประเด็น และเจาะจงมากขึ้น ทั้งข้อมูลการจราจร การขนส่งสาธารณะ นัดหมาย ข้อมูลสถานที่ สภาพอากาศ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมี Google Now On Tap ที่จะประเมินว่าเราต้องการอะไร ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด และยังใช้งานร่วมกับแอพฯ อื่นๆ ได้ด้วย

2. Chat เพื่อการค้า

การสื่อสารกับลูกค้าแบบเรียลไทม์เป็นสิ่งที่ทุกแบรนด์ควรมีในขณะนี้ เมื่อเกิดปัญหา หรือข้อสงสัยใดๆ ลูกค้าส่วนใหญ่จะไม่สามารถติดต่อแบรนด์ได้โดยตรง โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ๆ เพราะช่องทางที่มี ก็จะเอาไว้เพื่อแจ้งข่าวสารมากกว่าให้การช่วยเหลือ ซึ่งนักการตลาด หรือแบรนด์เอง ก็ไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาให้ลูกค้าผ่าน Social Media มากนัก

เมื่ออัตราการใช้สมาร์ทโฟนกำลังเติบโตขึ้นทุกวัน แบรนด์เองก็ต้องให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้บริโภคด้วย หรือหากมีงบประมาณที่มากพอ ตัวเลือกที่น่าสนใจคือ การพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อสื่อสารกับลูกค้า หรือถ้ายังไม่ต้องการแอพฯ สิ่งที่แบรนด์ต้องพัฒนาคือ การตอบสนองต่อปัญหาอย่างรวดเร็ว เราเชื่อว่าการพูดคุยแบบตัวต่อตัวจะเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มธรรมดาทั่วไป อย่าง Facebook, Line หรือ WhatsApp

3. Voice call

นอกจากการคุยผ่านตัวหนังสือแล้ว ลูกค้าเดี๋ยวนี้ใจร้อนกว่าแต่ก่อนมา บางคนอาจไม่พร้อมที่รออะไรนานๆ ส่งข้อความไปกว่าจะตอบก็ข้ามวัน การใช้ Voice Call หรือการโทรผ่านแอพฯ จึงเป็นเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุด ทั้งนี้ แบรนด์ที่เปิดช่องทาง Voice call ก็ต้องมีทีมงานที่พร้อมรองรับด้วย

4. ไม่ได้จำกัดอยู่ที่แพลตฟอร์มเดียว

ในขณะที่การส่งข้อความ หรือแชทเป็นวิธีการสื่อสารที่หลายคนนิยมใช้กัน แต่ผู้บริโภคเองก็ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่ที่แพลตฟอร์มเดียว พวกเขาจะเลือกใช้แอพฯ ตามความต้องการ และจุดประสงค์การใช้งาน เช่น ใช้ Facebook Messenger และ Line เพื่อแชท แต่ใช้ Instagram เพื่อแชร์ภาพถ่าย สิ่งสำคัญคือ แบรนด์ต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของตัวเองใช้แอพฯ ไหนมากที่สุด และพยายามเข้าถึงพวกเขาให้ได้

วิวัฒนาการของการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด ก็ส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง ทั้ง 4 เทรนด์ที่เราบอกไปนี้ เชื่อว่าหลายแบรนด์คงเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว รวมถึงการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคดิจิทัล เมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปลี่ยน อีกฝ่ายก็ต้องปรับตัวให้ทัน


  •  
  •  
  •  
  •  
  •