IDE Center โดย ม.หอการค้าไทย สถาบันแห่งแรกที่สอนให้ล้มเหลว แต่เรียนรู้ที่จะลุกอย่างรวดเร็ว ด้วยนวัตกรรมเพื่อก้าวต่ออย่างยั่งยืน (Active-Based learning)

  • 405
  •  
  •  
  •  
  •  

โลกธุรกิจยุคใหม่นี้ เราได้เห็นการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการมากขึ้น และบางธุรกิจก็สามารถเปลี่ยน Business Model ให้เกิดขึ้นใหม่บนโลกไปเลย เช่น Uber, Airbnb หรือ Grab เป็นต้น เป็นการคิดค้นธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครคิดขึ้นมาก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เราเรียกโดยภาพรวมว่า คือการนำ “นวัตกรรม” (Innovation) เข้ามาสร้างสรรค์ธุรกิจนั่นเอง

และจากการนำนวัตกรรมมาสร้างสรรค์ให้เกิดธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจดังกล่าวนี้เอง ทำให้เกิดแนวคิดการสร้างผู้ประกอบการที่เน้นการนำนวัตกรรมเข้ามาบูรณาการธุรกิจ ซึ่งแนวคิดนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มดำเนินการวางรากฐานในหลักสูตรการศึกษากันไปมากแล้ว

ฟังอย่างนี้แล้วอย่าเพิ่งน้อยใจว่าทำไมเมืองไทยของเรายังไม่มี หรือสงสัยว่าไทยเริ่มแล้วหรือยัง เพราะกำลังจะบอกข่าวดีว่าประเทศไทยเราเองก็มีการวางหลักสูตรการสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจนี้แล้วเช่นกัน  ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยที่ผลิตนักธุรกิจและผู้ประกอบการชั้นนำของไทยมาแล้วมากมาย ดังนั้น Marketing Oops! จึงถือโอกาสเจาะลึกการวางหลักสูตรสำหรับสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่  จาก รศ.ดร.เสาวณีย์  ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล ผู้อำนวยการศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE Center) ที่ทั้ง 2 ท่านจะมาให้ข้อมูลและชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ไทยควรจะเริ่มในการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ที่สามารถนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาธุรกิจได้

UTCC-1

การผลักดันผู้ประกอบการใหม่ด้วยนวัตกรรม

รศ.ดร.เสาวณีย์ กล่าวว่า ปรัชญาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คือการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่และให้ความรู้ด้านธุรกิจแก่ทายาทของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกับสมาชิกของสภาหอการค้าไทยที่มีมากกว่า 80,000 ราย  ทำให้ทุกหลักสูตรที่เปิดสอนจะสอดแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการไว้อย่างครบถ้วน

และนอกเหนือจากพันธกิจในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่แล้ว ทางมหาวิทยาลัยฯ ยังเล็งเห็นความสำคัญของการผลักดันผู้ประกอบการ ที่ต้องพร้อมรับกับโลกธุรกิจสมัยใหม่ที่แข่งขันกันด้วยนวัตกรรม จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเข้าอบรมหลักสูตรการสร้างผู้ประกอบการ โดยใช้นวัตกรรมขั้นสูงกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกาจนเกิดเป็นที่มาของหลักสูตรวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (IDE: Innovation Driven Entrepreneurship) โดย ม.หอการค้าไทย

“วิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ Innovation Driven Entrepreneur (IDE) หมายถึง ผู้ประกอบการที่ใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์ธุรกิจรูปแบบใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยเริ่มจากการมีความคิดหรือไอเดียในการผลิตสินค้า หรือบริการที่ผู้บริโภคต้องการอย่างแท้จริง จากนั้นก็ต้องหาแหล่งเงินทุน (Venture Capital) เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้ผลิตสินค้าหรือบริการนั้นๆ รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญคอยช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาสินค้าก่อนนำเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคต่อไป”

utcc1

ส่งตัวแทนไทยเข้าร่วม Workshop กับ MIT

หลังจากที่สภาหอการค้าไทยและ ม.หอการค้าไทย เห็นร่วมกันว่าไทยเราควรส่งเสริมผู้ประกอบโดยใช้นวัตกรรม จึงได้ส่ง “ทีมไทยแลนด์” ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเงินทุน  และนักวิชาการ เพื่อเดินทางไปเข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ของ MIT ตามโครงการ MIT REAP (Regional Entrepreneur Acceleration Program) ร่วมกับอีกหลายประเทศ อย่างญี่ปุ่น จีน นอร์เวย์ ชิลี อิสราเอล และสหราชอาณาจักร ซึ่ง MIT เป็นมหาวิทยาลัยที่สามารถสร้างธุรกิจ startup ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับ 11 ของโลก

“และจากเวิร์คช้อปดังกล่าวนี่เองที่ทำให้ทางมหาวิทยาลัยกลับมาสร้างปัจจัยต่างๆ เพื่อเกื้อหนุนให้แนวคิด IDE ประสบความสำเร็จในประเทศไทย โดยต้องเริ่มจากการสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ผ่าน หลักสูตรวิทยาลัยผู้ประกอบการ (College of Entrepreneurship) ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยริเริ่มเปิดเป็นที่แรก นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้ง IDE Center เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ให้ประเทศสามารถก้าวเข้าสู่สังคมนวัตกรรม (Innovation Capacity) อย่างรวดเร็วขึ้น”

UTCC-3

หลักสูตรผู้ประกอบการ กับการก่อตั้ง IDE Center

ทั้งนี้ ดร.ศักดิพลได้อธิบายเพิ่มถึงความเข้มข้นของหลักสูตรวิทยาลัยผู้ประกอบการว่าแตกต่างจากคณะบริหารธุรกิจโดยทั่วไป ว่า มีเนื้อหาที่เข้มข้นมากกว่ามาก อีกทั้งเรายังจัดให้นักศึกษาได้ลองจับธุรกิจของจริง ตั้งแต่ปี 2 กันเลยด้วยเงินทุน 20,000 บาท ก่อนที่จะขยับมาจับธุรกิจแบบคอร์เปอเรชั่นในเงินทุน 1 ล้านบาททั้งหมดนี้ผ่านการลงมือทำจริง ได้กำไรจริงและขาดทุนจริงๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง เป็นอะไรที่ได้มากกว่าในตำราอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม จากที่เราได้เวิร์คช้อปกับ MIT ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า Innovation = Invention X Commercialization มันคือการ ‘คูณ’ ไม่ใช่การ ‘บวก’ เพราะไม่สามารถขาดตัวใดตัวหนึ่งได้ ดังนั้น เราจึงต้องหาส่วนผสมที่ทำให้ Invention และ Commercialization มาเจอกันให้ได้

“แต่ที่นี้เด็กคณะบริหารก็ดี และเด็กสาขาผู้ประกอบการก็ดี ส่วนใหญ่จะเก่งด้าน commerce ในขณะที่เด็กฝั่งคณะวิศวกรรมศาสตร์หรือคณะวิทยาศาสตร์ จะเก่งด้าน Invent แต่อ่อนการพาณิชย์ จึงเกิดความคิดว่าจะทำยังไงให้เด็ก 2 กลุ่มนี้มารวมกัน และหากนำทั้งสองส่วนมาชนกันได้ มันคือการสร้างสรรค์โปรดักส์ใหม่ๆ ที่สามารถขายได้ และนี่คือหน้าที่สำคัญของ IDECenter เป็นการนำส่วนของ Invention มาเจอกับ Commercialization นั่นเอง”

utcc3

IDE Center ศูนย์ที่ให้รู้จักคำว่า ‘ล้มเหลว’

ดร.ศักดิพล กล่าวย้ำว่า IDE Center คือศูนย์ที่จะสร้างธุรกิจยุคใหม่ ซึ่งจะต้องประกอบด้วยองค์ความรู้ที่หลากหลาย ไม่ใช่เก่งทางด้านการค้าเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังจะต้องผลักดันให้เกิดความคิดไอเดียสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วย โดยผ่านการเวิร์คช้อปและกิจกรรมต่างๆ ที่ทางศูนย์ได้จัดขึ้น และที่สำคัญคือนอกจากศูนย์จะต้องทำหน้าที่ในการบ่มเพาะแล้วยังจะต้องทำการเร่งรัดกระตุ้นให้เกิดขึ้นจริงด้วย โดยเราจะวางไทม์ไลน์ไว้ว่าภายใน 4 เดือนนี้ต้องพิสูจน์ว่า ไอเดียทางธุรกิจของคุณทำได้จริงหรือเปล่า จึงเป็นที่มาของการเกิด Egg Project เป็นการเร่งรัดให้เด็กทำยังไงก็ได้ให้รู้ว่าธุรกิจใช้ได้จริงหรือใช้ไม่ได้จริงอย่างเร็วที่สุด และถ้าล้มเหลวก็ให้ล้มเหลวในต้นทุนที่ถูกที่สุด

“ล้มเหลวในต้นทุนที่ถูกที่สุด ไม่ใช่แค่ขาดทุนน้อยที่สุด คือต้องรู้อย่างรวดเร็วด้วยว่าโปรเจ็คต์นี้ใช้ไม่ได้แล้ว และเราไม่เจ็บมาก เงินทุนที่เราลงไปไม่เยอะมาก ดังนั้น ต้องรู้ให้เร็วว่าเราจะล้มเหลวหรือไม่ และจำเป็นต้องเปลี่ยน Business Model หรือเปล่า เป็นการปรับตัวอย่างรวดเร็วของการดำเนินธุรกิจ”

ทั้งนี้ Egg Project ไม่ได้จำกัดแค่วิทยาลัยผู้ประกอบการ ทุกคณะสามารถจะมาฟอร์มทีมทำได้ และทีมก็สามารถมาจากหลากหลายคณะรวมตัวกันก็ได้ เพราะเราเชื่อว่าองค์ความรู้ที่หลากหลายจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา เราอยากจะเห็นอย่างนั้นจึงพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กมาเจอกันและมาคลิกกัน

utcc2

IDE Center กับการทำหน้าที่รับใช้สังคม

เพียงแค่การผลิตบุคลากรออกมาเป็นผู้ประกอบการ IDE ยังไม่พอ IDE Center ยังทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกด้วยดร.ศักดิพล กล่าวในเรื่องนี้ว่าทางศูนย์ฯ ยังมีในส่วนของการทำรีเสิร์ชตัวเลขของผู้ประกอบการ เป็นภาระกิจที่ทำให้กับภาคเศรษฐกิจระดับประเทศ เป็นการทำตัวเลข Entrepreneurial  Index ซึ่งเรากำลังศึกษาและเราร่วมกับทาง MIT ว่าเราจะรวบรวมตัวเลขได้อย่างไร เพราะตัวเลขบางตัวเลขมันไม่ได้ชี้บ่งได้จริงๆ

“ซึ่งส่วนนี้เป็นหนึ่งในการกระบวนการที่เราได้ไปเวิร์คช้อปกับ MIT Reap โดยเราต้องทำรีพอร์ทส่งไปให้เขาได้รับทราบว่าเราได้ทำอะไรไปบ้างในภาคใหญ่ระดับประเทศ นอกเหนือจากในส่วนของภาคการศึกษา หรือนอกเหนือจากการสร้างผู้ประกอบการที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจได้”

utcc5

เศรษฐกิจไทยจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องมีผู้ประกอบการที่เป็น IDE

ดร.ศักดิพล เน้นย้ำว่า แนวคิดการผลักดัน IDE ในประเทศ สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ เพราะลำพังเพียงแค่สร้างนักธุรกิจ SME ยังไม่พอ และ SME ส่วนใหญ่ยังมองเฉพาะโลคอลและมักจะอยู่ในคอมฟอร์ทโซนเสียมากกว่า แต่ IDE คือโปรดักส์ที่มี Innovation มีอะไรที่มากกว่าการขายสินค้า นั่นคือการขาย Know-how ได้ด้วย ดังนั้น การที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้อย่างรวดเร็ว ก็จำเป็นต้องสร้าง IDE ให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ

“แต่ถ้าถามว่ามันยั่งยืนไหม มันก็ยั่งยืนในระดับหนึ่ง แต่ประเด็นคือทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ผมไม่เคยจะพูดว่าทุกอย่างมันจะประสบความสำเร็จไปหมด หรือยั่งยืน แต่ธุรกิจที่ยั่งยืนอยู่แล้วก็ยังพยายามที่จะหาอะไรใหม่ๆ มาขายอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน คือถ้าไม่ปรับตัวหรือหาสิ่งใหม่ๆ มานำเสนอ คุณก็จะแพ้คนอื่นเขาได้ มันเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลาถ้าคุณไม่พัฒนาหรือปรับเปลี่ยนตัวเอง”

utcc4

ยุทธศาสตร์ IDE ภารกิจเพื่อชาติ

มาถึงตรงนี้ รศ.ดร.เสาวณีย์ ได้กล่าวเสริมว่า ทางสภาหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้นำเสนอเรื่อง IDE ต่อ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และท่านได้แสดงเห็นความด้วยอย่างยิ่งเพราะเป็นแนวทางที่รัฐบาลต้องการดำเนินการตามโครงการ “ประชารัฐ” จึงมอบหมายให้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เป็นประธานขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกับหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ผลักดันให้เกิด IDE startup อย่างจริงจัง  และผลักดันการทำงานของระบบนิเวศทั้ง 5 ภาคส่วน เพื่อให้งานมีความคืบหน้าโดยเร็ว

นอกจากนี้ สำหรับประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าร่วมในโครงการ IDE นี้ได้  โดยมหาวิทยาลัยจะให้ข้อมูล รวมถึงเปิดหลักสูตรออนไลน์ให้เข้าไปศึกษาได้ จากนั้นก็นำไอเดียและแผนธุรกิจเข้ามาแข่งขันและเข้ามาประกวดตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

“มีเพียงหนทางการสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศสามารถแข่งขันกับโลกสมัยใหม่ได้ ลำพังการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกอาจไม่ใช่คำตอบ เพราะการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และมูลค่าทางเศรษฐกิจมีแต่จะลดลง ดังนั้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงสนับสนุนแนวทางการสร้าง IDE อย่างเต็มที่ ด้วยกลไกทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยและด้วยความร่วมมือกับภาคเอกชนและรัฐบาล จึงจะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้แบบทวีคูณ เพื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตด้วยนวัตกรรม”

UTCC-8

หัวใจสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการ IDE

ในตอนท้าย ดร.ศักดิพล ได้สรุปหัวใจสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการ IDE ให้เราได้เข้าใจกันอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่า คำว่า IDE มันเกิดจากการลงมือทำจริง และทำในสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่มีใครเคยทำ ถึงแม้ว่ามันจะผิดพลาดหรือว่าล้มเหลว อย่างน้อยเราก็รู้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ทางเราก็เริ่มต้นใหม่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ศูนย์ IDE Center จะสอนคนหรือว่าสอนเด็กก็คือ เราอยากจะให้เขารู้จักกับคำว่าล้มเหลวจริงๆ

“หลายๆ คนชอบพูดว่า มาเรียนกับเราแล้วจะประสบความสำเร็จ ไม่เคยได้ยินเลยว่าจะมีหลักสูตรไหนที่จะบอกกับคุณว่ามาแล้วจะล้มเหลว คุณต้องรู้ว่าล้มเหลวแล้วจะลุกยังไง เพราะถ้าเขารู้แล้วเขาจะแกร่งขึ้น ไม่มี Business Plan ไหนที่ไม่เคยล้มเหลว แต่ที่นี่  IDE Center จะสอนให้คุณเรียนรู้กับมัน เพื่อให้คุณล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ได้อย่างแข็งแกร่ง ผมเราไม่รู้ว่าเด็กไทยรับได้ขนาดไหน แต่ผมเชื่อว่าเราต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น”

มาถึงตรงนี้แล้วเราคงเห็นความสำคัญของการสร้างผู้ประกอบการ IDE ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าเยาวชนของชาติเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะเป็นคำตอบให้กับอนาคตประเทศไทยว่าจะก้าวไปไกลได้แค่ไหน อย่างไรก็ตาม มีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งหวังอย่างเต็มที่ว่าการผลักครั้งนี้จะดันให้ไปสุดทางถึงฝันได้จริงๆ


  • 405
  •  
  •  
  •  
  •