5 เทรนด์การตลาดต้องรู้ จาก Year in Search 2021 ที่ผู้บริโภคค้นหาตลอดปี

  • 204
  •  
  •  
  •  
  •  

Google ได้เปิดเผยถึงข้อมูลเชิงลึกที่ได้วิเคราะห์จาก Year in Search 2021 เพื่อให้ธุรกิจและแบรนด์ต่าง ๆ ได้ทำความเข้าใจถึงเทรนด์ใหม่ของผู้บริโภค ซึ่งสะท้อนจาก ‘คำค้นหา’ ตลอดปี 2021 โดยสรุปออกมาเป็น 5 เทรนด์ที่ไม่ได้เกิดจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่ถูกขับเคลื่อนด้วยพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

เทรนด์ที่ 1 ‘โลกออนไลน์’กลายเป็นกระแสหลัก

ช่วงที่มีการล็อคดาวน์ในปี 2021 นี้ คนไทยยังคงใช้งานดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าถึงธุรกิจที่ต้องหยุดให้บริการชั่วคราว และแม้มาตรการล็อกดาวน์ได้ถูกผ่อนคลายลงแล้ว แต่ผู้บริโภคยังคงเลือกใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหลักต่อไป เพราะความคุ้นเคยและมองว่า ช่องทางออนไลน์มีประโยชน์ในการช่วยค้นหาข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจซื้อ และสะดวกสบายต่อการซื้อสินค้า

จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA e-Conomy Report ประจำปี 2021 พบว่า มีคนใหม่ที่เข้าสู่ดิจิทัล 9 ล้านคน โดย 87% มาจากนอกกรุงเทพฯ , 90% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยเคยซื้อสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง และจากการเสิร์ชพบว่า

-ผู้คนค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการวางขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ โดยการค้นหา ‘ขายอะไรออนไลน์’ เพิ่มขึ้น 44% และการค้นหาต่อคนสูงสุดที่อุบลราชธานี เพชรบูรณ์และสกลนคร

-34% ของผู้ค้าดิจิทัลไทยเชื่อว่า พวกเขาจะไม่สามารถผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดมาได้หากไม่มีแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่ง 58% มีแนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้าที่จะใช้เครื่องมือการตลาดดิจิทัลมากขึ้น 34%

-ปัจจุบันนี้นักชอปชาวไทยคุ้นเคยกับเทศกาลชอปปิ้งออนไลน์ประจำเดือนมากขึ้น การค้นหาที่เพิ่มขึ้นก็แสดงให้เห็นว่า พวกเขาใช้ช่องทางดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการช่วยตัดสินใจ และมีแนวโน้มชะลอการตัดสินใจ หากต้องรอสินค้านานหรือ ต้องจ่ายค่าส่งราคาสูง

 

-เทศกาลแห่งการชอปปิ้งออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย และ 110% ถึงแม้ว่า 11.11 จะยังคงเป็นเทศกาลช็อปปิงที่ใหญ่ที่สุด แต่นักชอปไทยก็เริ่มให้ความสนใจกับเทศกาลชอปปิงในเดือนอื่นๆ ตลอดปีมากขึ้น การค้นหา 6.6 7.7 8.8 เพิมขึ้นถึง 110% ในปี 2021 เมื่อเทียบกับปี 2020 ที่เพิ่มขึ้นเพียง 50%

-นักชอปยังมองหาการจัดส่งที่น่าเชื่อถือและไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งการค้นหา ‘จัดส่งฟรี’ ในไทยนั้นเพิ่มขึ้นถึงกว่า 60%

-ผู้บริโภคค้นหา ‘หาหมอออนไลน์’ เพิ่มขึ้น 122% ในปี 2021 การเติบโตนี้ถือเป็นการบ่งบอกถึงการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์จากโลกออฟไลน์มาสู่การใช้ชีวิตผ่านหน้าจอ

-ผู้ใช้งานดิจิทัลรายใหม่ในไทยหันมาใช้บริการจัดส่งอาหารในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งได้กลายเป็นบริการดิจิทัลที่เข้าถึงผู้ใช้มากสุดในไทย โดย 76% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศเคยสั่งอาหารออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง

-การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ ปัจจัยเร่งให้มีการใช้งานกระเป๋าเงินดิจิทัลมากขึ้น โดยการค้นหาdigital wallet (กระเป๋าเงินดิจิทัล)เพิ่มขึ้น 95% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด

สิ่งเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า ‘ดิจิทัลได้กลายเป็นกระแสหลักและส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน’ ดังนั้น ธุรกิจและแบรนด์ ต้องพยายามเข้าถึงและตอบสนองแนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้ให้ได้เพื่อสร้างโอกาสการเติบโต

เทรนด์ที่ 2 ทบทวนชีวิตที่ผ่านมา

จากสถานการณ์ของโรคระบาดที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน ทำให้พวกเขาเริ่มประเมินทบทวนคุณค่าและมองหาวิถีใหม่ที่เข้ากับการใช้ชีวิตได้ดีที่สุด ซึ่งจากคำค้นหาแสดงให้เห็นถึงหลาย ๆ ประเด็นน่าสนใจ

-นักชอปไทยค้นหาข้อมูลที่ช่วยให้พวกเขาตัดสินใจซื้อของเพิ่มมากขึ้น โดยการค้นหา ‘ยี่ห้อไหนดี’  เพิ่มขึ้น 30%  แสดงให้เห็นว่า ผู้คนพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลือกของแบรนด์ต่างๆ ที่พวกเขาจะหาซื้อได้มากขึ้น

-ค้นหา Work from hotel มากขึ้นถึง 1,600% (เทรนด์นี้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย)

-ผู้บริโภคไทยให้ความสนใจกับการลงทุนแนวใหม่มากขึ้น โดยมีการค้นหาคำว่า cyptocurrency สูงขึ้น 263%

-ค้นหา ‘วิตามิน ดี’ สูงขึ้น 87%

ภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้น และเป็นโอกาสที่ธุรกิจหรือแบรนด์ต้องจับตามอง รวมถึงวางกลยุทธ์ว่า จะตอบรับความต้องการนี้ได้อย่างไร ยกตัวอย่าง Work from hotel ที่มีการเสิร์ชเพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ และเกิดขึ้นเฉพาะในไทยเท่านั้น

เทรนด์ที่ 3 ห่างไกล ไม่ห่างกัน ด้วยเทคโนโลยี

คนไทยมองหาวิธีในการกระชับความสัมพันธ์ด้วยวิธีใหม่ ๆ โดยเฉพาะใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญ ซึ่งแบรนด์เองจำเป็นต้องปรับตัวพยายามสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้นเพื่อสร้างการเติบโต โดยพฤติกรรมและการค้นหาคำที่สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์นี้ ได้แก่

-การแสดงความรักผ่านโลกออนไลน์สูงขึ้น 210%

-แทนที่กิจกรรมออฟไลน์ด้วยกิจกรรมออนไลน์ แสดงจากการค้นหา ‘คอนเสิร์ตออนไลน์’ เพิ่มขึ้น 58% ซึ่งเทรนด์กิจกรรมออนไลน์เกิดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ ‘แข่งรถออนไลน์’ ในมาเลเซีย, ‘ทัวร์ออนไลน์’ ที่อินโดนีเซีย และการค้นหา ‘เล่มเกมส์ออนไลน์กับแฟน’ ที่เพิ่มขึ้น 250%

 

เทรนด์ที่ 4 ใส่ใจกับการค้นหาความจริง

คนไทยใส่ใจการตรวจสอบข้อเท็จจริงและปกป้องความเป็นส่วนตัว เนื่องจาก 87% ของผู้บริโภคไทยกล่าวว่า การค้นหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อเทียบกับยุคก่อนโควิด-19 และสะท้อนจากการเสิร์ช ได้แก่

-ค้นหาคำว่า ‘เชื่อถือได้ไหม’ เพิ่มขึ้น 72%

-ค้นหาคำว่า ‘personal data’ เพิ่มขึ้น 143% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดโควิด-19

บทสรุปของเทรนด์นี้ จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคไทยใส่ใจกับแบรนด์ที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง มีความโปร่งใส และดูแลความเป็นส่วนตัวด้วย ดังนั้นแบรนด์ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ

เทรนด์ที่ 5 ความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมากขึ้น

ภาพที่สะท้อนให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมากขึ้น คือ ผู้คนเลือกใช้เสิร์ชในการหาวิธีก้าวผ่านความท้าทายต่าง ๆ โดย

-คนที่มีโอกาสน้อย จะค้นหา ‘เน็ตฟรี’ เพิ่มขึ้น 35%

-คนมีโอกาสมากกว่า จะค้นหา ‘5 g’ เพิ่มขึ้น 235%

-คำค้นหามาแรงปี 2021 ใน 10 อันดับแรกก็เป็นตัวสะท้อนได้เป็นอย่างดี โดยคำค้นหา เพื่อเข้าถึงโครงการสนับสนุนหรือช่วยเหลือของภาครัฐติดถึง 5 อันดับ

บทสรุปของเทรนด์นี้ คือ ผู้บริโภคคนไทยมองหาแบรนด์ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้น โดยแบรนด์นั้นต้องไม่เพียงสะท้อนความหลากหลายผ่านแคมเปญโฆษณาเท่านั้น แต่ต้องลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้ง 5 เทรนด์ เป็นการวิเคราะห์จากข้อมูลเชิงลึกที่ผู้บริโภคค้นหาตลอดปี 2021 แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งธุรกิจและแบรนด์จำเป็นต้องปรับตัวและวางกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับทิศทางที่เกิดขึ้น ที่สำคัญไม่ใช่แค่เพื่อรับมือกับโควิด-19 แต่เพื่อให้พร้อมสำหรับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

อ่าน year in search 2021 ฉบับเต็มได้ที่ https://services.google.com/fh/files/misc/yearinsearch_thailand2021_th.pdf

 

 

 


  • 204
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE