เปิดกลยุทธ์โออาร์ มุ่งขยายอาณาจักรดันพันธมิตรบินสูง ผุดโมเดล OR Space พร้อมพัฒนา Super App ตอกย้ำแนวคิดโออาร์เท่ากับโอกาส

  • 37
  •  
  •  
  •  
  •  

หลังจากบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) แยกตัวออกมาจากบริษัท ปตท.เมื่อปี 2018  ก่อนที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2021 ที่ผ่านมานั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าโออาร์ดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ Empowering All toward Inclusive Growth หรือ “โออาร์เติมเต็มโอกาสเพื่อทุกการเติบโตไปด้วยกัน” แนวทางที่ทำให้ธุรกิจของโออาร์เองและพาร์ตเนอร์อีกมากมายทั่วประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาได้สำเร็จ  

แต่หลังจากนี้ในยุคหลังโควิดที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคัก  โออาร์เองก็วางกลยุทธ์เพื่อการเติบโตเอาไว้แล้วเช่นกันไม่ว่าจะเป็นการผลักดันพันธมิตรทางธุรกิจที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของกิจการทั้งหมดของโออาร์ให้ประสบความสำเร็จ ดันแบรนด์ Cafe Amazon สู่ตลาดโลก เปิดโมเดล Community Space ที่ตอบสนองทุก Lifestyle ของผู้คน และเชื่อมโยงธุรกิจทั้งหมดเข้าด้วยกันด้วย All in One Application ที่เตรียมจะเปิดตัวในต้นปีหน้านี้

 

เป้าใหญ่ People, Planet และ Performance ในปี 2030

ชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR)

คุณสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) เปิดเผยถึงเป้าหมายที่เป็นภาพใหญ่ที่ต้องทำให้ได้ในปี 2030  คือเรื่องของ People, Planet และ Performance โดย People หรือ Living Community คือยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนครอบคลุมพื้นที่ธุรกิจและชุมชนรอบพื้นที่ธุรกิจ 15,000 ชุมชน หรือรวมแล้วยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคน 12 ล้านชีวิต

ส่วน Planet หรือ Healthy Environment คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำธุรกิจที่ดูแลชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าใช้พลังงานสะอาด 1 ใน 3 เช่นการติด Solar Rooftop  ลดใช้พลังงาน  และสุดท้ายคือ Performance หรือ Economic Prosperity คือการสร้างการเติบโตเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าโดยตั้งเป้าไว้ที่ 1 ล้านราย โดยมีแผนงานดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

คุณสุชาติ ระบุว่าแผนทั้งหมดนี้จะเดินหน้าไปบนพื้นฐานธุรกิจที่มีอยู่อย่างสถานีบริการน้ำมันกว่า 2,000 แห่ง คาเฟ่อเมซอน 3,765 สาขา  สมาชิกบลูการ์ด 7.5 ล้านใบ การขยายบริการแพลทฟอร์มเหล่านี้เปิดบริการในต่างประเทศในกลุ่มประเทศ CLMV โดยล่าสุดคาเฟ่อเมซอนก็ไปเปิดรวมถึงการมีธุรกิจใหม่ๆที่จะตอบสนองทุกๆ Lifestyle ของผู้ใช้บริการได้

ขณะที่เป้าหมายในปี 2030 นั้น OR ตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จรถยนต์ EV ให้ได้ 7,000 จุด  FIT AUTO ตั้งเป้าพร้อมบริการรถยนต์ไฟฟ้าได้ 100% เพิ่มจำนวนผู้เข้าใช้บริการแพลทฟอร์มจากปัจจุบันกว่า 3 ล้านคนเป็น 14 ล้านคนต่อวัน เพิ่มพาร์ตเนอร์ธุรกิจตอบสนองทุก Lifestyle ขยายธุรกิจไปแทรกซึมใน 100 ประเทศและดำเนินธุรกิจเต็มตัวใน 20 ประเทศ และมีนวัตกรรมใหม่ๆผลักดันการเติบโตของธุรกิจรวมไปถึง Super App ที่จะใช้ Data เข้ามาช่วยในการสร้างการเติบโตด้วย

 

พาพันธมิตรสู่เส้นชัย ดัน “โอ้กะจู๋” เข้า IPO ปี 2024

ทีมผู้บริหารโออาร์และผู้บริหารบริษัทปลูกผักเพราะรักแม่ถ่ายภาพร่วมกันที่สวนปลูกผักเพราะรักพ่อ อ.ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โออาร์ ดำเนินธุรกิจเน้นการเติบโตแบบ Outside-In โดยมีสัดส่วนของกิจการที่ดำเนินการเองในสัดส่วน 20% เท่านั้นแต่อีก 80% นั้นเป็นธุรกิจของพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็น SMEs รวมถึงการร่วมมือกับธุรกิจภายนอก หนึ่งในนั้นคือแบรนด์ “โอ้กะจู๋” ของบริษัทปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัดที่โออาร์เข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนราว 20% ตั้งแต่ปี 2021 และช่วยเข้าไปปรับระบบการทำงาน ช่วยเพิ่มกำลังผลิตให้มีประสิทธิภาพ และขยายสาขาให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งล่าสุดคุณสุชาติ ก็ได้เปิดเผยว่าบริษัทปลูกผักเพราะรักแม่ ก็เตรียมที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2567 ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากสามารถทำได้ก็จะนับว่าเป็นต้นแบบของการที่โออาร์สามารถพาพาร์ตเนอร์เข้าสู่เส้นชัยได้

สำหรับบริษัทปลูกผักเพราะรักแม่ นั้นมีทุนจดทะเบียนราว 225 ล้านบาท โดยจะมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 80 ล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยบริษัทวางเป้าหมายรายได้ในปี 2024 เติบโตแตะ 2,000 ล้านบาทซึ่งเป็นไปตามแผนการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2023 ก็มีแผนเพิ่มสาขาอีกจำนวน 6 สาขา และเพิ่มอีก 6 สาขาในปี 2024 เพิ่มจากปัจจุบันที่มีร้านหลักอยู่ทั้งสิ้น 17 สาขา ซึ่งกำลังจะเปิดอีก 1 สาขาในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้

สำหรับแบรนด์ “โอ้กะจู๋” นั้นดำเนินธุรกิจ มี 4 โมเดลคือ ร้านอาหาร, ร้านเดลิเวอรี่, ส่งสินค้าพร้อมทานให้ร้าน Amazon และส่งสินค้าขายที่ Supermarket โดยในปัจจุบัน โอ้กะจู๋ มีฟาร์ม 5 แห่งในพื้นที่ 380 ไร่ ให้ผลผลิต 2.5 ตันต่อวัน มีครัวกลาง 4 ไลน์ ที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำสลัด ซอส น้ำสกัดเย็น และ แปรรูปเนื้อสัตว์ มีศูนย์กระจายสินค้าที่กรุงเทพฯ ขนาด 2 ไร่ มีกำลังคนมากกว่า 1,700 คน มีลูกค้าเข้าร้าน 250,000 คนต่อเดือน

โดยในปี 2023 โอ้กะจู๋ เตรียมเปิดโมเดลใหม่เป็นร้านแบบ Drive Thru ที่ PTT Station บางใหญ่ และเตรียมขยายสาขาไปภาคตะวันออกรวมถึงขยายสาขาไปต่างประเทศ ตั้งเป้าตั้งเป้ารายได้ในปี 2023 เอาไว้ที่ 1,700 ล้านบาทโตขึ้นจากปีนี้ถึง 44%

 

One-Stop Solution for All Lifestyle

ณสมยศ คงประเวช รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจไลฟ์สไตล์ของโออาร์

อีกหนึ่งกลยุทธ์หลักของโออาร์ในการสร้างการเติบโตก็คือการผลักดันให้แพลตฟอร์มทางธุรกิจให้ตอบสนองกับทุก Lifestyle ของทุกคน โดยคุณสมยศ คงประเวช รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจไลฟ์สไตล์ของโออาร์ เปิดเผยว่าในปัจจุบันที่ธุรกิจส่วนใหญ่ของโออาร์จะเป็นเรื่องของ F&B เป็นหลัก แต่จากนี้ไปโออาร์จะเริ่มหาธุรกิจที่จะตอบสนอง Lifestyle ของผู้คนให้ครบทุกด้าน โดยล่าสุดโออาร์ก็เข้าไปจับมือกับแบรนด์ Otteri ร้านสะดวกซักที่จะเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ด้วย

คุณสมยศ เปิดเผยว่าปัจจุบันโออาร์ มี ธุรกิจแบ่งเป็น Life Style และ Physical Platform  โดย Life Style ก็จะมีธุรกิจอย่าง Café Amazon มีอยู่ 3,927 สาขา  Texas Chickenมีอยู่ 100 สาขา เซเว่น อีเลฟเว่น 1,950 สาขา ในส่วนของ Partner ก็จะมีกาแฟสเปเชียลตี้อย่าง Pacamara ของบริษัท PEABERRYTHAI , แบรนด์โอ้กะจู๋, ร้านอาหารญี่ปุ่น Kouen,ร้านชา Kamu Kamu รวมไปถึง Otteri ร้านสะดวกซักด้วย

ในส่วนของ Physical Platform จะมีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station 1,957 แห่งที่มีจำนวนผู้ใช้บริการมากกว่า 3 ล้านคนต่อวัน นอกจากนี้ยังมี Commercial Space หรือ OR Space ที่จะสร้างขึ้นอีก 6 แห่งในลักษณะเดียวกับ Café Amazon ที่อำเภอวังน้อย อยุธยา คือเป็นลักษณะพื้นที่ทางการค้าที่ไม่จำเป็นต้องมี PTT Station แต่เป็นพื้นที่ซึ่งมีร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร มีจุดชาร์จ EV และมีธุรกิจต่างๆ โดยบริการต่างๆจะตอบรับ Lifestyle คนรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่จำเป็นต้องเติมน้ำมันแล้วนั่นเอง

 

Amazon เตรียมเปิด Flag Ship Store และรุกตลาดต่างประเทศ

Café Amazon เรียกได้ว่าเป็นพระเอกของธุรกิจ Lifestyle ของโออาร์ ที่ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานถึง 20 ปี ปัจจุบันมีการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่แข็งแกร่งและสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคุณสมยศ ระบุว่า โออาร์ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง Café Amezon ที่เป็น Flag Ship Store ในกรุงเทพฯ ที่วางแผนจะให้เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยโดยล่าสุดได้เริ่มต้นก่อสร้างไปแล้ววางแผนที่จะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2024 นี้

ด้วยความแข็งแกร่งของ Value Chain ของ Café Amazon ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ใช้หุ่นยนต์ปฏิบัติงานขนาด 24,000 ตารางเมตร มีโรงงาน Dry Mix, โรงงานเบเกอรี่ รวมถึงโรงคั่วที่เตรียมขยายกำลังผลิตให้ได้มากถึง 11,500 ตันภายในปี 2024 นั่นจึงทำให้ โออาร์ ขยายธุรกิจของ Café Amezon ไปสู่ต่างประเทศโดยปัจจุบันไปเปิดทำธุรกิจแล้วใน 11 ประเทศไม่ว่าจะเป็น ไทย, กัมพูชา, ลาว, เมียนมา ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, เวียดนาม, ญี่ปุ่น, จีน ,โอมาน และล่าสุดที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เรียกได้ว่าไม่หยุดเพียงแค่แบรนด์กาแฟที่มีสาขามากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลกแน่นอน

 

เตรียมเปิด Super App ใช้ Data สร้างความเติบโต

ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โออาร์ จึงไม่หยุดนิ่งมองหาธุรกิจใหม่ๆรวมถึงพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทันนั่นจึงเป็นจุดกำเนิดของการพัฒนา All In One Application ที่จะเชื่อมโยงธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ๆของโออาร์ให้ไปถึงมือผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ซึ่งงานนี้ก็อยู่ภายใต้หน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงาน Orion หน่วยงานที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ในเดือนตุลาคมปี 2021 ที่ผ่านมานี้เอง

คุณราชสุดา รังสิยากูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการโครงการ Orion

โดยคุณราชสุดา รังสิยากูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการโครงการ Orion เปิดเผยว่า ปัจจุบันโออาร์หาวิธีการที่จะรักษา Traffic ผู้ใช้บริการ Physical Platform จำนวนมหาศาลเหล่านี้เอาไว้และทำอย่างไรที่จะต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆได้ คำตอบก็คือการเชื่อมโยงด้วย Online ที่จะเป็นช่องทางใหม่ในการเข้าถึงผู้บริโภคและเป็นการเข้าถึงข้อมูลมหาศาลด้วย จึงเป็นที่มาของ Super App หรือ All in One App ที่จะเป็นช่องทางเข้าถึงธุรกิจของ OR และพาร์ตเนอร์ด้วย โดยคาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ในช่วงต้นปี 2023 นี้

คุณราชสุดาเล่าด้วยว่าหน่วยงาน Orion นั้นมีหน้าที่หลักคือการเฟ้นหาอุตสาหกรรมใหม่ที่จะนำมาบริหารจัดการเองหรือการเข้าไปร่วมลงทุนโดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักคือ Mobility เช่นการเดินทาง การขนส่ง , F&B สนับสนุนธุรกิจ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจที่มีและหาธุรกิจใหม่ , Tourism การท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ,Health & Wellness ธุรกิจที่เกี่ยวกับข้องสุขภาพที่ในเวลานี้ผู้คนดูแลตัวเองมากขึ้น และ Empowering SMEs ทำอย่างไรให้ SME แข็งแร่งเพื่อให้เติบโตร่วมกัน และจะใช้ All in One Application เชื่อมธุรกิจทั้งหมดของโออาร์เข้าไว้ด้วยกัน และดึง Traffic เข้าสู่ Physical Store ที่จะสร้างผลกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

นั่นคือส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของโออาร์ ที่ตอกย้ำวิสัยทัศน์ Empowering All toward Inclusive Growth ที่ไม่ได้เป็นการเติบโตด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียวแต่จะเติบโตไปพร้อมๆกับพาร์ตเนอร์ ชมชน สังคมอย่างยั่งยืน และแน่นอนว่าไม่ได้หยุดเพียงแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ก็เตรียมที่จะเดินหน้าสู่ตลาดในต่างประเทศด้วย และที่น่าติดตามที่สุดก็คือ All In One Application ที่จะกลายเป็นแหล่ง Data ปริมาณมหาศาลที่โออาร์จะใช้ในการต่อยอดการเติบโต ซึ่งก็ต้องติดตามกันในปี 2023 นี้ว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน


  • 37
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE