กทม.และปริมณฑล ยังครองแชมป์ที่อยู่อาศัยที่มีผู้สนใจมากที่สุดครึ่งปีแรก แนวรถไฟฟ้ายังนิยมสูง

  • 3
  •  
  •  
  •  
  •  

ที่อยู่อาศัย 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญของชีวิต แม้ว่าปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจจะไม่เอื้ออำนวย ทั้งภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นแบบแผ่วแค่เล็กน้อยผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ความต้องการด้านที่อยู่อาศัยยังคงมีอยู่ตลอด แม้จะเหลือเพียงแค่ 16% เท่านั้นที่พร้อมซื้อบ้านภายใน 1 ปีข้างหน้านี้จากผลสำรวจของ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย

โดยพฤติกรรมการค้นหาที่อยู่อาศัยผ่านช่องทางออนไลน์พบว่า 50% จะค้นหาสิ่งที่ตัวเองต้องการหรือสนใจ (Free Text) ขณะที่ประมาณ 40% จะค้นหาคำเฉพาะ (Keyword) เกี่ยวกับทำเลที่ตั้ง นอกจากนี้การเข้าชมประกาศขายอสังหาฯ ยังลดลงประมาณ 14% ในช่วงครึ่งปีแรก

ขณะที่ “สถานีรถไฟฟ้า” ถือเป็นหนึ่งในคำค้นหายอดนิยมและมาแรงสำหรับการค้นหาที่อยู่อาศัยถึง 10% ของการค้นหาทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่าทำเลแนวรถไฟฟ้ายังเป็นปัจจัยสำคัญในการค้นหาที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหารถติด

 

คนส่วนใหญ่ยังอยากอยู่กรุงเทพฯ 

จากผลสำรวจความต้องการอยู่อาศัย กรุงเทพมหานคร ยังคงมีความนิยมสูงสุด และเป็นจังหวัดที่มีการค้นหาที่อยู่อาศัยมากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่อันดับ 2 ที่มีการค้นหาที่อยู่อาศัยคือ เชียงใหม่ รองลงมา คือ นนทบุรี, ชลบุรี, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, ภูเก็ต, ประจวบคีรีขันธ์, เมืองพัทยา และนครราชสีมา ตามลำดับ จากผลสำรวจยังพบพื้นที่จังหวัดปริมณฑลที่มีการค้นหาที่อยู่อาศัย สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร

ขณะที่หัวเมืองจัวหวัดท่องเที่ยวก็เป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นผลจากเทรนด์การทำงานในรูปแบบ Workcation ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาด ช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานและได้พักผ่อนในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้กลายเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดให้หลายคนมองหาบ้านพักตากอากาศในหัวเมืองท่องเที่ยวมากขึ้น

MRT พระราม 9 สุดยอดทำเล กทม.

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ผลสำรวจพบทำเลแนวรถไฟฟ้าเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมในการค้นหาที่อยู่อาศัย จากกลุ่มตัวอย่างพบมากกว่าครึ่งราว 51% มองว่า ที่อยู่อาศัยที่อยู่ติดหรือใกล้ระบบขนส่งสาธารณะอย่าง “รถไฟฟ้า” ช่วยให้เดินทางได้สะดวกเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ โดยทำเลแนวรถไฟฟ้ามีการค้นหามากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรก 2565

โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ถูกจัดให้เป็น CBD (Central Business District) ตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนเมือง ซึ่งทำเล MRT พระราม 9 เป็นทำเลที่มีการค้นหามากที่สุด ตามมาด้วย BTS อ่อนนุช, BTS อารีย์, BTS อโศก, BTS พร้อมพงษ์, BTS เอกมัย, MRT ห้วยขวาง, BTS อุดมสุข, BTS ทองหล่อ และ BTS สะพานควาย

 

“สวนหลวง” ครองใจชาวกรุง ส่วน “บางนา” น่าเช่า

อีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าจับตาของตลาดอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ และมีโครงการใหม่เปิดตัวอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงจำนวนการเข้าชมประกาศอสังหาฯ บนเว็บไซต์ DDproperty พบว่า “สวนหลวง” กลายเป็นทำเลที่ได้รับความสนใจซื้อมากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงระดับบน และได้รับอานิสงส์จากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง

ขณะที่จำนวนการเข้าชมอสังหาฯ ในรูปแบบ “เช่า” บนเว็บไซต์ DDproperty พบว่า “บางนา” กลายเป็นทำเลที่ได้รับความสนใจเช่ามากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อเมืองระหว่างกรุงเทพฯ กับสมุทรปราการ และยังใกล้แหล่งนิคมอุตสาหกรรม ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่สามารถพัฒนาโครงการเมกะโปรเจค (Mega Project) และโครงการที่อยู่อาศัยได้อีกหลายโครงการ

โดย 3 ทำเลในกรุงเทพฯ ที่ได้รับความสนใจซื้อมากที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ประกอบไปด้วย แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง, แขวงบางจาก เขตพระโขนง และแขวงบางนา เขตบางนา เรียงตามลำดับ ขณะที่ 3 ทำเลในกรุงเทพฯ ที่ได้รับความสนใจเช่ามากที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ประกอบไปด้วย แขวงบางนา เขตบางนา, แขวงบางจาก เขตพระโขนง และแขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา

 

ตลาดอสังหาฯ เมืองหลวงยังไม่ฟื้น

แต่เมื่อพิจารณาราคาขายที่อยู่อาศัยโดยรวมทุกประเภทในกรุงเทพฯ ในช่วงครึ่งปีแรกยังไม่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคากลางเฉลี่ยอยู่ที่ 106,000 บาทต่อตารางเมตร ลดลง 5% จากปีก่อนหน้านี้ และลดลงถึง 18% เมื่อเทียบกับช่วงที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดฯ ช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 ซึ่งถือเป็นโอกาสดีและเหมาะสมสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยและมีความพร้อมทางการเงิน ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นราคาขายอสังหาฯ และดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังนี้

ขณะที่อัตราค่าเช่าที่อยู่อาศัยโดยรวมทุกประเภทในกรุงเทพฯ มีค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 485 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ลดลง 3% จากปีก่อนหน้า และลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงที่ยังไม่มีการแพร่ระบาด แม้ว่าที่อยู่อาศัยแนวตั้งอย่าง คอนโดฯ จะเป็นประเภทเดียวที่ค่าเช่าลดลง 3% จากปีก่อนหน้า แต่ความต้องการเช่ายังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานและนักศึกษา ทำให้มีอัตราค่าเช่าคอนโดฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 500 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน

ขณะที่โครงการที่อยู่อาศัยแนวราบยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องในตลาดเช่าและมีทิศทางเติบโตมากขึ้น โดยบ้านเดี่ยวมีค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 320 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน เติบโตถึง 28% จากปีก่อนหน้านี้ ส่วนทาวน์เฮ้าส์มีค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 210 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน เติบโตถึง 7% จากปีก่อนหน้านี้

 

“สมุทรปราการ” ครองที่ 1 อสังหาฯ นอก กทม.

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายคนกลัวการอยู่ใน กทม.ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ยิ่งเมื่อเกิดรูปแบบ Work from Home ส่งผลให้หลายคนมองหาที่อยู่อาศัยรอบนอกกรุงเทพฯ มากขึ้น เพื่อให้สามารถยังคงเดินทางเข้ามาใน กทม.ได้ ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยย่านชานเมืองและปริมณฑลกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แถมยังมีราคาที่ถูกกว่าพื้นที่ใน กทม.

จากผลสำรวจจำนวนการเข้าชมประกาศอสังหาฯ ในเขตปริมณฑลบนเว็บไซต์ DDproperty พบว่า สมุทรปราการ เป็นจังหวัดที่ได้รับความสนใจซื้อและเช่าที่อยู่อาศัยมากที่สุดในครึ่งแรกของปี 2565 โดยได้รับปัจจัยบวกมาจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่ช่วยให้การเดินทางมาทำงานหรือมาเรียนในย่านใจกลางเมืองสะดวกสบายมากขึ้น

โดย 3 ทำเลนอก กทม.ที่ได้รับความสนใจซื้อมากที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ประกอบไปด้วย ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ, ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ตามลำดับ ขณะที่ 3 ทำเลนอก กทม.ที่ได้รับความสนใจเช่ามากที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ประกอบไปด้วย ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ, ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ตามลำดับ

 

ที่มา: DDProperty


  • 3
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา