ตามดูเรียนอย่างไร?! “ธรรมศาสตร์” เปิด ป.โทออนไลน์ 3 หลักสูตร – เล็งเปิด ป.ตรีออนไลน์ ปี ’63

  • 875
  •  
  •  
  •  
  •  

TUXSA

ในยุคที่ Big Data และ AI กำลังครอบครองโลก ทุกอุตสาหกรรมต่างหันมาใช้เทคโนโลยีล้ำหน้า ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ 

ขณะที่ผู้บริโภคหันมาทำธุรกรรมผ่าน Internet Banking หลายธนาคารตั้งเป้าสู่การเป็น Personalized Banking ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละคน หรือในธุรกิจค้าปลีก ผันตัวเองเป็น Omni-channel ให้บริการขายสินค้าทั้ง Online และ Offline ควบคู่กัน

องค์กรธุรกิจต้องการปฏิวัติตัวเอง ย่อมต้องการ “บุคลากร” ที่มีทักษะแห่งอนาคต เช่น การใช้ Design Thinking เพื่อทำความเข้าใจลูกค้า การมีขั้นตอนการทำงานแบบ Agile เพื่อปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้ได้เร็ว การใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ หรือการเขียนโปรแกรม เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ 

คนทำงานในยุคนี้ จึงต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า “คุณมีทักษะแห่งอนาคตที่องค์กรชั้นนำต้องการแล้วหรือยัง ?” 

ด้วยเหตุนี้เอง จะเห็นว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ “ภาคการศึกษา” ทั่วโลกต่างปรับตัว เพื่อสร้างความรู้ให้กับผู้เรียนได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่นเดียวกันในไทยเวลานี้ จะเริ่มเห็นหลายมหาวิทยาลัย ปรับหลักสูตรให้ตอบรับ “ทักษะแห่งอนาคต” 

“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ได้จับมือกับ “SkillLane” ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร “ปริญญาโทออนไลน์ 100%” ภายใต้ชื่อโครงการ “TUXSA” ตามที่ MarketingOops! ได้นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านั้น

วันนี้ เราจะมาอัพเดทว่ามีหลักสูตรอะไรบ้าง และผู้สนใจ ต้องลงเรียนอย่างไร ?!? 

TUXSA

 

นำร่อง 3 หลักสูตรฮิตแห่งยุคดิจิทัล “Business Innovation / Data Science / Applied AI” 

หลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขา Business Innovation (M.B.A. Business Innovation) 

ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างผู้บริหารในยุคดิจิทัล มีการปรับปรุงเนื้อหา และสร้างขึ้นใหม่บนแนวคิดการบริหารจัดการธุรกิจเชิงนวัตกรรม

เนื้อหาที่เรียนครอบคลุมทั้งการวางกลยุทธ์, การบริหารจัดการ, ทักษะเฉพาะทางในการดำเนินการทางธุรกิจ และการสร้างภาวะผู้นำ ผู้เรียนจะได้รับองค์ความรู้ในการเป็นผู้นำทีม ที่จะพัฒนาและบริหารจัดการนวัตกรรมเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทางธุรกิจให้ทัดเทียมกับระดับภูมิภาค ตลอดจนระดับนานาชาติได้ เปิดให้เรียนสิงหาคม 2562

TUXSA

TUXSA TUXSA TUXSA

หลักสูตรปริญญาโท Data Science for Digital Business Transformation (M.S. Digital Business Transformation) 

ออกแบบและพัฒนาตามความต้องการของงานในยุคปัจจุบันที่ปริมาณข้อมูลมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วน 

หลักสูตรนี้จะสอนให้ผู้เรียนสามารถนำข้อมูลมาใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจที่ทรงพลัง และเข้าใจถึงวิธีการในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และคาดการณ์ความเป็นไปได้เพื่อสร้างแต้มต่อและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน 

นอกจากความรู้และกรณีศึกษาเกี่ยวกับ Data Science หลักสูตรนี้ยังมีองค์ความรู้ที่มุ่งเน้นการสร้างความเชี่ยวชาญในด้านการวางนโยบายและการบริหารจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นผู้บริหารขององค์กรที่สามารถนำและปรับองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้ เปิดให้เรียนสิงหาคม 2562

TUXSA TUXSA TUXSA TUXSA 

หลักสูตรปริญญาโท Applied AI 

มุ่งเน้นการสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับทฤษฎีและการพัฒนาอัลกอริทึมในด้านปัญญาประดิษฐ์ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้การสร้างและการประยุกต์ใช้งานปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเมื่อความร่วมมือระหว่างมนุษย์และ AI เป็นเรื่องที่ไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไป การเรียนรู้ถึงการบริหารจัดการและปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรเพื่อใช้ AI ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดจึงเป็นเนื้อหาอีกส่วนหนึ่งที่ผู้เรียนจะได้รับในหลักสูตรนี้ซึ่งจะเปิดให้เรียนในปี 2563

TUXSA

 

 

10 เรื่องต้องรู้! ก่อนเรียนปริญญาโทออนไลน์ “TUXSA”

ด้วยความที่การปริญญาโททางออนไลน์ เป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย ดังนั้น เรามาทำความรู้จัก “TUXSA” และกระบวนการขั้นตอนสมัครเรียน – การเรียนการสอนให้มากขึ้นว่าคืออะไร และทำอย่างไร ?!?  

1. TUXSA คือ หลักสูตรที่มุ่งสร้างทักษะแห่งอนาคตให้กับคนไทย ทั้งการเรียนรู้ศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ ที่กำลังมีบทบาทสูงต่อการพัฒนาตามกระแสโลก 

รวมถึงองค์ความรู้ และทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในองค์กร หรือบริหารกิจการทั้งในปัจจุบัน และอนาคต โดยเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคน สามารถเรียนได้ ไม่จำกัดเฉพาะนักศึกษาธรรมศาสตร์ เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ 

2. ลักษณะของการเรียนรู้ แบ่ง 4 รูปแบบตามความต้องการของผู้เรียน ดังนี้

รูปแบบที่ 1 “เรียนเพื่อรู้สำหรับคนที่สนใจมาหาความรู้ก่อน หรือยังไม่แน่ใจว่าปริญญาโทออนไลน์เหมาะกับตัวเองหรือไม่ ก็สามารถเรียนรายวิชาที่สนใจไม่เก็บหน่วยกิต และเพิ่มพูนทักษะ 

โดยมีค่าเรียน 1,500 บาทต่อคอร์ส ข้อดีคือ ผู้เรียนสามารถเรียนด้วยความเร็วของตัวผู้เรียนเอง นั่นหมายความว่าถ้าผู้เรียนมีเวลามาก และมีวินัย ก็สามารถดูคลิปวิดีโอการสอนจากอาจารย์ได้หมดเร็ว และหลังจากเรียน มีแบบฝึกหัด และแบบทดสอบให้ทำ 

แต่รูปแบบนี้ ผู้เรียนจะไม่ได้รับประกาศนียบัตรใดๆ  

รูปแบบที่ 2 รับประกาศนียบัตรรายวิชา (Certificate of Course Completion) 

เป็นการเรียน และสอบออนไลน์ในแต่ละรายวิชา จนผ่านตามเกณฑ์ เพื่อเก็บ “หน่วยกิต” และได้ใบประกาศนียบัตร โดยสามารถนำ Certificate ไปสมัครงาน อัพเงินเดือน หรือผู้เรียนจะสะสมประกาศนียบัตร เพื่อขยับเข้าสู่ “หลักสูตรปริญญาโทออนไลน์” ต่อไป 

ค่าลงทะเบียนเรียน 1,500 บาท + ค่าสอบเก็บหน่วยกิต 3,000 บาท รวมแล้ว 4,500 บาทต่อคอร์ส 

รูปแบบที่ 3 รับประกาศนียบัตรชุดวิชา (Certificate of Specialization Completion) 

เรียน และสอบออนไลน์ เพื่อสะสมหน่วยกิตให้ครบ 12 รายวิชา 18 หน่วยกิต ก็จะได้รับประกาศนียบัตร ค่าเรียน 4,500 บาท

ค่าลงทะเบียนเรียน 1,500 บาท + ค่าสอบเก็บหน่วยกิต 3,000 บาท รวม 4,500 บาทต่อคอร์ส

ถ้าผู้เรียน อยากหยุดเรียนในระดับนี้ ไม่ต่อในระดับปริญญาโทออนไลน์ ก็สามารถทำได้ โดยจะได้ Certificate of Specializatoin 

รูปแบบที่ 4 เข้าสู่การเรียนในระดับปริญญาโท ทางออนไลน์

สำหรับคนที่ต้องการไปถึงจุดหมาย “ปริญญาโท” ต้องลงทะเบียนสอบวัดความรู้ “Master Qualify Exam” (MQE) เป็นการสอบข้อเขียน และประสานกับการสัมภาษณ์ เพื่อแสดงว่าผู้เรียนคนนั้นมีความสามารถพร้อมในการเรียน “ปริญญาโทออนไลน์” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

TUXSA

3. เส้นทางเรียนปริญญาโท

เมื่อผู้เรียนสอบวัดความรู้ MQE ผ่านแล้ว ให้นำผลสอบ MQE พร้อมด้วยวุฒิปริญญาตรี และเอกสาร ตามเงื่อนไข ยื่นสมัครเป็น “นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งการจะได้วุฒิปริญญาโท ผู้เรียนต้องผ่านหลักเกณฑ์ดังนี้

  • เรียนออนไลน์ครบ 30 หน่วยกิต มีผลการเรียนเกรดเฉลี่ย 3.00 

  • ผ่าน IS (Independent Study) ซึ่งการทำ IS ของหลักสูตรออนไลน์ มีการนัดพบกับอาจารย์เป็นครั้งๆ เช่นเดียวกับปริญญาโทภาคปกติ 

  • มีผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษผ่านตามเกณฑ์ (TU-GET) 

TUXSA

4. การสอบ MQE เพื่อทดสอบความเข้าใจของผู้เรียน โดยจะสอบกี่ครั้งก็ได้ และสอบแต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่าย

ในกรณีที่ผู้เรียนสอบ MQE ผ่านแล้ว แต่ยังไม่อยากสมัครเป็นนักศึกษาปริญญาโท สามารถเก็บผลสอบ MQE ไว้ได้ตราบเท่าที่หลักสูตรนั้นยังอยู่ และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแต่อย่างใด้ หากอนาคตจะมาสมัครเป็นนักศึกษาปริญญาโทออนไลน์​ ก็สามารถใช้ผลสอบ MQE เดิมยื่นได้ 

5. ค่าใช้จ่ายทั้งหลักสูตร อยู่ที่ 148,000 บาทต่อหลักสูตร (ทั้ง 3 หลักสูตรเท่ากัน) โดยไม่ได้จ่ายเป็นก้อนใหญ่ ทยอยจ่ายได้ ซึ่งค่าเรียนน้อยกว่าหลักสูตรปริญญาโทปกติ ที่โดยเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 250,000 – 300,000 บาทต่อหลักสูตร 

TUXSA

6. การเรียนออนไลน์ต้องจริงจัง และมีวินัยสูง!!! 

การเรียนออนไลน์ ไม่ใช่แค่ชมวิดีโอให้ครบทุกวิดีโอ และไม่ใช่ว่าเปิดวิดีโอทิ้งไว้ แล้วไปทำอย่างอื่น ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ และ SkillLane จึงออกแบบส่วนประกอบคอร์สเรียนออนไลน์แต่ละวิชา เพื่อเช็คดูว่าผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาที่เรียนหรือไม่ ได้แก่

  • บทเรียนรูปแบบวิดีโอ และข้อความ ความยาว 7.5 ชั่วโมง (แบ่งเป็นบทละประมาณ 10 – 20 นาที) 

  • Quiz ในแบบ Multiple Choice จำนวน 4 – 6 ชุด / Quiz ละ 10 – 15 นาที 

  • Exam ในแบบ Essay และ Multiple Choice จำนวน 1 ชุด (Exam ละ 1 – 1.5 ชั่วโมง) 

ข้อสอบของนักศึกษา ตรวจโดยอาจารย์ ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ ทำให้อาจารย์ได้เห็นพัฒนาการของนักศึกษาแต่ละคน ได้เห็นความเข้าใจในเนื้อหาบทเรียน การคิดวิเคราะห์ของนักศึกษาแต่ละคน 

TUXSA

7. มาตรการป้องกันการโกงการสอบผ่านระบบออนไลน์ ใช้เทคโนโลยี และการสอบ MQE 

ถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าการเรียนผ่านระบบออนไลน์ จะมีมาตรการป้องกัน “การโกง” อย่างไร ?! และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนสอบนั้น เป็นตัวจริง ไม่ใช่ให้ใครก็ได้มาสอบแทน !!! 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ และ SkillLane ได้ออกแบบระบบใช้เทคโนโลยีมาช่วงป้องกันการโกง เพื่อให้มั่นใจว่าคนสอบนั้น เป็นตัวจริง 

ขณะเดียวกันมีการสอบ “MQE” อีกหนึ่งด่าน เพื่อคัดคนที่จะเข้ามาเรียนปริญญาโทออนไลน์ เพราะคนที่ผ่านด่าน MQE ได้ ถึงมีสิทธิ์เข้าสู่หลักสูตรปริญญาโท 

8. มี “Discuss Board” พื้นที่แชทออนไลน์ (คล้ายกับ LINE Chat) สำหรับอาจารย์ผู้สอน และนักศึกษา ได้เข้ามา Discuss ร่วมกัน ปิดจุดอ่อนเรียนออนไลน์

โดยอาจารย์ผู้สอน อาจเป็นคนตั้งคำถามก่อน และให้นักศึกษาเป็นคนตอบ ซึ่งจะเห็นคำตอบของทุกคน ทำให้สามารถวิพากษ์วิจารณ์ โต้เถียง แสดงความคิดเห็นได้

นอกจากนี้ แนวคิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยากให้ SkillLane พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ที่ทำให้ “อาจารย์ – นักศึกษา”​ สามารถ Live คุยกันบนแพลตฟอร์มที่ SkillLane พัฒนา ทำให้เกิดการสื่อสารแบบ Real-Time Interactive ผ่านทั้งเว็บ และมือถือ 

TUXSA

9. เมื่อผู้เรียนลงทะเบียนเรียนแบบเก็บหน่วยกิต (4,500 บาท) ถึงแม้ลงเพียงคอร์สเดียว จะได้บัตรศิษย์ธรรมศาสตร์ แบบ Virtual Card” พร้อมเลขประจำตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เรียกว่าเลขประจำตัวนักศึกษาศิษย์ธรรมศาสตร์และนักศึกษาปริญญาโทออนไลน์ 

พร้อมด้วย e-Mail @tu.ac.th เมื่อได้ Account นี้ไป ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึง Digital Database ของห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ รวมทั้งใช้ Wi-Fi ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แบบ

10. นักศึกษาปริญญาโทออนไลน์ ได้วุฒิปริญญาที่มีศํกดิ์ และสิทธิ์เท่ากับปริญญาโทที่ได้จากการเรียนในมหาวิทยาลัย และเข้ารับรับปริญญาที่ห้องประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ เช่นเดียวกับคนที่เรียนในมหาวิทยาลัย 

TUXSA

 

 

เล็งขยายผลเปิดปริญญาโทออนไลน์คณะอื่น และปริญญาตรีออนไลน์ 

รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า ขณะนี้ มีหลายคณะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมตัวเปิดปริญญาโทออนไลน์  และบางคณะเตรียมเปิด ปริญญาตรีออนไลน์ โดยคณบดีคณะต่างๆ มอง 3 หลักสูตรนี้เป็นต้นแบบ 

เรากำลังมีหลักสูตรปริญญาตรีออนไลน์ขณะนี้เตรียมร่างกันอยู่ โดยพยายามทำทุกอย่างให้ได้ตามมาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษากำหนดไว้ทุกประการ 

ปริญญาตรีออนไลน์ จะเป็นปริญญาตรีใบที่สอง เรียน 2 ปีจบหลักสูตร คาดว่าอาจได้เห็นในปี 2563 ที่มาของแนวคิดดังกล่าว สืบเนื่องจากเราพบว่าขณะนี้สถาบันการศึกษาผลิตบัณฑิตในบางหลักสูตรไม่ทันต่อความต้องการของตลาดงาน 

ดังนั้นถ้าเราผลิตคน ตั้งแต่ปี 1 – 4 ใช้เวลา 4 ปี ผลิตไม่ทัน เราต้องเอาคนที่เรียนจบสาขาใดก็ตาม มา Transform เขาให้มีทักษะที่โจทย์อุตสาหกรรมในประเทศต้องการ 

อย่างขณะนี้มีติดต่อมายังมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ เช่น หลักสูตรรังษีเทคนิค ปัจจุบันทุกโรงพยาบาลต้องการนักรังษีเทคนิค แต่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลิตบุคลากรสาขานี้ได้เพียงปีละ 40 คน จากคนสมัครเรียน 4,000 คน เหตุผลที่เราไม่สามารถรับได้มาก เพราะอุปกรณ์ไม่เพียงพอ ดังนั้นเราสามารถปรับการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ได้ 

TUXSA
รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  • 875
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE